กระทรวงวิทย์เปิดทางนักวิจัยภาคใต้ โชว์นวัตกรรมยางพารา ปาล์มน้ำมัน และนานาอุตสาหกรรมท้องถิ่นพัฒนาด้วยวิทย์เพื่อเศรษฐกิจภูมิภาคเข้มแข็ง ชูจอกยางพารานาโน แก้ปัญหาขี้ยางติดถ้วย พ่วงเครื่องผลิตกุ้งกุลาดำโครโมโซม 3n เป็นสุดยอดนวัตกรรม
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดงาน "มหกรรมนวัตกรรมไทยภาคใต้ 2558" ระหว่างวันที่ 30-31 ต.ค. 58 ณ ห้องหาดใหญ่ฮอล์ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเฟสติวัล อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา
มหกรรมนวัตกรรมไทยภาคใต้ เป็นการจัดแสดงผลงานวิจัยและนวัตกรรมพร้อมใช้จากสถาบันการศึกษาหลักในพื้นที่ภาคใต้และหน่วยงานของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ได้รับการพัฒนายกระดับด้วยองค์ความรู้วิทยาศาสตร์และกลไกนวัตกรรมของอุทยานวิทยาศาสตร์ ภายใต้แนวคิด "การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อสร้างขีดความสามารถอุตสาหกรรมหลักในพื้นที่ภาคใต้" โดยเฉพาะอุตสาหกรรมหลักอย่างยางพารา, ปาล์มน้ำมัน, สมุนไพร และอาหารทะเล
ภายในงานถูกจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่บนชั้น 5 ของห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเฟสติวัลหาดใหญ่ บู้ทนิทรรศการกว่า 50 บู้ท ถูกตั้งเรียงรายไว้ใกล้กัน พร้อมด้วยตัวอย่างนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ที่นักวิจัยทุ่มทุนขนกันมา ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 โซน ได้แก่ โซน A นิทรรศการนวัตกรรมด้านอุตสาหกรรมยางพารา ที่เป็นการรวบรวมนวัตกรรมและงานวิจัยเกี่ยวกับยางพาราตั้งแต่การพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์น้ำยาง การปรับปรุงเทคนิคผลิตยางไปจนถึงการลดการสูญเสียเนื้อไม้ยาง ซึ่งถือเป็นไฮไลท์หลักของมหกรรมนี้สำหรับนวัตกรรมที่น่าสนใจมีอยู่ด้วยกันหลายชิ้น อาทิ เครื่องเลื่อยไม้ยางพาราแบบใหม่เพื่อลดการสูญเสียผลงานวิจัยจากอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ที่ถูกพัฒนาขึ้นให้เหมาะกับไม้ขนาด 5-8 นิ้วที่ใช้สำหรับทำเฟอร์นิเจอร์เพื่อแก้ปัญหาเครื่องมือแบบเดิมมักทำให้เสียเนื้อไม้มากกว่าที่ควร, จอกยางนาโนป้องกันการเกาะติดของน้ำยางพาราผลงานจาก บ.วอนนาเทค จำกัด นวัตกรรมที่ผลิตขึ้นเพื่อเคลือบจอก หรือถ้วยรองรับน้ำยางให้มีความลื่นไม่เหนียวติดเหมือนทฤษฎีน้ำบนใบบัว ตอบโจทย์ปัญหาชาวสวนยางที่มักสูญเสียเงินส่วนที่ควรได้ไปกับน้ำยางที่แห้งและแข็งตัวเป็นขี้ยางในกระบวนการเก็บเกี่ยวซึ่งขายได้ราคาต่ำ รวมถึงแผ่นหนุนสะโพกจากยางพาราสำหรับป้องกันการกดทับและกระแทกจากภายนอกสำหรับผู้สูงอายุในกลุ่มเสี่ยงสะโพกหัก ผลงานวิจัยจากอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
แต่นอกจากนวัตกรรมยางพารา ผลงานเด่นที่น่าสนใจอื่นๆ เช่น อุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน, อาหารทะเลและฮาลาล, อุปกรณ์การแพทย์, สมุนไพร, ดิจิทัลคอนเทนต์, วิศวกรรม, ฟิสิกส์และวัสดุศาสตร์ ยังถูกจัดไว้ในโซน B ที่เป็นส่วนของผลงานวิจัยและนวัตกรรมพร้อมถ่ายทอดสู่เชิงพาณิชย์จากกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยต่างๆในภูมิภาค อีกหลายผลงาน เช่น อุปกรณ์วัดน้ำมันในผลปาล์มด้วยการถ่ายภาพ ที่อาศัยเทคโนโลยีอินฟราเรดในการ่านค่าผลึกน้ำในเมล็ดปาล์ม, สเปรย์รักษาผิวหนังอักเสบจากใบพลู ที่มีสารสำคัญไฮดรอกซีชาวิคอล (Hydroxychavicol) ช่วยลดการอักเสบ ผลงานวิจัยจากอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ส่วนโซน C เป็นโซนนจับคู่ธุรกิจ ที่เป็นการเปิดโอกาสให้เจ้าของนวัตกรรมได้นำเสนอผลงานและเจรจาธุรกิจกับผู้ประกอบการที่สนใจ
ด้าน รศ.ดร.วีระพงศ์ แพสุวรรณ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า นวัตกรรมที่นำมาจัดแสดงในงานนี้ล้วนแต่เป็นนวัตกรรมที่ประสบความสำเร็จและถูกนำมาสานต่อในเชิงพาณิชย์ โดยสำหรับภาคใต้จะเน้นหนักไปที่อุตสาหกรรมยางพาราและปาล์มน้ำมัน ที่ถือเป็นอุตสาหกรรมหลักของภูมิภาค โดยนวัตกรรมส่วนใหญ่ได้รับการสนับสนุนผ่านอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ ที่เป็นความร่วมมือกันระหว่าง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
"มันเป็นการแสดงออกให้เห็นว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีซึ่งคนส่วนมากเห็นเป็นเรื่องไกลตัวสามารถเข้ามาช่วยชาวบ้านได้จริงๆ เพราะมันช่วยให้น้ำยางของพวกเขามีราคาเพิ่มขึ้นอีกเป็นร้อยเท่าได้จากเดิมที่มีมูลค่าไม่เท่าไหร่ สำหรับผมหลังจากได้เดินชมก็มีนวัตกรรมที่ชอบหลายชิ้น แต่ที่ชอบที่สุดเห็นจะเป็นถุงทวารเทียมยางพารา, การเลี้ยงกุ้งกุลาดำโครโมโซม 3n และอาหารปู แต่เรื่องจอกยางพารานาโนก็ดี เพราะนายกรัฐมนตรีชื่นชอบหลังจากเคยนำไปจัดแสดงในงานนวัตกรรมที่คลองผดุงกรุงเกษม จึงอยากเชิญชวนให้ผู้สนใจ ผู้ประกอบการที่มีไอเดียใหม่ๆ มาเยี่ยมชมที่มหกรรมนี้ เผื่อจะเป็นไอเดียสำหรับการพัฒนาต่อยอดนวัตกรรม เพราะนอกจากจะมีนวัตกรรมและงานวิจัยดีๆ แล้ว เรายังมีนักวิจัยและบุคคลากรที่มีความรู้ความสามารถที่คอยรับฟังปัญหาและให้คำปรึกษานวัตกรรมในงานนี้ด้วย
ทั้งนี้การจัดงานมหกรรมนวัตกรรมไทยภาคใต้เป็นส่วนหนึ่งของงานมหกรรมนวัตกรรมไทย 3 ภูมิภาค ซึ่งจัดไปแล้ว 2 ภาค คือ ภาคเหนือ ที่ จ.เชียงใหม่, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.นครราชสีมา และมหกรรมนวัตกรรมไทยภาคใต้ ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเฟสติวัลหาดใหญ่ จ.สงขลา เป็นที่สุดท้าย โดยกิจกรรมจะมีไปจนถึงวันที่ 31 ต.ค.58