เอเจนซีส์ - อดีตนายกรัฐมนตรี โทนี แอบบ็อตต์ แห่งออสเตรเลีย แนะให้สหภาพยุโรปปิดพรมแดนสกัดกั้นผู้อพยพที่ลี้ภัยสงครามมาจากตะวันออกกลาง เหมือนอย่างที่แดนจิงโจ้เคยทำกับผู้อพยพทางเรือจนแก้ปัญหาสำเร็จมาแล้ว
แอบบ็อตต์ ซึ่งเพิ่งถูกลูกพรรคลิเบอรัลโหวตตกจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรีไปเมื่อวันที่ 14 ก.ย. ได้รับเชิญไปปาฐกถาในงานบรรยายประจำปีเพื่อรำลึกถึงอดีตผู้นำหญิงเหล็กแห่งอังกฤษ มาร์กาเร็ต แธตเชอร์ (Margaret Thatcher Lecture) ที่กรุงลอนดอน
เขาเตือนว่า “ความเอื้อเฟื้อแบบผิดๆ กำลังทำให้หลายประเทศในยุโรปก้าวเดินไปสู่ความผิดพลาดอย่างร้ายแรง”
รัฐบาลแอบบ็อตต์ประกาศใช้นโยบายควบคุมพรมแดนอย่างเข้มงวด และไม่เปิดรับผู้อพยพทางเรือเข้าไปตั้งต้นชีวิตใหม่ในออสเตรเลีย
ประชาชนหลายแสนคนจากกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง โดยเฉพาะซีเรีย ต่างหอบหิ้วครอบครัวข้ามน้ำข้ามทะเลมาขอลี้ภัยในสหภาพยุโรป ซึ่งองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ระบุว่า พวกเขาส่วนใหญ่หลบหนีสงครามและการเข่นฆ่า ส่วนพวกที่หนีความยากจนมีเพียงส่วนน้อยเท่านั้น
แอบบ็อตต์ เตือนบรรดาผู้ฟังซึ่งมีทั้งรัฐมนตรีและสมาชิกพรรคคอนเซอร์เวทีฟที่เป็นรัฐบาลอังกฤษว่า “ไม่มีประเทศหรือทวีปใดที่เปิดพรมแดนรับผู้มาใหม่ โดยที่ไม่ทำให้รากฐานของตนอ่อนแอลง”
“โลกนี้ยังมีคนอีกเป็นสิบๆ ล้าน หรืออาจจะหลายร้อยล้าน ที่มีฐานะยากจนและเผชิญอันตราย คนเหล่านี้พร้อมที่จะเดินทางมายังประเทศตะวันตกถ้าโอกาสเอื้ออำนวย”
“ใครจะไปติเตียนพวกเขาได้เล่า? แต่อย่าลืมว่าไม่มีประเทศหรือทวีปใดที่เปิดพรมแดนรับผู้มาใหม่ โดยที่ไม่ทำให้รากฐานของตนอ่อนแอลง”
“นี่แหละคือความเสี่ยงที่ยุโรปกำลังเผชิญเพราะให้ความเอื้อเฟื้อแบบผิดๆ” สำนักข่าวบีบีซีอ้างข้อความจากสำเนาคำแถลงของ แอบบ็อตต์
มาตรการควบคุมพรมแดนของ แอบบ็อตต์ โดยเฉพาะการส่งผู้อพยพไปยังศูนย์กักกันบนหมู่เกาะห่างไกลกลางมหาสมุทรแปซิฟิกทำให้ออสเตรเลียถูกนานาชาติรุมประณาม แต่อดีตนายกฯ ออสซี่แย้งว่า คำสั่งของเขาช่วยปกป้องชีวิตคนมากมาย เพราะทำให้ผู้ที่คิดจะล่องเรือมาออสเตรเลียเกิดความยับยั้งชั่งใจไม่กล้าเสี่ยงอันตราย
เขายังแนะให้ผู้นำยุโรปลองนำนโยบายผลักดันเรือผู้อพยพไปบังคับใช้ดูบ้าง
“มันอาจต้องใช้กำลังคน การขนส่ง และค่าใช้จ่ายมากพอสมควร และขัดแย้งต่อจิตสำนึกของเราอยู่บ้าง... แต่นี่คือหนทางเดียวที่จะยับยั้งคลื่นมนุษย์ที่กำลังหลั่งไหลมายังยุโรป และอาจทำให้ปรากฏการณ์เช่นนี้ไม่เกิดขึ้นอีกเลยก็เป็นได้”
แอบบ็อตต์ ชี้ด้วยว่า ผู้ลี้ภัยที่เดินทางมายุโรปส่วนมากเป็นพวกที่หนีความยากจน
“สิ่งที่ออสเตรเลียเคยประสบมาเป็นข้อพิสูจน์ได้อย่างดีว่า วิธีเดียวที่จะห้ามคนเหล่านี้ไม่ให้เดินทางมาจากที่ไกลแสนไกล คือปิดประตูไม่ต้อนรับพวกเขา”