xs
xsm
sm
md
lg

นักดาราศาสตร์ยก The Martian หนังวิทย์สมบูรณ์แบบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

กิจกรรมเสวนาและชมภาพยนตร์เดอะมาเชี่ยนได้รับความสนใจจากนักเรียนและประชาชนสมาชิกแฟนเพจ สดร.เข้าร่วมกิจกรรม
ได้รับเสียงชื่นชมจากคอหนังไซไฟอย่างอื้ออึงเลยทีเดียว สำหรับ "The Martian กู้ตาย 140 ล้านไมล์" ภาพยนตร์แนววิทยาศาสตร์อวกาศที่กำลังโลดแล่นอยู่บนจอเงินขณะนี้ ด้วยเนื้อหาทางวิทยาศาสตร์ที่ถูกถ่ายทอดออกมาอย่างลงตัว ผสมผสานกับอารมณ์และลีลาการแสดงอันเหนือชั้น จนนักวิจารณ์หลายคนยกให้เป็นภาพยนต์ที่ควรค่าแก่การเสียเงินมาชม

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ร่วมกับ บริษัท ทเวนตี้ธ์ เซ็นจูรี่ ฟ๊อกซ์ ประเทศไทย และ บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) จัดกิจกรรมเสวนาในหัวข้อ “The Martian” กู้ตาย 140 ล้านไมล์ (รอบพิเศษ) โดยมี ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการ สดร.ร่วมบรรยาย เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 58 ณ โรงภาพยนตร์เมเจอร์ ซีนีเพลกซ์ สุขุมวิท กรุงเทพฯ

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า การจัดกิจกรรมชมภาพยนตร์ในครั้งนี้ถือเป็นมิติใหม่สำหรับการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เพราะเป็นการนำวิชาการมารวมกับความบันเทิง ซึ่งน่าจะช่วยดึงดูดให้เยาวชนรุ่นใหม่รู้สึกสนใจความรู้วิทยาศาสตร์โดยเฉพาะดาราศาสตร์มากขึ้น

สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงวิทยาศาสตร์ที่พยายามผลักดันให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ๆ ด้านเทคโนโลยีอวกาศ ทั้งการผลักดันให้มีดาวเทียมสำรวจทรัพยากรธรรมชาติดวงที่ 2 ต่อจากดาวเทียมไทยโชติ ในความดูแลของ สทอภ. รวมไปถึงการหารือกับผู้ว่าการองค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ด้านการพัฒนากำลังคนทางอวกาศ และการส่งตัวแทนนักเรียนหรือการทดลองขึ้นไปร่วมทำบนอวกาศ

"ตัวผมไม่ได้ดูหนังมาร่วม 10 ปี เป็นโอกาสดีที่ สดร.ได้จัดกิจกรรมนี้ขึ้น เพราะเยาวชนอีกหลายๆ คนจะได้มาเปิดประสบการณ์วิทยาศาสตร์ผ่านการดูหนังไปพร้อมๆ กันด้วย ถือเป็นการศึกษานอกห้องเรียนอย่างหนึ่ง เพราะนอกจากได้ความสนุกแล้ว การมาดูหนังที่มีนักวิทยาศาสตร์มาอธิบายให้ฟังยังทำให้ได้ความรู้ที่ต่างออกไปจากโรงเรียน ทำให้ไม่รู้สึกเบื่อ แล้วก็ตรงตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่ต้องการให้ลดเวลาเรียนในห้องลง 2 ชั่วโมงเพื่อเปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง" ดร.พิเชฐ กล่าวแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์

"ผมให้ 10 เต็ม 10 สำหรับเดอะมาเชี่ยน เพราะเรื่องนี้เป็นหนังที่ถูกสร้างมาให้เป็นไปได้ด้วยองค์ความรู้ของมนุษยชาติที่เรามีอยู่ในปัจจุบัน ผมชอบจนดูเสร็จไม่ถึง 1 วัน ต้องรีบไปร้านหนังสือเพื่อเอาฉบับก่อนเป็นหนังมาอ่านทีเดียว" คำกล่าวแสดงถึงความประทับใจจาก ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) หลังทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ถามถึงความรู้สึกจากการชมภาพยนตร์เรื่องนี้ในครั้งก่อน

ดร.ศรัณย์ กล่าวว่า ภาพยนตร์เดอะมาเชี่ยนให้คุณค่าแก่คนดูในหลายๆ แง่ ทั้งด้านจิตวิทยาที่พระเอกแสดงออกถึงอารมณ์ขัน มองโลกในแง่บวก ทำให้จิตใจเข้มแข็งจนก้าวผ่านอุปสรรคได้ ควบคู่กับความรู้วิทยาศาสตร์ทั้งฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา วิศวกรรม ช่าง และคณิตศาสตร์ที่ถูกนำมาใช้ร่วมกัน เพื่อสร้างน้ำ สร้างอาหาร คิดวิธีการสื่อสาร จนทำให้เขามีชีวิตอยู่รอดบนดาวอังคารได้นานถึง 500 กว่าวัน จนเกิดเป็นข้อคิดใหม่ที่ ดร.ศรัณย์ เขียนไว้บนบอร์ดแสดงความประทับใจในภาพยนตร์ว่า "ความรู้ท่วมหัว เอาตัวรอดได้แน่ ถ้าคิดบวก วิทยาศาสตร์มีคำตอบเสมอ"

ด้านความสมจริงตามหลักวิทยาศาสตร์ ดร.ศรัณย์ กล่าวว่า ค่อนข้างสมบูรณ์แบบ เพราะเมื่อย้อนกลับไปอ่านเนื้อหาในหนังสือและสืบไปจนถึงการวางแผนก่อนสร้างภาพยนตร์ด้วยความชอบส่วนตัว ทำให้พบว่า ผู้เขียนหนังสือได้ทำวิจัยอย่างหนักร่วมกับนาซา เพื่อศึกษาว่าดาวอังคารเป็นอย่างไร จะนำยานไปให้ถึงต้องใช้วิธีใด ใช้ยานแบบใด และมนุษย์จะเอาชีวิตรอดได้อย่างไรหากมีปัจจัยจำกัดแค่สิ่งของที่มีอยู่ในยาน แล้วนำมาเขียนเป็นบทสรุป ก่อนจะอัพโหลดขึ้นสู่สังคมออนไลน์ผ่านแฟนเพจบริษัทภาพยนตร์ ให้ประชาชนที่มีความรู้มาร่วมกันถกเถียงความเป็นไปได้ ส่งผลให้ภาพยนตร์ออกมาดูสมจริงมากกว่าภาพยนตร์แนววิทยาศาสตร์เรื่องอื่นๆ

"ถ้าจะเทียบกับอินเตอร์สเตลลา, กราวิตี, สตาวอร์, เรดแพลเนท หรือภาพยนตร์ไซไฟเรื่องอื่นๆ อาจจะเทียบยากเพราะเป็นเรื่องรสนิยม แต่ถ้าพูดถึงหลักการในการสร้างหนัง เดอะมาเชี่ยนในสายตาผมจะเข้าถึงได้มากกว่า เพราะสร้างจากพื้นความรู้ที่เรามีแล้วในปัจจุบัน เพราะบางส่วนของอินเตอร์สเตลลา เช่น การส่งคนข้ามรูหนอน ไปยังที่ไกลๆ ยังเป็นเรื่องที่ไม่มีอยู่จริง ดูเพ้อฝันไปหน่อย ยังเป็นความรู้ที่วิทยาศาสตร์ปัจจุบันยังแตะไม่ถึง แล้วที่สำคัญคือ พวกการทดลอง, ยาน, สิ่งแวดล้อม หรือสิ่งที่เห็นในเดอะมาเชี่ยนเกือบทั้งหมด นักวิทยาศาสตร์นาซาก็พูดเองว่ามีความเป็นไปได้เกือบ 100% หนังเรื่องนี้จึงเป็นหนังวิทยาศาสตร์ที่ค่อนข้างสมบูรณ์"

นอกจากนี้ ดร.ศรัณย์ ยังเผยด้วยว่า ฉากที่ประทับใจที่สุดในภาพยนตร์ คือ ตอนที่พระเอกเดินสำรวจดาวอังคารไปเรื่อยๆ แถวบริเวณแอเรส แวริส (Ares Vallis) จนพบกับ "มาร์-พาร์ธไฟน์เดอร์" (Mars Path Finder) ที่เคยถูกส่งขึ้นไปบนดาวอังคารแต่ไม่สามารถปฏิบัติภารกิจได้ เนื่องจากพลังงานหมด เพราะเหตุการณ์นี้เกี่ยวข้องกับความเป็นมาของการก่อตั้งหอดูดาวแห่งชาติ ที่ตั้งอยู่ที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ ในความดูแลของ สดร. ในสมัยที่นายยิ่งพันธ์ มนะสิการ ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ต้องการให้ประเทศมีองค์ความรู้เกี่ยวกับดาราศาสตร์ที่แข็งแกร่งมากขึ้น

"หอดูดาวแห่งชาติที่เชียงใหม่ เกิดขึ้นเพราะความบังเอิญที่รัฐมนตรีสมัยนั้น ท่านอยากทราบเรื่องราวเกี่ยวกับการส่งยานมาร์พาร์ธไฟด์เดอร์ ซึ่งเรื่องนี้ผมติดตามและให้ข้อมูลได้ จนมีโอกาสได้พูดคุยและสานต่อ จนท่านเห็นว่าเราควรมีโครงการดาราศาสตร์บ้าง จนเกิดเป็นโครงการหอดูดาวแห่งชาติ ซีนนี้เลยเป็นเหตุการณ์ประทับใจส่วนตัว แต่ความจริงนั้นประทับใจหลายจุด เพราะผมเป็นนักดูดาวอังคารด้วยตาอยู่แล้ว ต้องชื่นชมว่าเขาทำได้ดี แต่บางฉากเช่น การเจาะถุงมือเพื่อเพิ่มแรงอัดอากาศส่วนนี้ผมว่าเวอร์เกินไปหน่อย เพราะมันไม่ได้ควบคุมกันง่ายๆ แล้วชุดนักบินอวกาศมันก็เทอะทะ แต่ก็เข้าใจนะว่าหนังมันต้องมีความสนุกด้วย ในหนังสือก็เขียนไว้แบบนี้ ถ้าเป๊ะทุกจุดก็คงไม่ใช่หนัง" รองผอ.สดร. กล่าวแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์

นอกจากนี้ ดร.ศรัณย์ ยังแสดงทัศนะด้วยว่า โครงการส่งมนุษย์ไปบนดาวอังคารของนาซามีความเป็นไปได้สูง เพราะมีการทดลองนำร่องไปหลายส่วนทั้งส่วนของยานที่ต้องใช้ไอออนไดรฟ์เป็นเชื้อเพลิงขับดันคล้ายๆ กับยานเฮอร์มีสในภาพยนตร์ แต่อย่างไรก็ดีกว่าจะเป็นไปได้จริงคงต้องใช้เวลาอีกนาน เพราะยังติดขัดในเรื่องของงบประมาณ ในขณะที่ส่วนตัว ดร.ศรัณย์เองเชื่อว่า ณ ขณะนี้เทคโนโลยีที่นาซามีสามารถนำมนุษย์ขึ้นสู่ดาวอังคารได้แล้วอย่างแน่นอน

"จากเรื่องนี้เราจะเห็นว่าการจะเอาชีวิตรอดได้ เราต้องมีทั้งจิตใจที่เข้มแข็ง และความรู้ที่เข้มข้นถึงจะอยู่รอดได้ และทุกศาสตร์มีความหมาย มีคุณค่าด้วยกันทั้งหมด เพราะพระเอกเป็นนักพฤกษศาสตร์แต่เขาก็มีความรู้ด้านวิศวกรรมเครื่องกล ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ คณิตศาสตร์ เลขฐาน ทั้งระดับยากง่ายถูกนำมาใช้หมด มีความแม่นยำในการคำนวณ แล้วก็มีใจที่คิดบวก ถึงทำให้เขาผ่านสถานการณ์อันคับขันแบบนั้นมาได้ ซึ่งนอกจากข้อคิดและอรรถรสที่ได้รับ ผมยังเชื่อว่าเด็กหลายๆ คนที่ได้ชมก็จะเกิดประกายความอยากเป็นนักวิทย์ในตัวเองเพิ่มขึ้นด้วย" ดร.ศรัณย์ กล่าวทิ้งท้ายแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์
ศิลปินจาก AF 12  ร่วมชมภาพยนตร์
ดร.พิเชฐ กล่าวถึงการเรียนรู้วิทยาศาสตร์นอกห้องเรียนก่อนภาพยนตร์เริ่มฉาย
ดร.ศรัณย์  โปษยะจินดา รองผอ.สดร.
หลังภาพยนตร์จบมีกิจกรรมเขียนบรรยายความประทับใจลงบนโปสเตอร์ภาพยนตร์ด้วย
ดร.วรวรงค์ รักเรืองเดช รองโฆษกประจำกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีร่วมชมภาพยนตร์พร้อมลูกสาว
นลินนิภา นุกอง และ อรยา บัวพึ่งพันธุ์ นิสิตชั้นปีที่ 1 ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมชมภาพยนตร์
ครูและนักเรียนจากโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ร่วมชมภาพยนตร์
นักเรียน, นักศึกษา, บุคลากรทางวิทยาศาสตร์กว่า 120 ชีวิตร่วมชมภาพยนตร์









กำลังโหลดความคิดเห็น