xs
xsm
sm
md
lg

ชวนประกวดนวัตกรรมเพื่อคนตาบอดลุ้นต่อยอดเชิงพาณิชย์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

(จากซ้ายไปขวา) รศ.ดร.สัญญา มิตรเอม, รศ.ดร.ภูดิส ลักษณะเจริญ, คุณหญิงอุไรวรรณ ศิรินุพงศ์, น.ส.ศิริรัตน์ เอี่ยวผดุง และนายรักศักดิ์ ชัยรัญจวนสกุล
สมาคมหุ่นยนต์ฯ-มจพ.-มูลนิธิช่วยคนตาบอด-ซีเกท ผนึกกำลังจัดการแข่งขันนวัตกรรมเพื่อคนพิการครั้งที่ 2 ประจำปี 58 ภายใต้หัวข้อ "นวัตกรรมเพื่อผู้พิการทางสายตา" ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพฯ พร้อมเงินรางวัลกว่า 3 แสนบาท เฟ้นหาสุดยอดไอเดียเพื่อผู้พิการทางสายตาลุ้นต่อยอดเชิงพาณิชย์ พร้อมสิทธิ์แข่งขันต่อเวทีนานาชาติ i-CREATEd สมัครได้ตั้งแต่วันนี้ถึง 29 ก.พ. 59

สมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.), มูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ และบริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด จัดการประกวด "นวัตกรรมเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการครั้งที่ 2" ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ณ ห้องเกียรติยศ อาคารเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา บรมราชินีนาถ มูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ถ.ราชวิถี กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 20 ต.ค.58

น.ส.ศิริรัตน์ เอี่ยวผดุง รองประธานฝ่ายปฏิบัติการโรงงานเทพารักษ์ บ.ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า จากที่ผ่านมาที่ซีเกทฯ ได้สนับสนุนการการพัฒนาศักยภาพของเยาวชนไทยในระดับอุดมศึกษาผ่านการแข่งขันหุ่นยนต์หลายรายการ เช่น หุ่นยนต์เตะฟุตบอล หุ่นยนต์กู้ภัย ทำให้เห็นความสามารถของเด็กไทยที่ไม่แพ้ชาติใดในโลก

เพื่อคืนประโยชน์สู่สังคม ซีเกทจึงมีแนวคิดที่ส่งเสริมให้เกิดการประดิษฐ์หุ่นยนต์สำหรับผู้พิการขึ้น จึงร่วมมือกับสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ประเทศไทยจัดประกวดนวัตกรรมเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการขึ้นเป็นครั้งแรกใน ปี '57 ที่ผ่านมาในหัวข้อ "นวัตกรรมสำหรับผู้พิการอัมพาตครึ่งซีก" ซึ่งได้รับการตอบรับและประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ในปีนี้จึงได้จัดการประกวดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 โดยเน้นไปที่นวัตกรรมเพื่อผู้พิการทางสายตา โดยได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) และมูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์เพิ่มเติม

รศ.ดร.สัญญา มิตรเอม นายกสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า การแข่งขันในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อสังคมคนพิการเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะผู้พิการทางสายตา เพราะในปัจจุบันประเทศไทยยังมีสิ่งอำนวยความสะดวก หรือสิ่งก่อสร้างที่เอื้อต่อการดำเนินชีวิตด้วยตัวเองของคนตาบอดในสังคมน้อยมาก ทำให้ผู้พิการทางสายตาส่วนใหญ่ไม่กล้าออกจากบ้านหรือใช้ชีวิตอย่างอิสระ ซึ่งการร่วมมือระหว่างอาจารย์และนักศึกษาผู้มีความเชี่ยวชาญและสนใจในหุ่นยนต์ครั้งนี้ น่าจะเป็นฟันเฟืองสำคัญที่ผลักดันให้เกิดนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีต้นแบบสำหรับผู้พิการทางสายตาขึ้นในสังคมไทย

ด้าน นายรักศักดิ์ ชัยรัญจวนสกุล ผู้อำนวยการโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพฯ ตัวแทนผู้พิการทางสายตา เผยแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า ปัญหาสำคัญของสิ่งอำนวยความสะดวกและเทคโนโลยีเพื่อผู้พิการทางสายตาในปัจจุบัน นอกจากจะมีไม่เพียงพอแล้ว ยังเข้าถึงยากด้วย เพราะเทคโนโลยีส่วนใหญ่มาจากต่างประเทศซึ่งผู้พิการที่เข้าถึงได้จะต้องมีทั้งทักษะภาษาและกำลังเงิน

"ในฐานะตัวแทนของผู้พิการทางสายตา ผมรู้สึกตื่นเต้นและยินดีที่ได้ทราบว่าจะมีโครงการแบบนี้เกิดขึ้น เพราะปัจจุบันในประเทศไทยมีคนตาบอดที่ลงทะเบียนการเป็นผู้พิการกับกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตมากถึง 189,407 คน ในขณะที่นวัตกรรมเพื่อคนพิการจากฝีมือคนไทยยังมีไม่มากนัก ผมขอเป็นกำลังใจให้กับนักประดิษฐ์ทุกคน และคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีนวัตกรรมที่ถูกต่อยอดไปสู่เชิงพาณิชย์เพื่อให้ผู้พิการทางสายตาได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น" ผู้อำนวยการโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพฯ กล่าว

สำหรับรายละเอียดการแข่งขัน รศ.ดร.ภูดิส ลักษณะเจริญ ประธานจัดการแข่งขัน และตัวแทนจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) เผยว่า ผู้เข้าร่วมการแข่งขันจะต้องเป็นนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายเป็นต้นไป หรือจะเป็นนิสิต นักศึกษาที่กำลังศึกษาในระดับอาชีวศึกษา อุดมศึกษาหรือบัณฑิตศึกษาก็ได้ โดยต้องอยู่ในสถาบันเดียวกันเท่านั้น โดยจะรับสมัครผู้เข้าร่วมโครงการทีมละ 3 คนพร้อมอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการ 1 คน ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 29 ก.พ. 59

โดยมีโจทย์การออกแบบใน 4 ลักษณะดังนี้

1.นวัตกรรมระบุสีสำหรับชีวิตประจำวัน เช่น การเลือกสีเสื้อผ้าสำหรับสวมใส่

2.นวัตกรรมระบุตำแหน่งสิ่งของและแจ้งเตือนการสูญหาย เช่น นวัตกรรมเตือนเมื่อมีสิ่งของหล่นจากกระเป๋า

3.นวัตกรรมการแจ้งเตือนสิ่งกีดขวางในระดับสูงกว่าพื้น

4.นวัตกรรมอำนวยความสะดวกในการเดินทาง เช่น นวัตกรรมระบุหมายเลข ประเภท และเส้นทางของรถโดยสารประจำทาง

การแข่งขันรอบคัดเลือกจะเริ่มขึ้นในวันที่ 20 มี.ค.59 และแข่งขันรอบชิงชนะเลิศในวันที่ 21 มี.ค.59 โดยทีมที่ชนะเลิศอันดับ 1 จะได้รับรางวัลเป็นเงินสดมูลค่า 150,000 บาทพร้อมถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และได้รับสิทธิ์เป็นตัวแทนเยาวชนไทยเข้าร่วมการแข่งขันในระดับนานาชาติ International Convention on Rehabilitation Engineering and Assistive Technology (i-CREATe) ในปี '59 นี้ด้วย

ทั้งนี้ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนและสมัครเข้าร่วมการแข่งขันทางออนไลน์ได้ที่ www.tiatch.com โดยสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เฟซบุ๊ก : tiatch.com
ผู้จัดงานทุกฝ่ายร่วมพูดคุยถึงแนวคิดการจัดงานและความสำคัญของเทคโนโลยีเพื่อผู้พิการ
ตัวแทน บ.ซีเกท (ประเทศไทย) มอบเงิน 100,000 บาทแก่โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพฯ เพื่อสนับสนุนโครงการ









กำลังโหลดความคิดเห็น