xs
xsm
sm
md
lg

ส่งภาพสวยชิมลางก่อนชมดาวเคราะห์ชุมนุม 17-19 ต.ค.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดาวศุกร์ ดาวอังคาร ดาวพฤหัสบดี และดาวตก ในช่วงเช้ามืดของวันที่ 15 ตุลาคม 2558 ภาพ : มติพล  ตั้งมติธรรม สถานที่ : Torch Lake, มลรัฐมิชิแกน สหรัฐอเมริกา
สดร.เผยภาพดาวศุกร์ ดาวอังคารและดาวพฤหัสบดีจากไทยและสหรัฐอเมริกา ก่อนชมดาวเคราะห์ชุมนุม 17-19 ตุลาคมนี้ ที่ดาวอังคารจะเคียงชิดดาวพฤหัสบดี ห่างเพียงปลายนิ้วก้อย ช่วงเช้ามืดประมาณ 04.30 น. จนถึงดวงอาทิตย์ขึ้น ทางทิศตะวันออก ยังมีดาวศุกร์และดาวพุธปรากฏให้เห็นในตำแหน่งใกล้เคียงกันอีกด้วย หากฟ้าใสเห็นชัดด้วยตาเปล่าทั่วไทย เป็นการชุมนุมของดาวเคราะห์หลายดวงบนท้องฟ้ายามใกล้รุ่งที่ไม่ควรพลาด

นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สดร. กล่าวว่า ในช่วงวันที่ 17-19 ต.ค.58 ตั้งแต่เวลา 04.30 น. โดยประมาณ จนถึงดวงอาทิตย์ขึ้น เราจะสังเกตเห็นดาวอังคารอยู่ใกล้กับดาวพฤหัสบดี ทางทิศตะวันออก ที่ระยะห่างปรากฏเชิงมุมเพียง 0.6 0.4 และ 0.5 องศา ตามลำดับการที่ดาวอังคารและดาวพฤหัสบดีอยู่เคียงชิดกันบนท้องฟ้าในลักษณะนี้ ทางดาราศาสตร์จะเรียกว่า“ปรากฏการณ์ดาวเคราะห์ชุมนุม” หมายถึง ดาวเคราะห์ตั้งแต่ 2 ดวงขึ้นไปปรากฏใกล้กันบนท้องฟ้าที่ระยะห่างเชิงมุม 1-5 องศา โดย 1 นิ้วก้อยของเราเมื่อเหยียดสุดแขนจะมีระยะเชิงมุมประมาณ 1 องศา

สำหรับไฮไลท์คือเช้ามืดของวันที่ 18 ตุลาคม เป็นช่วงที่ดาวอังคารเคลื่อนที่มาใกล้ดาวพฤหัสบดีมากที่สุด เพียง 0.4 องศาเท่านั้น และหากผู้สังเกตใช้กล้องโทรทรรศน์กำลังขยายไม่เกิน 100 เท่า ก็จะสามารถสังเกตเห็นดาวอังคารและดาวพฤหัสบดีอยู่ในช่องมองภาพเดียวกันได้ สำหรับผู้ที่มีกล้องถ่ายภาพพร้อมกับขาตั้งกล้องที่มั่นคง ก็สามารถถ่ายภาพปรากฏการณ์มุมกว้างได้ด้วยกล้องและเลนส์ปกติได้เช่นกัน
ดาวศุกร์ ดาวอังคาร ดาวพฤหัสบดี ในช่วงเช้ามืดของวันที่ 15 ตุลาคม 2558 ภาพ : ศุภฤกษ์  คฤหานนท์ สถานที่ : อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่
จำลองปรากฏการณ์ดาวเคราะห์ชุมนุมในช่วงวันที่ 17-19 ตุลาคม 2558
กำลังโหลดความคิดเห็น