นักวิจัยมหิดล เดินหน้าเต็มสูบผลิตอาหารเสริมแคลเซียม-คอลลาเจนจากเกล็ดปลา ด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง ดูดซึมดีกว่า ราคาถูกกว่า เตรียมตีตลาดแคลเซียมนำเข้า พ่วงงานวิจัยกระดูกเทียมนาโนคอมโพสิทช่วยผู้ป่วยกระดูกหักฟื้นเร็ว คาดเห็นผลิตภัณฑ์ภายในปีหน้า
ศ.ดร.นทีทิพย์ กฤษณามระ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ได้รับทุนเมธีวิจัยดีเด่น จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเร็วเป็นอันดับที่ 32 ของโลก และเร็วเป็นอันดับที่ 4 ของเอเชีย งานวิจัยเพื่อตอบโจทย์กลุ่มผู้สูงอายุจึงเป็นเทรนด์ ที่นักวิจัยเริ่มหันมาให้ความสนใจ โดยเฉพาะการศึกษาเพื่อหาแนวทางป้องกันตั้งแต่การส่งเสริมประชาชนให้รับประทานแคลเซียมในปริมาณที่กำหนด รวมไปถึงการพัฒนาอาหารเสริมแคลเซียมในรูปแบบต่างๆ
ศ.ดร.นทีทิพย์ เผยว่า จากประสบการณ์ที่ทำงานด้านแคลเซียมมานานนับ 20 ปี ทำให้เธอเห็นความเป็นไปได้ที่ประเทศไทยจะนำเกล็ดปลา ซึ่งเป็นขยะส่วนใหญ่ของอุตสาหกรรมอาหารและการประมงกลับมาใช้ประโยชน์อีกครั้งในรูปแบบของอาหารเสริม เพราะมีผลงานตีพิมพ์ทางวิทยาศาสตร์มากมายที่ระบุว่าภายในเกล็ดปลาอุดมไปด้วยแคลเซียม ฟอสฟอรัสและคอลลาเจน
“คอลลาเจนจากต่างประเทศที่สาวๆ นิยมรับประทานกันนั่นแหละค่ะ ทำมาจากเกล็ดปลา ดีไม่ดีอาจเป็นเกล็ดปลาไร้ค่าจากไทย ที่ถูกส่งไปแปรรูปยังต่างประเทศแล้วนำกลับมาขายแพงๆ เป็นผลิตภัณฑ์แคลเซียมและคอลลาเจนให้เราก็เป็นได้ ทางที่ดีเราจึงควรทำเอง เพราะนักวิจัยและเครื่องมือกลไกต่างๆ เราก็มี ซึ่งขณะนี้งานวิจัยของอาจารย์ก็ดำเนินไปพอสมควรแล้ว ทั้งการศึกษาศักยภาพของเกล็ดปลาว่าใช้ทำอะไรได้บ้าง และการศึกษาว่าร่างกายของคนดูดซึมแคลเซียมและคอลลาเจนได้มากเท่าไร และส่งผลดีและไม่ดีต่อกระดูกอย่างไร” ศ.ดร.นทีทิพย์ กล่าว
นักวิจัยให้ข้อมูลว่า เกล็ดปลาส่วนใหญ่ที่นำมาใช้ในการวิจัยเป็นเกล็ดของปลายี่สก ซึ่งเป็นปลาที่โรงงานอุตสาหกรรมนิยมนำไปแปรรูปเป็นอาหารต่างๆ ซึ่งแค่ส่วนของเกล็ดปลาก็มีปริมาณมากกว่า 1 ตันต่อเดือน โดยแบ่งการวิจัยออกเป็น 3 ส่วนย่อยด้วยกัน เริ่มจากการวิจัยส่วนประกอบของเกล็ดปลายี่สก ที่เป็นการศึกษาคุณลักษณะของแร่ธาตุภายในด้วยการนำเกล็ดไปปลาทำความสะอาด ฆ่าเชื้อโรคแล้วทำให้แห้ง ก่อนจะนำมาสกัดเอาเฉพาะแร่ธาตุที่อยู่ภายใน
"ผลการทดลองซึ่งขณะนี้ถูกตีพิมพ์ลงในวารสารวิชาการเป็นที่เรียบร้อยแล้วระบุว่า เกล็ดปลายี่สก 1 กรัมให้แคลเซียมมากถึง 434 มิลลิกรัม ซึ่งสูงเทียบเท่ากับแคลเซียมที่มีในเปลือกไข่ 1 ฟอง อีกทั้งยังมีคอลลาเจนและแร่ธาตุที่ร่างกายต้องการในปริมาณสูง และปริมาณฟอสเฟตที่ได้ก็ไม่สูงเกินเกณฑ์ที่ก่อให้เกิดปัญหาน้ำเสียจากการผลิต" ศ.ดร.นทีทิพย์ กล่าว
ส่วนการทดลองที่ 2 คือการหาค่ามาตรฐานว่าในร่างกายของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมว่าสามารถรับแคลเซียมได้ดีสุด ที่ปริมาณเท่าไร โดยการให้แคลเซียมกับหนูทดลองแม่ลูกอ่อนในระยะให้นม เทียบกับกลุ่มควบคุมที่ไม่ได้ให้แคลเซียม และกลุ่มที่ให้แคลเซียมในรูปแบบของแคลเซียมคลอไรด์
นักวิจัยอธิบายว่า เหตุที่เลือกต้องเลือกแม่หนูช่วงให้นมมาเป็นกลุ่มทดลอง เพราะป็นภาวะที่เหมาะสมที่สุด เนื่องจากเป็นช่วงที่ร่างกายของแม่หนูต้องการแคลเซียมมากกว่าปกติและมีการหลั่งฮอร์โมนโปรแลคติน (Prolactin) สำหรับช่วยดูดซึมแคลเซียม
ผลการทดลองสรุปว่า หนูแม่ลูกอ่อนดูดซึมแคลเซียมจากเกล็ดปลาได้ดีกว่าแคลเซียมจากอาหารเสริมทั่วไปซึ่งอยู่ในรูปของแคลเซียมคาร์บอเนต ซึ่งสร้างความแปลกประหลาดใจให้กับวงการวิจัยแคลเซียมพอสมควร
มากไปกว่านั้นการทดลองชุดนี้ยังศึกษาไปถึงการเจริญเติบโตของลูกหนูตั้งแต่แรกเกิดไปจนถึงตัวโตเต็มวัยอายุ 27 สัปดาห์ด้วย เพื่อศึกษาเปรียบเทียบว่าหนูที่ได้รับนมซึ่งมีส่วนประกอบของแคลเซียมจากเกล็ดปลา มีพัฒนาการของกระดูกเป็นอย่างไร เมื่อเปรียบเทียบกับลูกหนูที่ได้รับน้ำนมจากแม่ที่กินแคลเซียมแบบปกติ โดยการฉีดแคลซีน (Calcine) ที่จะเข้าไปเป็นฉลากแสดงผลยังกระดูกชิ้นเป้าหมาย
ส่วนการวิจัยท้ายสุด ศ.ดร.นทีทิพย์ ระบุว่า เป็นส่วนของการทำกระดูกเทียม จากวัสดุนาโนคอมโพสิท แทนการนำเข้าจากต่างประเทศ โดยเป็นการทำตั้งแต่การออกแบบโครงร่างและออกแบบลักษณะการยึดเกาะกันของกระดูกด้วยหลักการทางฟิสิกส์ ซึ่งได้นักวิจัยด้านฟิสิกส์วัสดุอย่าง ผศ.ดร.วีรพัฒน์ พลอัน ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เข้ามาร่วมทีม โดยมี ศ.ดร.นททิพย์และทีมวิจัยเป็นผู้ดูแลด้านชีววิทยา ซึ่งขณะนี้กระดูกชิ้นต้นแบบผลิตได้สำเร็จแล้ว แต่ยังอยู่ในขั้นการพัฒนาประสิทธิภาพ โดยคาดหมายว่าจะออกสู่สายตาคนทั่วไปได้ในไม่ช้า
“จริงๆ แล้วที่มาของงานวิจัยนี้เกิดจากผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมปลาแห่งหนึ่ง มาติดต่อกับทีมวิจัยว่าเขามีขยะจากเกล็ดปลาเยอะมาก จะเอาไปทำอะไรได้บ้าง ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีมากที่มาช่วยจุดประกายให้เรา เพราะการวิจัยแคลเซียมจากเกล็ดปลาเราไม่ได้ได้จบแค่ที่ตัวผลิตภัณฑ์ แต่เรายังได้องค์ความรู้อย่างอื่นอีกมากมายจากงานวิจัย เช่น สมดุลแคลเซียมของแม่หนู, เคมีในเลือด, อัตราการสร้าง การสลาย และความแข็งของกระดูก รวมไปถึงอะมิโนแอซิดมีผลต่อการดูดซึม ซึ่งเป็นงานวิจัยที่ลูกศิษย์ในแล็บทั้งระดับปริญญาโทและเอกร่วมกันต่อยอด โดยขณะนี้เราได้ตีพิมพ์ผลงานในวารสารวิชาการไปแล้ว 3 ฉบับ และกำลังอยู่ในช่วงจดสิทธิบัตรกระบวนการผลิต และคาดว่าปีหน้าน่าจะได้เห็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริมแคลเซียมจากเกล็ดปลา” ศ.ดร.นทีทิพย์กล่าว