“ชัยพฤกษ์” เร่งนำร่างประกาศ ศธ. เรื่องการโอนกิจการ ทรัพย์สิน งบประมาณ บุคลากร ฯลฯ เสนอให้ รมว.ศึกษาธิการ ลงนามวันที่ 15 ก.พ. นี้ ย้ำ รวมอาชีวะรัฐ - เอกชน นั้น การบริหารจัดการของเอกชนยังมีอิสระ
ตามที่ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 133 ตอนพิเศษ 42ง ลงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2559 ประกาศคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เรื่อง การบริหารจัดการรวมสถานศึกษาอาชีวศึกษาภาครัฐ และภาคเอกชน โดยสั่งการให้โอนอำนาจหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนใน ส่วนที่เกี่ยวกับโรงเรียนในระบบ ประเภท อาชีวศึกษา ไปเป็นอำนาจหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ซึ่งมีผลบังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป
วันนี้ (13 ก.พ.) ที่สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ. ) กล่าวภายหลังประชุมการบริหารจัดการรวมสถานศึกษาอาชีวศึกษาภาครัฐ และภาคเอกชน ว่า จากการประชุมในเบื้องต้นได้กำหนดแนวทางดำเนินการเป็น 4 ระยะ ระยะแรก คือ ช่วง 2 สัปดาห์ของเดือน ก.พ. นี้ จะมุ่งเน้นการเปลี่ยนผ่านอย่างราบรื่น ไม่มีสะดุด โดยเฉพาะการถ่ายโอนภารกิจ ทรัพย์สิน งบประมาณ บุคลากร ฯลฯ ทั้งนี้ จะจัดทำประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เสนอ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ลงนาม
สำหรับระยะที่ 2 ในช่วงเดือนมีนาคม ถึงเมษายน นั้น ถือเป็นช่วงสำคัญที่นักเรียน นักศึกษาจะจบการศึกษา ดังนั้น จะต้องระมัดระวังไม่กระทำอะไรที่ส่งผลกระทบต่อนักเรียน นักศึกษา จึงเป็นช่วงที่ต้องเร่งบริหารจัดการทุกอย่างให้เรียบร้อยมากที่สุด เพื่อให้นักเรียน นักศึกษา ได้เรียนจบตามแผนที่วางไว้ ส่วนระยะที่ 3 คือ เดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป ซึ่งเป็นช่วงเข้าสู่ปีการศึกษาใหม่ ร่วมจัด และระยะสุดท้าย ช่วงที่จะต้องจัดทำงบประมาณปี 2560 โดยจะมีการจัดทำแผนร่วมกัน
นายชัยพฤกษ์ กล่าวต่อว่า ที่ประชุมจะยึดหลักการทำงานร่วมกันในรูปแบบ 5-5-5 ได้แก่ เอกภาพจัดการศึกษา อิสระในการจัดการเรียนการสอน ยึดพื้นที่เป็นหลัก คือ ในระดับจังหวัด ร่วมมือและส่งเสริมซึ่งกันและกัน และยึดหลักความสุขของคนทำงาน ต่อมาคือ การทำ งานวิชาการ ทวิภาคี งบประมาณ บุคลากร และระเบียบต่าง ๆ และงานตามนโยบาย ได้แก่ การสร้างภาพลักษณ์ เพิ่มผู้เรียน พัฒนาอาชีวะให้มีคุณภาพ เสริมสร้างอาชีวะให้โดดเด่นเฉพาะด้าน ขณะเดียวกันจะพัฒนาอาชีวะสู่สากล
เลขาธิการ กอศ. กล่าวว่า ที่ผ่านมา อาชีวะจะมีลักษณะต่างคนต่างทำ แต่เวลานี้จะต้องมาร่วมกันทำ เพราะมีเป้าหมายเดียวกัน สำหรับภารกิจงานประจำ ทั้งการบริหารงบประมาณ การบริหารงานบุคคล การบริหารงานทั่วไป งานวิชาการ และความร่วมมือต่างๆ จุดสำคัญยึดถือร่วมกัน
นายชัยพฤกษ์ อธิบายว่า การรวมอาชีวศึกษารัฐและอาชีวศึกษาเอกชนครั้งนี้เป็นเพียงการโอนบุคลากร ภารกิจที่อยู่ในกำกับของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) มาอยู่ในกำกับของ สอศ. ไม่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานของวิทยาลัยอาชีวศึกษาเอกชนแต่อย่างใด โดยในเบื้องต้น สอศ. จะรับโอนข้าราชการ พนักงานและลูกจ้างของ สช. ในส่วนที่ดูแลอาชีวศึกษาเอกชน จำนวน 27 คน เข้ามาอยู่ภายใต้การดูแลของรองเลขาธิการ กอศ. และจะค่อย ๆ เพิ่มปริมาณงาน เพื่อจะตั้งขึ้นเป็นหน่วยงานระดับสำนักภายใน สอศ. ต่อไป อีกทั้งในอนาคตจะต้องมีการเตรียมร่าง พ.ร.บ. อาชีวศึกษาเอกชน ด้วย
นายชัยพฤกษ์ กล่าวว่า คำสั่ง คสช.มีผลวันที่ 13 ก.พ. ดังนั้นที่ประชุมทั้ง 4 ฝ่ายจะได้นำร่างประกาศ ศธ. เรื่องการโอนกิจการ ทรัพย์สิน งบประมาณ บุคลากร ฯลฯ เสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ลงนามวันที่ 15 ก.พ. นี้ และวันเดียวกันผมจะลงนามในคำสั่งมอบหมายงานให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (ผอ.สพป.) และผู้ว่าราชการจังหวัด 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้งานอาชีวะเอกชนเดินหน้าต่อไปโดยไม่สะดุด นอกจากนี้ ที่ประชุม ยังมอบหมายให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกระดับเร่งทำการประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจคำสั่ง คสช. ให้กับครู อาจารย์ ผู้เรียน ทราบถึงประโยชน์ของการรวมอาชีวะรัฐและเอกชนครั้งนี้
ทั้งนี้ เมื่อมีการรวมอาชีวรัฐและเอกชน จะทำให้มีสถานศึกษาในสังกัด ดังนี้ อาชีวะรัฐ มีสถานศึกษา 425 แห่ง มีนักศึกษา 674,113 คน อาชีวะเอกชน มีสถานศึกษา 461 แห่ง นักศึกษา 302,502 คน รวมทั้งสิ้น 886 แห่ง มีนักศึกษาทั้งหมด 976,615 คน
นายชัยพฤกษ์ กล่าวว่า งานชิ้นแรกก็คือ การรับนักเรียนจะต้องประสานกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยปีนี้มีนักเรียนจบ ม.3 จำนวน 6.9 แสนคน โดย สอศ. ได้ตั้งเป้าให้รับนักเรียน 42% ที่เหลือ 58% เป็นสายสามัญ อย่างไรก็ตาม ในจำนวน 42% นี้ จะแบ่งเป็นอาชีวศึกษารัฐและเอกชน โดยจะมอบให้แต่ละจังหวัดหารือกันในระดับพื้นที่เพื่อวางระบบส่งต่อนักศึกษา ระหว่างรัฐและเอกชน ทั้งนี้ เป้าหมายที่ สอศ. ตั้งเป้าไม่ได้เป็นการแย่งนักเรียนกับ สพฐ. และในแต่ละปีเราพบว่ามีนักเรียนที่จบ ม.3 ไม่เรียนต่อและเข้าสู่ตลาดแรงงาน 7% สอศ. จึงพุ่งเป้าไปที่กลุ่มนี้ ผมเชื่อว่าจะทำให้เป้าการรับนักศึกษาดีขึ้น
ผู้สื่อข่าวถามว่า เมื่อรวมอาชีวศึกษารัฐและเอกชนเข้าด้วยกันแล้ว จะสามารถแก้ปัญหาเรื่องเด็กทะเลาะวิวาทได้หรือไม่ นายชัยพฤกษ์ กล่าวว่า เชื่อว่า การแก้ไขปัญหาทะเลาะวิวาทจะเกิดความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันปัญหาการทะเลาะวิวาทได้ลดลงค่อนข้างมากแล้ว เชื่อเป็นสัญญาณเชิงบวกที่จะทำให้เราแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ได้
ด้าน รศ.ดร.จอมพงศ์ มงคลวนิช นายกสมาคมวิทยาลัยเทคโนโลยีอาชีวศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย (สวทอ.) กล่าวว่า นับเป็นประวัติศาสตร์ของอาชีวศึกษา ที่รัฐและเอกชนจะร่วมกันเพิ่มจำนวนผู้เรียนและผลิตกำลังคนป้อนอุตสาหกรรมที่ยังขาดแคลนอยู่มาก เชื่อว่า ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านจะไม่มีปัญหาเพราะรัฐและเอกชนได้มีการร่วมมือกันทำงานมา 6 - 7 เดือนแล้ว และการรวมครั้งนี้ได้ประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่าย และยืนยันว่า วิทยาลัยอาชีวศึกษาเอกชนยังคงอิสระในการบริหารจัดการเหมือนเดิม
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่