xs
xsm
sm
md
lg

ก.วิทย์ชวนญี่ปุ่นลงทุนห้องวิจัยอาหาร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์
ดร.พิเชฐเผยผลหารือจากการเดินทางไปเนือนญี่ปุ่นพร้อม ดร.สมคิดและรัฐมนตรี 5 กระทรวงเศรษฐกิจ โดยกระทรวงวิทย์หนุนญี่ปุ่นลงทุนห้องวิจัยอาหาร ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ ยกข้อได้เปรียบของไทยในด้านทำเลที่ตั้งวัตถุดิบ แรงงานฐานความรู้ในสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาหาร

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ในการเดินทางเยือนญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 24-28 พ.ย.58 ณ กรุงโตเกียว นำทีมโดย ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีอีก 5 กระทรวงเศรษฐกิจ ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ร่วมด้วยภาคเอกชนอีก 25 ราย โดยมีเป้าหมายเพื่อแสดงศักยภาพและกระชับความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ อีกทั้งได้หารืออย่างเป็นทางการกับ นายชินโสะ อาเบะ นายกรัฐมนตรี ญี่ปุ่น และ นายทาโร อะโซ รองนายกรัฐมนตรี รวมทั้งภาคธุรกิจญี่ปุ่นที่มีการลงทุนในประเทศ

ดร.พิเชฐ กล่าวว่า ในส่วนของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ นั้น ได้หารือกับ นายไอโกะ ชิมาจิริ รัฐมนตรีด้านนโยบายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของญี่ปุ่น และได้ข้อตกลงร่วมกัน 3 ประการ คือ 1.การจัดตั้งศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate Change Technology Transfer Center) 2.การจัดตั้งสถาบันวิจัยนโยบายด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยจะให้สถาบันบัณฑิตพัฒนานโยบายญี่ปุ่น (National Graduate Institute for Policy Study : GRIPS) ให้ความช่วยเหลือดังกล่าว และ 3.การจัดตั้งโครงการอวกาศระดับชาติ โดยทำงานร่วมกันผ่านคณะทำงานอวกาศโพ้นทะเล

นอกจากนี้ ดร.พิเชฐระบุว่า ยังได้เข้าพบนายฮิโรชิ ฮาเซะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ วัฒนธรรม กีฬาและวิทยาศาสตร์ของญี่ปุ่น เพื่อหารือถึงการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อจัดตั้งศูนย์วิจัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมภายใต้ (Japan-ASEAN Science, Technology and Innovation Platform :JASTIP) ภายในต้นปี 2559 และหารือถึงการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมด้านวิศวกรรมการผลิตเพื่อพัฒนาวิศวกรและช่างเทคนิค ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการดำเนินงานของบริษัทญี่ปุ่นในไทยและประเทศในกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขง

พร้อมกันนี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ยังเชิญกระทรวงศึกษาธิการ วัฒนธรรม กีฬาและวิทยาศาสตร์ของญี่ปุ่น เข้าร่วมโครงการฟูดอินโนโพลิส (Food Innopolis) ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย และเสนอให้ญี่ปุ่นลงทุนจัดตั้งโรงงานต้นแบบ และห้องปฏิบัติการด้านอาหาร โดยยกข้อได้เปรียบของไทยในด้านทำเลที่ตั้งวัตถุดิบ แรงงานฐานความรู้ในสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาหาร เพื่อพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นอีกศูนย์กลางของการทำวิจัยพัฒนา และนวัตกรรมสำหรับอุตสาหกรรมอาหารที่ครบวงจร

สำหรับงานวิจัยของห้องปฏิบัติการดังกล่าวจะเน้นด้านอาหารสุขภาพและอาหารฟังก์ชัน สารปรุงแต่งอาหารและสารสกัดทางโภชนาการ ผลิตภัณฑ์ผักและผลไม้ออร์กานิก อาหารพิเศษเฉพาะกลุ่ม เช่น อาหารสำหรับผู้สูงอายุ อาหารฮาลาล รวมทั้งกิจกรรมสนับสนุนนวัตกรรมอาหาร เช่น เทคโนโลยีสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอาหาร เทคโนโลยีบรรจุภัณฑ์ เทคโนโลยีการออกแบบและการพิมพ์ โดยโครงการฟูดอินโนโพลิสจะให้บริการครอบคลุมพื้นที่ห้องปฏิบัติการ โรงงานต้นแบบ เชื่อมโยงบุคลากรวิจัยจากมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัย และศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ

ดร.พิเชฐ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้ร่วมกับทางกระทรวงอุตสาหกรรมจัดสัมมนา โครงการฟูดอินโนโพลีส เพื่อเชิญบริษัทญี่ปุ่นด้านอาหารมาลงทุนวิจัยและพัฒนาในพื้นที่ของโครงการ และให้รายละเอียดเกี่ยวกับภาพรวมของโครงการ รวมถึงมาตรการจูงใจต่างๆ และได้ร่วมประชุมกับบรรษัทเครือข่ายนวัตกรรมแห่งญี่ปุ่น (Innovation Network Corporation of Japan: INCJ) ซึ่งเป็นเครือข่ายร่วมระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนให้การสนับสนุนเงิน เทคโนโลยีและการบริหารจัดการสำหรับการเริ่มต้นลงทุน









กำลังโหลดความคิดเห็น