xs
xsm
sm
md
lg

ตั้ง “โรงขยะระบบหมักก่อนแยก” สู้ปัญหาขยะเรือสินค้า-นักท่องเที่ยวล้น “เกาะสีชัง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ขยะจำนวนมากบริเวณริมฝั่งสะพานอัษฎางค์ อีกหนึ่งจุดท่องเที่ยวฮิตบนเกาะสีชัง
ตั้ง "โรงขยะระบบหมักก่อนแยก" กู้วิกฤตขยะล้น "เกาะสีชัง" จ.ชลบุรี หลังปริมาณขยะพุ่งมหาศาล เหยียบวันละ 30 ตัน เหตุเรือส่งสินค้า-นักท่องเที่ยวทิ้งขยะชุ่ย ลุยเปลี่ยนขยะเป็นปุ๋ย-แท่งเชื้อเพลิงขาย สร้างรายได้คืนคนบนเกาะ

“หมูป่าที่นี่เมื่อก่อนมีไม่เยอะหรอก แต่พอเตาเผาขยะเสีย กำจัดขยะไม่ทัน หมูก็มีอาหารกินมากขึ้น จากคู่เดียวจนตอนนี้ออกลูกออกหลายเป็นร้อยๆ ตัว ถ้าบอกว่าสาเหตุหลักมาจากขยะล้นเกาะก็ไม่แปลก ลองสังเกตดูสิหน้าหาดมีแต่ขยะเต็มไปหมด ทั้งขยะของคนบนเกาะเราเอง ขยะจากเรือสินค้า และขยะจากนักท่องเที่ยว วันหนึ่งไม่รู้กี่ตัน” ชาวบ้านบนเกาะสีชังรายหนึ่ง กล่าวขึ้น ขณะทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ลงพื้นที่สำรวจพื้นที่ก่อสร้างโรงขยะแห่งใหม่บนเกาะสีชัง อ.เกาะสีชัง จ.ชลบุรี

นายสหัส ถนอมศิริ รองนายกเทศมนตรี ต.เกาะสีชัง กล่าวว่า เกาะสีชังเป็นอำเภอหนึ่งของ จ.ชลบุรี เป็นเกาะใหญ่ที่อยู่ห่างจากกทม.ประมาณ 117 กิโลเมตร มีพื้นที่บนบกประมาณ 17.3 ตารางกิโลเมตร บนเกาะเป็นที่ตั้งของโบราณสถานและมีธรรมชาติสวยงาม ทำให้ในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวแวะมาเยี่ยมเยียนเกาะสวรรค์แห่งนี้ไม่น้อยกว่า 4 แสนคน ทำให้วันหนึ่งบนเกาะสีชังมีขยะสะสมไม่ต่ำกว่า 15 ตัน และจะทะยานไปถึง 18 ตันในวันหยุด

ยังไม่นับรวมขยะทะเลที่จะพัดมาติดหน้าเกาะอีกวันละ 15 ตัน เนื่องจากเกาะสีชังอยู่ห่างจากฝั่งศรีราชาเพียง12 กิโลเมตร และมีภูมิประเทศที่ดีจนเป็นจุดยุทธศาสตร์ทางทะเล เป็นที่จอดพักและขนถ่ายสินค้าระหว่างลำเรือโป๊ะ ทำให้ในวันหนึ่งเกาะสีชังต้องรองรับขยะไม่น้อยกว่า 30 ตัน โดยที่กฎหมายไม่สามารถทำอะไรกับเหล่าเรือขนสินค้าได้เพราะมีบทบังคับการณ์ที่ซับซ้อนไม่ชัดเจน

รองนายกเทศมนตรีเกาะสีชัง เผยว่า ปัญหาขยะในลักษณะดังกล่าวมีมานาน จนส่วนราชการบนเกาะต้องหามาตรการมาช่วยจัดการ ทั้งการจัดตั้งธนาคารขยะ การแจกถังขยะแต่ก็ได้ผลแค่ชั่วครู่ชั่วคราว เพราะไม่คุ้มทุนหากจะนำพลาสติกที่แยกได้ไปขายบนฝั่ง การกำจัดขยะหลักจึงต้องยึดหลัก "เสร็จบนเกาะ" ด้วยการอาศัยเตาเผาขยะขนาด 5 ตันที่ขับเคลื่อนด้วยน้ำมันเชื้อเพลิง ทำให้มีค่าใช้จ่ายสูงถึงวันละ 3 พันบาท เมื่อเตาใช้นานไร้การซ่อมบำรุง เกือบ 2 ปีที่ผ่านเตาจึงอยู่ในสถานะชำรุด ขยะทั้งหมดจึงถูกเปลี่ยนมาเทกองรวมกันเพื่อรอการเผาธรรมชาติ ซึ่งนอกจากจะอันตราย และ เป็นการสร้างมลพิษแล้ว ยังเป็นดงอาหารชั้นดีสำหรับหมูป่าจรจัดหิวโหยที่ตอนนี้แปรสภาพมาเป็นเครื่องกำจัดขยะแบบไม่ต้องใช้น้ำมัน

เมื่อเริ่มรับมือไม่ไหว นายดำรงค์ เภตรา นายกเทศมนตรี ต.เกาะสีชัง จึงประสานงานไปที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อหาทางแก้ไข จนเกิดการจับคู่กับเทคโนโลยีบำบัดขยะมูลฝอยด้วยวิธีการแบบเชิงกล-ชีวภาพของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ที่เป็นหนึ่งในคลินิกเทคโนโลยีภายใต้การกำกับของสำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จึงเป็นที่มาของ "โครงการบริหารจัดการขยะชุมชนเทศบาล ต.เกาะสีชัง อ.เกาะสีชัง จ.ชลบุรี" และโครงการสร้างระบบการจัดการขยะเพื่อผลิตเชื้อเพลิง (Refuse Derived Fuel: RDF) ซึ่งเป็นการบูรณาการกันระหว่างเกาะสีชัง, กระทรวงวิทยาศาสตร์และ มทส. ตั้งแต่ปลายปี 2558 ที่ผ่านมา

"เรารู้ว่าเผาธรรมชาติมันไม่ดี มันเป็นมลพิษ แต่เมื่อเตาเผาพังเราจึงไม่มีทางเลือก ฝังกลบเลิกนึกถึงได้เลยเพราะเราเป็นเกาะพื้นด้านล่างเป็นหินขุดไม่ได้ จะเอาไปขายที่ฝั่งก็ไม่คุ้มค่าขนส่ง เราจึงไปติดต่อกระทรวงวิทย์เขาก็เสนอเทคโนโลยีกำจัดขยะของ มทส.ที่เป็นการหมักก่อนแยกที่จะทำให้ได้ทั้งปุ๋ย-เชื้อเพลิง และกำจัดขยะได้วันละ 5 ตันให้ ซึ่งหลังจากเราไปเยี่ยมชมโรงงานจริงที่ มทส. โคราช ก็พอใจ และขออนุมัติโครงการจนขณะนี้ส่วนของรั้วโรงขยะเสร็จไปแล้วประมาณ 50%" รองนายกเทศมนตรี ต.เกาะสีชัง กล่าวแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์

ด้าน รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า เทคโนโลยีการบำบัดทางกลและชีวภาพ (Mechanical and Biological Treatment: MBT) ที่พัฒนาโดย มทส. อาศัยหลักการของเทคโนโลยี MBT ที่เป็นการหมักก่อนแยกเพื่อให้สอดคล้องกับลักษณะการทิ้งขยะของคนไทย โดยขยะทั้งหมดจะถูกลำเลียงเข้าสู่สายพานคัดแยกเพื่อคัดเลือกขยะพิษหรือขยะรีไซเคิลออกก่อน

จากนั้นขยะจะถูกส่งเข้าสู่ห้องหมักที่มีเทคโนโลยีการกลับกองขยะด้วยสกรูในแนวตั้ง (Vertical Agitatos) ทำให้กองขยะด้านล่าง มีโอกาสสัมผัสอากาศมากขึ้น ทำให้เกิดกระบวนการย่อยสลายทางชีวภาพได้ดีขึ้น และยังป้องกันการย่อยสลายแบบไม่ใช้ออกซิเจนทางด้านล่างของกองขยะ ที่ทำให้เกิดก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ที่ทำให้เกิดกลิ่นเหม็น ซึ่งในส่วนนี้จะใช้เวลาประมาณ 15-30 วันก็จะสามารถแยกขยะสดที่กลายสภาพเป็นปุ๋ย และขยะพลาสติกสำหรับการนำไปผลิตเป็นแท่งเชื้อเพลิง

ส่วนเหตุผลที่ไม่นำขยะไปเผาเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับผลิตไฟฟ้าใช้บนเกาะ รศ.ดร.วีระพงษ์ เผยว่า เป็นเพราะปริมาณขยะพลาสติกบนเกาะมีไม่มากพอและต้องใช้งบลงทุนสูง อีกทั้งการโยงสายไฟผ่านท่อใต้น้ำจากฝั่งมาใช้ยังมีราคาถูกกว่า ส่วนโครงการที่จะพัฒนาให้โรงขยะมีความจุมากขึ้นก็เป็นสิ่งที่อยู่ในแผนต่อไปของโครงการเพราะโรงขยะที่กำลังจะสร้างรับขยะได้เพียงวันละ 5 ตัน ทั้งที่ปริมาณของขยะยังคงมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ

"เรื่องการเอาพลาสติกมาเข้ากระบวนการไพโรไรซิสทำเป็นน้ำมัน และการขยายโรงงาน ผมคิดว่ามีแน่ๆ แต่ต้องรองบประมาณในปีถัดๆ ไปตอนนี้ต้องทำโครงการที่อยุมัติแล้วตรงหน้าให้เสร็จก่อน และจากการสอบถามชาวบ้านถึงปัญหาอื่นๆ ก็ได้ยินมาว่าชาวบ้านต้องการน้ำซึ่งเราก็มองไปการนำน้ำทะเลมาผลิตเป็นน้ำจืดซึ่งกระทรวงวิทย์ของเราก็มีเทคโนโลยีอื่น ส่วนปัญหาหมูป่านั้นเป็นเรื่องของเทศบาลแต่กระทรวงวิทย์ก็จะพยายามหางานวิจัยหรือโครงการดีๆ มาช่วยอีกแรง" ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวทิ้งท้าย

ทั้งนี้โครงการบริหารจัดการขยะชุมชนเทศบาล ต.เกาะสีชังฯ เป็นโครงการภายใต้งบประมาณจากกลุ่มยุทธศาสตร์ จ.ชลบุรี ปีงบประมาณ 2559 เป็นจำนวนเงินประมาณ 15 ล้านบาท โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์มีบทบาทในการสนับสนุนเครื่องจักร เครื่องมือ และอุปกรณ์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของการจัดการขยะชุมชนจำนวน 5 ตันต่อวัน โดยในปี 2558 เป็นเงินจำนวน 1.67 ล้านบาทและในปีงบประมาณ 2559 เป็นจำนวนเงิน 1.2 ล้านบาท ส่วน มทส. โดยคลินิกเทคโนโลยีจะให้การสนับสนุนการศึกษาออกแบบระบบ และให้สิทธิในการใช้เทคโนโลยีการจัดการขยะโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ซึ่งคิดเป็นจำนวนเงิน 1.5 ล้านบาท รวมแล้วเป็นมูลค่าประมาณ 19 ล้านบาท
ขยะที่พบบนเกาะสีชังส่วนมากเป็นขยะพลาสติก
ถุงขยะและขยะจำนวนมากบริเวณริมหาดเกาะสีชังนอกจากจะเป็นภาพที่ไม่งามตา ยังส่งกลิ่นเหม็นคละคลุ้ง
หาดทรายบริเวณนี้ไม่มีชาวบ้านหรือนักท่องเที่ยวลงเล่นน้ำ เพราะมีขยะจำนวนมาก ส่งกลิ่นรุนแรง
ขยะบริเวณหน้าหาดเกาะสีชัง
ขยะเศษไม้จากการก่อสร้างก็มีมาก
ขยะสดและขยะพลาสติกปริมาณกว่า 30 ตันต่อวัน ถูกนำมาเทกองเพื่อรอการกำจัด
รถขนขยะบนเกาะสีชัง
หมูป่าสีดำทะมึนนับร้อยตัวกำลังรุมกินขยะอย่างสบายใจ ในพื้นที่ลานตากขยะที่แต่ละวันจะมีขยะมาเทกองรวมกันสูงเป็นภูเขา
โมเดลโรงขยะที่กำลังดำเนินโครงการจัดสร้าง
เดิมทีบริเวณนี้เคยเป็นที่ตั้งของเตาเผาขยะเดิม แต่เมื่อเตาชำรุดจึงถูกเปลี่ยนให้เป็นลานตากขยะเพื่อริการเผาธรรมชาติแทน
แผนการก่อสร้างโรงขยะ มีเวลานับจากนี้ไปประมาณ 1 ปีคาดว่าจะแล้วเสร็จ
ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์, นายกเทศมนตรี และผู้ว่าการอำเภอเกาะสีชัง ลงพื้นที่ดูการก่อสร้างโรงขยะ
พื้นที่กว่า 7 ไร่ 3 งานบริเวณท้ายเกาะกำลังถูกปรับปรุงเพื่อสร้างเป็นโรงขยะพร้อมเครื่องมือ ด้วยงบประมาณกว่า 18 ล้านบาท
ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ กล่าวถึงความสำคัญของการก่อสร้างโรงขยะให้แก่ชาวบ้านในพื้นที่ ต.เกาะสีชัง
รศ.ดร.วีระพงศ์ แพสุวรรณ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขณะลงพื้นทีก่อสร้างโรงขยะ
นายสหัส ถนอมศิริ รองนายกเทศมนตรี ต.เกาะสีชัง









กำลังโหลดความคิดเห็น