ในวันที่ 28 กันยายน 2558 ที่ผ่านมาหลายท่านคงได้มีโอกาสถ่ายภาพปรากฏการณ์ดวงจันทร์ใกล้โลกมากที่สุดในรอบปี หรือที่มักเรียกกันว่า “SUPERMOON” ซึ่งการถ่ายภาพดวงจันทร์เพื่อเปรียบเทียบกับขนาดของวัตถุที่เป็นฉากหน้านั้น (http://goo.gl/IeI6Wf) เราย่อมเจอกับปัญหาเรื่องความเปรียบต่าง (Contrast) ระหว่างแสงของดวงจันทร์ที่สว่างมากกับฉากหน้าที่มักมีแสงน้อยกว่ามาก
นอกจากการถ่ายภาพปรากฏการณ์ Supermoon แล้วการถ่ายภาพในรูปแบบนี้ ก็สามารถนำไปใช้ถ่ายภาพดวงจันทร์กับฉากหน้าในช่วงดวงจันทร์เต็มดวงในเดือนอื่นๆ ได้เช่นกัน ดังนั้นสำหรับคอลัมน์นี้เรามาลองใช้วิธีเทคนิคง่ายๆ สำหรับการถ่ายดวงจันทร์เต็มดวงให้ได้ฉากหน้ากันดูครับ
วางแผนก่อนการถ่ายภาพ : เลือกฉากหน้า > วัดขนาดปรากฏเชิงมุม
การถ่ายภาพดวงจันทร์เต็มดวงกับฉากหน้านั้น ส่วนตัวผมขอแนะนำให้เลือกฉากหน้าเช่น ต้นไม้ ตึกอาคาร วัดเจดีย์ ฯลฯ โดยให้วัตถุต่างๆ ที่เป็นฉากหน้านั้นอยู่ห่างจากจุดถ่ายภาพพอสมควร ซึ่งอาจจะห่างตั้งแต่ 1 กิโลเมตร หรือมากกว่านั้น ทั้งนี้เทคนิคที่มักใช้ในการกะระยะจุดถ่ายภาพก็คือ การวัดขนาดเชิงมุมของวัตถุที่เป็นฉากหน้าก่อน ด้วยการเหยียดแขนให้สุดแล้วใช้นิ้วก้อยวัดขนาดเชิงมุมของวัตถุ ซึ่งไม่ควรใหญ่เกินนิ้วก้อยของเรามากนัก ซึ่งนิ้วก้อยของเรามีขนาดเชิงมุมเท่ากับ 1 องศา ขณะที่ดวงจันทร์มีขนาดปรากฏเชิงมุม 0.5 องศา ดังนั้น ระยะห่างของจุดถ่ายภาพก็ควรมองเห็นไม่เกินนิ้วก้อยเรานั่นเองครับ
สำหรับการเลือกตำแหน่งมุมถ่ายภาพนั้นผมได้เคยอธิบายไว้ในคอลัมน์ก่อนๆ แล้ว สามารถอ่านรายละเอียดตามลิงค์ http://goo.gl/IeI6Wf
เอาล่ะครับมาดูเทคนิคสำหรับคอลัมน์นี้กันบ้างครับ ว่าเราจะสามารถถ่ายภาพดวงจันทร์เต็มดวงกับฉากหน้าให้ได้รายละเอียดของวัตถุทั้งคู่กันอย่างไรกันบ้าง
สำหรับเทคนิคง่ายๆ ที่ผมมักนำมาใช้เสมอ มีอยู่ 2 วิธีด้วยกันดังนี้
1. Black Card Technique
สำหรับวิธีแรกนี้คือการถ่ายภาพแบบ 1 shot เท่านั้น ซึ่งเหมาะกับการถ่ายภาพดวงจันทร์กับฉากหน้าขณะที่ดวงจันทร์อยู่ใกล้กับขอบฟ้า (ไม่ว่าจะกำลังโผล่จากขอบฟ้า หรือใกล้ตกลับขอบฟ้า) เนื่องจาก ณ บริเวณขอบฟ้าจะยังมีมวลอากาศหรือชั้นบรรยากาศที่หนาแน่น ช่วยเป็นฟิลเตอร์กรองแสงให้แสงของดวงจันทร์มีความสว่างน้อยลง (เหมือนกับตอนที่เราเห็นดวงจันทร์เป็นสีแดงส้ม บริเวณขอบฟ้า) จะช่วยให้ความเปรียบต่างของแสงฉากหน้ากับดวงจันทร์ไม่ต่างกันมาก
นอกจากการถ่ายภาพขณะดวงจันทร์อยู่ใกล้ขอบฟ้าแล้ว เทคนิคที่สำคัญก็คือ “Black Card” โดยการใช้มืดบังแสงในบางส่วนของภาพที่สว่างหรือแสงลดลง ซึ่งในการถ่ายภาพดวงจันทร์นี้ ก็ใช้มือบังบริเวณหน้าเลนส์ตรงส่วนขอบภาพเพื่อให้แสงของดวงจันทร์มืดลง แล้วจึงถ่ายภาพ ก็จะช่วยให้เราสามารถนำภาพถ่ายที่มีความเปรียบต่างกันไม่มากนักไปปรับแต่งในโปรแกรม Photoshop โดยการดึง Shadow บริเวณฉากหน้า และลดแสง Highlight ลงเท่านั้น ก็ทำให้เราสามารถได้ภาพถ่าย ดวงจันทร์เต็มดวงกับฉากหน้าไว้ได้อย่างไม่ยากเย็นมากนัก โดยไม่จำเป็นต้องเสียเงินซื้อฟิลเตอร์ครึ่งซีกให้เสียตังค์ครับ
2. ถ่าย 2 ภาพแล้วนำมารวมกัน
สำหรับเทคนิคที่สอง เป็นการถ่ายภาพที่มีความสว่างของรายละเอียด 2 ภาพที่แตกต่างกัน คือ
- ภาพแรก(ฉากหน้า) : เป็นการถ่ายภาพโดยวัดแสงที่บริเวณฉากหน้า (เจดีย์) ให้ได้แสงที่มีความสว่างพอดี แต่แสงดวงจันทร์จะสว่างจนโอเวอร์จนไม่เห็นรายละเอียดของดวงจันทร์
- ภาพที่สอง(ดวงจันทร์) : เป็นการถ่ายภาพโดยวัดแสงที่ดวงจันทร์ ให้ได้แสงที่พอดี (พอให้เห็นรายละเอียดของพื้นผิว) ที่ไม่มืดจนเกินไป ซึ่งจะทำให้แสงของฉากหน้ามืดจนอาจแทบไม่เห็นรายละเอียดของฉากหน้า
โดยการถ่ายภาพทั้งสองควรถ่ายแบบต่อเนื่องกัน เนื่องจาก ณ ตำแหน่งของดวงจันทร์กับฉากหน้าที่เปลี่ยนไปมากๆ มวลอากาศมักทำให้เกิดการหักเหของแสงจนอาจทำให้สัดส่วนของดวงจันทร์เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งส่งผลต่อการนำภาพมารวมกันในโปรแกรม Photoshop ได้ ดังนั้นควรทดลองถ่ายภาพที่มีการเปลี่ยนความเร็วชัตเตอร์ต่างๆ กันไว้ก่อน เพื่อความรวดเร็วในการถ่ายภาพ ซึ่งประสบการณ์มันจะสอนเราได้ดีครับว่าควรเปลี่ยนเท่าไหร่ ยังไง อันนี้คงต้องฝึกและก็ฝึกครับ...
สำหรับเทคนิคสุดท้ายที่อยากแนะนำในการถ่ายภาพดวงจันทร์กับฉากหน้ารูปแบบนี้ คือ การโฟกัสวัตถุที่เป็นฉากหน้าไว้รอก่อนที่ดวงจันทร์จะโผล่จากขอบฟ้า หรือแม้แต่ดวงจันทร์กำลังจะตก .... “ทำไมหน่ะหรือครับ” ก็เพราะบริเวณขอบฟ้าที่มีมวลอากาศที่หนาแน่น มักโฟกัสภาพที่อยู่ในระยะไกลได้ค่อนข้างยากไงล่ะ
ในการโฟกัสภาพที่ระยะไกลบริเวณขอบฟ้าที่มีมวลอากาศหนาแน่น เราจะมองเห็นในช่องมองภาพของกล้องว่ามันวูบวาบ และภาพมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เดี๋ยวชัดเดี๋ยวไม่ชัด ซึ่งหากเราจะรอให้ดวงจันทร์เคลื่อนที่เข้ามาใกล้วัตถุแล้วค่อยโฟกัสภาพที่ดวงจันทร์แล้วหล่ะก็ เราจะมีโอกาสพลาดสูงมาก เพราะหากเราถ่ายภาพมาโดยที่ไม่มีสิ่งใดในภาพที่ชัดแม้แต่อย่างเดียว มันก็ไม่ต่างอะไรกับการเสียภาพนั้นไปเลยครับ
การโฟกัสฉากหน้าที่อยู่ไกลๆ ไว้ล่วงหน้าก็ช่วยให้เราไม่ต้องกังวลหรือเสียเวลากับการไปโฟกัสภาพขณะดวงจันทร์กำลังเคลือนที่อยู่ใกล่กับวัตถุที่เราต้องการถ่ายภาพ ซึ่งหากใครที่เคยถ่ายภาพแนวนี้จะทราบดีว่า เราจะมีเวลาถ่ายภาพเพียงไม่กี่วินาทีเท่านั้น
เกี่ยวกับผู้เขียน
ศุภฤกษ์ คฤหานนท์
สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
ปัจจุบันเป็นเจ้าหน้าที่สารสนเทศทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร., เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร.ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย”
“คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย”
อ่านบทความ ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน