xs
xsm
sm
md
lg

นักฟิสิกส์ไทยไขข้อสงสัยวัด “คลื่นความโน้มถ่วง” ได้แล้วยังไง?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.ดริศ สามารถ
หลังหอสังเกตการณ์ในสหรัฐฯ ประกาศให้โลกรับรู้ว่าสามารถวัด “คลื่นความโน้มถ่วง” ได้สอดคล้องทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปของ “อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์” ที่เสนอไว้ร่วมศตวรรษ แต่หลายคนอาจยังข้องใจว่าความสำเร็จครั้งนี้มีความสำคัญอย่างไร

โครงการไลโก (LIGO) หรือโครงการหอสังเกตการณ์คลื่นโน้มถ่วงแทรกสอดแสงเลเซอร์ (LASER Interferometer Gravitational-wave Observatory) ในสหรัฐฯ ได้ประกาศให้โลกรู้เมื่อวันที่ 11 ก.พ.2016 ที่ผ่านมาว่า เครื่องตรวจวัดใต้ดิน 2 แห่งในหลุยเซียนาและวอชิงตันสามารถวัดคลื่นความโน้มถ่วง (gravitational waves) ที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของหลุมดำ 2 หลุมดำที่อยู่ห่างจากโลก 1.3 พันล้านปีแสง

การค้นพบดังกล่าวสอดคล้องกับทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป (General Relativity) ของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) ที่เสนอไว้ตั้งแต่ปี 1916 และยังได้รับการยกย่องว่าเป็นการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ครั้งสำคัญของศตวรรษที่ 21 เทียบเท่าการค้นพบครั้งสำคัญอื่นๆ อย่างการค้นพบอนุภาคฮิกกส์ การรวมแรงแม่เหล็กไฟฟ้า การค้นพบกฎของนิวตัน หรือการปฏิวัติทรงกลมฟ้าของโคเปอร์นิคัส แต่หลายคนยังสงสัยว่าการค้นพบครั้งนี้มีความสำคัญอย่างไร

ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้ขอความรู้เพิ่มเติมจาก ดร.ดริศ สามารถ อาจารย์ประจำสาขาฟิสิกส์ประยุกต์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน จ.นครราชสีมา และผู้เชี่ยวชาญฟิสิกส์อนุภาคและจักรวาลวิทยา ซึ่งมี “คิป โธรน” (Kip Thorne) นักฟิสิกส์ทฤษฎีอเมริกันผู้ร่วมก่อตั้งหอสังเกตการณ์ไลโก และที่ปรึกษาในการสร้างภาพยนตร์ไซไฟยอดเยี่ยมเรื่อง “อินเตอร์สเตลลาร์” (Interstellar) เป็นต้นแบบและแรงบันดาลใจในการเป็นนักฟิสิกส์เชิงทฤษฎี

ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ - ทำไมนักวิทยาศาตร์จึงให้ความสำคัญต่อการค้นพบนี้?

ดร.ดริศ - เพราะการทดลองนี้เป็นการวัดปริมาณทางฟิสิกส์ที่ใหม่จริงๆ ที่ไม่เคยมีใครทำได้มาก่อนเลยครับ อย่างการค้นพบอนุภาคฮิกส์ที่ผ่านมายังเป็นการทดลองที่คล้ายๆ เดิม นักฟิสิกส์เราก็หาเหมือนกับการค้นพบอนุภาคอื่นๆที่ผ่านมา แค่พบว่าฮิกส์เป็นอนุภาคตัวใหม่มีสมบัติบางอย่างที่ต่างออกไป แต่การทดลองเกี่ยวกับคลื่นความโน้มถ่วงนี้ไม่ใช่นะครับ มนุษย์เราไม่เคยมีการทดลองอะไรที่คล้ายๆ แบบนี้แล้วทำได้สำเร็จมาก่อนเลยครับ เป็นการทดลองที่แม้แต่ท่านไอน์สไตน์เองอาจจินตนาการไว้ไม่ถึงว่ามนุษย์เราจะสามารถวัดได้จริงๆนะครับ

ลองคิดดูสิครับคลื่นความโน้มถ่วงมันเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วในอวกาศ เหมือนคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าก็มีอยู่แล้วในอากาศ คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าอยู่ตรงนั้นตั้งแต่กำเนิดโลก แต่มนุษย์เราเพิ่งจะฉลาดพอที่เข้าใจมัน และเพิ่งมีนักฟิสิกส์ทฤษฎีอย่างท่าน เจมส์ เคิร์ค แมกซ์เวลล์ (James Clerk Maxwell) ตั้งทฤษฎีอธิบายคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าได้อย่างสมบูรณ์ไม่ถึงสองร้อยปี มาสมัยปัจจุบันทุกคนคงเห็นแล้วนะครับว่า ความรู้เรื่องทฤษฎีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ามันมีค่ามีประโยชน์ต่อมนุษย์ขนาดไหน ดูง่ายๆ อย่างการประมูล 4G ของไทย คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหรือคลื่นมือถือ มีมูลค่าแพงมากขนาดไหน เคาะประมูลกันไม่กินไม่นอนเลยทีเดียว

กลับมาที่คลื่นความโน้มถ่วง มันก็เป็นสิ่งที่มีอยู่ในธรรมชาติของเราตั้งแต่เอกภพกำเนิดขึ้นมาโน่นเลย แต่พิเศษต่างจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าตรงไม่มีใครเคยเห็นมันมาก่อน ไม่เคยมีใครรับรู้ได้ ไม่เคยมีใครคิดถึงได้ ลองคิดดูสิครับว่ามีคลื่นความโน้มถ่วงมันวิ่งผ่านโลกของเราไปตั้งแต่โลกกำเนิด วิ่งผ่านหัวไดโนเสาร์ วิ่งผ่านตัวนักฟิสิกส์อดีตอย่างนิวตันไป วิ่งผ่านหัวอัจฉริยะทางฟิสิกส์ทุกยุคทุกสมัยไปโดยที่ไม่เคยมีใครคิดถึงเลย จนกระทั่งมีนักฟิสิกส์อย่างไอน์สไตน์เกิดขึ้นบนโลกและเป็นมนุษย์คนแรกที่ตระหนักว่าคลื่นความโน้มถ่วงมีอยู่จริง

ไอน์สไตน์ท่านมองมันผ่านสมการคณิตศาสตร์เมื่อร้อยปีที่แล้ว และโดยความเห็นส่วนตัว ผมก็คิดว่าตัวท่านเองคงไม่หวังหรอกครับว่านักวิทยาศาสตร์ในเวลาแค่ร้อยปีถัดมา จะเก่งพอที่จะวัดคลื่นความโน้มถ่วงได้จริง เพราะวัดได้ยากมากๆ ยากในระดับที่เคยมองกันว่าเป็นไปไม่ได้เลย เทียบกับยุคปัจจุบันก็เหมือนเวลานักฟิสิกส์พูดว่า จะวัดการแผ่รังสีของหลุมดำโดยตรง คนก็จะบอกว่า “เป็นไปไม่ได้” เพราะเทคโนโลยีที่เรารู้ยังห่างไกลนัก

พอมาวันนี้เทคโนโลยีต่างๆ ก้าวหน้าพอที่จะตรวจพบคลื่นความโน้มถ่วงได้โดยตรง จึงเป็นเรื่องยิ่งใหญ่มากครับ ถ้าให้ผมเก็งผู้ก่อตั้งหอสังเกตการณ์ไลโกน่าจะได้ขึ้นแท่นรับโนเบลฟิสิกส์ประจำปี 2016 นี้ล่ะครับ เพราะงานชิ้นนี้สำคัญระดับการค้นพบแห่งศตวรรษจริงๆ สำคัญในระดับการค้นพบคลื่นวิทยุเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้วเลยครับ
ลายเซนต์ ศ.คิป โธรน ที่ฝากให้ ดร.ดริศ
ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ - การค้นพบนี้สร้างความก้าวหน้าแก่วงการวิทยาศาสตร์ยังไงบ้าง?

ดร.ดริศ - สิ่งที่แน่นอนที่สุดคือ งานวิจัยด้านคลื่นความโน้มถ่วงจะได้ไปต่อครับ คงได้งบวิจัยสนับสนุนมากขึ้นไปอีก ที่ผ่านมาก็ของบยากอยู่ เพราะยังวัดอะไรไม่ได้จริง ตรงนี้สำคัญต่อวงการวิทยาศาสตร์มากนะครับ เพราะว่าก่อนหน้านี้เราสามารถสังเกตปราฏการณ์เชิงดาราศาสตร์ผ่านทางคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เช่น แสง และรังสีประเภทต่างๆ ซึ่งคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าพาเราย้อนอดีตไปได้อย่างมากก็แค่สามแสนปีหลังบิกแบง (Big Bang) เพราะก่อนหน้านั้นข้อมูลทางฟิสิกส์ต่างๆ ไม่สามารถบันทึกไว้ในคลื่นแสงส่งมาถึงเราได้ มันถูกลบหมดครับ

มีแต่คลื่นความโน้มถ่วงนี่ล่ะที่สามารถพาเราย้อนเวลาไปได้ไกลกว่านั้น ทำให้เรารู้ได้ว่าเสี้ยววินาทีหลังบิกแบงมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง ตรงตามทฤษฎีที่เราคิดไว้หรือเปล่า และทฤษฎีที่อธิบายบิกแบงได้ถูกต้องตามผลสังเกตการณ์มากที่สุด จะเป็นแนวทางนำเราไปสู่ทฤษฎีแรงโน้มถ่วงเชิงควอนตัมที่ถูกต้องครับ เพราะแรงโน้มถ่วงในช่วงกำเนิดเอกภพจำเป็นต้องนำทฤษฎีควอนตัมร่วมอธิบายอย่างไม่มีทางเลี่ยงครับ ผลของบิกแบงจะมีผลของแรงโน้มถ่วงในระดับควอนตัมแฝงอยู่ งานวิจัยด้านคลื่นความโน้มถ่วงนี่ล่ะครับจะเป็นเสาหลักที่ค้ำยันความก้าวหน้าของฟิสิกส์ทั้งด้านทฤษฎีและด้านการทดลองในอีก 20-50 ปีข้างหน้า

คลื่นความโน้มถ่วงก็เหมือนคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าครับมีหลายช่วงคลื่น คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ามี รังสีเอ็กซ์ รังสีแกมมา คลื่นความโน้มถ่วงก็มีช่วงคลื่นยาว ช่วงคลื่นสั้น ทีแรกนักฟิสิกส์เราคิดว่าจะพบคลื่นความโน้มถ่วงแบบช่วงคลื่นยาวที่มาจากบิกแบงก่อน โดยพบจากการวิเคราะห์รังสีไมโครเวฟพื้นหลัง (Cosmic Microwave Background : CMB) ดังที่เป็นข่าวใหญ่วิทยาศาสตร์ไปเมื่อสองปีก่อน แต่สุดท้ายพบว่าเป็นการปนเปื้อนของสัญญาณจากฝุ่นอวกาศ ไม่ใช่สัญญาณจริงที่เกิดจากคลื่นความโน้มถ่วง

ส่วนคลื่นที่ค้นพบใหม่นี้เป็นแบบความยาวคลื่นสั้นครับ เพราะเกิดจากหลุมดำสองอันมาหลอมเข้าด้วยกัน หลุมดำแบบนี้ถือเป็นวัตถุขนาดเล็กในทางดาราศาสตร์นะครับ เส้นผ่านศูนย์กลางมันประมาณร้อยกิโลเมตรเอง คลื่นออกมาจึงเป็นคลื่นความยาวไม่มาก

การค้นพบถือเป็นการขยายขอบเขตการรับรู้ปรากฏการณ์ต่างๆ ในอวกาศให้กว้างและครอบคลุมมากขึ้น เพราะมีวัตถุหลายๆ อย่างที่มีมวลขนาดใหญ่แต่ไม่สามารถเปล่งแสงออกมาได้ เช่น หลุมดำ สสารมืด คอสมิคสตริง ยังมีปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์อีกมากมายที่ทรงพลัง แต่พลังงานถูกปลดปล่อยมาในรูปคลื่นความโน้มถ่วง มากกว่าจะเป็นการปลดปล่อยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือปลดปล่อยอนุภาคต่างๆ ถ้าไม่ได้ใช้คลื่นความโน้มถ่วงวัด เราก็อาจมองไม่เห็นสิ่งเหล่านั้นเลย ทำให้เราพลาดที่จะศึกษาปรากฏการณ์มหัศจรรย์ในธรรมชาติไปอีกมากมายเลยนะครับ

ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์- หลังจากนี้นักวิทยาศาสตร์จะทำอะไรต่อ?

ดร.ดริศ- แรกสุดเลยนะครับ คงต้องพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพของเครื่องตรวจวัดให้ดีและละเอียดขึ้น ข่าวจากไลโกบอกว่าในตอนนี้สถานีตรวจวัดยังมีประสิทธิภาพเพียงหนึ่งในสามของความสามารถสูงสุดของสถานีเท่านั้นเอง ถ้าทางทีมไลโกเดินเครื่องได้เต็มประสิทธิภาพ เราอาจพบปรากฏการณ์ใหม่ๆ ที่น่าตื่นเต้นเพิ่มเติมอีก และอย่างที่บอกครับ สิ่งที่ไลโกวัดได้นี้เป็นเพียงคลื่นแรงโน้มถ่วงประเภทคลื่นสั้นครับ สเปกตรัมจริงๆ ของคลื่นความโน้มถ่วงนี้กว้างมากๆ ครับ

นักฟิสิกส์เรามีโครงการที่จะตรวจวัดคลื่นความโน้มถ่วงในย่านความยาวคลื่นอื่นๆ อีก เช่น โครงการไลซา (LISA: Laser Interferometer Space Antenna) เป็นโครงการที่จะปล่อยยานอวกาศขึ้นไปสามลำ วางตัวเป็นสามเหลี่ยมด้านละ 5 ล้านกิโลเมตร หลักการทำงานก็คล้ายๆ ไลโกล่ะครับ แต่เหมือนมีแขนยาวกว่าเป็นล้านเท่า ทำให้เราสามารถเห็นปรากฏการณ์ที่ปล่อยคลื่นแรงโน้มถ่วงในช่วงคลื่นที่ยาวกว่า เช่น สามารถมองเห็นดาวแคระขาวกำลังถูกกินโดยหลุมดำยักษ์ที่มีมวลเป็นล้านเท่าของดวงอาทิตย์ (supermassive black hole)

นอกจากนี้ไลซาอาจช่วยตอบคำถามพื้นฐานทางทฤษฎี เช่น อนุภาคควอนตัมที่สื่อแรงโน้มถ่วงที่เราเรียกว่า “กราวิตอน” มีมวลหรือไม่ ตามทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปกราวิตอนจะไม่มีมวลเหมือนอนุภาคแสงหรือโฟตอนนะครับ แต่บางทฤษฎีสมัยใหม่ยินยอมให้กราวิตอนมีมวลเพื่อนำไปใช้อธิบายการขยายตัวด้วยความเร่งของเอกภพ มีการคำนวณของทีมนักฟิสิกส์ชาวญี่ปุ่นพบว่า ถ้ากราวิตอนมีมวลจะทำให้คลื่นความโน้มถ่วงเปลี่ยนไป ไลซาจะตรวจวัดความเปลี่ยนแปลงได้ครับ

ผมอยากย้ำว่าถึงทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปของไอน์สไตน์ไม่สามารถอธิบายแรงโน้มถ่วงในระดับควอนตัมได้ เรายังไม่เข้าใจแรงโน้มถ่วงครบถ้วนนะครับ เราก็หวังกันว่างานวิจัยคลื่นความโน้มถ่วงนี่ล่ะที่จะมีส่วนพามนุษยชาติก้าวข้ามไปสู่ทฤษฎีควอนตัมของแรงโน้มถ่วงที่สมบูรณ์ในอนาคต
ศ.คิป โธรน ระหว่างแถลงข่าวพบคลื่นความโน้มถ่วง (SAUL LOEB / AFP)
ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์- เราวัดคลื่นความโน้มถ่วงได้อย่างไร?

ดร.ดริศ- คลื่นความโน้มถ่วงคือผลจากการบิดงอของอวกาศและเวลา ซึ่งเป็นผลจากทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป เนื่องสิ่งที่เราเรียกว่าแรงดึงดูดหรือแรงโน้มถ่วงเป็นผลจากมวลและพลังงาน เป็นสิ่งที่ทำให้อวกาศและเวลาบิดงอและส่งผลให้เกิดสิ่งที่เรารู้จักในรูปของแรงโน้มถ่วงนั่นเอง อุปมาเหมือนกับอวกาศและเวลาเป็นโซฟาที่นุ่มมากๆ ถ้าวางสิ่งของที่เบาๆ โซฟาจะไม่เกิดรอยบุ๋มมากนักและถ้าเราวางของหนักบนโซฟาก็จะเกิดรอยบุ๋มที่ใหญ่และลึกลงไปด้วย แต่คลื่นโน้มถ่วงมีความเข้มน้อยมากๆ จนทำให้เราไม่สามารถทำการวัดได้

ดังนั้นทางกลุ่มนักวิทยาศาสาตร์ที่ไลโกจึงจำเป็นต้องมองหาเหตุการณ์การชนกันของวัตถุที่หนักมากๆ เพื่อทำให้เกิดการกระเพื่อมครั้งใหญ่ของคลื่นความโน้มถ่วง หลักการวัดของไลโกคือสร้างสถานีวัดรูปตัวแอลใหญ่ (L) มีสองแขนที่ยาวประมาณ 4 กิโลเมตรเท่ากัน ลักษณะของคลื่นโน้มถ่วงจะไม่เหมือนคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหรือคลื่นน้ำ คลื่นความโน้มถ่วงนี้จะคลื่นตัวพร้อมการบีบอัดและขยายอวกาศและเวลาในสองทิศทางนั่นคือแบบ + และ X

เมื่อคลื่นความโน้มถ่วงจากการชนกันของหลุมดำของตัวที่มีมวลประมาณสามสิบเท่าของดวงอาทิตย์แผ่มายังโลกนั่นจะทำการบีบอัดและขยายอวกาศและเวลา ซึ่งทุกอย่างก็ถูกบีบอัดและขยายด้วยเพราะทุกอย่างอยู่ในกาลอวกาศ ด้วยขนาดที่มีความยาวน้อยมากๆ ประมาณ หนึ่งในหมื่นเท่าของขนาดโปรตอน (โปรตอนมีขนาดประมาณ 10-15 = 1/100,000,000,000,000 เมตร) ในระหว่างนั่นสถานีจะส่งแสงเลเซอร์ไปที่แขนทั้งสองแล้วให้เลเซอร์สะท้อนกลับ เพื่อดูว่าแสงเลเซอร์มาถึงพร้อมกันหรือไม่

ถ้าอวกาศและเวลาไม่มีการบีบอัดและขยายจากคลื่นโน้มถ่วง เลเซอร์จากแขนทั้งสองจะมาถึงพร้อมกัน ความยากในการตรวจวัดก็คือการกำจัดสัญญาณรบกวน ซึ่งมีเป็นจำนวนมาก เพราะขนาดของการบีบอัดจากคลื่นโน้มถ่วงนั้นน้อยมากๆ ด้วยเหตุนี้เองไลโกจึงได้ตั้งสถานีตรวจวัดไว้สองที่ และอยู่คนละฝั่งของอเมริกาเพื่อความถูกต้อง

สถานีทั้งสองจะนำสัญญาณทั้งสองมาเทียบกันเพื่อตรวจดูว่าสัญญาณที่วัดได้มันเป็นสัญญาณจากคลื่นความโน้มถ่วงหรือไม่ จากความยุ่งยากและความละเอียดอ่อนดังกล่าวนี้ จึงทำให้การค้นพบคลื่นความโน้มถ่วงถือเป็นเรื่องสำคัญไม่เพียงแค่ความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์เพียงอย่างเดียว แต่ถือเป็นการก้าวข้ามขีดจำกัดของเทคโนโลยีของมนุษยชาติอีกด้วย

ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์- ในส่วนของ ดร.ดริศได้ศึกษาเกี่ยวกับแรงโน้มถ่วงหรือไม่ และศึกษาในแง่ไหน?

ดร.ดริศ - โดยสายงานส่วนตัวแล้วนะครับผมไม่ได้ทำวิจัยเกี่ยวกับคลื่นความโน้มถ่วงโดยตรง เพราะส่วนใหญ่จะทำงานด้านฟิสิกส์อนุภาคของแรงนิวเคลียร์อย่างเข้มเชิงทฤษฎี แต่ผมเองก็ยังพยายามให้ความสนใจในการศึกษาวิจัยโดยใช้ทฤษฎีสัมพัทธภาพเป็นพื้นฐานอยู่ครับ เมื่อ 2 ปีที่แล้วผมได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับการหาความสัมพันธ์ของอันตรกิริยาของอนุภาคผ่านทฤษฎีแรงโน้มถ่วงในมิติที่ห้าจากทฤษฎีสตริงร่วมกับ ดร.ปิยบุตร บุรีคำ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ขณะนี้ก็ยังได้ทำงานวิจัยด้านจักรวาลวิทยาเชิงฟิสิกส์อนุภาคในช่วงการพองตัวของเอกภพ ซึ่งต้องใช้พื้นฐานจากทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปเช่นกัน โดยร่วมงานกับ ดร.พงษ์พิชิต จันทร์นุ้ย จากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ที่สำคัญที่สุดในทีทำงานผมยังได้ร่วมมือกับ ดร.อิษฎา ทองกุล เพื่อนร่วมงานที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ในกลุ่มวิจัยเล็กๆ ด้านฟิสิกส์อนุภาคและจักรวาลวิทยาที่นำโดย ดร.ชาคริต นวลฉิมพลี หัวหน้าสาขาวิชาฟิสิกส์ประยุกต์ เพื่อศึกษาด้านจักรวาลวิทยาและแรงโน้มถ่วง

ดร.อิษฎา ถือเป็นผู้รู้ตัวจริงด้านแรงโน้มถ่วงและจักรวาลวิทยา ซึ่งแน่นอนว่าหัวข้อการสนทนาหลักตอนนี้ก็คือเรื่องคลื่นความโน้มถ่วง และคำตอบส่วนใหญ่สำหรับการสัมภาษณ์ครั้งนี้ผมก็ได้มาจากการพูดคุย และคำแนะนำจาก ดร. อิษฎา ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมงานและรู้จักกันมานานกว่าสิบปีแล้วช่วยเป็นคู่คิดและคอยให้คำปรึกษาโดยตลอด

แม้ว่างานวิจัยของผมส่วนใหญ่จะไม่ค่อยเกี่ยวกับคลื่นความโน้มถ่วง และหลุมดำโดยตรง แต่ผมยังคงให้ความสนใจอ่านและติดตามงานวิจัยเกี่ยวกับด้านนี้อย่างสม่ำเสมอ และคอยถามข่าวคราวความเคลื่อนไหว ด้านฟิสิกส์ดาราศาสตร์เชิงสัมพัทธภาพกับเพื่อนๆ ที่ทำงานวิจัยอยู่เป็นประจำ เนื่องจากผมมี “ไอดอล” ด้านฟิสิกส์คนแรกคือ ศ.คิป โธรน ผู้ร่วมก่อตั้งสถานีตรวจวัดคลื่นความโน้มถ่วงไลโก และผมได้ฝากให้เพื่อนที่ไต้หวันบอกท่านระหว่างที่ท่านเดินทางไปบรรยายพิเศษที่มหาวิทยาลัยในไต้หวันว่า ท่านเป็นแรงบันดาลใจให้ผมศึกษาฟิสิกส์ทฤษฎีแม้จะไม่ได้อยู่ในสาขาเดียวกันก็ตาม และท่านก็ฝากลายเซนต์มาให้ ผมหวังว่าท่านจะได้รางวัลโนเบลในเร็วๆ นี้










กำลังโหลดความคิดเห็น