เชียงใหม่ - รอง ผอ.สถาบันวิจัยดาราศาสตร์ฯ ชี้การค้นพบคลื่นความโน้มถ่วงครั้งแรกของโลก ช่วยยืนยันปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ได้มหาศาล เชื่ออนาคตอาจรู้ถึงต้นกำเนิดเอกภพ-โลกใบนี้ด้วย
วันนี้ (12 ก.พ.) นายศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวถึงหอดูดาวในสหรัฐอเมริกา 2 แห่ง ค้นพบคลื่นความโน้มถ่วงเป็นครั้งแรกของโลก เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2558 และมีการประกาศการค้นพบอย่างเป็นทางการเมื่อวานนี้ (11 ก.พ.) ว่า ถือเป็นการค้นพบหลุมดำครั้งแรกของโลก
นายศรัณย์ระบุว่า คลื่นความโน้มถ่วงเกิดจากการรวมตัวของหลุมดำสองหลุมจนเกิดคลื่นความโน้มถ่วงเมื่อ 1,300 ล้านปีแสง และคลื่นดังกล่าวเดินทางมาถึงโลกเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2558 ที่ผ่านมา จนทำให้มีการตื่นตัวของนักฟิสิกส์ และสอดคล้องกับทฤษฎีสัมพัทธภาพของ “ไอน์สไตน์” ที่มีการพยากรณ์ไว้ล่วงหน้าเมื่อ 100 ปีก่อนว่าจะเกิดขึ้น เป็นสิ่งยืนยันว่าเป็นจริง และที่ผ่านมามีการสันนิษฐานว่ามีหลุมดำในห้วงอวกาศแต่ไม่สามารถอธิบายตำแหน่งได้
นายศรัณย์บอกอีกว่า การค้นพบครั้งนี้เป็นสิ่งยืนยันหลุมดำที่มีอยู่ในเอกภพจะทำให้สามารถยืนยันปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ต่างๆ ได้อีกมากมาย เช่น การยุบตัวของซูเปอร์โนวา ดาวนิวตรอน และคอสมิกสตริง เป็นต้น และหากในอนาคต มีความเจริญก้าวหน้าทางเทคนิคต่างๆ อาจทำให้ทราบถึงต้นกำเนิดของเอกภพ หรือโลกใบนี้ว่าเกิดขึ้นเมื่อใดก็เป็นได้