xs
xsm
sm
md
lg

เสือบนหิ้ง

เผยแพร่:   โดย: ฉัตรพรรษ พงษ์เจริญ


“ไหนใครรู้บ้าง เราจะศึกษาเสือกันได้อย่างไร” เกริกพล หรือที่เรียกกันอย่างสนิทปากว่า ผู้ช่วยฯเกริก ผู้ช่วยนักวิจัยสัตว์ป่า สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี เอ่ยปากถามน้องๆ นิสิตระดับปริญญาตรีชั้นปีที่สาม สาขาวิทยาศาสตร์สัตว์ป่าและทุ่งหญ้า คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่มาฝึกงานเกี่ยวกับการศึกษาวิจัยสัตว์ป่าในพื้นที่ เนื่องจากความเงียบที่ได้รับมาแทนคำตอบ ผู้ช่วยฯเกริกจึงต้องเอ่ยปากถามคำถามต่อเนื่อง

“งั้นใครเคยเห็นเสือในธรรมชาติบ้าง” เหล่าน้องๆ เด็กฝึกงานแม้จะไม่ได้เอ่ยคำใดตอบออกมาจากปาก ท่าทางจากอวัจนภาษาที่แสดงออกมานั้นเป็นคำใบ้ได้อย่างดีว่า ยังไม่มีใครที่มีโอกาสอันยอดเยี่ยมดังกล่าว (ซึ่งตัวผมเองก็อยากจะมีโอกาสที่ว่านั้นเช่นกัน)

“เพราะความยากในการพบเห็นนี่แหล่ะ ที่ทำให้มันยากในการศึกษาโดยตรงและเป็นไปไม่ได้เลยที่จะเดินตามมันไปเรื่อย ๆ สำหรับงานวิจัย สมัยก่อนเราศึกษามันได้จากร่องรอย เช่น รอยตีน กองขี้ รอยข่วนต้นไม้และรอยเสปรย์ฉี่กำหนดอาณาเขต เรารู้เพียงมีเสืออยู่ในพื้นที่หรือเปล่า ขนาดและลักษณะของรอยตีน ขนในกองขี้บอกชนิดของเหยื่อในเบื้องต้น แต่ปัจจุบันเรามีเครื่องมือในการศึกษาที่ก้าวหน้ามากขึ้น ให้ข้อมูลเราได้มากขึ้น ถูกต้องมากขึ้น ข้อมูลที่เราได้มาจึงสามารถบอกเรื่องราวของเสือได้ดีกว่าเดิม" ผู้ช่วยฯ เกริกพูดพร้อมกล่าวถึงความเป็นมาของวิธีการศึกษาเสือโคร่งในตอนเริ่มแรก

“ปัจจุบันเราใช้กล้องดักถ่ายภาพ ซึ่งภาพเสือที่ได้สามารถใช้ระบุตัวเสือได้เลย เพราะลวดลายบนเสือแต่ละตัวนั้นก็เหมือนกับรอยนิ้วมือของมนุษย์ที่ไม่ซ้ำกัน และนอกจากภาพเสือแล้วเรายังได้ข้อมูลความหลากหลายของสัตว์อื่นๆ ในพื้นที่จากภาพที่ดักถ่ายได้อีก” ตัวผมเองนึกถึงสมัยก่อนหน้าขึ้นมาจับใจ สมัยที่กล้องดักถ่ายภาพยังคงใช้ฟิล์ม เซนเซอร์ที่ใช้สั่งการถ่ายภาพยังคงเพิ่งเริ่มพัฒนาและแบตเตอร์รี่กล้องถ่ายภาพมีอายุการใช้งานแสนสั้น ซึ่งหลายครั้งภาพที่ถ่ายได้ไม่มีอะไรเลยนอกจากแมลงตัวน้อยที่บินผ่านหน้ากล้อง หรือถ้าจะมีภาพเสือก็เป็นภาพเสือครึ่งหัวและเป็นรูปภาพสุดท้ายก่อนจะหมดฟิล์ม

“คอลล่าร์ที่สวมคอเพื่อใช้เป็นวิทยุติดตามตัวเสือ เมื่อก่อนต้องใช้การรับสัญญาณเป็นจุดแล้วมาคำนวณหาตำแหน่งของเสือซึ่งกว่าจะรู้เสือก็ไปแล้ว แต่ตอนนี้คอลล่าร์ที่ใช้สามารถเชคตำแหน่งแล้วรู้ได้ทันทีเลยว่าตัวเสืออยู่จุดไหน เพราะคอลล่าร์ที่ใช้จะส่งพิกัดผ่านดาวเทียม เราเพียงแค่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เนตแล้วเปิดโปรแกรมเท่านั้น” ผู้ช่วยฯเกริกเสริมข้อมูลให้เราทราบถึงความก้าวหน้าของการใช้ระบบ GPS กับการศึกษาด้านสัตว์ป่าที่ก้าวหน้าไปไกลกว่าแต่ก่อนมาก ประหยัดทั้งเวลาและกำลังคน ถึงแม้ว่าจะมีค่าใช้จ่ายมากขึ้นก็ตามแต่ข้อมูลที่เราได้นั้นมีค่าต่อการใช้เพื่อการจัดการและการอนุรักษ์อย่างเทียบไม่ได้

“เสือแต่ละตัวมีอาณาเขตหากินไม่เท่ากันและมีความหวงถิ่นเป็นอย่างมาก พื้นที่หากินของเสือตัวผู้นั้นแทบจะไม่ซ้อนทับกันและมีการทำหมายอาณาเขตพร้อมตรวจสอบอยู่เสมอ แต่เสือเพศเมียสามารถมีอาณาเขตซ้อนทับกับเสือเพศผู้ได้ เสือตัวผู้จะมีอาณาเขตการหากินมากกว่าเสือเพศเมีย ขนาดพื้นที่หากินก็เป็นผลสะท้อนจากปริมาณและคุณภาพของเหยื่่ออีกทอดหนึ่ง ซึ่งถ้าเรามาสารถเพิ่มปริมาณและคุณภาพของเหยื่อได้ ก็เป็นเรื่องที่ดีต่อการเพิ่มประชากรเสือในพื้นที่ด้วย” เรื่องราวและข้อมูลบางส่วนที่ได้จากการศึกษาวิจัยถูกถ่ายทอดสู่เหล่าน้องๆ เด็กฝึกงาน

เรื่องราวของเสือและองค์ความรู้จากการศึกษาวิจัยเสือยังคงถ่ายเทสู่น้องๆ นิสิตที่มาฝึกงานโดยผู้ช่วยฯ เกริกอย่างต่อเนื่อง ด้วยงานวิจัยที่ดำเนินมาอย่างยาวนานมีเนื้อหาและรายละเอียดเกินกว่าที่จะลงให้ถึงได้หมดทุกเม็ดหน่วย แต่ตัวผมก็หวังว่าเรื่องราวเหล่านั้นจะมีส่วนช่วยกระตุ้นไฟในใจของเหล่าน้องๆ ที่วันหนึ่งวันใดอาจจะกลายมาเป็นนักวิจัยเสือเลือดใหม่ในอนาคต

งานวิจัยเสือที่มีมานานกว่าสิบปีเป็นงานวิจัยพื้นฐานที่ให้ข้อมูลเรามากมายมหาศาลเกี่ยวกับเรื่องราวชีวิตของมันในป่าแห่งนี้ ประโยชน์ที่ได้มีทั้งทางด้านวิชาการ การจัดการ การอนุรักษ์ทั้งทางด้านการวางมาตรการ เช่น การวางแผนเพื่อการเพิ่มปริมาณเหยื่อ การจัดการพื้นที่ที่ต้องมีการป้องกันเป็นพิเศษ และการนำข้อมูลความรู้ที่มีไปประยุกต์ อย่างเช่นในกรณีการตรวจสอบระบุตัวเสือที่ถูกลักลอบล่าเมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้จะไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลยถ้าการศึกษานั้นไม่ลงลึก ไม่มีความทุ่มเทหรือใช้ระยะเวลาดำเนินการศึกษาเพียงสั้นๆ ผมหวนนึกสถานการณ์ครั้งหนึ่ง สถานการณ์ที่เกี่ยวกับการวิจัย สถานการณ์ที่เกี่ยวกับการศึกษาของประเทศที่เราอาศัยอยู่และเรียกว่าบ้าน

การละเลยและการถูกละเลยในงานวิจัยพื้นฐานที่ควรจะลงมือทำโดยการให้เหตุผลว่า สุดท้ายงานที่ได้จะกลายเป็นงานวิจัยขึ้นหิ้ง ซึ่งในความหมายของคนกลุ่มหนึ่งก็คือคืองานวิจัยที่เสียเปล่าไร้สาระและไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ เพราะลุ่มหลงไปกับการเร่งงานวิจัยประยุกต์ ที่สามารถใช้งานได้ทันทีไม่ว่าจะเน้นการสร้างรายผลกำไร หรือแม้เป็นเพียงแค่การเกาะกระแสก็ยินดี โดยหลงลืมไปว่าการที่เราจะประยุกต์ การใช้งาน หรือการสร้างอะไรเสียอย่างหนึ่ง ถ้ามีรากฐานที่อ่อนด้อยยวบยาบ ไม่มีความแข็งแรงมั่นคง สุดท้ายแล้วทุกอย่างก็จะพังทลาย

ยังคงมีงานวิจัยพื้นฐานที่สำคัญมากมายอันแทบจะไม่มีเงินทุนหรือคนสนใจ ด้วยเนื่องจากหลายๆ คนไม่เห็นคุณค่าของงานเหล่านี้ รุ่นพี่ที่ผมเคารพมากท่านหนึ่งเคยบอกว่า งานวิจัยขึ้นหิ้งอย่างน้อยมันก็ไม่ทำให้หิ้งที่เรามีนั้นว่างเปล่า การที่มีแล้วมันดีกว่าที่ไม่มีอะไรเลย และเมื่อไรเราต้องการที่จะนำเอางานเหล่านั้นมาใช้งาน มันก็จะมีข้อมูลอยู่ตรงนั้นเสมอไม่ต้องไปเริ่มนับหนึ่งใหม่ เพราะมันอาจจะไม่ทันการณ์

ผมคิดว่าอนาคตนั้นไม่มีใครรู้หรอกว่าอะไรจะเกิดขึ้น งานบนหิ้งเหล่านั้นซักวันหนึ่งมันจะกลายเป็นงานที่มีความสำคัญจำเป็นกับเราอย่างยิ่งยวด แต่ก็นั่นแหละ เมื่อถึงเวลาเรามองไปที่หิ้งอันว่างเปล่า มัน "อาจจะไม่ทันการณ์" อย่างที่รุ่นพี่ท่านนั้นว่าไว้ หรือไม่มีคำว่า "อาจจะ” ไปเสียแล้ว

ได้แต่หวังลึกๆ ในใจให้ผมคิดผิด

เกี่ยวกับผู้เขียน

จองื้อที

แต่เดิมเป็นเด็กต่างจังหวัดจากภาคตะวันออก มุ่งมั่นเข้ามาศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีที่คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ด้วยความสนใจส่วนตัวและถูกชักชวน จึงเลือกเข้าศึกษาในภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ สาขาวิทยาศาสตร์สัตว์ป่าและทุ่งหญ้า ซึ่งระหว่างนั้นก็ได้มีโอกาสช่วยเก็บข้อมูลงานวิจัยสัตว์ป่าในหลายพื้นที่ หลังจากสำเร็จการศึกษาได้รับคำแนะนำให้ไปศึกษาต่อยังสถาบันอื่น จึงได้เข้ามาศึกษาต่อ ณ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในระดับปริญญาโทต่อมาถึงในระดับปริญญาเอก และยังคงมีสถานภาพเป็นนิสิตอยู่ในปัจจุบันขณะ

"เราพยายามเรียนรู้สิ่งต่างๆมากมาย เพื่อที่สุดท้ายแล้วเราจะได้รู้ว่า แท้จริงแล้งเราไม่ได้รู้อะไรเลย"

พบกับบทความ “จองื้อที” ได้ทุกวันที่ 1 และ 16 ของเดือน










กำลังโหลดความคิดเห็น