xs
xsm
sm
md
lg

13 พ.ย.นี้มีขยะอวกาศร่วงจากฟ้า แต่ สดร.เผยไม่มีอันตราย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพถ่ายของ WT1190F
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์เผย 13 พ.ย.นี้ ขยะอวกาศ WT1190F จะเคลื่อนที่เข้ามาในบรรยากาศโลก เวลาประมาณ 13:19 น. ตามเวลาประเทศไทย ตกบริเวณมหาสมุทรอินเดีย ไม่มีอันตรายและผลกระทบต่อโลก

ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) เปิดเผยว่าในวันที่ 13 พ.ย.58 จะมีวัตถุ WT1190F เคลื่อนที่เข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลกในเวลาประมาณ 13:19 น. ตามเวลาประเทศไทย ตกบริเวณมหาสมุทรอินเดีย ห่างจากชายฝั่งทางทิศใต้ของประเทศศรีลังกา ประมาณ 100 กิโลเมตร ผู้คนในบริเวณใกล้เคียงจะเห็นชิ้นส่วนขยะอวกาศเป็นเพียงแสงวาบในตอนกลางวันเท่านั้น

สำหรับวัตถุ WT1190F ถูกค้นพบโดยหอดูดาวคาทาลินาสกายเซอร์เวย์ สหรัฐฯ ปี 2556 โดยในระยะแรกที่วัตถุนี้ถูกค้นพบยังไม่สามารถระบุประเภทได้ จนกระทั่งศูนย์ประสานงานการติดตามวัตถุใกล้โลก (Near Earth Objects Coordination Centre: NEOCC) หน่วยงานภายใต้องค์การอวกาศยุโรป (ESA) ได้เฝ้าติดตามอย่างต่อเนื่อง

ศูนย์ประสานงานการติดตามวัตถุใกล้โลกยืนยันว่าวัตถุดังกล่าวเป็นชิ้นส่วนของจรวดที่ดีดตัวออกมาในขณะที่ส่งยานขึ้นสู่อวกาศและโคจรอยู่เหนือชั้นบรรยากาศโลกด้วยวงโคจรที่รีมาก มีความหนาแน่นน้อยมาก และมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเพียงไม่กี่เมตร และอาจลุกไหม้หมดขณะที่เคลื่อนที่เข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลก

ดร.ศรัณย์กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงสองเดือนที่ผ่านมาเกิดปรากฏการณ์ลูกไฟตกจากฟ้าในเมืองไทยถึงสองครั้ง นับเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้ยาก แต่ก็ไม่ใช่เรื่องผิดปกติแต่อย่างใด เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่สามารถอธิบายได้โดยวิทยาศาสตร์ เนื่องจากในอวกาศมีเศษวัตถุหลายประเภทโคจรอยู่เป็นจำนวนนับล้านชิ้นจึงมีโอกาสที่เข้ามาในบรรยากาศโลกอยู่เสมอ แต่อาจตกในบริเวณมหาสมุทร ภูเขา ป่าทึบ หรือในที่ไม่มีผู้คนอาศัยอยู่ จึงไม่เกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้คนบนโลก

“สำหรับกรณี WT1190F วันที่ 13 พ.ย.นี้ เราอาจเห็นเพียงแสงวาบในตอนกลางวันเท่านั้น ไม่มีอันตรายหรือผลกระทบใดๆ ต่อโลก” ดร.ศรัณย์กล่าว







"หนอนผีเสื้อถุงทอง" สิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่แสดงออกถึงความหลากหลายทางชีวภาพในป่าเขาเขียว จ.ชลบุรี ได้เป็นอย่างดี ร่วมติดตามเรื่องราวด้านสิ่งแวดล้อมและดำดิ่งไปในโลกวิทยาศาสตร์กับเราได้ที่ www.manager.co.th/science #larva #butterfly #insects #lepidoptera #entomology #biology #science #sciencenews #managerscience #astvscience #natural #thailand #biodiversity

รูปภาพที่โพสต์โดย AstvScience (@astvscience) เมื่อ



กำลังโหลดความคิดเห็น