xs
xsm
sm
md
lg

“เมียม-ณัฐสินี กิจบุญชู” นักฟิสิกส์สาวไทยคนแรกแห่งหอสังเกตการณ์ "คลื่นความโน้มถ่วง"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เป็นประเด็นที่กล่าวถึงกันอย่างกว้างขวางในวงการวิทยาศาสตร์สำหรับการค้นพบ “คลื่นความโน้มถ่วง” การค้นพบครั้งยิ่งใหญ่ระดับมวลมนุษยชาติที่นักฟิสิกส์และนักดาราศาสตร์ทั่วโลกตั้งตาคอย ซึ่งนอกจากจะเป็นการค้นพบองค์ความรู้ใหม่ที่จะทำให้มนุษย์ได้รู้จักและใกล้ชิดกับจักรวาลมากขึ้น หนึ่งในพลังความสำเร็จยังมีสาวไทยคนเก่งวัย 25 ปี อย่าง “ณัฐสินี กิจบุญชู” อยู่เบื้องหลัง ซึ่งในวันนี้เธอได้ให้สัมภาษณ์พิเศษแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ผ่านการสนทนาแบบออนไลน์ทั้งข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เคยเผยที่ไหน และความภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของหน้าประวัติศาสตร์นี้

“เดิมทีชอบดาราศาสตร์ เมื่ออายุ 18 ปี ได้มองผ่านกล้องดูดาวแล้วเห็นวงแหวนดาวเสาร์ เนบิวล่าต่างๆ ทั้งที่รู้ตลอดนะว่าดาวเสาร์มีวงแหวน แต่พอห็นของจริงนี่มันคนละฟีลเลย คืนนั้นจึงเป็นเหมือนคืนเปลี่ยนโลก เริ่มรู้สึกว่าจักรวาลมันน่าสนใจมากๆ เลยขอทุนพ่อแม่มาเรียนฟิสิกส์ที่สหรัฐฯ จนตอนนี้ก็ทำงานกับไลโกมา 2 ปีแล้วทั้งหมดมันเริ่มจากเพราะคืนนั้นจริงๆ” ณัฐสินี กิจบุญชู เจ้าหน้าที่ชำนาญการด้านการปฏิบัติการจาก หอสังเกตการณ์คลื่นโน้มถ่วงแสงเลเซอร์แทรกสอด (LASER Interferometer Gravitational-wave Observatory) หรือไลโก (LIGO) ให้สัมภาษณ์แก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์

กว่าจะเป็นคนไทยคนเดียวในไลโก?

“คนที่ทำงานในไลโกมีหลากหลายค่ะ แต่ส่วนใหญ่ที่นี่จะเป็นนักฟิสิกส์กับวิศวะ ส่วนตัวเป็นเด็กผู้หญิงธรรมดาๆ เรียนจบชั้นมัธยมจากโรงเรียนสตรีนนทบุรี จ.นนทบุรี ส่วนตัวค่อนข้างชอบดาราศาสตร์ ไปได้กับฟิสิกส์ แล้วก็อยากหนีพวก GAT, PAT หรือ O-NET ซึ่งถ้าตอนนั้นสอบคงอยู่รุ่นผ้าปูโต๊ะ เลยพักมาอ่านหนังสือสอบ SAT และ IELTS แทนอยู่ประมาณ 1 ปี พอคะแนนถึงเลยขอทุนที่บ้านซึ่งทำธุรกิจส่วนตัวมาเรียนปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยหลุยเซียนาสเตท (Louisiana State University : LSU) ในคณะวิทยาศาสตร์ โชคดีที่คุณพ่อคุณแม่เข้าใจลูกอยากเรียนอะไรก็สนับสนุน จนตอนนี้ก็ยังไม่ได้ใช้ทุนพ่อกับแม่เลยค่ะ จะใช้เมื่อพร้อมนะคะ” ณัฐสินีกล่าวอย่างติดตลก

ณัฐสินีเผยว่าการศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยหลุยเซียนา ของเธอเป็นแบบเรียนไปด้วยทำวิจัยไปด้วย โดยเธอจะทำวิจัยหลังเวลาเรียน ในลักษณะ “student worker” ที่จะมีค่าตอบแทนให้ประมาณชั่วโมงละ 250 บาททำให้เธอค่อนข้างมีประสบการณ์ โดยในช่วง 3 ปีแรกณัฐสิณีเลือกทำวิจัยกับกลุ่มดาราศาสตร์ในคณะวิทยาศาสตร์ เพื่อศึกษาฝุ่นในเอกภพ โดยเฉพาะดาวอาร์ โคโรนา โบเรลลิส (R Coronae Borealis) ส่วนในปีที่ 4 ปีสุดท้ายของการเรียนถึงได้มาทำวิจัยกับกลุ่มหอสังเกตการณ์ไลโกพร้อมสมัครทำงานที่หอสังเกตการณ์ไลโก

ทำไมชอบฟิสิกส์? เคยคิดไหมว่าจบมาแล้วจะทำงานอะไร ?

ณัฐสินีเผยว่าเดิมทีเธอชอบดาราศาสตร์ เนื่องจากเมื่อครั้งอายุ 18 ปี ได้มีโอกาสสังเกตวัตถุท้องฟ้าด้วยกล้องดูดาว ซึ่งทำให้เธอเห็นวงแหวนดาวเสาร์ เนบิวลา และวัตถุต่างๆ มากมายทั้งที่กล้องที่ได้ดูครั้งนั้นไม่ใช่กล้องที่มีประสิทธิภาพดีเลิศ หรือมีระบบหมุนตามโลกที่ทันสมัยเท่าที่ควร

“จำไม่ได้ว่าเพราะกล้องไม่มีฐานระบบศูนย์สูตร (equatorial mount) หรือฐานมันไม่ดี ดาวที่สังเกตอยู่จึงหลุดกรอบบ่อยมาก คือเรารู้มาตลอดว่าโลกหมุนรอบตัวเอง แต่คืนนั้นรู้สึกว่าโลกหมุนเร็วจริงๆ และก็รู้มาตลอดว่าดาวเสาร์มีวงแหวน แต่ได้เห็นของจริงนี่มันคนละความรู้สึกเลย คืนนั้นรู้สึกว่าจักรวาลมันน่าสนใจมากๆ เลยอยากเรียนดาราศาสตร์ แต่ที่มาเลือกเรียนฟิสิกส์แทน เพราะหลุยเซียนาสเตทไม่มีคณะดาราศาสตร์ มีแต่เรียนฟิสิกส์ทั่วไปแล้วมีวิชาฟิสิกส์ดาราศาสตร์เพิ่มขึ้นมา (Physics with Astronomy concentration) จบก็ได้ปริญญาฟิสิกส์ มันยาก แต่เพราะความยากและความท้าทายของมันเลยทำให้ฟิสิกส์เป็นอะไรที่ไม่น่าเบื่อ แล้วตอนเลือกเรียนเราก็มุ่งอยู่แล้วว่าจะมาทำงานที่ไลโก ค่อนข้างมีจุดมุ่งหมายชัดเจน ความตั้งใจเลยมั่นคง” ณัฐสินีย้อนความหลังถึงที่มาในความชื่นชอบฟิสิกส์

ทำงานที่ไลโกมานานหรือยัง? ทำอะไรบ้าง?

ณัฐสินีเผยว่าเธอทำงานกับทีมวิทยาศาสตร์ไลโกมาประมาณ 2 ปี แบ่งเป็นตอนเป็นนักเรียน 1 ปี และเข้ามาทำงานในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ชำนาญการด้านการปฏิบัติการอีก 1 ปี ซึ่งตำแหน่งนี้มีหน้าที่สำคัญในช่วงเดินเครื่องสังเกตการณ์ โดยมีหน้าที่หลักในการ ”ล็อค” เครื่องตรวจจับให้อยู่ในสถานะที่สังเกตการณ์ได้ นอกจากนี้ยังต้องสอดส่องดูแลกิจกรรมต่างๆ ภายในหอสังเกตการณ์ด้วย

“คือใครทำอะไร ก็จะต้องผ่านเจ้าหน้าที่ชำนาญการด้านการปฏิบัติการ ทำให้เราเป็นบุคคลแรกๆ เลยที่จะได้รับคำเตือนหากเครื่องตรวจจับคลื่นแรงโน้มถ่วงได้ เมื่อได้รับสัญญาณ หากเป็นตอนกลางคืนก็ต้องโทรปลุกนักวิทยาศาสตร์ แล้วก็มาวิเคราะห์กันว่าสัญญาณนี้ควรมีการติดตามผลไหม หรือเป็นสัญญาณที่เกิดจากความผิดพลาดของเครื่องเอง เจ้าหน้าที่ชำนาญการด้านการปฏิบัติการ มีหน้าที่ตัดสินด้วยว่าเครื่องมีปัญหาหรือไม่มีปัญหา เพราะเป็นคนที่รู้เกี่ยวกับเครื่องตรวจจับมากที่สุด รองจากทีมนักวิทยาศาสตร์ที่ทำการอัพเกรดและปรับปรุงเครื่องตรวจจับ (Commissioner)”

สำหรับลักษณะการทำงาน ณัฐสินี เผยว่าจะแบ่งทำเป็นกะ โดยช่วงเดินเครื่องสังเกตการณ์จะผลัดกันเข้ากะ 24/7 โดยทีมเจ้าหน้าที่ชำนาญการด้านการปฏิบัติการ จะมีทั้งหมด 9 คน ส่วนเวลาไม่เข้ากะ ทุกคนจะมีอิสระไปทำงานอะไรก็ได้ โดยเธอชอบงานวิเคราะห์ข้อมูล ก็มักจะทำงานร่วมกับกลุ่มบอกคุณลักษณะการตรวจวัด (Detector Characterization: Detchar) ทำให้มีหน้าที่เป็นผู้ประสานงานรองจากเจ้าหน้าที่ชำนาญการด้านการปฏิบัติการให้กับระบบเลเซอร์อีกระบบหนึ่งที่เรียกว่า ระบบชดเชยความร้อน (Thermal Compensation System: TCS) ด้วย

มีแผนกลับมาทำงานที่ประเทศไทยไหม ?

“ถ้ากลับมานี่ยังนึกไม่ออกเลยค่ะ ว่าจะไปทำงานที่ไหน ไม่อยากเป็นอาจารย์ อยากทำวิจัยอย่างเดียว อาจจะยังคงวนเวียนอยู่ในสหรัฐฯต่อ ไม่ก็ยุโรปเพราะที่นั่นมีกลุ่มเวอร์โก (Virgo) ที่ทำงานร่วมกับไลโกอยู่ แล้วที่สำคัญคือเพิ่งจบปริญญาตรี ยังคงต้องเรียนต่อ ส่วนแพลนกลับไทยตอนนี้ยังไม๋มีเลยค่ะ” ณัฐสินีกล่าว

ในมุมมองของณัฐสินี การค้นพบครั้งนี้ยิ่งใหญ่แค่ไหน?

ณัฐสินี เผยว่า การค้นพบครั้งนี้เป็นการพลิกหน้าวงการฟิสิกส์ดาราศาสตร์แบบหน้ามือเป็นหลังมือ เพราะจากเดิมนักดาราศาสตร์เคยสำรวจจักรวาลด้วยคลื่นสนามแม่เหล็กไฟฟ้า เช่น รังสีเอ็กซ์, รังสีแกมมา, รังสีอินฟราเรด และแสงที่ตามองเห็น แต่การค้นพบคลื่นความโน้มถ่วงจะทำให้นักดาราศาสตร์ทั่วโลก ต้องเข้าสู่ยุคที่เรียกว่า ดาราศาสตร์ยุคการส่งสารหลายช่องทาง (Multi-Messenger Astronomy) อย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่งทำให้อนาคตนับจากวันนี้เราอาจได้เจออะไรที่ไม่คาดคิดมาก่อน

“ส่วนคำถามที่ว่ารู้แล้วเอาไปทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันได้ไหม คงต้องตอบว่า ไม่ค่ะ เพราะวิทยาศาสตร์เราวิจัยเพื่อความรู้ เพราะความอยากรู้ เพื่อตอบคำถาม แต่เทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาเพื่อใช้กับไลโก อาจมีประโยชน์ในหลายๆ ด้าน เช่น เรามีระบบสุญญากาศที่ ถ้าไม่ดีที่สุดในสามโลกก็คงระดับท็อป เรามีระบบลดการส่งผ่านการสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว (seismic isolation) ที่ดีมากๆ เหมือนกัน และยังมีอีกหลายๆ สิ่งที่ไลโกต้องพัฒนาขึ้นมาเอง เพราะเทคโนโลยีที่จะตรวจวัดคลื่นแรงโน้มถ่วงไม่เคยมีมาก่อน เราจึงมั่นใจว่าสิ่งที่ไลโกมีดีที่สุดในสามโลก มิเช่นนั้นไอน์สไตน์คงทำได้ไปนานแล้ว”

วินาทีพบ “คลื่นความโน้มถ่วง”

ณัฐสินี เผยความ ความจริงคลื่นความโน้มถ่วงถูกค้นพบมาตั้งแต่เดือน ก.ย.2558 แต่ที่เพิ่งจะมาแถลงข่าวเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา เป็นเพราะการวิเคราะห์ข้อมูลต้องใช้เวลานาน เนื่องจากต้องเช็คให้ถี่ถ้วนก่อนทุกอย่างว่าสัญญาณที่ได้รับเป็นสัญญาณของคลื่นความโน้มถ่วงจริง ไม่ใช่คลื่นที่มาจากเครื่องบิน พื้นดิน หรือเป็นการสั่นสะเทือนที่เกิดขึ้นบนโลก

“ความจริงคลื่นมาตอนไหนเราไม่รู้ คนที่รู้สองคนแรกเป็นนักวิจัยหลังปริญญาเอกที่เยอรมนี เขาตรวจจับสัญญาณได้ว่ามีความผิดปกติจึงติดต่อมาที่ไลโก สหรัฐฯ เพื่อเช็คว่าหอสังเกตการณ์มีอะไรชำรุดหรือไม่ ซึ่งทางเราก็ยืนยันว่าทุกอย่างปกติดี ตอนนั้นมันเป็นช่วงที่เราทำงานเข้ากะนกฮูกที่ต้องอยู่ประจำหอสังเกตการณ์ตั้งแต่เที่ยงคืนถึงแปดโมงเช้าพอดี เลยได้เห็นบรรยากาศความตื่นเต้น เห็นนักวิจัยคุยกันหัวหมุนมันเป็นอะไรที่เซอร์ไพรส์มากจริงๆ”

ณัฐสินี ขยายความว่า เหตุที่ทำให้ช่วงแรกไม่รู้ว่าคลื่นความโน้มถ่วงมาถึง เป็นเพราะคลื่นมาถึงช่วงที่เรียกว่า "การเดินเครื่องเชิงวิศวกรรม" ที่เป็นการทดสอบ ไม่ใช่ "ช่วงเดินเครื่องสังเกตการณ์" ที่เป็นการเดินเครื่องจริง ระบบการเตือนต่างๆ จึงยังไม่สมบูรณ์ดีนัก และการค้นพบคลื่นก็เป็นสิ่งที่อยู่เหนือความคาดคิดทำให้ไม่รู้ว่าต้องทำตัวอย่างไรเมื่อคลื่นความโน้มถ่วงมาถึง

ชีวิตการทำงานและสังคมในไลโกเป็นอย่างไรบ้าง?

“ผู้หญิงน้อยมาก ไม่รู้แวดวงวิทยาศาสตร์ในไทยเป็นแบบนี้ไหม แทบไม่มีผู้หญิงเลย แต่ก็น่าจะเป็นเหมือนทีมวิจัยด้านฟิสิกส์ดาราศาสตร์อื่นๆ นั่นแหละ ผู้หญิงเฉพาะในหอสังเกตการณ์ที่แฮนด์ฟอร์ด (Hanford) ที่ทำงานอยู่เนี่ยมีผู้หญิงแค่ 1 ใน 3 เองจากจำนวนนักวิจัยทั้งหมด”

ณัฐสินี เผยว่า ที่ไลโกมีนักวิจัยหลากหลายเชื้อชาติเพราะเป็นองค์กรณ์ที่เกิดจากความร่วมมือกันระหว่าง 2 กลุ่มหลัก คือ สหรัฐฯ และยุโรป โดยมีนักวิจัยเก่งๆ มากกว่า 80 สถาบัน จากประมาณ 17 ประเทศ เช่น ออสเตรเลีย, จีน, อินเดีย, ญี่ปุ่น, คาซัคสถาน, สหราชอาณาจักร หรือจะเป็นเกาหลีใต้ก็มี แต่ในหอสังเกตการณ์ส่วนใหญ่ที่เธอทำงานอยู่จะเป็นนักวิจัยชาวอเมริกัน

“ที่ไลโกมีงานให้ทำเยอะมาก เพราะมีหลายระบบ เครื่องก็ซับซ้อนมาก ให้เล่าทั้งหมดคงไม่ไหว แต่งานวิจัยหลักที่หอสังเกตการณ์คือการพัฒนาเครื่องไปให้ถึงความละเอียดตามที่ต้องการ (designed sensitivity) หรือฟังจักรวาลให้ได้ไกลยิ่งขึ้นไปอีก เป็นคนไทยคนเดียวถามว่าเหงาไหม ก็มีบ้าง แต่ก็ไม่เท่าไหร่ เพราะทุกคนเป็นกันเอง คุยกับใครก็ได้ แต่แอบเห็นคนญี่ปุ่นพูดญี่ปุ่นกัน เราก็อยากจะพูดไทยกับคนอื่นเขาบ้างเพราะไม่มีคนไทยแวะมาทำงานที่หอสังเกตการณ์เลย แต่ในทีมนักวิทยาศาสตร์ไลโกทั้งหมดพันกว่าคนอาจจะมีคนไทยอยู่ก็ได้นะ แค่อาจจะแอบอยู่ตามแล็บ ตามมหาลัยวิทยาลัยต่างๆ แค่เราไม่รู้ก็เท่านั้นเอง” ณัฐสินี กล่าว

คลิป "ณัฐสินี กิจบุญชู" ร่วมเสวนา "คลื่นความโน้มถ่วง" ในกิจกรรมของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 16 ก.พ.59

https://www.periscope.tv/w/1mrGmOLEAazxy











 

กำลังโหลดความคิดเห็น