xs
xsm
sm
md
lg

SuperSci: เรื่องช้างๆ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รู้จักเรื่อง ช้างๆ ในนิทรรศการรู้รักษ์ช้าง
"ช้าง ช้าง ช้าง ช้าง ช้าง น้องเคยเห็นช้างรึเปล่า" เพลงที่เราคุ้นหูกันมาตั้งแต่เด็ก ย้ำความผูกพันของคนไทยกับช้างซึ่งเป็นสัตว์ประจำชาติมาตั้งแต่โบราณกาล เรื่องราวของช้างได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม และยังผลักดันให้คนไทยศึกษาชีววิทยาของช้างจนมีองค์ความรู้อยู่มากมาย



SuperSci สัปดาห์นี้จะพาทุกคนไปเก็บตกเรื่อง “ช้างๆ” กับนิทรรศการรู้รักษ์ช้างที่จัดขึ้นในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2558 ที่เสร็จสิ้นไปแล้วตั้งแต่ช่วงปลายเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา ในหลากหลายแง่มุมที่หลายคนอาจไม่เคยรู้มาก่อน

นายสหรัฐ ชาแท่น นิสิตคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้ทำหน้าที่วิทยากรประจำนิทรรศการ ระบุว่า ช้างบนโลกที่ยังดำรงเผ่าพันธุ์อยู่ในขณะนี้มีด้วยกัน 2 สายพันธุ์ในวงศ์แอลลิเฟนทิดี (Order Elephantidae) คือ ช้างแอฟริกาที่แบ่งออกเป็น ช้างทุ่งแอฟริกา (Savana or Bush elelphant) ที่อาศัยอยู่ในเขตภูมิศาสตร์เอธิโอเปียทางตอนใต้ทะเลซาฮาราจนถึงทางตอนใต้สุดทวีปแอฟริกา และช้างป่าแอฟริกา (Forest elephant)ที่อาศัยอยู่ในเขตป่าฝนของแอฟริกากลางแถบลุ่มแม่น้ำคองโก ที่มีน้ำหนักราว 2 ตัน สูง 3 เมตร

ส่วนอีกสายพันธุ์หนึ่ง คือ ช้างเอเชีย (Asian Elephant) ที่กระจายอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ ในทวีปเอเชีย ที่สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 สายพันธุ์ย่อย ได้แก่ ช้างศรีลังกา, ช้างสุมาตรา, ช้างแคระบอร์เนียว และช้างอินเดีย ซึ่งช้างไทยอยู่ในสายพันธุ์ช้างอินเดีย สำหรับการแยกชนิดของช้างทั้ง 2 ประเภทเจ้าหน้าที่ประจำนิทรรศการ เผยว่า ทำได้ไม่ยากคืออันดับแรกดูจากขนาดตัวเพราะช้างแอฟริกาจะมีขนาดสูงใหญ่กว่าช้างเอเชียมาก

การสังเกตความแตกต่างข้อที่ 2 คือการดูลักษณะปลายงวง เพราะช้างแอฟริกันจะมีจงอยที่ปลายงวงทั้งด้านบนและด้านล่าง ทำให้หยิบจับอาหารเข้าปากได้สะดวก แต่ช้างเอเชีย จะมีจงอยปากที่ด้านบนเพียงด้านเดียว เวลาจะจับอาหารกินจึงต้องอาศัยการม้วนงวนเพื่อส่งอาหารเข้าปาก

สหรัฐ กล่าวว่า แม้ช้างจะมีตัวขนาดใหญ่ แต่เมื่อพิจารณาดูที่กะโหลกแล้วกลับพบว่ามีน้ำหนักเบามาก เพราะกะโหลกของช้างเต็มไปด้วยโพรงอากาศ สมองมีขนาดเล็กแต่เป็นสมองที่ค่อนข้างฉลาดมาก เพราะมีร่องสมองอยู่เต็มไปหมด ช้างจึงมีความจำดี และมีพัฒนาการในการเรียนรู้จนสามารถรับคำสั่งจากคนได้ดังจะเห็นได้จากภาพวาดศิลปะฝีงวงช้าง, การรับฟังคำสั่งของควาญ และการนำช้างมาใช้ในพระราชพิธีต่างๆ ที่แสดงให้เห็นว่าช้างเป็นสัตว์ที่มีความฉลาดรอบรู้กว่าสัตว์ทั่วไป โดยช้างตัวหนึ่งจะมีอายุเฉลี่ยประมาณ 70 ปี และมีน้ำหนักตัวเฉลี่ยราว 3,500-4,000 กิโลกรัม

งวงของช้างมีความสำคัญเทียบเท่ากับมือของคน โดยเป็นส่วนที่มีกล้ามเนื้อหลายชิ้นและมีความแข็งแรงมากสามารถยกของได้หนักถึง 250 กิโลกรัม ที่ปลายงวงมีอวัยวะรับความรู้สึกและสัมผัส สามารถได้กลิ่นอาหารและสิ่งแปลกปลอมของเสือและมนุษย์ได้ไกลถึง 1 กิโลเมตร เพราะช้างมีข้อเสียที่ดวงตา เพราะตาของช้างมีลักษณะตี่เล็กเมื่อเทียบกับขนาดตัว ตาบอดสี และสายตาสั้นมองเห็นได้แค่ระยะใกล้ๆ 15-20 เมตรเท่านั้น

ส่วนฟันของช้างเมื่อเทียบกับคน ถือว่ามีเยอะมาก เพราะมีถึง 6 ชุด ชุดละ 26 ซี่โดยฟันใหม่จะงอกจากด้านในแล้วค่อยๆ ดันฟันเก่าออกมาทางด้านหน้าจนหมด ส่วนงาจะเป็นฟันที่เจริญงอกออกจากขากรรไกร ใช้เป็นอาวุธและเป็นตัวช่วยหาอาหารเพราะใช้ขุดดินโป่งและลอกเปลือกต้นไม้ โดยช้างเอเชียจะมีงาเฉพาะตัวผู้ ส่วนช้างแอฟริกาจะมีงาทั้งตัวผู้และตัวเมีย โดยงาจะยาวขึ้นปีละประมาณ 17 เซ็นติเมตรและสามารถรับน้ำหนักได้ถึง 700 กิโลกรัม แต่ถ้าเป็นการลากซุงหรือบรรทุกน้ำหนักจะทำได้ถึง 2,000 กิโลกรัม

ในหนึ่งวันช้างตัวเต็มวัยจะกินอาหารวันละประมาณ 140-270 กิโลกรัม คิดเป็น 10% ของน้ำหนักตัวและกินน้ำถึงวันละ 80 ลิตร เนื่องจากระบบย่อยอาหารไม่ดีทำให้ช้างต้องกินอาหารเร็วขึ้น 2 เท่าและใช้เวลากินยาวนานถึง 16 ชั่วโมงต่อวัน โดยจะกินกล้วย, หญ้า, ไผ่, ผลไม้ตามฤดูกาล และยังมักกินดินโป่งเพื่อเสริมแร่ธาตุให้กับร่างกาย

นอกจากนี้ น.ส.ณัฐรินีย์ สกุลภัทรพาณิช นิสิตจากคณะและสถาบันเดียวกันยังสอนการวิธีวัดอายุและความสูงของช้างจากรอยตีน ให้แก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ด้วย โดยการวัดอายุทำได้จากการวัดขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของรอยตีน แล้วนำไปเทียบกับค่าตารางที่กำหนด โดยถ้าเส้นผ่านศูนย์กลางของรอยตีนหน้าน้อยกว่า 20.36 เซ็นติเมตรแปลว่าเป็นช้างเด็ก ถ้ามากกว่า 28.6 เซนติเมตรถือว่าเป็นช้างโต ส่วนความสูงของช้างวัดได้จากเส้นรอบวงของรอยตีนคูณสอง
ช้างในโลกมีเพียง 2 สายพันธุ์ คือช้างแอฟริกันและช้างเอเชีย
หัวของช้างมีโพรงมากจึงมีน้ำหนักเบา แต่สมองมีรอยหยักเยอะ ช้างจึงค่อนข้างฉลาด
ฟันกรามของช้าง หรือที่คนไทยนิยมเรียกว่า หงอนพญานาค
ช้างเอเชียจะมีงาเฉพาะตัวผู้ แต่ช้างแอฟริกันทั้งตัวผู้และตัวเมีย
อายุช้างและความสูงช้าง ประเมินได้ง่ายๆ จากการวัดรอยเท้า
ในหนึ่งวันช้างกินอาหารมากถึง 140 กิโลกรัม
ช้างสามารถลากจูงน้ำหนักได้มากถึง 2000 กิโลกรัม
ภาพวาดฝีงวงช้าง
สิ่งของและขนมที่มีชื่อช้าง
ซุ้มนิทรรศการช้างกับประเพณีไทย
มุมช้างกับพระมหากษัตริย์
มีมุมวาดภาพระบายสีช้างในนิทรรศการ









กำลังโหลดความคิดเห็น