xs
xsm
sm
md
lg

องค์การสวนสัตว์ฯ เร่งเดินหน้ารวบพันธุกรรมสัตว์หายาก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ละมั่งหลอดแก้วตัวแรกของโลก ผลงานของทีมนักวิทยาศาสตร์ไทยและความร่วมมือกับต่างชาติ (ภาพจากองค์การสวนสัตว์ฯ )
องค์การสวนสัตว์ฯ ปลื้มผลงาน “ละมั่งหลอดแก้ว” ตัวแรกของโลก พร้อมเดินหน้ารวบรวมพันธุกรรมสัตว์หายาก-ใกล้สูญพันธุ์ เร่งวิจัย-ขยายพันธุ์ในอนาคต ห่วงละมั่งไทย-ช้างมีปัญหาขยายพันธุ์ตามธรรมชาติ เผยหลายประเทศยกย่องดอดทำเอ็มโอยูแลกเปลี่ยนนักวิจัย

นายเบญจพล นาคประเสริฐ ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยถึงความสำเร็จด้านเทคโนโลยีทางการสืบพันธุ์สัตว์ป่าของศูนย์นวัตกรรมทางการสืบพันธุ์สัตว์ป่า องค์การสวนสัตว์ฯว่า ขณะนี้ประสบความสำเร็จด้านการผลิตละมั่งหลอดแก้วตัวแรกของโลก การผสมเทียมหมีแพนด้า เสือลายเมฆผสมเทียม และการขยายพันธุ์นกกระเรียนพันธุ์ไทย ขณะนี้นักวิจัยกำลังพยายามพัฒนาการผสมเทียมช้างเอเชีย

ศูนย์ดังกล่าวเป็นศูนย์นวัตกรรมแห่งแรกและแห่งเดียวของไทยที่มีเป้าหมายเพื่อขยายพันธุ์และอนุรักษ์สัตว์ป่าหายาก ด้วยเทคโนโลยีชีวภาพทางการสืบพันธุ์ ทั้งการเก็บรักษาน้ำเชื้อแช่แข็ง การผสมเทียม การย้ายฝากตัวอ่อน การปฏิสนธิภายนอกร่างกาย และการโคลนนิ่ง ตลอดจนพัฒนาธนาคารพันธุกรรมสัตว์ป่า ที่เป็นเสมือนสวนสัตว์แช่แข็ง มีการเก็บตัวอย่างพันธุกรรมของสัตว์เพศผู้และเพศเมียไข่ ทั้งจากสัตว์ที่มีชีวิต และสัตว์ที่ตายไปแล้วเพื่อใช้ขยายพันธุ์ในอนาคต ซึ่งปัจจุบันมีการเก็บพันธุกรรมสัตว์หายากไว้ 32 ชนิด มีตัวอย่างพันธุกรรมกว่า 5,000 ตัวอย่าง อาทิ ละมั่ง สมเสร็จ และกวางผา

“การดำเนินการของธนาคารพันธุกรรมนั้นยินดีแลกเปลี่ยนข้อมูลและรับฝากตัวอย่างพันธุกรรมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อประโยชน์ทางการการวิจัย อาทิ สหรัฐอเมริกา และกัมพูชา ล่าสุด สวนสัตว์แห่งชาติประเทศแอฟริกาใต้ ได้เล็งเห็นถึงความสามารถของนักวิจัยไทย และเตรียมทำ MOU ร่วมกันเพื่อแลกเปลี่ยนนักวิจัยให้มีประสิทธิภาพด้านการขยายพันธุ์สัตว์ป่าหายากด้วย” นายเบญจพลกล่าว

ขณะที่ นสพ.ดร.บริพัตร ศิริอรุณรัตน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์ และวิจัย องค์การสวนสัตว์ฯ กล่าวถึงสถานการณ์ของสัตว์ป่าสงวนทั้ง 15 ชนิดว่า ขณะนี้เหลือเพียง 7-8 ชนิด เช่น เก้งหม้อ สมเสร็จ เนื้อทราย กวางผา ละมั่ง และนกกระเรียน ซึ่งในส่วนของนกกระเรียนพันธุ์ไทย ที่หายจากธรรมชาติไปแล้วไม่ต่ำกว่า 40 ปี ซึ่งสวนสัตว์นครราชสีมาได้เพาะขยายพันธ์ จนผลิตนกกระเรียนที่รอดชีวิตได้ปีละ10-20 ตัว และปี 2550-2554 ได้ทดลองปล่อยนกกระเรียนกลับสู่ธรรมชาติ จนขณะนี้มีจำนวน 70 ตัว

“แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ ละมั่งพันธุ์ไทย เนื่องจากเหลือเพียง 50 ตัวในประเทศ ทำให้เกิดการผสมภายในเครือญาติ ทำให้สุขภาพอ่อนแอเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ นอกจากนี้ ยังได้เริ่มทำการวิจัยเกี่ยวกับช้างเอเชีย เนื่องจากพบว่ามีปัญหาในกรณีที่ช้างมีรูปร่างใหญ่ ทำให้บางตัวไม่ยอมรับการผสมพันธุ์ตามธรรมชาติ จึงต้องหาทางอื่นเพื่อเพิ่มการขยายพันธุ์” นสพ.ดร.บริพัตรกล่าว









กำลังโหลดความคิดเห็น