xs
xsm
sm
md
lg

“อีเมย”

เผยแพร่:   โดย: ฉัตรพรรษ พงษ์เจริญ


“อีเมย” หรือ “นังเมย” เป็นชื่อเรียกที่เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าตั้งเอาไว้ให้กับ เก้งหรืออีเก้งเพศเมียตัวหนึ่งที่อาศัยหากินประจำอยู่ในบริเวณพื้นที่ใกล้กับสำนักงานที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก ซึ่งใครก็ตามที่เดินทางไปเยือน ณ สถานที่แห่งนี้ต้องได้พบปะมันอยู่เสมอ

อีเมยมีลักษณะสมบูรณ์เหมือนเก้งเพศเมียทั่วไปทุกประการ ไม่มีเขา ขาเรียวยาวตั้งอยู่บนกีบขนาดเล็ก ปลายจมูกและคิ้วมีสีดำ ขนลำตัวสีส้มเป็นมันวาว หางที่แกว่งไกวไล่แมลงจะมีสีขาวโดดเด่นเห็นชัดทันทีที่ยกตั้งขึ้นเมื่อมันตกใจหรือออกวิ่ง การใช้เพียงสายตามองนั้นเป็นเรื่องค่อนข้างยากที่จะระบุตัวอีเมยออกจากเก้งเพศเมียตัวอื่นๆ แต่มีอยู่สิ่งหนึ่งที่ทำให้อีเมยแตกต่างออกไปและทำให้ผมสามารถแยกมันออกจากพวกพ้องที่หากินอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกันได้คือ ความเชื่อง จนมันกลายเป็นขวัญใจของบรรดานักท่องเที่ยวผ่านทางหลายคนผิดวิสัยกับเก้งตัวอื่นที่ตามปกติจะเดินเล็มหญ้าหรือลงกินโป่งอยู่ตามสนามและบริเวณริมขอบป่า
อีเมยจะเยื้องย่างเข้ามาหากินอยู่ใกล้กับคนและนอนพักเคี้ยวเอื้องอยู่ตามใต้โคนต้นไม้หรือริมรั้วใกล้ตัวอาคารสำนักงานและบ้านพักเป็นประจำ อาจจะเพราะอาหาร ความคุ้นชินกับผู้คน ความปลอดภัยจากผู้ล่า หรือเหตุผลใดๆ นั้นผมเองไม่สามารถที่จะบอกได้ บางครั้งระหว่างที่นั่งกินข้าวมันจะมาเลียบๆ เคียงๆ อยู่ใกล้ๆ เหมือนจะขอแบ่งปันอาหาร หลายครั้งผมเห็นมันผิดหวังกลับไป แต่หลายครั้งมันก็ได้ถั่วฝักยาวของโปรดไปเคี้ยวเต็มปาก และหลายครั้งที่มันไปคุ้ยหาอาหารจากริมเต็นท์ที่พักของนักท่องเที่ยว
 
ด้วยเหตุนี้เองที่รูปร่างของอีเมยเลยออกจะเพรียวบางน้อยกว่าเก้งเพศเมียตัวอื่นๆ แต่ถึงกระนั้นก็มีเก้งหนุ่มเขางาม รูปร่างสมส่วนหล่อเหลาเอาการหลายตัวแวะเวียนมาเมียงมองและไล่เกี้ยวอีเมยให้เห็นอยู่เป็นประจำ จนได้เก้งตัวน้อยน่ารักหลายต่อหลายตัวมาช่วยประดับให้ป่าดูสดใสมีชีวิตชีวามากขึ้น เมื่อมองดูลูกของอีเมยตัวแล้วตัวเล่าวิ่งเล่นไปมาอย่างน้อยก็เป็นเครื่องการันตีได้ว่าในป่านี้ยังคงมีเก้งอาศัยหากินอยู่ต่อไป

ระหว่างที่ผมเฝ้ามองอีเมยเดินหากินอย่างสบายใจ ผมก็นึกถึงครั้งแรกที่ผมได้รู้จักสัตว์ป่าชนิดนี้ เมื่อประมาณกว่ายี่สิบปีก่อนสมัยที่เป็นเด็กน้อยอาศัยและเล่าเรียนอยู่ต่างจังหวัด ตอนนั้นบ้านที่พักอาศัยเป็นสวนผลไม้ที่มีอาณาบริเวณอยู่ใกล้กับป่าและภูเขาที่ชาวบ้านแถวนั้นเรียกกันว่า “เขาสระบาป” ในช่วงเวลาที่ต้นไม้ในสวนให้ดอกออกผล ผมจะมีความสุขทุกครั้งที่ได้เห็นสัตว์ป่าตัวเล็กๆ เช่น กระแตและกระจ้อนวิ่งไล่กันอยู่บนกิ่งไม้ นกแซงแซวหางบ่วงใหญ่ นกขมิ้นน้อยธรรมดา และนกขุนแผนบินหากินไปมา แต่กับสัตว์ที่มีขนาดใหญ่ขึ้นมานั้นแตกต่างออกไป พวกมันจะมาในรูปแบบเป็นชิ้นเนื้อที่ผัดรวมกับสมุนไพรและพริกแกงเรียบร้อยแล้ว อยู่ในจานบนสำรับอาหารที่เรารู้จักกันดีในชื่อ “แกงป่าหรือผัดเผ็ด”

เนื่องด้วยตัวผมเองเป็นคนที่ชอบรสเผ็ดจัดจ้านจึงชื่นชอบอาหารประเภทนี้เป็นพิเศษ แต่ในครั้งนั้นผมได้รับประทานผัดเผ็ดเนื้อที่มีรสชาติ กลิ่นและสัมผัสที่เอร็ดอร่อยแตกต่างออกไปจากที่เคยและสร้างความผมประทับใจให้กับผมเป็นอย่างมาก นั่นเป็นครั้งแรกที่ผมได้รู้จักกับ “ผัดเผ็ดเก้ง” ในทันทีผมยกให้อาหารจานนี้เป็นอาหารที่ผมชื่นชอบและยอบรับว่ารู้สึกดีใจทุกครั้งที่มองเห็นมันอยู่ในสำรับบนโต๊ะ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเรื่อยมาจนกระทั่งผมเข้าเรียนต่อในระดับปริญญาตรีในภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่นี่ทำให้ผมได้รู้จักกับเก้งจริงๆ เก้งที่ยังมีชีวิต เก้งที่ยังคงหายใจและเคลื่อนไหวได้

ความคิดของผมได้เปลี่ยนมุมมองที่มีต่อสัตว์ป่าชนิดนี้จากอาหารจานอร่อยเป็นความรู้สึกเอ็นดูและน่าทะนุถนอม ซึ่งอาจจะเนื่องมาจากรูปร่างหน้าตาของมัน อีกทั้งยังได้ทราบว่าเก้งเป็นชนิดพันธุ์หนึ่งในบัญชีรายชื่อสัตว์ป่าคุ้มครอง การล่าหรือมีไว้ครอบครองนั้นมีความผิดตามประมวลกฎหมาย ทำให้ผมคิดว่าการที่กินมันเป็นอาหารก็เป็นส่วนหนึ่งของวงจรการล่าและค้าสัตว์ป่าจากการที่สนับสนุนให้มีการกระทำความผิด นับแต่นั้นมาถึงแม้จะมาวางอยู่ตรงหน้าผมก็ไม่เคยแตะต้องอาหารชนิดนี้อีกเลย

อีเมยหยุดเล็มหญ้าและเงยหน้าขึ้นในขณะที่ผมเดินเข้าไปใกล้ ดวงตากลมโตสีดำทั้งคู่ของมันมองตรงเข้ามาที่ผม ไม่มีท่าทีที่จะตื่นกลัวหรือตระหนกตกใจ กลับเป็นใจของผมเองที่แอบหายไปเมื่อคิดถึงสิ่งที่เคยทำในอดีตที่ผ่านมา ครั้งนี้เองที่ผมได้มองอีเมยอย่างชัดเจน ชัดเข้าไปในดวงตา จนผมรู้สึกได้ถึงความสงสัยใคร่รู้ ความไร้เดียงสา และความไว้วางใจของมันที่ว่า มันจะไม่ได้รับอันตรายอันใดจากผมและนั่นก็เป็นสิ่งที่ทำให้ผมรู้สึกใจหายอีกครั้ง

ถ้ารู้ได้ถึงสิ่งเหล่านี้ตั้งแต่สมัยที่ผมยังเด็ก ผมคงไม่สามารถที่จะกินอาหารจานนั้นได้ลง พาลคิดต่อไปอีกว่าถ้าเก้งตัวนั้นหรือตัวไหนๆ ที่ไม่ต้องตายจากการถูกล่าไม่ว่าเพื่อที่จะเป็นอาหาร การกีฬา การอวดอ้างสรรพความสามารถของพรานล่าสัตว์ หรือด้วยเหตุผลใด พวกมันคงจะดำรงชีวิต ทำหน้าที่และสืบทอดเผ่าพันธุ์อยู่ในบ้านของพวกมันที่เรียกว่าป่าได้ต่อไป เราคงสามารถอยู่ร่วมกันได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องหวาดกลัวหรือทำร้ายกัน และคงมีหลายคนที่สามารถมองสบดวงตากลมโตสีดำขลับคู่นั้นแล้วมีความสุขเกิดขึ้นในใจ

“มันคงช้าเกินไปกับสิ่งที่ผ่านมาแล้ว” เป็นสิ่งที่ผมคิด

“แต่มันไม่สายเกินไปที่จะแก้ไข” เป็นสิ่งที่ผมจะทำ

เกี่ยวกับผู้เขียน

ฉัตรพรรษ พงษ์เจริญ

แต่เดิมเป็นเด็กต่างจังหวัดจากภาคตะวันออก มุ่งมั่นเข้ามาศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีที่คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ด้วยความสนใจส่วนตัวและถูกชักชวน จึงเลือกเข้าศึกษาในภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ สาขาวิทยาศาสตร์สัตว์ป่าและทุ่งหญ้า ซึ่งระหว่างนั้นก็ได้มีโอกาสช่วยเก็บข้อมูลงานวิจัยสัตว์ป่าในหลายพื้นที่ หลังจากสำเร็จการศึกษาได้รับคำแนะนำให้ไปศึกษาต่อยังสถาบันอื่น จึงได้เข้ามาศึกษาต่อ ณ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในระดับปริญญาโทต่อมาถึงในระดับปริญญาเอก และยังคงมีสถานภาพเป็นนิสิตอยู่ในปัจจุบันขณะ

"เราพยายามเรียนรู้สิ่งต่างๆมากมาย เพื่อที่สุดท้ายแล้วเราจะได้รู้ว่า แท้จริงแล้งเราไม่ได้รู้อะไรเลย"

พบกับบทความ “ฉัตรพรรษ พงษ์เจริญ” ได้ทุกวันที่ 1 และ 16 ของเดือน










กำลังโหลดความคิดเห็น