xs
xsm
sm
md
lg

“บวรศักดิ์” ฉะ ศอ.รส.ระราน ใส่ความ ยกวาทะ “เสียงข้างมากไม่อาจเปลี่ยนผิดให้ถูกได้” ตอกหน้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บวรศักดิ์ อุวรรณโณ (แฟ้มภาพ)
“บวรศักดิ์” ออกเอกสารจวก ศอ.รส.ทำแถลงการณ์ ระราน-ข่มขู่ศาล แถมอ้างข้อความที่เป็นเท็จ ใส่ความคนอื่นให้เกิดความเกลียดชัง ผิดวิสัยหน่วยงานรักษาความเรียบร้อยพึงกระทำ ย้อนถามใครกันแน่ที่จงใจใช้อำนาจฝ่ายนิติบัญญัติขัดรัฐธรรมนูญ ดองร่าง พ.ร.บ.ประกอบ รธน.ว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย และกฎหมายลูกองค์กรอิสระอื่นอีกหลายฉบับ พร้อมยกคำบรรยายเรื่อง “เขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ” จับผิด ศอ.รส.ตัดต่อเพื่อทำให้คนอื่นเข้าใจผิด เพื่อหวังผลทางการเมือง ยกคำกล่าว “การเป็นประชาธิปไตยยังไม่เพียงพอ เสียงข้างมากไม่อาจเปลี่ยนสิ่งที่ผิดให้ถูกได้” ของ “มาการ์เร็ต แธตเชอร์” ตอกหน้าพวกชอบอ้างประชาธิปไตยเสียงข้างมาก

วันนี้ (8 พ.ค.) นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ได้ออกเอกสารชี้แจงและตอบโต้แถลงการณ์ ศอ.รส.ฉบับที่ 3 ที่กล่าวโจมตีศาลรัฐธรรมนูญในการวินิจฉัยสถานภาพ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ในคดีย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี ออกจากเลขาธิการ สมช.โดยมิชอบ ที่ศาลปกครองได้ตัดสินมาก่อนหน้านี้

นายบวรศักดิ์ออกคำชี้แจงว่า ตามที่มีแถลงการณ์ฉบับที่ 3 ของ ศอ.รส.เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2557 ที่ผ่านมา วันที่ศาลรัฐธรรมนูญออกนั่งรับฟังคำพยานในคำร้องขอให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง เพราะกระทำการก้าวก่ายและแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี

แถลงการณ์ดังกล่าวมีลักษณะชี้นำ และก้าวล่วงกดดันศาล ซึ่งมิใช่วิสัยที่หน่วยงานของรัฐที่ต้องรักษาความสงบเรียบร้อยกลับเป็นผู้ก่อให้เกิดความไม่สงบเสียเอง ด้วยการทำตัวระราน ข่มขู่ศาลและผู้อื่นไปทั่ว

“ยิ่งกว่านั้น แถลงการณ์ดังกล่าวมีข้อความบางส่วนเป็นเท็จ และกล่าวหาในลักษณะที่ทำให้เข้าใจว่า ข้าพเจ้ากล่าวแสดงปาฐกถาเรื่อง “การปฏิรูปการเมืองภายใต้หลักนิติธรรม” เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2557 เพื่อ “....สถาปนาอำนาจตุลาการ โดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นรัฏฐาธิปัตย์...เป็นการปูทางไปสู่คำวินิจฉัยที่จะสร้างสุญญากาศทางการเมืองตามที่ กลุ่มกปปส.และกลุ่มเคลื่อนไหวบางกลุ่มต้องการ เพื่อนำไปสู่การทูลเกล้าฯ ขอพระราชทานนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ซึ่งมีการอ้างมาตรา 3 และมาตรา 7 ....

ทั้งๆ ที่ข้าพเจ้าไม่เคยพูดข้อความในเครื่องหมายคำพูดนั้นในการแสดงปาฐกถาหรือในที่ใดเลย เป็นการที่ ศอ.รส.คิดเอาเอง พูดเอง ใส่ความผู้อื่นให้ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง อันเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ซึ่งหน่วยงานของรัฐที่มีความเป็นปกติไม่กระทำกัน ด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงขอชี้แจงการกล่าวหาที่ไม่เป็นความจริง และปราศจากความเป็นธรรมของ ศอ.รส. ดังนี้

1) การที่ ศอ.รส.กล่าวหาศาลรัฐธรรมนูญว่า ศาลใช้ข้อกำหนดว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ. 2550 ที่ศาลทำขึ้นเอง ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ตราเป็นพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ และต้องตรากฎหมายดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี นับแต่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2550 แล้ว ศอ.รส.ก็สรุปด้วยความเป็นเท็จชัดแจ้งว่า “แต่ศาลรัฐธรรมนูญไม่เคยดำเนินการให้มีการตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว เมื่อวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดไว้ในรูปแบบของกฎหมาย จึงทำให้สาธารณชนเกิดความสับสนต่อการทำหน้าที่ว่าเป็นไปตามหลักยุติธรรม และถูกต้องตามหลักความยุติธรรมหรือไม่ และอาจส่งผลให้การวินิจฉัยคดีไม่มีมาตรฐานขาดความชัดเจน เพราะไม่มีกรอบในการใช้อำนาจ”

ในความเป็นจริง ศาลรัฐธรรมนูญเสนอร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญให้สภาผู้แทนราษฎรมาแล้ว 2 ครั้ง แต่ถูกใช้อำนาจการเมืองถ่วงการพิจารณา กล่าวคือ

ครั้งแรก ศาลรัฐธรรมนูญเสนอร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ... ต่อสภาผู้แทนราษฎร เมื่อ 25 มิถุนายน 2551 อยู่ภายใน 1 ปี นับแต่ใช้รัฐธรรมนูญ แต่ถูกฝ่ายการเมืองในสภาผู้แทนราษฎรถอนเรื่องที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้วกลับไป โดยอ้างว่าจะทบทวนใหม่เมื่อ 28 ตุลาคม 2552 แล้วไม่ได้ทำอะไรจนสภายุบไปเมื่อ 10 พฤษภาคม 2554 เมื่อมีการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎร รัฐบาลปัจจุบันไม่ได้ขอให้ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใหม่ (ซึ่งถ้าขอก็ทำได้) ทำให้ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ตกไปในเดือนกันยายน 2554

ครั้งที่ 2 ศาลรัฐธรรมนูญเสนอร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้ใหม่ เมื่อ 22 มีนาคม 2555 แต่จนถึงวันนี้ สภาผู้แทนราษฎรที่เสียงข้างมากเป็นของรัฐบาลยังไม่ได้หยิบร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ขึ้นพิจารณาคงปล่อยให้ค้างคาอยู่เช่นนั้น

การที่ ศอ.รส.มาบิดเบือนข้อมูลที่ตรวจสอบได้ เพื่อโจมตีศาลรัฐธรรมนูญ จึงเห็นได้ชัดว่า นำความเท็จมากล่าวอ้างเพื่อประโยชน์ทางการเมืองของรัฐบาลและเสียงข้างมาก ซึ่งเป็นผู้ “ดอง” ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวเสียเอง

การกล่าวหาความผิดผู้อื่นโดยไม่มีมูลแต่ละเว้นที่จะพิจารณาความผิดของพวกตนเองว่าอาจเข้าข่าย “จงใจใช้อานาจขัดรัฐธรรมนูญ” นั้น มิใช่วิสัยของหน่วยงานของรัฐที่ดี และเป็นกลาง แต่แสดงออกซึ่งการเอาใจ “นาย” โดยไร้ความสำนึกรับผิดชอบ

นอกจากร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญของศาลรัฐธรรมนูญถูกดองในสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตาแหน่งทางการเมือง พ.ศ. .... (ที่ประธานศาลฎีกาเสนอ) และร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. ..... (ที่ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินเสนอ) ก็เสนอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณามาตั้งแต่ปี 2551 แต่ถูก “ดอง” อยู่ในสภามาจนถึงทุกวันนี้กว่า 6 ปีแล้วคำถามที่ต้องตอบในวันนี้ คือ ใครเป็นผู้รับผิดชอบในการจงใจใช้อำนาจนิติบัญญัติให้ขัดรัฐธรรมนูญอย่างชัดแจ้งโดยถ่วงเวลาไม่พิจารณาให้เสร็จภายใน 1 ปี ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ?

2) การที่ ศอ.รส.นำความเพียงบางส่วนของคำปาฐกถาของข้าพเจ้ามาอ้างก็ดี นำคำบรรยายเรื่อง “เขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ” ซึ่งข้าพเจ้าไปบรรยายให้ศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อ 18 กันยายน 2541 และมีการถอดเทปคำบรรยายมาลงพิมพ์ในวารสารศาลรัฐธรรมนูญ ปีที่ 1. ม.ค.-เม.ย. 2542 หน้า 30-47 มาอ้างก็ดี เป็นการ “ตัดต่อ” ข้อความทำห้ผู้คนเข้าใจผิดเพื่อประโยชน์ทางการเมือง ดังนั้น ข้าพเจ้าจะขอนำบทปาฐกถาเรื่อง "ปฏิรูปการเมืองตามหลักนิติธรรม” ที่แสดงเมื่อ 24 เมษายน 2557 ในโอกาสวันสถาปนาศาลรัฐธรรมนูญและคำบรรยายเรื่อง “เขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ” ตั้งแต่ปี 2541 ไปลงพิมพ์ให้อ่านความเต็มใจใน www.kpi.ac.th เพื่อวิญญูชนที่ใจเป็นธรรมได้อ่านเนื้อเต็ม โดยไม่ต้องถูกบิดเบือน

ในคำบรรยายที่ข้าพเจ้าได้บรรยายไว้เมื่อปี 2541 ข้าพเจ้ากล่าวว่า “.....ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคดีอันอยู่ในเขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายแล้วนั้นเองแหละ จึงจะผูกพันศาลอื่น แต่ถ้าศาลรัฐธรรมนูญไปวินิจฉัยคดีซึ่งไม่ได้อยู่ในเขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ความผูกพัยต่อศาลอื่นก็ไม่มี....” (หน้า 31)

คำบรรยายนี้ตรงไปตรงมา เช่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าพระราชบัญญัติบางมาตราขัดรัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยก็ผูกพันทั้งรัฐสภา ครม.ศาล และองค์กรอื่นทั้งหมด แต่ถ้าศาลรัฐธรรมนูญไปวินิจฉัยคดีแพ่งให้ลูกหนี้ชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ ซึ่งใครๆ ก็รู้ว่าไม่ใช่อำนาจศาลรัฐธรรมนูญ จะให้คำวินิจฉัยนอกอำนาจนี้ไปผูกพันองค์กรใดๆ ก็ไม่ได้

ปัญหาจึงอยู่ที่ ใครจะเป็นผู้วินิจฉัยว่าเรื่องใดอยู่ในอำนาจ ศาลรัฐธรรมนูญ?

คำบรรยายดังกล่าวหน้า 32 ก็ตอบไว้ว่า “....ดังนั้นหากเกิดปัญหาเรื่องเขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญขึ้น ผู้ที่จะมีอำนาจวินิจฉัยเรื่องเขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ก็คือ ศาลรัฐธรรมนูญนั่นเองในทางกฎหมาย แต่ในเวลาเดียวกันในทางการเมือง องค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญก็ย่อมมีอำนาจและเอกสิทธิที่จะพิจารณาการวินิจฉัยเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญว่าชอบหรือไม่ด้วยเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ หากเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไปในทางขยายเขตอำนาจของตน จนทำลายเขตอำนาจของศาลหรือองค์กรอื่น องค์กรเหล่านั้นก็ย่อมทรงไว้ซึ่งสิทธิและอำนาจตามรัฐธรรมนูญที่จะดำเนินการเสนอให้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะทาให้การใช้อำนาจมีการถ่วงดุลและคานกัน”

แต่ที่ ศอ.รส.ไม่ได้อ้าง แต่เป็นคำบรรยายของข้าพเจ้าตอนต่อมาในหน้า 32 มีความว่า “...ถ้าเป็นเรื่องที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญจะมีความสำคัญสูงสุด คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญจะผูกพันทุกองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล หรือองค์กรอื่น ความสำคัญของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งพิจารณาพิพากษาอรรถคดีในเขตอำนาจของตนเองนั้นเป็นความสำคัญสูงสุดที่รัฐสภาและศาลอื่นจะก้าวล่วงมิได้”

ดังนั้นเมื่อข้าพเจ้ามาปาฐกถาเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2557 โดยมีข้อความซึ่ง ศอ.รส.อ้างไว้ในข้อ 5 ต่อไป ว่า “คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายผูกพันทุกองค์กร ทั้งรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาลซึ่งรัฐธรรมนูญปี 2540 และปี 2550 ได้บัญญัติไว้ แสดงให้เห็นว่า การยกสถานะศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นองค์กรที่ทำหน้าที่เท่าเทียมกับรัฐสภา เพื่อพิทักษ์นิติธรรม ควบคุมกฎหมาย เพื่อไม่ให้ขัดรัฐธรรมนูญ รวมไปถึงการควบคุมการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของรัฐสภาด้วย จึงไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเป็นการป้องกันเผด็จการรัฐสภา เพื่อไม่ให้องค์กรที่รัฐธรรมนูญตั้งขึ้นมาทำลายรัฐธรรมนูญเสียเอง”

จึงเป็นการยืนยันสิ่งที่ข้าพเจ้าบรรยายในปี 2541 และเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญ ปี 2550 ที่ใช้ในปัจจุบัน บัญญัติไว้ในมาตรา 216 วรรค 5 ว่า “คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ”

และในมาตรา 27 ว่า “สิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้โดยชัดแจ้งโดยปริยาย หรือโดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญย่อมได้รับความคุ้มครอง และผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานของรัฐโดยตรงในการตรากฎหมาย การใช้บังคับกฎหมาย และการตีความกฎหมายทั้งปวง”

ก็เมื่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญผูกพันรัฐสภาในการตรากฎหมาย ผูกพันคณะรัฐมนตรีในการใช้บังคับกฎหมาย และผูกพันศาลและองค์กรอื่นในการตีความจึงถือว่าศาลรัฐธรรมนูญ มีสถานะไม่ด้อยกว่ารัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาลอื่น ทั้งคำวินิจฉัยก็มีผลผูกพันทั่วไป (erga omnes) เหมือนกฎหมาย ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงกล่าวไว้ในคำบรรยายข้าพเจ้าเมื่อปี 2541 (หน้า 33) ว่า “เมื่อเป็นดังนี้ ศาลรัฐธรรมนูญในทางวิชาการจึงต้องถือว่าเป็นศาลที่มีอำนาจนิติบัญญัติในทางปฏิเสธ กระผมไม่ได้เอามาพูดเองนะครับ... คนที่พูดเรื่องนี้ไว้ก็คือ Hans Kelsen ซึ่งเป็นเจ้าของทฤษฎีของการก่อตั้งศาลรัฐธรรมนูญขึ้นครั้งแรกในโลก”

แต่ ศอ.รส.หาได้อ้างคำบรรยายของข้าพเจ้าให้ถูกไม่ กลับสรุปผิดๆ เอาเองว่า “เป็นการยกสถานะของศาลรัฐธรรมนูญในปัจจุบันให้อยู่เหนือองค์กรอื่นโดยเฉพาะฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร เป็นการสถาปนาอำนาจตุลาการโดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นรัฏฐาธิปัตย์” และคิดเองเออเองว่า “ นายบวรศักดิ์มีแนวคิดและความมุ่งหมายเป็นการแสดงความรับรู้การใช้อำนาจตามอำเภอใจของศาลรัฐธรรมนูญ และบังคับให้องค์กรอื่นที่มีสถานะเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญดุจเดียวกับศาลรัฐธรรมนูญ ต้องยอมรับอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้...” และ “...คำอภิปรายดังกล่าวเห็นได้ว่า มีความมุ่งหมายที่จะแสดงความชอบธรรมว่าศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจควบคุมความชอบธรรมด้วยรัฐธรรมนูญทุกเรื่อง แม้ว่ารัฐธรรมนูญไม่ได้ให้อำนาจไว้ และยืนกรานให้องค์กรอื่นต้องเคารพคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ....”

หากผู้มีจิตใจเที่ยงธรรมอ่านคาปาฐกถาที่ ศอ.รส.อ้างมาข้างต้นทั้งหมดก็จะพบว่าข้าพเจ้าได้ยืนยันว่า

1. ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้มีอำนาจในกำรวินิจฉัยเขตอำนาจของตนเอง

2. เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าศาลมีเขตอำนาจในเรื่องนั้นก็จะเป็นข้อยุติทางกฎหมาย ไม่มีที่อุทธรณ์ฎีกาอีก และมีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นทั้งหมด ข้าพเจ้าจึงกล่าวว่าคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมาย (เพราะมีผลทั่วไป ไม่ใช่เฉพาะคดีอย่างคาพิพากษาศาลอื่น) อันแสดงให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญยกสถานะของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นองค์กรที่ทำหน้ำที่เท่าเทียมกับรัฐสภา เพราะใช้อำนาจยกเลิกกฎหมายที่สภาออกมาได้”

นายบวรศักดิ์ระบุว่า ไม่เคยพูดว่าศาลรัฐธรรมนูญเป็น “รัฏฐาธิปัตย์” ตามที่ ศอ.รส.กล่าวอ้าง ไม่เคยแสดง ณ ที่ใดๆ ให้ “รับรู้การใช้อำนาจตามอำเภอใจของศาลรัฐธรรมนูญ” และข้าพเจ้ายิ่งไม่อาจ “มีความมุ่งหมายที่จะแสดงความชอบธรรมว่าศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญทุกเรื่อง แม้ว่ารัฐธรรมนูญไม่ได้ให้อำนาจไว้”

ข้อความเหล่านี้เป็นการ “ปั้นน้ำเป็นตัว” อย่างแท้จริง ทั้งที่ใครอ่านบทปาฐกถา และบทบรรยายเมื่อปี 2541 ของเขาแล้วจะเห็นได้ว่า ได้ยืนยันมาตลอดว่าศาลรัฐธรรมนูญต้องตัดสินเฉพาะเรื่องที่อยู่ในเขตอำนาจ และศาลรัฐธรรมนูญเป็นศาลยกเว้น ไม่ใช่ศาลที่มีเขตอำนาจทั่วไปเหมือนศาลยุติธรรม จึงต้องวินิจฉัยคดีเฉพาะที่รัฐธรรมนูญให้อำนาจไว้

“3) สิ่งที่ข้าพเจ้า ศอ.รส. และรัฐบาลอาจเห็นไม่ตรงกันก็คือ ข้าพเจ้าเห็นว่า “การยกสถานะศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นองค์กรที่ทำหน้าที่เท่าเทียมกับรัฐสภา เพื่อพิทักษ์นิติธรรม ควบคุมกฎหมายเพื่อไม่ให้ขัดรัฐธรรมนูญ รวมไปถึงการควบคุมการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของรัฐสภาด้วย จึงไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะเป็นการป้องกันเผด็จการรัฐสภา เพื่อไม่ให้องค์กรที่รัฐธรรมนูญตั้งขึ้นมาทำลาย รัฐธรรมนูญเสียเอง”

ข้าพเจ้าเห็นว่าการควบคุมร่างรัฐธรรมนูญที่ฝ่ายข้างมากใช้วิธีการที่มิชอบหลายประการผลักดันเพื่อให้แก้หลักการสำคัญที่รัฐธรรมนูญวางไว้เป็นอำนาจศาลรัฐธรรมนูญที่จะควบคุมดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 291 (1) วรรคสอง ที่ว่า “ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐ จะเสนอมิได้” เมื่อรัฐธรรมนูญห้ามแก้รัฐธรรมนูญเรื่องนี้ ใครเล่าจะเป็นคนวินิจฉัยว่าทำได้หรือไม่ ถ้าให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรวินิจฉัย หรือแม้แต่รัฐสภาวินิจฉัย ก็จะไม่มีทางใช้มาตรานี้ได้หากผู้เสนอแก้คือ ฝ่ายเสียงข้างมาก

ดังนั้น ศาลรัฐธรรมนูญจึงเป็นองค์กรที่มีอำนาจวินิจฉัยร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะเราไม่อาจให้สภาซึ่งเป็นผู้มีส่วนเสนอและพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ เป็นผู้วินิจฉัยเสียเอง เพราะจะขัดกับหลักความยุติธรรมตามธรรมชาติ (natural justice) ที่ว่า “ไม่มีใครจะเป็นผู้พิพากษาเรื่องที่ตนมีส่วนได้เสียอยู่เองได้” (no man can be a judge in his own cause) เมื่อสภาเป็นผู้มีส่วนได้เสียไม่อาจตัดสินสิ่งที่ตนทำได้แล้ว องค์กรที่มีหน้าที่ตัดสินคดีรัฐธรรมนูญโดยตรงก็คือศาลรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีอำนาจวินิจฉัยว่าร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมมิชอบด้วยรัฐธรรมนูญทั้งกระบวนการและเนื้อหา

จุดนี้เอง รัฐบาลและ ศอ.รส.เห็นต่างจากข้าพเจ้า ดังเห็นได้จากการแสดงความเห็นทั้งเป็นทางการ และไม่เป็นทางการโจมตีศาลรัฐธรรมนูญว่าตัดสินไปโดยไม่มีอำนาจ ตัดสินไปโดยขัดหลักการแบ่งแยกการใช้อานาจอธิปไตย ฯลฯ และดังปรากฏในแถลงการณ์ของ ศอ.รส.ฉบับก่อนๆ และคนสำคัญของรัฐบาลและพรรคร่วมรัฐบาล จนถึงขั้นออกมาประกาศไม่ยอมรับอานาจศาล บ้างก็ไปแจ้งความดำเนินคดีอาญาต่อตุลาการผู้วินิจฉัยคดี !

แต่ข้าพเจ้าเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญมีอานาจวินิจฉัยเรื่องนี้ และศาลรัฐธรรมนูญเยอรมัน ศาลรัฐธรรมนูญออสเตรีย ศาลฎีกาสหรัฐอเมริกา ศาลฎีกาอินเดีย ฯลฯ ต่างควบคุมการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยรัฐสภาทั้งสิ้นเพื่อรักษา “ความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ”

และ “นิติธรรม” ให้พ้นเงื้อมมือเสียงข้างมากที่เผด็จการ (ดูงานวิจัยเรื่อง “กระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญและการควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในต่างประเทศ” โดยชมพูนุท ตั้งถาวร 2556 ซึ่งข้าพเจ้าเป็นที่ปรึกษา)

ความเป็นฝักฝ่ายทางการเมืองของ ศอ.รส.และบรรดาผู้สนับสนุนเสียงข้างมาก และต่อต้านศาลรัฐธรรมนูญนี้เอง ทาให้ปาฐกถาทางวิชาการแท้ๆของข้าพเจ้าที่ไม่มีจุดมุ่งหมายทางการเมืองใดๆ ไปจี้จุดในใจของเขาเหล่านั้นให้กรูกันออกมารุมวิพากษ์วิจารณ์ข้าพเจ้าอย่างกราดเกรี้ยวไม่สมฐานะของหน่วยงานรักษาความสงบเรียบร้อยแต่กลับไปละม้ายคล้ายเสียงวิจารณ์ของฝูงชนที่ชุมนุมกันมากกว่าทาให้เนื้อหาและถ้อยคาของแถลงการณ์แต่ละฉบับไม่ใช่สิ่งที่เป็นระเบียบแบบแผนที่ดีของทางราชการ

3. ที่ข้าพเจ้าเคยกล่าวว่า “หากเกิดปัญหาเรื่องเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญขึ้น ผู้ที่จะมีอำนาจวินิจฉัยเรื่องเขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญก็คือ ศาลรัฐธรรมนูญนั่งเองในทางกฎหมาย แต่ในเวลาเดียวกันในทางการเมือง องค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญก็ย่อมมีอำนาจและเอกสิทธิ์ที่จะพิจารณาการวินิจฉัยเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญว่าชอบหรือไม่ชอบด้วยเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ หากเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไปในทางขยายเขตอำนาจของตนจนทำลายเขตอำนาจของศาลอื่น หรือองค์กรอื่น องค์กรเหล่านั้นก็ย่อมทรงไว้ซึ่งสิทธิและอำนาจตามรัฐธรรมนูญที่จะดำเนินการเสนอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะทำให้การใช้อำนาจมีการดุลคานกัน”

ข้าพเจ้าก็ยังยืนยันเหมือนเดิม และยิ่งมีความมั่นใจเพราะเมื่อศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เรื่องที่มาของวุฒิสภาในคำวินิจฉัย ที่ 15-18/2556 ซึ่งเป็นข้อยุติทางกฎหมายนั้น ก็ปรากฏว่า เกิดการตอบโต้ทางการเมือง จากคนสำคัญของรัฐบาล ของรัฐสภาและของพรรคร่วมรัฐบาล ประกาศไม่ยอมรับอำนาจศาล ไปแจ้งความดาเนินคดีกับตุลาการฝ่ายข้างมาก ศอ.รส. ก็ร่วมออกแถลงการณ์กดดันศาลด้วย ตรงตามที่ข้าพเจ้าได้พูดไว้ในปี 2541 ทุกประการแล้ว

แต่ที่ยังไม่เกิดก็คือ รัฐบาลยังไม่อาจดำเนินการเสนอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้ยุบเลิกศาลรัฐธรรมนูญ หรือลดอำนาจศาลแต่อย่างใด เพราะมีกลุ่มประชาชนที่ทนไม่ได้ออกมาปกป้องศาล และต่อต้านฝ่ายเสียงข้างมากจนต้องยุบสภาดังที่ทราบกันดีอยู่ทั่วไป ความรุนแรงที่หากจะเกิดขึ้นตามที่ ศอ.รส.พยายามอ้าง ส่วนหนึ่งก็มาจากการที่ผู้มีหน้าที่รักษากฎหมายกลับไม่เคารพศาล ไม่รักษากฎหมายและนิติธรรมนั้นเสียเอง !

ต่อไปหากมีการเลือกตั้งทั่วไป ก็อาจมีความพยายามตอบโต้ศาลด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญอีก เหมือนที่ในอินเดีย นางอินทิรา คานธี หัวหน้าพรรคคองเกรส เคยทำเมื่อชนะเลือกตั้งท่วมท้นและมาแก้รัฐธรรมนูญตัดอำนาจศาลฎีกาอินเดีย ซึ่งเคยพิพากษาว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาลพรรคคองเกรสไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญโดยให้รัฐสภามีอำนาจไม่จำกัดในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ถูกศาลฎีกาอินเดีย ในคดี Minerva Mills Ltd. U Union of India (1980) ตัดสินว่าการแก้รัฐธรรมนูญเพิ่มอำนาจรัฐสภาให้แก้รัฐธรรมนูญอย่างไรก็ได้โดยไม่มีข้อจำกัด ขัดโครงสร้างพื้นฐานของรัฐธรรมนูญ! เป็นอันว่าศาลฎีกาอินเดียยังคงเป็นก้างขวางคอพรรครัฐบาลเสียงข้างมากของอินเดียมาจนถึงทุกวันนี้

ข้าพเจ้าเห็นว่าสิ่งที่ท่านอดีตนายกรัฐมนตรีมาการ์เร็ต แธตเชอร์ ของอังกฤษกล่าวไว้ในอดีตยังคงเป็นความจริงในวันนี้จึงเป็นข้ออ้างมาเป็นบทสรุปคำชี้แจงนี้ว่า

“การเป็นประชาธิปไตยยังไม่เพียงพอ เสียงข้างมากไม่อาจเปลี่ยนสิ่งที่ผิดให้ถูกได้ หากจะเป็นประเทศเสรีจริงๆ ประเทศนั้นต้องมีความรักที่ลึกซึ้งต่อเสรีภาพ และเคารพหลักนิติธรรมอย่างผูกพันไม่เสื่อมคลาย”

“Being democratic is not enough, a majority cannot turn what is wrong into right. In order to be considered truly free, countries must also have a deep love of liberty and an abiding respect for the rule of law” Margaret Thatcher


กำลังโหลดความคิดเห็น