อาการเจ็บป่วยของ “ปอ ทฤษฎี” พระเอกชื่อดัง ทำให้สังคมตื่นตัวต่ออันตรายของ “โรคไข้เลือดออก” กันมากขึ้น แต่โรคนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน ต้องรักษาตามอาการเท่านั้น ทางที่ดีที่สุดจึงเป็นการจำกัด “ยุงลาย” ซึ่งเป็นพาหะนำโรค ทว่าแม้จะมีการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อกำจัดลูกน้ำแบบใหม่ๆ แต่นักวิจัยเองยอมรับว่าวิธีดั้งเดิมอย่างการคว่ำแหล่งน้ำขังและการใช้ทรายอะเบทให้ผลดีกว่า
ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์สอบถามถึงการขยายผลงานวิจัยการกำจัดลุงน้ำยุงลายจาก ดร.บุญเฮียง พรมดอนกอย จากหน่วยปฏิบัติการBioresource Technology ห้องปฏิบัติการวิศวกรรมจุลินทรีย์ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ผู้ศึกษากลไกโปรตีนแบคทีเรียกำจัดลูกน้ำยุง ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
งานวิจัยของ ดร.บุญเฮียงเป็นการวิจัยขั้นพื้นฐาน โดยเน้นที่การศึกษากลไกการออกฤทธิ์ของของแบคทีเรีย 2 ชนิด คือ แบคทีเรียบีทีไอ (BTI: Bacilus thuringiensis israelensis) ที่มีฤทธิ์จำเพาะต่อยุงลาย ยุงก้นปล่อง และยุงรำคาญ และแบคทีเรียบีเอส (BS: Bacilus sphaericus) ที่มีฤทธิ์จำเพาะเฉพาะยุงรำคาญ ซึ่งแบคทีเรียทั้งสองชนิดนี้สามารถผลิตโปรตีนที่มีผลต่อกระเพาะอาหารของยุง เมื่อลูกน้ำกินโปรตีนของแบคทีเรียดังกล่าวเข้าไปจะตายเพราะกระเพาะอาหารเป็รแผล และออกฤทธิ์เฉพาะลูกน้ำยุงเท่านั้น จึงไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตอื่น เช่น ปลา หรือแม้แต่ยุงตัวเต็มวัย
การศึกษาโปรตีนกำจัดลูกน้ำยุงนี้เป็นงานวิจัยพื้นฐานที่ ดร.บุญเฮียงศึกษามา 12 ปีแล้ว และเพื่อให้ผู้นำงานวิจัยไปมช้ต่อทำงานได้รวดเร็วขึ้น จึงต้องปรับปรุงการผลิตเพื่อให้ได้เทคนิคที่ทำให้แบคทีเรียกำจัดลูกน้ำยุงทั้งสองชนิดมีชีวิตยืนยาวขึ้นและผลิตได้มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม แม้แบคทีเรียบีทีไอจะให้คุณภาพดีและกำจัดยุงได้ครอบคลุมถึง 3 ชนิด แต่ต้องใช้ในปริมาณมาก ขณะที่แบคทีเรียบีเอสสามารถกำจัดลูกน้ำยุงรำคาญได้แม้ใช้ปริมาณน้อย แต่กำจัดยุงได้เพียงชนิดเดียว ตอนนี้งานวิจัยของ ดร.บุญเฮียงจึงพยายามดึงข้อดีของแบคทีเรียทั้งสองชนิด เพื่อให้ได้แบคทีเรียที่กำจัดยุงได้ดีทีสุด
ในส่วนงานวิจัยประยุกต์จากมหาวิทยาลัยมหิดลที่นำโดย ดร.วัฒนาลัย ปานบ้านเกร็ด จากคณะวิทยาศาสตร์ ได้รับทุนจาก สวทช.ในการผลิตโปรตีนกำจัดลูกน้ำยุงรำคาญซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ในช่วงเกิดอุทกภัยเมื่อปี 2554 โดยผลิตในรูปหัวเชื้อเข้มข้นที่ต้องผสมน้ำก่อนใช้
งานวิจัยประยุกต์ดังกล่าวได้นำไปใช้ในหลายพื้นที่ เช่น ปากเกร็ด นนทบุรี และ สถานีตำรวจนครศรีธรรมราช แต่หัวเชื้อดังกล่าวไม่สามารถกำจัดลูกน้ำยุงลายได้ และยังขยายผลสู่บริษัทเอกชน คือ บริษัท พีเอสไอ กรีน ไบโอเทค จำกัด แต่ยังไม่สามารถผลิตต่อได้เนื่องจากยังไม่ได้รับอนุญาตจากหน่วยงานที่ดูแลความปลอดภัยด้านอาหารและยา อีกทั้งเมื่อปัญหาน้ำท่วมสิ้นสุดก็ได้ปิดโครงการดังกล่าวไปแล้ว
“ทางกำจัดยุงลายที่ดีที่สุด คือ การใช้ทรายอะเบท หรือผงกำจัดยุงจากงานวิจัยของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งใช้กันมานาน และการคว่ำถ้วยชาม ภาชนะน้ำขัง เพราะธรรมชาติของยุงลายจะอาศัยวางไข่ในที่ๆ มีน้ำสะอาดเท่านั้น และที่พิเศษคือถึงแม้ว่าน้ำจะแห้งจนเห็นไข่ยุงสีดำๆ แห้งติดขอบไปแล้ว ไข่ยุงก็ยังไม่ตาย และพร้อมจะฟักออกมาเป็นตัวทันทีที่มีน้ำเติมเข้ามาอีกรอบ ฉะนั้นนอกจากจะเทน้ำทิ้งแล้ว การขัดถูบริเวณขอบภาชนะหรืออุปกรณ์ที่มีน้ำขังก็มีความสำคัญ” ดร.วัฒนาลัยแนะนำ