***ข่าวออนไลน์ส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีคนไทยยอดเยี่ยม*** จากการประกวดข่าวดิจิตอลยอดเยี่ยมแห่งปี 2559 โดย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์
ย้อนการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ในแหล่งเที่ยวทั่วไทย จาก SuperSci 5 ตอนพิเศษใน "ซีรีส์เที่ยวไทย" พร้อมการทดลองสุดพิเศษจาก "ดร.กวิน เชื่อมกลาง" นักวิชาการศูนย์สะเต็มศึกษาแห่งชาติ สถาบันส่งการเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)
เริ่มที่การเรียนรู้เรื่องการเปลี่ยนสถานะของน้ำจากการทดลองในตอนพิเศษ "SuperSci: เที่ยวไทย-ตกผลึกแม่คะนิ้ง" สร้างแม่คะนิ้งขึ้นเองไม่ต้องรออากาศหนาว
“แม่คะนิ้งเกิดจากไอน้ำรอบๆ ใบไม้สูญเสียความร้อนอย่างรวดเร็วจนก่อตัวเป็นเกล็ดน้ำแข็งขึ้น กระบวนการที่เกิดขึ้นเรียกว่า 'การระเหิดกลับ' ซึ่งเป็นการเปลี่ยนสถานะจากไอน้ำเป็นเกล็ดน้ำแข็ง โดยไม่ผ่านสถานะของเหลว" ดร.กวินอธิบายถึงการเกิดแม่คะนิ้ง
ณ วัดพระธาตุลำปางหลวง จ.ลำปาง มีปรากฏการณ์ "พระธาตุหัวกลับ" ที่สวยงาม และเป็นความสวยงามที่อธิบายได้ด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์กับตอนพิเศษ "SuperSci: เที่ยวไทย-จำลองพระธาตุหัวกลับ"
"ภาพพระธาตุหัวกลับ เกิดจากแสงที่สะท้อนจากพระธาตุเคลื่อนที่ผ่านช่องขนาดเล็กเข้าไปในห้องมืด เมื่อตกกระทบกับฉากรับภาพจะเกิดเป็นภาพสลับบน-ล่าง และสลับซ้าย-ขวา" ดร.กวินอธิบาย
"หินงอกหินย้อย" ตามถ้ำในเขาหินปูนเป็นอีกความงามตามธรรมชาติที่อัศจรรย์ แต่เราจำลองการเกิดหินงอกหินย้อยกันได้ที่บ้าน จากตอนพิเศษ "SuperSci: ซีรีส์เที่ยวไทย-ปลูกหินงอกหินย้อย"
“หินงอกและหินย้อย เกิดจากฝนที่มีสมบัติเป็นกรดทำปฏิกิริยากับแคลเซียมคาร์บอเนตที่มีอยู่ในหินปูนกลายเป็นสารละลายแคลเซียมไฮโดรเจนคาร์บอเนตไหลไปตามผนังถ้ำ เมื่อน้ำระเหยออกไปจากสารละลายจะเกิดเป็นตะกอนของสารประกอบแคลเซียมคาร์บอเนตขึ้น โดยตะกอนที่สะสมพอกพูนจากเพดานถ้ำจะเกิดเป็นหินย้อย และส่วนตะกอนที่สะสมพอกพูนจากพื้นถ้ำจะเกิดเป็นหินงอก ถ้าหินงอกและหินย้อยสะสมตัวจนบรรจบเข้าหากันจะเกิดเป็นแท่งเสาขึ้น” ดร.กวินอธิบาย
วัตถุต้องมีเงาแต่ทำไม "พระธาตุ" ที่วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ใน จ.นครศรีธรรมราช จึงไร้เงา หาคำตอบได้จากตอนพิเศษ "SuperSci: ซีรีส์เที่ยวไทย- ไขปริศนาพระธาตุไร้เงา"
“พระธาตุไร้เงาอาจจะเกิดจากการที่ปลายยอดของเจดีย์ที่บรรจุพระธาตุมีขนาดเล็ก รูปทรงเรียวแหลม และอยู่สูงจากพื้นดินมากๆ ทำให้เงาของปลายยอดเจดีย์ที่ปรากฏบนพื้นเป็นเพียงเงามัวจางๆ เท่านั้น เมื่อสังเกตเงามืดของเจดีย์ทั้งหมดจึงเห็นเพียงเงามืดของส่วนฐานเจดีย์แต่ไม่ปรากฏเงามืดของส่วนปลายยอดเจดีย์ ทำให้ดูเหมือนว่าปลายยอดเจดีย์ที่บรรจุพระธาตุนั้นไม่มีเงา” ดร.กวินอธิบาย
ส่งท้ายด้วยปรากฏการณ์อัศจรรย์แห่งแสง ณ ปราสาทพนมรุ้ง กับตอน "SuperSci: เที่ยวไทย-ถอดรหัสปรากฏการณ์แสง ณ ปราสาทพนมรุ้ง" ไขปริศนาทำไมแสงอาทิตย์จึงลอดช่องประตู แล้วทำไมจึงเกิดปรากฏการณ์เพียงปีละไม่กี่ครั้ง
“ปรากฏการณ์แสง ณ ปราสาทพนมรุ้ง เป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า โลกหมุนรอบแกนโลกที่เอียงในขณะที่โคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นวงรี ทำให้คนบนโลกเห็นดวงอาทิตย์ขึ้นและตกในตำแหน่งที่แตกต่างกันไปในแต่ละวัน โดยในหนึ่งปีจะมีเพียง 2 วันเท่านั้นที่ดวงอาทิตย์จะขึ้นตรงกับช่องประตูของปราสาทพนมรุ้งทั้ง 15 ช่อง จากการศึกษาข้อมูลต่างๆ มีความเป็นไปได้ว่า ปราสาทพนมรุ้งถูกออกแบบให้วางตัวทำมุม 84.5 องศากับทิศเหนือ เพื่อให้วันที่แสงจากดวงอาทิตย์ลอดผ่านประตูทั้ง 15 ช่องในช่วงต้นเดือนเมษายนนั้นตรงกับวันที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนตัวเข้าสู่กลุ่มดาวราศีเมษพอดี เพื่อเป็นการรับแสงแรกของวันขึ้นปีใหม่ตามปฏิทินทางสุริยคติ" ดร.กวินระบุ