คงปฏิเสธไม่ได้ว่า "ตัวอย่าง" เป็นตัวแปรต้นที่สำคัญที่สุดสำหรับการทดลอง โดยเฉพาะในวงการวิจัยที่ทำการวิเคราะห์เจาะลึกถึงกลไกของสิ่งมีชีวิต ร่วมติดตามเพื่อรู้จักการค้นหาตัวอย่างในป่าลึกของเหล่านักราวิทยา ผู้ตามหา "ราแมลง" เพื่องานด้านอนุกรมวิธานและการศึกษากลไกระดับจีโนมเพื่อพัฒนาเป็นยาฆ่าแมลงแบบชีววิธีในอนาคตได้
สุชาดา มงคลสัมฤทธิ์ นักวิจัยห้องปฏิบัติการปฏิสัมพันธ์ของจุลินทรีย์ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า "ราแมลง" คือ เชื้อราที่อาศัยตัวแมลงเป็นเจ้าบ้าน โดยจะเข้าไปแทรกแซงจนแมลงมีพฤติกรรมบางอย่างเปลี่ยนไป และเมื่อแมลงอ่อนแอหรือตายลงมันจะแทงยอดสปอร์ออกตามช่องรูเปิดของตัวแมลงเพื่อขยายพันธุ์ โดยจะพบได้ตามพื้นที่ชื้นแฉะในป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์
ภารกิจที่สำคัญอีกอย่างของนักราวิทยา จึงเป็นการออกสำรวจเพื่อหาตัวอย่างใหม่ๆ สำหรับการศึกษาวิจัย ซึ่งสุชาดาเผยว่าจะออกเก็บตัวอย่างตามอุทยานแห่งชาติที่กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ "ผ่านการสังเกตด้วยตาและเก็บตัวอย่างด้วยมือ" เพราะราแมลงเป็นสิ่งที่ค่อนข้างละเอียดอ่อน โดยจะเลือกเก็บตัวอย่างในช่วงหน้าฝนหรือช่วงที่มีความชื้นในอากาศสูง เพราะราแมลงจะเจริญได้ดีเติบโตในสภาวะดังกล่าวได้ดีที่สุด
ก่อนที่จะออกสำรวจราแมลงในป่านั้น นักวิจัยจะต้องมีการเตรียมตัวเองให้พร้อมสำหรับการใช้ชีวิตในป่าเป็นเวลากว่าครึ่งค่อนวัน หรือนานนับสัปดาห์ให้พร้อมเสียก่อน เริ่มจากการแต่งกายที่ต้องมิดชิดรัดกุม สำหรับเสื้อต้องเป็นเสื้อแขนยาว เช่นเดียวกับกางเกงเพราะจะช่วยป้องกันผิวหนังจากการขีดข่วนของกิ่งไม้, หนาม, แสงแดด หรือแมลงที่อาจเข้ามากัดต่อย รวมถึงหมวกที่ช่วยป้องกันศรีษะและใบหน้าจากแสงแดดที่อาจนำมาใช้เป็นพัดช่วยคลายร้อนได้ นอกจากนี้รองเท้า ถุงกันทากและเสปรย์กันทากก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะนักสำรวจจำเป็นต้องทางไกลในป่าดงดิบซึ่งมีทากดูดเลือดอยู่ชุกชุม
แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้งานสำรวจราแมลงประสบความสำเร็จ สุชาดา เผยว่าอยู่ที่สายตาที่ว่องไวและประสบการณ์ที่แข็งแกร่ง เพราะราแมลงมีขนาดเล็กและสังเกตยากมากเมื่ออยู่ตามผืนป่าในธรรมชาติ ดังนั้นขั้นตอนแรกสำหรับการสำรวจของนักวิจัยรุ่นใหม่จึงต้องเริ่มต้นจากการนั่งยองๆ แล้วสอดส่ายสายตาไปตามพื้นดิน ตามโคนต้นไม้และด้านล่างของใบไม้ซึ่งเป็นบริเวณพื้นฐานที่มักพบราแมลง หรือค่อยๆ คุ้ยเขี่ยไปตามผิวดินโดยใช้ช้อนสแตนเลสแข็งที่เป็นชุดอุปกรณ์สำหรับเก็บตัวอย่าง
"เทคนิคง่ายๆ สำหรับการดูราแมลง คือ การสังเกตสี โดยราแมลงส่วนมากแม้จะมีขนาดเล็กแต่จะมีสีที่โดดเด่นทั้งสีขาว สีน้ำตาล สีส้มหรือสีเหลือง บ้างก็เป็นก้านชูขึ้นมาเหมือนดอกไม้ บ้างก็เป็นปุ่มกลมๆ ปุยๆ เหมือนสำลี หรือบางทีก็เหมือนกิ่งไม้ ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับผู้ไม่มีประสบการณ์ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากเกินไป เพราะถ้าเจอตัวหนึ่งก็จะเริ่มพบเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะสายตาเริ่มปรับโฟกัสได้ แต่ก็ไม่ใช่ว่าหามานานแล้วจะพลาดไม่ได้ เพราะขนาดทำวิจัยมาหลายสิบปีแล้วก็ยังมีพลาดเหมือนกัน"
เมื่อพบส่วนใดส่วนหนึ่งของราแมลง สุชาดาเผยว่าขั้นตอนต่อไปที่ต้องทำคือการหาตัวแมลงที่ราขึ้น เพราะถ้าหากเก็บได้แต่ชิ้นส่วนราก็เท่ากับว่าตัวอย่างชิ้นนั้นไม่มีประโยชน์ เพราะการนำไปศึกษาจะต้องใช้ตัวอย่างทั้งราและแมลงควบคู่กัน โดยเมื่อนักวิจัยพบราแมลงแบบทั้งตัวสมบูรณ์จะเก็บตัวอย่างในกล่องพลาสติกแข็งใส ตัวอย่างละ 1 กล่อง ไม่เก็บปะปนกัน และถ้าตัวอย่างราแมลงนั้นอยู่บนใบไม้ก็จะเก็บใบไม้กลับมาด้วยเพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการบันทึกเมื่อออกจากป่า
จากนั้นจึงเข้าสู่ขั้นตอนการระบุชนิด (identification) ด้วยการนำข้อมูลทางสัณฐานวิทยาของราแมลงมาเทียบกับตัวอย่างในหนังสือ Atlas of Funji, หนังสือราก่อโรคในแมลงของประเทศไทย และแอปพลิเคชันราแมลง หรือ Thai-Funji ที่ สวทช.พัฒนาขึ้น ซึ่งภายในจะระบุข้อมูลของราแมลงทั้งหมดที่พบในประเทศไทยทั้งรูปภาพและตัวอักษรพร้อมด้วยข้อมูลข่าวสารใหม่ๆ เกี่ยวกับราแมลง
ถ้าเทียบกับแหล่งอ้างอิงข้างต้นแล้วไม่สามารถระบุสปีชีส์ได้ แต่ระบุได้แค่ชื่อสกุล นักวิจัยจะนำตัวอย่างราแมลงนั้นไปศึกษาต่อเชิงลึก ด้วยการวัดขนาดทั้งหมด, ขนาดของก้านชูสปอร์, รูปร่างของสปอร์, สี รวมไปถึงการศึกษาถึงระดับจีโนมเพื่อวิเคราะห์ว่าราแมลงที่พบเป็นชนิดใหม่ของโลกหรือไม่ และถ้าเป็นชนิดใหม่ของโลกจริงจะต้องทำการตั้งชื่อวิทยาศาสตร์และตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติเพื่อให้นักราวิทยาทั่วโลกรับรู้
ทั้งนี้ สุชาดา เผยว่า คุณค่าหลักของการสำรวจราแมลงไม่ได้อยู่ที่ประโยชน์ทางงานอนุกรมวิธานจากการตีพิมพ์ราแมลงชนิดใหม่เท่านั้น เพราะในปัจจุบันนักวิจัยพบว่า ราแมลงบางชนิด เช่น บูวาเรีย บาสเซียนา (Beauveria bassiana) มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นสารฆ่าแมลงได้ เพราะเป็นราที่สร้างสปอร์ได้เป็นจำนวนมาก, โตเร็ว, ทนทานต่อแสงยูวี และสามารถเข้าทำลายแมลงได้หลากหลายชนิด โดยเฉพาะแมลงศัตรูพืชเศรษฐกิจอาทิ เพลี้ยกระโดด, หนอนกระทู้ และยังสามารถนำมาต่อยอดเพื่อพัฒนาเป็นอาหารยอดคุณค่าอย่างถั่งเฉ่า หรือผลิตภัณฑ์ที่ได้จากราแมลงชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นที่นิยมในสังคมผู้รักสุขภาพและมีราคาค่อนข้างสูง