xs
xsm
sm
md
lg

ตอนสุดท้ายของภารกิจพิชิตสุริยุปราคา ใต้ฟ้าขั้วโลกเหนือ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

20 มีนาคม 2558 ทีมสังเกตการณ์ปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง เริ่มปฏิบัติงาน ตั้งแต่เวลา 8.00 น. เพื่อติดตั้งอุปกรณ์ที่ใช้ในการสังเกตการณ์ ณ จุดสังเกตการณ์ที่ได้ทำการสำรวจสถานที่ไว้ล่วงหน้า
​ในคอลัมน์นี้ เป็นตอนสุดท้ายของภารกิจพิชิตสุริยุปราคา ใต้ฟ้าขั้วโลกเหนือ โดยเราเริ่มต้นวันกับท้องฟ้าที่ใสเคลียร์มากถึงมากที่สุดและอุณหภูมิก็ลดต่ำลงอีกจาก 2 วันก่อน เราเริ่มปฏิบัติงานกันตั้งแต่เวลา 8.00 น เพื่อติดตั้งอุปกรณ์ถ่ายภาพและเตรียมความพร้อมในการศึกษาปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง ซึ่งเกิดปรากฏการณ์ขึ้นในเวลา 10.11 น. – 12.12 น. ตามเวลามาตรฐานท้องถิ่นของ เมืองลองเยียร์เบียน ประเทศนอร์เวย์
สภาพท้องฟ้าที่ใสเคลียร์ของเช้าวันที่ 20 มีนาคม 2558 ณ หมู่เกาะสฟาลบาร์ เมืองลองเยียร์เบียน ประเทศนอร์เวย์

อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ รวมทั้งอุปกรณ์อื่นๆที่จำเป็นต้องใช้แบตเตอรี่ ต้องนำมาใส้ไว้ในกระเป๋าพร้อมกับถุงร้อนเพื่อให้ความอบอุ่นกับอุปกรณ์ป้องการการน็อกระหว่างเก็บภาพปรากฏการณ์
ช่วงกึ่งกลางคราส (Greatest eclipse) จะเกิดขึ้นในเวลา 11.11 น. ซึ่งเป็นเวลาที่ศูนย์กลางเงาดวงจันทร์ผ่านใกล้ศูนย์กลางโลกมากที่สุด เงาจะพาดผ่านหมู่เกาะสฟาลบาร์ของนอร์เวย์ เกิดสุริยุปราคาเต็มดวงที่กลางคราสนาน 2 นาทีครึ่ง ขณะนั้นดวงอาทิตย์จะมีมุมเงย 10°-11° จากนั้น สุริยุปราคาครั้งนี้สิ้นสุดลงเมื่อเวลา 12.12 น. ซึ่งสุริยุปราคาครั้งนี้เราสามารถบันทึกภาพเหตุการณ์ต่างๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ที่เกิดขึ้นตลอดทุกช่วงปรากฏการณ์ รวมทั้งการศึกษาปรากฏการณ์ที่เกิดควบคู่ระหว่างการเกิดปรากฏการณ์ฯ และสำหรับตัวผมก็ถือเป็นครั้งแรกของชีวิตที่ได้เห็นปรากฏการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น ครบทุกปรากฏการณ์ด้วยตาเปล่า จากที่เคยเห็นบางปรากฏการณ์เพียงในหนังสือเท่านั้น เรียกว่ามันสุดติ่งกระดิ่งแมว กันเลยครั้งนี้ มาดูกันเลยครับว่าเราสามารถเก็บภาพปรากฏการณ์อะไรกันบ้างครับ


1.ปรากฏการณ์สุริยุปราคาทั้ง 4 สัมผัส


​1.1 สัมผัสที่ 1 (First Contact) คือ จุดแรกที่ดวงจันทร์สัมผัสดวงอาทิตย์ หรืออาจเรียกว่า เป็นจุดเริ่มต้นที่ดวงจันทร์เริ่มเข้าบดบังดวงอาทิตย์

ภาพสัมผัสที่ 1 (First Contact) เป็นจุดเริ่มต้นที่ดวงจันทร์เริ่มเข้าบดบังดวงอาทิตย์ (ภาพโดย : ศรัณย์  โปษยะจินดา / Camera : Canon 7D / Lens : Takahashi FSQ85 + Teleconverter 1.5X / Focal length : 675 mm. / Aperture : f/8.0 / ISO : 100 / Exposure : 1/400 sec )
​1.2 สัมผัสที่ 2 (Second Contact) เป็นจุดเริ่มต้นที่ดวงจันทร์บังดวงอาทิตย์ได้มิดหมดดวง แต่ก่อนเกิด Second contact จะเกิดปรากฏการณ์แหวนเพชร (The Diamond Ring Effect) หรืออาจเห็นปรากฏการณ์ลูกปัดเบลีย์ (Baily’s Beads) และในช่วงที่ดวงอาทิตย์ถูกบังมืดมิด จะมีแสงเรืองออกมารอบๆ ดวงจันทร์ เรียก Corona
ภาพสัมผัสที่ 2 (Second Contact) เป็นจุดเริ่มต้นที่ดวงจันทร์บังดวงอาทิตย์ได้มิดหมดดวง (ภาพโดย : ศรัณย์  โปษยะจินดา / Camera : Canon 7D / Lens : Takahashi FSQ85 + Teleconverter 1.5X / Focal length : 675 mm. / Aperture : f/8.0 / ISO : 200 / Exposure : 1/1000 sec )
1.3 กึ่งกลางคราส (Maximum Eclipse) เป็นช่วงเวลาที่ดวงจันทร์บังดวงอาทิตย์หมดทั้งดวง โดยในครั้งนี้เกิดสุริยุปราคาเต็มดวงที่กลางคราสนาน 2 นาทีครึ่ง
ภาพสุริยุปราคาเต็มดวง (Maximum Eclipse) เป็นช่วงเวลาที่ดวงจันทร์บังดวงอาทิตย์หมดทั้งดวง (ภาพโดย : ศรัณย์  โปษยะจินดา / Camera : Canon 7D / Lens : Takahashi FSQ85 + Teleconverter 1.5X / Focal length : 675 mm. / Aperture : f/8.0 / ISO : 100 / Exposure : 1/125 sec )
1.4 สัมผัสที่ 3 (Third Contact) คือ ช่วงสุดท้ายที่ดวงจันทร์บังดวงอาทิตย์มิด โดยดวงจันทร์จะเริ่มเคลื่อนออก และจะเกิดปรากฏการณ์แหวนเพชร (The Diamond Ring Effect) อีกครั้ง
ภาพสัมผัสที่ 3 (Third Contact) เป็นจุดสุดท้ายที่ดวงจันทร์บังดวงอาทิตย์มิด (ภาพโดย : ศรัณย์  โปษยะจินดา / Camera : Canon 7D / Lens : Takahashi FSQ85 + Teleconverter 1.5X / Focal length : 675 mm. / Aperture : f/8.0 / ISO : 100 / Exposure : 1/1000 sec )
​1.5 สัมผัสที่ 4 (Fourth Contact) เป็นจุดสุดท้ายก่อนที่ดวงจันทร์จะหลุดพ้นออกจากดวงอาทิตย์ ก่อนเคลื่อนออกอย่างสมบูรณ์
ภาพสัมผัสที่ 4 (Fourth Contact) เป็นจุดสุดท้ายก่อนที่ดวงจันทร์จะหลุดพ้นออกจากดวงอาทิตย์ (ภาพโดย : ศรัณย์  โปษยะจินดา / Camera : Canon 7D / Lens : Takahashi FSQ85 + Teleconverter 1.5X / Focal length : 675 mm. / Aperture : f/8.0 / ISO : 100 / Exposure : 1/400 sec )
2. ปรากฏการณ์ที่เกิดจากสุริยุปราคา
ก่อนที่ดวงจันทร์จะบดบังดวงอาทิตย์หมดทั้งดวง แสงของดวงอาทิตย์ส่วนที่เหลืออยู่เพียงเล็กน้อยนั้น จะทำปฏิกิริยากับพื้นผิวของดวงจันทร์เกิดเป็นประกายแวววาวในรูปแบบต่างๆ ซึ่งการสังเกตการณ์ปรากฏการณ์สุริยุปราคา ณ เมืองลองเยียร์เบียน ประเทศนอร์เวย์ ในครั้งนี้ ทีมสังเกตการณ์สามารถบันทึกภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวของปรากฏการณ์ต่างๆ ได้ครบทุกปรากฏการณ์ ดังนี้

2.1 ปรากฏการณ์ลูกปัดเบลีย์ (Baily’s Beads)
ภาพปรากฏการณ์ลูกปัดเบลีย์ (Baily’s Beads) (ภาพโดย : ศรัณย์  โปษยะจินดา / Camera : Canon 7D / Lens : Takahashi FSQ85 + Teleconverter 1.5X / Focal length : 675 mm. / Aperture : f/8.0 / ISO : 200 / Exposure : 1/2000 sec )
​ปรากฏการณ์ลูกปัดเบลีย์ (Baily’s Beads) จะเกิดก่อนที่ดวงจันทร์จะบดบังดวงอาทิตย์หมดทั้งดวง แสงของดวงอาทิตย์ส่วนที่เหลืออยู่เพียงเล็กน้อยนั้นจะส่องลอดผ่านบริเวณที่ลุ่ม ที่ต่ำ หุบเขา หุบเหวลึกบนพื้นผิวดวงจันทร์อันขรุขระเป็นหลุมเป็นบ่อ ปรากฏเป็นประกายแวววาวเหมือนลูกปัดสีสวยสดใสที่เรียงร้อยกันล้อมรอบดวงจันทร์สวยงามมากเราเรียกปรากฏการณ์แบบนี้ว่า ปรากฏการณ์ลูกปัดเบลีย์ เพื่อให้เป็นเกียรติแก่นักดาราศาสตร์ชาวอังกฤษ คือ ฟรานซิสเบลีย์ (Francis Baily) ซึ่งเป็นผู้อธิบายปรากฏการณ์นี้ได้อย่างถูกต้องเป็นคนแรก เมื่อเกิดสุริยุปราคาวงแหวนเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม ปี พ.ศ. 2379




2.2 ปรากฏการณ์แถบเงา (Shadow Bands)
ภาพปรากฏการณ์แถบเงา (Shadow Bands) (ภาพโดย : ศุภฤกษ์  คฤหานนท์ / Camera : Canon 1DX / Lens : Canon EF24-70 mm f/2.8 / Focal length : 24 mm. / Aperture : f/8.0 / ISO : 400 / VDO Capture)
​ปรากฏการณ์แถบเงา (Shadow Bands) จะเกิด 30 วินาที ก่อนและหลังดวงอาทิตย์มืดหมดทั้งดวง โดยจะเห็นเป็นแนวริ้วมืดสลับสว่างบนฉากขาว ซึ่งดวงอาทิตย์จะปรากฏเป็นเสี้ยวเล็กมากๆ บรรยากาศของโลกจะส่งผลให้แสงจากดวงอาทิตย์ที่ส่องมาจากเสี้ยวเล็กๆ นั้นมีการกระเพื่อม ซึ่งช่วงนี้ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นเป็นริ้วเป็นแถบของการกระเพื่อมของแสงอันเนื่องมาจากบรรยากาศของโลกรบกวน เป็นแถบเงารูปคลื่นสีดำซึ่งจะทอดเป็นริ้วๆทั่วไป เหมือนแสงสะท้อนจากผิวน้ำที่สะท้อนขึ้นไปบนเรือดูแปลกตามาก จะเห็นได้ชัดเจนหากปูพื้นด้วยผ้าสีขาวกลางแจ้ง ผู้สังเกตพบเป็นคนแรก คือ เอช. โกลด์ชมิดท์ เมื่อ พ.ศ. 2363 ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นเพราะบรรยากาศโลก ไม่ได้เกี่ยวกับดวงจันทร์










2.3 ปรากฏการณ์แหวนเพชร (The Diamond Ring Effect)
ภาพปรากฏการณ์แหวนเพชร (The Diamond Ring Effect) (ภาพโดย : ศรัณย์  โปษยะจินดา / Camera : Canon 7D / Lens : Takahashi FSQ85 + Teleconverter 1.5X / Focal length : 675 mm. / Aperture : f/8.0 / ISO : 200 / Exposure : 1/50 sec )
​ปรากฏการณ์แหวนเพชร (The Diamond Ring Effect)จะเกิดขึ้นเมื่อลำแสงสุดท้ายของดวงอาทิตย์ลอดผ่านหลุมอุกกาบาตใหญ่บนดวงจันทร์ลงมา ซึ่งจะเกิดก่อนและหลังการบังมืดหมดดวงประมาณ 10 วินาที ปรากฏการณ์เป็นดวงสว่างจ้าอยู่เพียงดวงเดียวบนขอบเสี้ยวของดวงอาทิตย์ที่กำลังจะลับไป เป็นรูปคล้ายแหวนเพชรส่องประกายสวยงามมาก













2.4 ปรากฏการณ์เงาเสี้ยว (Crescent Shadow)
ภาพปรากฏการณ์เงาเสี้ยวเป็นผลที่เกิดจากแหล่งกำเนิดแสง(ดวงอาทิตย์)มีลักษณะเป็นเสี้ยว
​ปรากฏการณ์เงาเสี้ยว (Crescent Shadow) เกิดขณะดวงอาทิตย์ถูกบังประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ แสงอาทิตย์ที่ลอดผ่านรูเล็กๆ จะเป็นรูปเสี้ยว ดังภาพ โดยในการสังเกตการณ์ เราใช้กระชอนมาบังแสง เมื่อนำฉากขาวมารับภาพ ก็จะทำให้สามารถสังเกตเห็นเงาเสี้ยวที่เกิดจากการที่ดวงอาทิตย์ถูกดวงจันทร์บดบังเป็นเสี้ยวสว่างดังภาพข้างต้น ซึ่งสามารถนำไปใช้ประกอบในการบรรยายเรื่องแหล่งกำเนิดแสงได้เป็นอย่างดี















2.5 โคโรนา(Corona)
ภาพชั้นโคโรนา (Corona) ซึ่งเป็นชั้นนอกสุดของดวงอาทิตย์ ซึ่งจะมีเพียงปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงเท่านั้นที่จะทำให้เราสามารถสังเกตเห็น (ภาพโดย : ศรัณย์  โปษยะจินดา / Camera : Canon 7D / Lens : Takahashi FSQ85 + Teleconverter 1.5X / Focal length : 675 mm. / Aperture : f/8.0 / ISO : 400 / Exposure : 1/8 sec )
ชั้นโคโรนา (Corona) เป็นชั้นนอกสุดของดวงอาทิตย์อยู่เหนือชั้นโครโมสเฟียร์ที่ระดับความสูง 5,000 กิโลเมตร โดยจาการบันทึกภาพปรากฏการณ์สุริยุปราคาความละเอียดสูง สามารถบันทึกภาพชั้นโคโรนาซึ่งแผ่ออกไปไกลกว่า 1,000,000 กิโลเมตรจากผิวดวงอาทิตย์ มีอุณหภูมิสูงมากถึง 2,000,000 เคลวินแต่มีความสว่างน้อยที่สุด ประกอบด้วยอนุภาคพลังงานสูงที่แผ่ออกมาจากดวงอาทิตย์ ซึ่งจะมีเพียงปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงเท่านั้นที่จะทำให้เราสามารถสังเกตเห็นได้ โดยมองเห็นได้เป็นแสงสีขาว มีรูปทรงสอดคล้องกับสนามแม่เหล็กของดวงอาทิตย์

2.6 เปลวสุริยะ (Prominence)
ภาพแสดงเปลวสุริยะ (Prominence) ที่พุ่งออกมาจากผิวของดวงอาทิตย์ชั้นโฟโตสเซีย ชั้นโคโรนา (Corona) ซึ่งเป็นชั้นนอกสุดของดวงอาทิตย์ ซึ่งจะมีเพียงปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงเท่านั้นที่จะทำให้เราสามารถสังเกตเห็น (ภาพโดย : ศรัณย์  โปษยะจินดา / Camera : Canon 7D / Lens : Takahashi FSQ85 + Teleconverter 1.5X / Focal length : 675 mm. / Aperture : f/8.0 / ISO : 100 / Exposure : 1/800 sec )
​เปลวสุริยะ (prominence) คือพวยก๊าซที่พุ่งออกมาจากผิวของดวงอาทิตย์ ซึ่งปกติเราจะสังเกตเห็นได้จากคลื่นแสงย่านไฮโดรเจนอัลฟ่าเท่านั้น แต่ระหว่างที่เกิดสุริยุปราคาเต็มดวง เราสามารถเห็นพวยก๊าซนี้บนดวงอาทิตย์ จากผิวดวงอาทิตย์ขึ้นไปในชั้นบรรยากาศโครโมสเฟียร์ (Chromosphere) จากภาพถ่ายผ่านกล้องโทรทรรศน์โดยตรงโดยไม่มีอันตราย

​นอกจากภาพถ่ายปรากฏการณ์การณ์ในรูปแบบภาพมุมแคบแล้ว เรายังได้บันทึกภาพปรากฏการณ์ในรูปแบบวีดีโอปรากฏการณ์ ตลอดจนภาพบรรยากาศมุมกว้างและภาพปรากฏการณ์ควบคู่ได้อีกด้วย
ภาพถ่ายวีดีโอขณะเกิดปรากฏการณ์แถบเงา (Shadow Bands) โดยสามารถชมภาพจากวีดีโอด้านล่าง ตามลิงค์ https://www.youtube.com/watch?v=VyC6fcUCVN8&feature=youtu.be
ภาพถ่ายปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงแบบมุมกว้าง 360 องศา เพื่อใช้ในการจัดทำภาพยนตร์ทางดาราศาสตร์สำหรับท้องฟ้าจำลองระบบดิจิตอล (ภาพโดย : ศุภฤกษ์  คฤหานนท์ / Camera : Canon 1DX / Lens : Canon EF 8-15mm f/4L USM Fisheye / Focal length : 8 mm. / Aperture : f/4.0 / ISO : 200 / Exposure : 1/640 sec )

ภาพสุดท้ายที่เราจะขาดเสียไม่ได้ก็คือภาพชุดปรากฏการณ์สุริยุปราคามุมกว้างที่ผู้ถ่ายจะต้องคอยเช็คภาพถ่ายอยู่ตลอดเวลาซึ่งค่าแสงจะเปลี่ยนแปลงตลอด ทำให้ผู้ถ่ายจะต้องคอยเปลี่ยนค่าความเร็วชัตเตอร์เพื่อให้ได้ภาพที่มีค่าแสงพอดี ไม่สว่างหรือมืดจนเกินไป ซึ่งภาพในลักษณะนี้การถ่ายภาพเราต้องทราบก่อนล่วงหน้าว่า ปรากฏการณ์จะเริ่มต้นที่ตำแหน่งไหน มุมอะซิมุทเท่าไหร่ มุมเงยเท่าไหร่ และจะสิ้นสุดปรากฏการณ์ที่ตำแหน่งไหนมุมเท่าไหร่ เพื่อใช้ในการคำนวณมุมรับภาพว่าควรใช้เลนส์ทางยาวโฟกัสเท่าไหร่ และต้องทดลองถ่ายภาพดวงอาทิตย์ดูก่อนจนเป็นที่แน่ใจ เพราะหากพลาดไปเพียงไม่กี่นาที ภาพทั้งหมดของคุณก็อาจเสียหายทั้งหมดก็เป็นได้
ภาพถ่ายปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงแบบมุมกว้าง ตลอดทั้งปรากฏการณ์ ด้วยเลนส์มุมกว้าง 560 mm. ผ่าน Solar Filter แล้วนำภาพทั้งหมดมารวมกัน (ภาพโดย : ธนกฤต  สันติคุณาภรต์ / Camera : Nikon D800 / Lens : Nikon AF-S 50mm f/1.4G )

เกี่ยวกับผู้เขียน
ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ i

สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

ปัจจุบันเป็นเจ้าหน้าที่สารสนเทศทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร., เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร.ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย”

“คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย”

อ่านบทความ ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน














กำลังโหลดความคิดเห็น