ก่อนปี 1830 (ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว) ไม่มีนักวิทยาศาสตร์หรือนักเขียนคนใดเคยพยายามบรรยายหรือเล่าเกี่ยวกับสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกกำลังทำหรือสนใจ ดังนั้นคนทั่วไปจึงไม่เคยแยแสหรือตระหนักในความสำคัญของวิทยาศาสตร์ที่กำลังเปลี่ยนแปลงโลก การเมินเฉยเช่นนี้ทำให้ John Herschel ซึ่งเป็นนักดาราศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่อดรนทนไม่ได้ จึงเอ่ยปากปรารภกับนักปรัชญาชื่อดังคือ William Whewell ว่า อังกฤษน่าจะต้องมีคนช่วยอธิบายให้คนทั่วไปเข้าใจว่า กลศาสตร์ของ Newton มีความสำคัญเพียงใด และผลงานไฟฟ้าของ Faraday กำลังเปลี่ยนโฉมหน้าของโลกอย่างไร รวมถึงควรให้สังคมรับรู้ว่าทฤษฎีวิวัฒนาการของ Darwin ได้ตอบปัญหาเรื่องกำเนิดของสปีชีส์ต่างๆ บนโลกอย่างไร
บุคคลแรกที่สามารถตอบสนองความต้องการของ Herschel ในประเด็นนี้ได้มีชื่อว่า Mary Somerville เธอเป็นสุภาพสตรีนักฟิสิกส์ทฤษฎีชาวสก็อตผู้แม้ไม่ได้ร่ำเรียนถึงระดับมหาวิทยาลัย แต่ก็สามารถเรียนรู้วิทยาศาสตร์สาขาต่างๆ ได้ด้วยตนเอง และสามารถถ่ายทอดความรู้เหล่านั้นให้สังคมเข้าใจได้เป็นอย่างดี
Mary Fairfax (ชื่อเดิมของ Mary Somerville) เกิดเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม ค.ศ.1780 (ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช) บิดาเป็นนายพลเรือเอกแห่งราชนาวีอังกฤษ ส่วนมารดาเป็นครูสอนคัมภีร์ไบเบิล ครอบครัวนี้มีฐานะดีปานกลาง และมีความภาคภูมิใจว่า บรรพบุรุษของวงศ์ตระกูลเป็นคนมีสกุลรุนชาติ ในวัยเด็ก Mary ใช้ชีวิตสบายๆ เดินเล่นตามชายหาดเพื่อเก็บเปลือกหอยมาสะสม และศึกษาชีวิตนกทะเล เธอไม่ได้เรียนหนังสือเลยจนกระทั่งอายุ 10 ขวบ บิดาจึงได้จัดให้เข้าโรงเรียนเพื่อให้เธอมีความรู้พออ่านออกและเขียนหนังสือได้ เธอเล่าว่า ครูที่สอนได้บังคับให้นักเรียนในสมัยนั้นท่องพจนานุกรมทั้งเล่ม ซึ่งทำให้เธอรู้สึกเหนื่อยและเบื่อเรียนมาก จนคิดว่าตนกำลังใช้ชีวิตไปวันๆ อย่างไร้จุดหมาย
เมื่ออายุ 18 ปี เธอบังเอิญได้หยิบหนังสือแฟชั่นสตรีเล่มหนึ่งขึ้นมาอ่าน และเห็นตัวอักษร สัญลักษณ์กับตัวเลขต่างๆ มากมายปรากฏในบทความ จึงถามเพื่อนว่าสิ่งที่เห็นนั้นคืออะไร เพื่อนตอบว่า พีชคณิต เธอไม่กล้าถามต่อ เพราะกลัวเพื่อนจะหาว่าโง่ และได้พยายามอ่านบทความนั้นจนเข้าใจ
จากนั้นไม่นาน ครอบครัว Fairfax ได้อพยพไป Edinburgh เพื่อให้เธอเรียนวิชาการเรือน วาดภาพ เล่นเปียโน ฯลฯ เพื่อเตรียมตัวมีครอบครัว แต่เธอไม่ต้องการจะออกเรือน เพราะรู้สึกยังไม่ถึงเวลา และรู้สึกว่า เธอมีเป้าหมายในชีวิตที่สูงส่งกว่านั้น คือ เธอต้องการเป็นผู้หญิงที่เก่งวิชาการที่สุดในแผ่นดิน
วันหนึ่งขณะเรียนวาดภาพ เธอได้ยินครูที่บิดาจ้างมาสอนพิเศษให้น้องชายบอกน้องของเธอให้อ่านหนังสือ Elements of Geometry ของ Euclid ด้วยเหตุผลว่านี่คือตำราสำคัญสำหรับทุกคนที่ต้องการเรียนคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ขั้นสูง Mary รู้สึกอยากอ่านตำรานี้มาก แต่ไม่รู้จะหาอ่านได้จากที่ใด ครั้นจะไปหาอ่านเองที่ห้องสมุด เขาก็ไม่อนุญาตให้ผู้หญิงเข้าไปใช้ เธอจึงต้องขอยืมหนังสือน้องชายอ่าน และแอบอ่านก่อนนอนทุกคืน เพราะแม่ไม่ต้องการให้เธออ่านหนังสือคณิตศาสตร์ที่สังคมสมัยนั้นถือว่าไร้สาระสำหรับผู้หญิง ดังนั้นเมื่อแม่รู้ว่า เธอแอบอ่านตำราเรขาคณิต แม่รู้สึกละอายมากจึงสั่งห้ามเธออ่านอีก แต่ก็สายเกินไป เพราะ Mary อ่านจบไป 6 เล่มแล้ว
เมื่ออายุ 24 ปี Mary ถูกบังคับให้เข้าพิธีสมรสกับ Samuel Greig ชีวิตในฐานะภรรยาได้ช่วยให้เธอได้ออกจากอ้อมอกของพ่อแม่ จึงมีความเป็นอิสระมากขึ้น และเริ่มเรียนละตินด้วยตนเอง เพื่อจะอ่านตำราวิทยาศาสตร์ด้วยตนเองให้ได้ พฤติกรรมที่ “ผิด” ปรกติสำหรับผู้หญิงในสมัยนั้น ได้ทำให้สามีขุ่นเคือง และเธอเองก็ไม่สบายใจ โชคดีที่เธอทนทุกข์ลักษณะนี้ได้ไม่นาน เพราะหลังการแต่งงานได้ 3 ปี และมีลูก 2 คน สามีก็เสียชีวิต มรดกที่ได้รับทำให้เธอมีชีวิตที่ดี จึงใช้เงินซื้อตำราดาราศาสตร์ และคณิตศาสตร์มาอ่านจนสามารถเข้าใจเทคนิคและการประยุกต์ตรีโกณมิติ กับเรขาคณิตได้เป็นอย่างดี แต่เมื่อเธอหยิบยกหนังสือ Principia Mathematica ของ Newton มาอ่าน เธอก็ต้องวางหนังสือกลับ เพราะอ่านไม่รู้เรื่องเลย
อีก 5 ปีต่อมา คือ ในปี 1812 Mary วัย 32 ปี ได้พบรักใหม่กับ William Somerville ซึ่งเป็นแพทย์ และเป็นลูกพี่ลูกน้องของเธอ สามีใหม่เป็นคนเฉลียวฉลาด รอบรู้ ชอบเดินทางไกล ใจกว้าง พูดจาสุภาพ ชอบให้ภรรยาแสวงหาความรู้ และมักช่วยขัดเกลาภาษาในบทความวิชาการที่เธอเขียน เพื่อให้เนื้อหากระชับและสามารถสื่อความหมายได้ถูกต้อง Mary จึงคิดว่าเธอโชคดีมากที่ได้ Somerville เป็นคู่ครอง
ในปี 1816 ครอบครัว Somerville ได้อพยพเข้า London และซื้อบ้านหลังใหม่ใกล้สถาบัน Royal Institution ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีปราชญ์อังกฤษและต่างชาติมาประชุมกันบ่อย Mary Somerville จึงมีโอกาสรู้จักและพบปะอัจฉริยะนักวิทย์หลายคนเช่น Caroline กับ William Herschel, Michael Faraday, Charles Babbage, Charles Lyell, Pierre-Simon Laplace และ Joseph-Louis Gay-Lussac เป็นต้น
เมื่ออายุ 46 ปีเธอได้เสนอผลงานเรื่อง The Magnetic Properties of the Violet Rays of the Solar Spectrum ที่ Royal Institution ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับสมบัติเชิงแม่เหล็กของรังสีอัลตราไวโอเลต แต่เธอไม่สามารถบรรยายเรื่องนี้ในที่ประชุมได้ เพราะเธอเป็นผู้หญิง จึงไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปในสถาบัน ดังนั้นเธอจึงขอให้สามีอ่านผลงานของเธอให้ที่ประชุมฟังแทน
ในปี 1825 เมื่อ Laplace ตีพิมพ์ตำรากลศาสตร์ชื่อ Mecanique Celeste (The Mechanics of the Heavens) ตำรานี้ทำให้นักฟิสิกส์อังกฤษตระหนักได้ในทันทีว่า ฟิสิกส์อังกฤษกำลังล้าหลังฟิสิกส์ฝรั่งเศสมาก และ Laplace ได้รับการยอมรับโดยนักฟิสิกส์อังกฤษว่า เขาคือ Newton ของฝรั่งเศส เพราะเขารู้และเข้าใจเนื้อหาด้านกลศาสตร์ดีที่สุดในโลก สมาคม Royal Society ของอังกฤษจึงขอให้ Mary Somerville จัดการแปลผลงานทั้ง 5 เล่มของ Laplace ให้คนอังกฤษอ่าน
ทั้งๆ ที่ Somerville ไม่ได้จบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย และเนื้อหาในตำราของ Laplace ก็ไม่ใช่เรื่องที่อ่านเข้าใจง่าย แต่เธอก็ตอบรับ และได้เพียรพยายามแปล พร้อมกับเรียบเรียงถ้อยคำต่างๆ ให้เป็นภาษาอังกฤษที่คนทั่วไปสามารถอ่านและเข้าใจได้ตั้งแต่ต้นจนจบ แล้วนำต้นฉบับส่ง Herschel ซึ่งก็รับไปตีพิมพ์เผยแพร่ โดยไม่ได้แก้ไขอะไร เพราะรู้สึกว่าใครที่อ่านก็น่าจะรู้เรื่อง ทั้งๆ ที่ไม่มีความรู้ calculus เป็นพื้นฐาน
ผลงานแปลและเรียบเรียงของ Somerville เล่มนี้ได้เป็นที่โจษจันในสังคมอังกฤษและยุโรป สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของอังกฤษได้กล่าวถึง Somerville ว่าเป็นปราชญ์ 1 ใน 6 คนของอังกฤษที่เข้าใจ Laplace มากที่สุด Laplace เองก็ยอมรับในความสามารถด้านกลศาสตร์ของ Somerville ส่วน Simon-Denis Poisson ซึ่งเป็นนักคณิตศาสตร์ฝรั่งเศสก็ยกย่อง Somerville ว่าเก่งมากที่สามารถเข้าใจผลงานของ Laplace ได้ เพราะในฝรั่งเศสเองก็มีคนไม่เกิน 20 คนที่อ่านหนังสือของ Laplace รู้เรื่อง
ผลงานที่ยิ่งใหญ่นี้ได้ชี้นำให้ Royal Society ออกกฎบังคับให้นิสิตในมหาวิทยาลัยอังกฤษทุกคนที่เรียนวิทยาศาสตร์ใช้ตำราที่ Somerville แปล และเมื่อ Royal Society มีกฎห้ามรับผู้หญิงเป็นสมาชิก (F.R.S.) สมาคมจึงให้เกียรติ Somerville โดยการนำรูปปั้นครึ่งตัวของเธอไปติดตั้งในห้องโถงของสมาคม
ด้านสมาคมวิทยาศาสตร์ของฝรั่งเศสก็ได้เชิญให้ Somerville เดินทางไป Paris เพื่อพบปะและสนทนากับ Laplace, Francois Arago, Jean Baptiste Biot, Andre-Marie Ampere และ Antoine Cesar Becquerel
ถึงปี 1832 Somerville วัย 52 ปี ได้เริ่มเขียนหนังสือเล่มใหม่ชื่อ “On the Connexion of the Physical Sciences” หนังสือที่หนา 500 หน้านี้ได้รับการตีพิมพ์ 15,000 เล่ม เพื่อวางขายในฝรั่งเศส อิตาลี เยอรมนี กับอเมริกา หนังสือมีเนื้อหาที่ครอบคลุมวิทยาการหลายด้าน เช่น ดาราศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ภูมิศาสตร์ อุตุนิยมวิทยา แม่เหล็กไฟฟ้า เสียง แสง ชีววิทยา และยังได้กล่าวถึง ดาวหาง การวัดระยะทางจากโลกถึงดาวฤกษ์ สาหร่ายทะเล คลื่น รังสีอินฟราเรดที่ Herschel พบ โดย Sommerville ได้ตั้งข้อสังเกตว่า แม้ตามนุษย์จะไม่สามารถเห็นรังสีนี้ได้ แต่ตาสัตว์อาจรับได้ ในส่วนของชีววิทยา Somerville ได้กล่าวถึงหนวดของแมลงว่าใช้รับสัญญาณภัย และ ณ บริเวณที่อยู่นอกวงโคจรของดาว Uranus ออกไปจากดวงอาทิตย์อาจมีดาวเคราะห์อีกหลายดวง ซึ่ง John Couch Adams ก็ได้นำข้อสังเกตนี้ ไปใช้เป็นแรงจูงใจในการพบดาวเคราะห์ Neptune สำหรับเรื่องไฟฟ้านั้น
Somerville ได้กล่าวถึง ผลงานของ Faraday ที่ได้ทดลองเรื่องสนามแม่เหล็กโดยใช้แม่เหล็กเกือกม้า ในการเขียนเรื่องภูมิศาสตร์ เธอได้กล่าวถึงการเดินทางสำรวจบริเวณทวีป Arctic ของ John Franklin การขึ้นบอลลูนสำรวจสภาพบรรยากาศเบื้องบนของ Biot กับ Gay-Lussac การสำรวจทางภูมิศาสตร์ของ Alexander von Humboldt กับ Charles Lyell รวมถึงการเห็นดาวหางของ Edmond Halley ด้วย
หนังสือของเธอขายดีมาก จนได้รับการตีพิมพ์ซ้ำ 7 ครั้ง และ Humboldt ได้เขียนคำแนะนำผู้อ่านในวารสาร Mechanics Magazine ว่า “Read it, read it!”
เมื่อมีชื่อเสียง Somerville ได้รับเชิญให้สามารถนั่งรับประทานอาหารได้ที่ห้องอาหารของมหาวิทยาลัย Cambridge ร่วมกับศาสตราจารย์คนอื่นๆ ของมหาวิทยาลัย และได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ของ Royal Society ด้วย แม้จะได้รับการยกย่องเทิดทูนสักเพียงใด Somerville ก็ยังเป็นคนติดดิน เธอเป็นนักเคลื่อนไหวที่ต่อต้านการมีทาส ผู้เชื่อในความเท่าเทียมกันระหว่างสตรีกับบุรุษ อีกทั้งมีความเชื่อในทฤษฎีวิวัฒนาการของ Darwin ด้วย
เมื่ออายุ 85 ปี สามีสุดที่รักของเธอก็เสียชีวิต Somerville รู้สึกเสียใจมากจึงพยายามเขียนหนังสือเล่มใหม่เพื่อให้ลืมความทุกข์ ผลงานของเธอในช่วงเวลานี้ได้แก่ Molecules and Macroscopic Science, The Form and Rotation of the Earth และ The Tides of the Ocean and Atmosphere
เธอได้รับเหรียญสรรเสริญของ Royal Geography Society และจาก Physical Geographical Society
Somerville เสียชีวิตเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน ค.ศ.1872 สิริอายุ 92 ปี
7 ปีหลังจากที่เธอจากไป เมื่อมหาวิทยาลัย Oxford จัดตั้งวิทยาลัยใหม่ ชื่อของเธอได้ถูกนำไปเป็นชื่อของ Somerville College อันเป็นสถานที่ๆ Margaret Thatcher อดีตนายกรัฐมนตรีของอังกฤษเคยเรียน และชื่อยังถูกนำไปตั้งเป็นชื่อของเกาะ Somerville, ดาวเคราะห์น้อย 5771 Somerville, และหลุมอุกกาบาตบนดวงจันทร์
ในเวลาต่อมาหนังสือที่เธอเรียบเรียงได้ชักนำให้ Whewell เรียกคนที่ทำงานวิทยาศาสตร์ว่า scientist เป็นครั้งแรกในปี 1834 เธอจึงเป็นสตรีตัวอย่างที่ทำงานตรงข้ามกับ Emile du Châtelet ผู้แปลตำราของ Newton ในขณะที่ Somerville แปลตำราของ Laplace
เธอจึงเป็นคนสำคัญคนหนึ่งของโลกวิทยาศาสตร์ ผู้ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าผู้หญิงสามารถเก่งวิทยาศาสตร์ได้ เขียนหนังสือวิทยาศาสตร์ให้คนทั่วไปอ่านก็ได้ และเป็นแม่บ้านลูก 4 ก็ได้อย่างไม่มีปัญหา
อ่านเพิ่มเติมจาก “Mary Somerville and the World of Science” โดย Allan Chapman จัดพิมพ์โดย Canopus ปี 2004
เกี่ยวกับผู้เขียน
สุทัศน์ ยกส้าน
ประวัติการทำงาน-ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย
อ่านบทความ สุทัศน์ ยกส้าน ได้ทุกวันศุกร์