xs
xsm
sm
md
lg

ระบบสุริยะอาจมี “ดาวเคราะห์” ดวงที่ 9 มีมวลกว่าโลก 10 เท่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพจำลองดาวเคราะห์ดวงที่ 9 ของระบบสุริยะที่คาดว่าอาจจะมีจากการวิเคราะห์แบบจำลองทางคณิตศาสตร์และคอมพิวเตอร์ (AFP PHOTO / CALTECH/ROBERT HURT)
นักวิจัยวิเคราะห์แบบจำลองทางคณิตศาสตร์และคอมพิวเตอร์ พบระบบสุริยะอาจมี “ดาวเคราะห์” ดวงที่ 9 มีมวลมากกว่าโลก 10 เท่า ใช้เวลาโคจรรอบดวงอาทิตย์นาน 10,000-20,000 ปี

เอเอฟพีรายงานว่า นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนีย (California Institute of Technology) หรือคาลเทค (Caltech) สหรัฐฯ แถลงว่ามีดาวเคราะห์ขนาดยักษ์ที่อาจยังไม่ได้ค้นพบที่ปลายระบบสุริยะ ซึ่งเป็นดาวเคราะห์ที่มีมวลมากกว่าโลก 10 เท่า และโคจรเป็นรูปวงรีเรียวยาว ทำให้ดาวเคราะห์ดังกล่าวใช้เวลาโคจรรอบดวงอาทิตย์นาน 10,000-20,000 ปี

รายงานการค้นพบดังกล่าวนักวิจัยได้ตีพิมพ์ลงวารสารแอสโตรโนมิคัลเจอร์นัล (Astronomical Journal) ซึ่ง คอนสแตนติน บาทีกิน (Konstantin Batygin) และ ไมค์ บราวน์ (Mike Brown) ผู้ค้นพบดาวเคราะห์ดังกล่าวจากการวิเคราะห์แบบจำลองคณิตศาสตร์และแบบจำลองทางคอมพิวเตอร์ กล่าวว่ายังไม่มีใครสังเกตพบดาวเคราะห์ดวงที่ 9 ของระบบสุริยะโดยตรง

คาดว่าดาวเคราะห์ดังกล่าวซึ่งถูกตั้งฉายาว่าดาวเคราะห์เก้า (Planet Nine) นั้นมีมวลมากกว่าดาวเคราะห์แคระพลูโตซึ่งเป็นอดีตดาวเคราะห์ดวงที่ 9 ประมาณ 5,000 เท่า และนักวิทยาศาสตร์ยังเชื่อว่าแรงโน้มถ่วงของว่าที่ดาวเคราะห์ดวงใหม่นี้มีผลต่อการเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์แคระที่ปลายระบบสุริยะ โดยเฉพาะไปรบกวนวัตถุบริเวณแถบไคเปอร์ (Kuiper Belt) ซึ่งเป็นแถบน้ำแข็งและเศษซากวัตถุท้องฟ้าถัดจากดาวเนปจูนออกไป

เอเอฟพีระบุว่าบราวน์ผู้ร่วมตีพิมพ์การค้นพบว่าที่ดาวเคราะห์ดวงที่ 9 นี้ เป็นหนึ่งในกำลังสำคัญที่ร่วมลดขั้นพลูโตจากดาวเคราะห์ให้กลายเป็นดาวเคราะห์แคระ (dwarf planet) เมื่อปี 2006 โดยเขาและคณะได้ค้นพบดาวเคราะห์แคระที่เรียกว่า “อีริส” (Eris) ซึ่งมีมวลมากกว่าพลูโต และมีแนวโน้มที่จะเป็นดาวเคราะห์ดวงที่ 10

ทว่าเมื่อสหพันธ์ดาราศาสตร์สากล (International Astronomical Union) ตัดสินใจให้นิยามใหม่คำว่า “ดาวเคราะห์” ทำให้ทั้งพลูโตและอีกอีริสไม่อยู่ในข่ายดาวเคราะห์ แต่บราวน์ผู้โด่งดังโลกทวิตเตอร์กับฉายา “ผู้ฆ่าพลูโต” (@plutokiller) เชื่อมั่นว่าระบบสุริยะต้องมีดาวเคราะห์ 9 ดวง


ไมค์ บราวน์ ชี้ "วงโคจร" ตามที่คาดการณ์จากแบบจำลองของดาวเคราะห์ดวงที่ 9 ( AFP / FREDERIC J BROWN)

บราวน์และคณะระบุว่า ดาวเคราะห์ 9 นั้นน่าจะถูกแยกออกไปในช่วงกำเนิดระบบสุริยะ เมื่อ 4 แกนหลักได้ดึงก๊าซที่อยู่รอบๆ แล้วก่อตัวขึ้นเป็นดาวพฤหัสบดี ดาวเสาร์ ดาวยูเรนัสและดาวเนปจูน ในขณะที่ดาวเคราะห์เก้าซึ่งยังเป็นแกนที่ 5 นั้นอาจจะอยู่ใกล้ดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์มากเกินไป จึงถูกผลักออกไปยังตำแหน่งปัจจุบันซึ่งเป็นวงโคจรที่อยู่ห่างไกล

แม้ว่าจะยังสงสัยอยู่ว่าดาวเคราะห์เก้ามีอยู่จริงหรือไม่ แต่บาทีกินกล่าวว่าในขณะที่พวกเขาเดินหน้าตรวจสอบวงโคจรของดาวเคราะห์ดังกล่าว และนัยสำคัญที่มีต่อปลายระบบสุริยะนั้น พวกเขาก็ยิ่งมั่นใจยิ่งขึ้นว่าจะมีดาวเคราะห์ดังกล่าวอยู่จริง และเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 150 ปีที่พบหลักฐานหนักแน่นว่า การสำรวจประชากรดาวเคราะห์ของระบบสุริยะนั้นยังไม่เสร็จสมบูรณ์

ก่อนหน้านี้เมื่อปี 1846 มีดาวเคราะห์ดวงอื่นที่ถูกค้นพบในแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ แต่โรเบิร์ต แมสซี (Robert Massey) รองผู้อำนวยการราชบัณฑิตดาราศาสตร์ในลอนดอน อังกฤษ กล่าวว่า ไม่ใช่ทุกการคาดการณ์จากแบบจำลองที่จะนำไปสู่การค้นพบดาวเคราะห์จริงๆ ซึ่งมีตำอย่างคาดการณ์ตำแหน่งดาวเคราะห์แต่ก็ค้นไม่พบ

“ถึงอย่างนั้นนักวิจัยที่ได้ตีพิมพ์ผลงานลงวารสารวิชาการก็ได้รับความนับถือในประชาคมวิทยาศาสตร์ และข้อสันนิษฐานของพวกเขามีค่าพอที่จะพิสูจน์ต่อ มันจะเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นอย่างยิ่งที่จะได้ค้นหา ซึ่งเป็นเรื่องที่คาดเดาได้ไม่ยาก” แมสซีกล่าว

ทั้งนี้กล้องโทรทรรศน์กำลังขยายสูงจำนวนมากต่างตามล่าหาดาวเคราะห์เก้านี้ ซึ่งรวมถึงดาวเคราะห์แฝดที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 10 เมตร ที่หอดูดาว ดับเบิลยูเอ็มเคค (W. M. Keck Observatory) และกล้องโทรทรรศน์ซูบารุ (Subaru Telescope) ในมัวนาคี ฮาวาย









กำลังโหลดความคิดเห็น