xs
xsm
sm
md
lg

หลังพบ “คลื่นความโน้มถ่วง” เราจะได้ยินเสียงเอกภพ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เดวิด ไรท์เซ ผู้อำนวยการไลโกระหว่างแถลงข่าวการค้นพบคลื่นความโน้มถ่วง (SAUL LOEB / AFP)
ทีมนักดาราศาสตร์ยกย่องการตรวจวัด “คลื่นความโน้มถ่วง” ได้เหมือนการค้นพบอนุภาคฮิกกส์ การค้นพบกฎของนิวตัน การค้นพบอิเล็กตรอน และเป็นหนึ่งในการค้นพบสำคัญของวงการวิทยาศาสตร์ในศตวรรษที่ 21 ระบุหลังจากนี้เราไม่ได้เพียงแค่ได้แต่มองฟ้า แต่เรายังจะได้ยินเสียงเอกภพด้วย

นับเป็นการค้นพบครั้งสำคัญของวงการฟิสิกส์และดาราศาสตร์ เมื่อเครื่องตรวจวัดใต้ดินในสหรัฐฯ 2 เครื่องภายใต้โครงการไลโก (LIGO) หรือโครงการหอสังเกตการณ์คลื่นความโน้มถ่วงแทรกสอดแสงเลเซอร์ (LASER Interferometer Gravitational-wave Observatory) สามารถตรวจวัดคลื่นโน้มถ่วงได้โดยตรงครั้งแรก

คลื่นโน้มถ่วงดังกล่าวเกิดจากการรวมตัวกันของหลุมดำขนาดใหญ่ 2 หลุมดำเมื่อ 1.3 พันล้านปีก่อน โดยคลื่นดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนการรวมตัวของหลุมดำเพียงเสี้ยววินาที และเดินทางมาถึงเครื่องตรวจวัดไลโกที่สถานีหลุยเซียนาก่อน จากนั้นอีก 7.1 มิลลิวินาทีจึงเดินทางไปถึงสถานีที่วอชิงตัน ซึ่งอยู่ห่างออกไป 3,000 กิโลเมตร คลื่นดังกล่าวเริ่มจากคลื่นความถี่ต่ำก่อนเปลี่ยนคลื่นความถี่สูงภายในเสี้ยววินาที

การค้นพบครั้งนี้ผู้เชี่ยวชาญสรรเสริญว่าจะช่วยให้เข้าใจเอกภพได้ดีขึ้น โดยเอเอฟพีระบุความเห็นของ อัลเบอร์โต เวคชิโอ (Alberto Vecchio) ศาสตราจารย์ด้านฟิสิกส์ดาราศาสตร์จากวิทยาลัยฟิสิกส์และดาราศาสตร์ มหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม (University of Birmingham) สหราชอาณาจักร ว่าการค้นพบนี้เป็นช่วงเวลาสำคัญของวงการดาราศาสตร์ เป็นจุดเปลี่ยนอย่างแท้จริง

“การค้นพบนี้ขยายหนทางที่เราจะสังเกตจักรวาล รวมถึงการศึกษาฟิสิกส์และฟิสิกส์ดาราศาสตร์เท่าที่เราจะทำได้” ศ.ไชลา โรวัน (Sheila Rowan) ผู้อำนวยการสถาบันการวิจัยความโน้มถ่วงจากมหาวิทยาลัยกลาสโกว์ (University of Glasgow) สก็อตแลนด์กล่าว

ส่วน อาเพย์ แอชเทการ์ (Abhay Ashtekar) ผู้อำนวยการจากสถาบันศึกษาความโน้มถ่วงและจักรวาล จากมหาวิทยาลัยเพนน์สเตท (Penn State University) สหรัฐฯ อธิบายถึงการค้นพบนี้ว่า เป็นการค้นพบน่าตื่นเต้นจนแทบหยุดหายใจ และกล่าวว่าการค้นพบนี้จะโดดเด่นท่ามกลางความสำเร็จอื่นๆ ของวงการวิทยาศาสตร์ในศตวรรษที่ 21

ด้าน แอนดรูว์ โคทส์ (Andrew Coates) ศาสตรจารย์ฟิสิกส์ของมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน (University College London) กล่าวว่าการค้นพบนี้เทียบชั้นการค้นพบอนุภาคฮิกกส์โบซอน การพบมวลของนิวทริโน การค้นพบอิเล็กตรอน การรวมแรงไฟฟ้าแม่เหล็ก การปฏิวัติทรงกลมฟ้าของโคเปอร์นิคัส และการค้นพบกฎของนิวตัน

“ตอนนี้เราสามารถได้ยินเสียงเอกภพมากกว่ากว่าแค่มองดู หน้าต่างนี้ได้เปิดเสียงซาวด์แทร็คของเอกภพ” ศ.บี เอส สัธยาประกาศ (B S Sathyaprakash) จากมหาวิทยาลัยคาร์ดิฟฟ์ (Cardiff University) สหราชอาณาจักรกล่าว

นอกจากนี้ยังมีการพิสูจน์คลื่นความโน้มถ่วงทางอ้อมจากการค้นพบเมื่อปี 1973 ผ่านการศึกษา พัลซาร์และดาวนิวตรอน ซึ่งการศึกษาดังกล่าวส่งผลให้ รัสเซล ฮัลส์ (Russell Hulse) และโจเซฟ เทย์ลอร์ (Joseph Taylor) ผู้ศึกษาได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์เมื่อปี 1993









กำลังโหลดความคิดเห็น