xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมชาติของกระเรียน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สุทัศน์ ยกส้าน

นกเกระเรียนไทยไม่ระบุเพศ (ถ่ายโดย นายเลอสรรค์ วศิโนภาส เมื่อเดือน ก.พ. 2551 ณ สถานีวิจัยเพาะเลี้ยงนกน้ำบางพระ จ.ชลบุรี)
นิทานพื้นบ้านของชาวญี่ปุ่นเรื่องหนึ่งได้บรรยายเรื่องความผูกพันระหว่างคนกับนกกระเรียนว่า ในหมู่บ้านซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศญี่ปุ่นมีชายฐานะยากจนที่มีอาชีพตัดไม้ในป่าไปขาย และใช้ชีวิตอยู่คนเดียวในบ้าน เพราะกำพร้าพ่อและแม่ตั้งแต่เด็ก

วันหนึ่งขณะกำลังตัดไม้ เขาเห็นนกกระเรียนตัวหนึ่งร่อนจากท้องฟ้าถลาลงมาตกที่เท้า จึงใช้มือประคองนกขึ้นมา และเห็นว่าที่ปีกนกมีศรดอกหนึ่งปักอยู่ จึงพยายามดึงศรออก แล้วอุ้มนกไปทำความสะอาดด้วยน้ำในลำธาร เมื่อนกรู้สึกแข็งแรงดี จึงกระพือปีกบินขึ้นฟ้า และบินวนเหนือศีรษะชายคนนั้นหลายรอบ จากนั้นก็บินหายลับไปจากสายตา

หลังจากที่นกจากไปแล้ว ชายหนุ่มได้หวนกลับไปตัดไม้ต่อ และรู้สึกว่า ขวานเหล็กที่ใช้ซึ่งเคยรู้สึกหนักมาก กลับมีน้ำหนักเบาอย่างไม่น่าเชื่อ เมื่อตะวันตกและฝนเริ่มตกหนัก ชายหนุ่มจึงออกเดินกลับบ้าน และรู้สึกต้องการให้มีคนมาคอยปรนนิบัติต้อนรับตนที่บ้าน

ขณะใกล้จะถึงบ้าน เขาแทบไม่เชื่อสายตาเมื่อเห็นแสงไฟสว่างในบ้าน จึงคิดไปว่า ตนคงมาผิดบ้าน และเมื่อเปิดประตูบ้าน ก็เห็นหญิงสาวสวยยืนอยู่ เธอได้เอ่ยปากทักทายเขาว่า เนื้อตัวเปียกโชกเช่นนี้ คุณคงรู้สึกหนาวซินะ ชายหนุ่มคิดว่า หญิงสาวคนนี้คงเข้าใจผิดว่าเขาคือเป็นสามีเธอเป็นแน่ แต่เมื่อเหลียวไปดูโดยรอบก็พบว่านี่คือบ้านของเขาเอง ที่ทุกส่วนภายในบ้านดูสะอาด คงเพราะหญิงคนนี้ได้ปัดกวาดและจัดวางเข้าของใหม่ให้เป็นระเบียบ นอกจากนี้ที่บนเตาไฟก็มีหม้อซุปที่น้ำกำลังเดือด

เมื่อหญิงสาวเห็นชายหนุ่มแสดงท่าทีงง เธอจึงยิ้มและเอ่ยปากขออนุญาตอาศัยอยู่ด้วยในฐานะภรรยา แต่ชายหนุ่มแย้งว่า คงเป็นไปไม่ได้ เพราะเขาเองก็ยากจนมาก และไม่มีเงินจะเสียค่าสินสอด แต่หญิงสาวก็ตอบว่า เงินทองไม่มีความหมายใดๆ สำหรับเธอ นอกจากนี้ เธอเองก็กำพร้าพ่อและแม่เหมือนเขา ดังนั้นจึงขออาศัยอยู่ในบ้านหลังนี้ด้วย

ชายหนุ่มรู้สึกดีใจมากที่จะมีภรรยามาอยู่เป็นเพื่อนคู่ชีวิต และคาดหวังว่าตั้งแต่นี้ต่อไปชีวิตจะมีความสุข แต่ก็ยังตระหนักดีว่าไม่มีเงินที่จะให้ความสุขภรรยาได้เพียงพอ เหมือนจะรู้ใจ ภรรยาจึงขอให้สามีสร้างหูกทอผ้าให้ เพื่อเธอจะได้ใช้ทอผ้าหารายได้ คำขอร้องของเธอทำให้สามีต้องออกป่าเพื่อตัดไม้มาสร้างหูกให้ภรรยา และสร้างกระท่อมหลังเล็กๆ ให้เธอนั่งทอผ้าตามลำพังโดยไม่มีใครมารบกวน

เมื่อได้หูก เธอได้ขอให้สามีสาบานกับเธอว่า จะต้องไม่แอบดูเวลาเธอทอผ้า ตลอดเวลา 7 วัน 7 คืน ที่เธอกับเขาจะไม่ได้เห็นหน้ากัน

เมื่อวันเวลาผ่านไปครบหนึ่งสัปดาห์ ภรรยาก็นำผ้าที่เธอทอมาให้สามีดู ซึ่งก็ได้เห็นว่า ผ้ามีลวดลายสวยงามมาก แต่ใบหน้าของภรรยาปรากฏว่า ดูซูบไปเล็กน้อย ภรรยาจึงบอกสามีให้นำผ้าไปขายในเมือง ขณะสามีเดินทางไปขายผ้าในเมือง เธอจะทอผ้าเพิ่มเติม และเธอได้ขอให้สามีสัญญาสาบานอีกว่า ถ้าเขากลับบ้านเร็ว ขณะที่เธอยังทอผ้าไม่เสร็จ เขาจะต้องไม่แอบดูเธอ ซึ่งสามีก็ให้คำมั่นสัญญา
นกกระเรียนไทย (ภาพถ่ายโดย น.ส.รังสินี สันคม เมื่อช่วง ก.ย.2557 ณ สถานีวิจัยเพาะเลี้ยงนกน้ำบางพระ จ.ชลบุรี)
หลังจากที่เดินข้ามภูเขาหลายลูก และป่าหลายแห่ง เขาก็ลุถึงเมืองใหญ่ ผ้าที่เขานำไปขายนั้นทำให้เหล่าผู้หญิงในเมืองตื่นเต้นมาก และบอกเขาว่า ผ้าผืนนี้ทอด้วยขนนกกระเรียน ที่ตามปรกติจะมีราคาสูงมากเพราะเป็นของหายาก ดังนั้นคนเหล่านั้นจึงแย่งกันซื้อ และบอกชายคนตัดไม้ว่า ถ้ามีผ้ามาขายอีกก็จะซื้ออีก

ชายหนุ่มจึงเดินทางกลับบ้านด้วยความรู้สึกดี ขณะใกล้จะถึงบ้าน ก็ได้ยินเสียงหูกกระแทกกี่ทอผ้าเป็นเสียงดังกังวานไปทั่วหุบเขา จึงรู้ในใจว่าภรรยาคงยังทอผ้าไม่เสร็จ แต่ในเวลาเดียวกันก็รู้สึกแปลกใจที่ไม่เคยเห็นภรรยาออกไปซื้อหรือขนเส้นไหมใดๆ เข้าไปในกระท่อมเลย ความสงสัยนี้ทำให้เขาคิดมาก แต่ก็ต้องปฏิบัติตามคำมั่นสัญญา คือไม่แอบดู และจำได้ว่า ในการทอผ้าผืนแรก เขาเห็นใบหน้าของภรรยาซูบไป เขาจึงอดสงสัยไม่ได้ว่าเธอใช้อะไรทอผ้ากันแน่

เมื่อความสงสัยอยากรู้มีมากขึ้นๆ เขาจึงหักห้ามใจไม่ได้ และเดินไปแอบดูภรรยาที่รอยแยกในบานประตู ทันใดนั้นหัวใจของเขาก็แทบหยุดเต้น เพราะไม่เห็นภรรยานั่งที่หูก กลับเห็นนกกระเรียนที่มีจะงอยปากแหลมยาวจิกดึงขนจากปีก และจากหน้าอกของมัน เอาไปวางลงบนหูกเพื่อทอ ชายหนุ่มเริ่มเหงื่อแตก จึงเดินโซเซกลับบ้าน แล้วเป็นลมหมดสติไป

หลังจากที่ฟื้นขึ้นมาก็เห็นภรรยามีใบหน้าซีดเซียว และร่างกายซูบผอม เพราะอดอาหาร ในมือของเธอมีผ้าที่เธอทอ อากัปกริยาของสามีที่แสดงออกทำให้เธอตระหนักว่า สามีได้รู้ความจริงทั้งหมดแล้ว เธอจึงสารภาพว่า เธอคือนกกระเรียนตัวที่เขาเคยช่วยชีวิต และเมื่อเขารู้ความจริง เธอก็มิอาจอยู่กินกับเขาได้อีกต่อไป และมิอาจทอผ้าหาเงินได้อีก

เมื่อกล่าวจบเธอก็กลายร่างเป็นนกกระเรียนต่อหน้าต่อตาสามีที่กำลังตกตะลึง และบินออกจากบ้าน จากนั้นก็บินวนเหนือบ้าน 3 รอบ พร้อมส่งเสียงว่า ลาก่อน ลาก่อน ลาก่อน แล้วบินหายลับไปในท้องฟ้าที่มืดสนิท

นี่คือนิทานเรื่องนกกระเรียนเรื่องหนึ่งที่คนญี่ปุ่นโปรดปรานมาก เพราะความจริงมีว่า มันเป็นนกที่สวย และรักคู่ครองของมันอย่างจริงจัง แม้คู่จะตายไป มันก็จะไม่หาคู่ใหม่ ชาวญี่ปุ่นจึงนิยมใช้กระเรียนคู่แสดงความซื่อสัตย์ต่อกันของคู่สามี-ภรรยา และนิยมปักลวดลายเป็นนกกระเรียนประดับกิโมโนในพิธีแต่งงานด้วย นอกจากนี้ก็ยังใช้กระเรียนเป็นสัตว์ประจำชาติเหมือนดวงอาทิตย์ และดอกเบญจมาศด้วย

ส่วนชนชาติอื่นเช่นจีน อียิปต์ และฮินดูก็มักใช้กระเรียนเป็นสัญลักษณ์แสดงความระมัดระวังรอบคอบ ความยุติธรรม และความขยันหมั่นเพียรเช่นกัน ด้านคัมภีร์ไบเบิลกล่าวถึงกระเรียนว่า เป็นนกที่ล่วงรู้ฤดูดีมาก เพราะเมื่อถึงฤดูร้อนมันจะไปใช้ชีวิตต่างแดน แต่เมื่อถึงหน้าหนาวมันจะบินลงทางใต้ถึงดินแดนอียิปต์ อนึ่งเวลาบิน มันจะจัดขบวนบินเป็นรูปตัว V

สำหรับชาวฮินดูนั้น กระเรียนคือนกประจำองค์พระแม่กาลี ในวรรณกรรมมหาภารตะยุทธ เมื่อพระกฤษณะทรงมีพระชนมายุ 6 พรรษา พระองค์ทรงทอดพระเนตรเห็นฝูงกระเรียนบินเหนือเทวสถานของพระแม่กาลี พระองค์ทรงปลื้มปิติจนถึงกับหมดพระสติ
นกกระเรียนไทย (ภาพถ่ายโดย นายจิตร์ทิวัส พรประเสริฐ เมื่อช่วง ก.ย.2557 ณ สถานีวิจัยเพาะเลี้ยงนกน้ำบางพระ จ.ชลบุรี)
ส่วนชาวกรีกก็มีเทพนิยายที่กล่าวถึงเทพ Apollo ว่า ได้ทรงปลอมพระองค์เป็นนกกระเรียนเวลาทรงประสงค์จะหนีจากประเทศกรีซ เมื่อกวี Ibycus เสียชีวิต ในสมัยก่อนคริสตศักราชประมาณ 600 ปี เพราะถูกโจรทำร้าย และกำลังจะสิ้นใจ Ibycus ได้เห็นฝูงนกกระเรียนบินมา จึงเรียกนกมาเล่าเหตุการณ์ทั้งหมดให้ฟัง นกจึงบินติดตามตัวฆาตกรไปจนถึงวิหาร Corinthian และได้บินวนเวียนส่งเสียงร้องกึกก้อง จนฆาตกรรู้สึกกลัวตาย จึงสารภาพบาปทั้งหลายที่ทำไป กระเรียนจึงเป็นนกที่ใช้เป็นสัญลักษณ์ของความยุติธรรม

เรื่องเวลาเกี่ยวกับนกกระเรียนยังมีอีกมากมายเช่นว่า เวลาฝูงนกต้องการพักผ่อน และเตรียมตัวนอนในเวลากลางคืน มันจะยืนรายล้อมเป็นวงกลมรอบตัวหัวหน้าฝูง เพื่อทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยโดยยืนขาเดียว

โลกมีกระเรียน 15 สปีชีส์ เช่น กระเรียนไซบีเรีย (Grus leuogeranus) กระเรียนญี่ปุ่น (Grus japonensis) กระเรียนอเมริกัน (Grus americana) และกระเรียนแคนาดา (Grus canadensis) ตามปรกติกระเรียนมีพบเห็นในภูมิภาคเขตร้อน และเขตอบอุ่นทุกแห่ง ยกเว้นในทวีปอเมริกาใต้

กระเรียนส่วนใหญ่มีขนสีเทา น้ำตาล และขาว บริเวณส่วนหัวกับคออาจมีสีแดง กระเรียนในแอฟริกา และเอเชียมักมีสีขนที่สดใสกว่า และมีขนเพิ่มเป็นพิเศษที่หัว กระเรียนญี่ปุ่นที่โตเต็มที่อาจสูงถึง 1.5 เมตร และถ้าได้รับการเลี้ยงดูดี มันก็อาจมีอายุยืนนานถึง 80 ปี แต่ถ้ามันอยู่ในป่าซึ่งมันต้องหาอาหารเอง และมีศัตรูมากมาย อายุขัยของกระเรียนจะลดเหลือ 30 ถึง 50 ปี

ตามปรกติกระเรียนชอบอาศัยในป่า หรือตามชนบทที่มีสระน้ำ มันชอบทำรังบนพื้นดินที่ชื้น ซึ่งมีต้นหญ้า หรือต้นกกขึ้นหนาแน่น เวลาทำรังมันจะใช้จะงอยปากคาบเศษไม้มาสานต่อกัน แล้วใช้เท้าช่วยตบแต่งเพื่อจัดรังให้มีเส้นผ่านศูนย์กลางยาวประมาณ 1 เมตร เมื่อได้รังเรียบร้อยแล้ว มันจะคาบหญ้าแห้งมาบุที่ก้นรังให้นุ่ม การก่อสร้างนี้ตามปรกติอาจใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ จากนั้นตัวเมียจะวางไข่ 2 ฟอง เปลือกไข่กระเรียนมีสีขาว และมีจุดลายสีน้ำตาลเป็นจำนวนมาก มันมักจะวางไข่ใบที่สองตามหลังไข่ใบแรก 2 วัน และชอบวางไข่ในเวลาเช้า โดยเฉพาะในระหว่างเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม ไข่กระเรียนมีขนาดใหญ่กว่าไข่ไก่ประมาณ 2 เท่า และหนักกว่าประมาณ 4 เท่า

เมื่อออกไข่แล้ว ทั้งตัวผู้และตัวเมียจะช่วยกันฟักไข่ โดยผลัดกันฟักวันละ 2 ครั้ง เช่น เวลาตัวเมียเฝ้าไข่ ตัวผู้จะบินไปพักผ่อนที่อื่น เวลาฟักมันจะยืน แล้วใช้จะงอยปากพลิกไข่ไปมาเพื่อให้มีอุณหภูมิสม่ำเสมอ หลังจากที่เวลาผ่านไป 30-35 วัน ลูกนกกระเรียนก็จะเจาะเปลือกไข่ออกมาดูโลกภายนอก ทันทีที่ออกจากเปลือก พ่อ-แม่นกจะนำลูกไปหาอาหารที่ริมน้ำ โดยไม่ต้องกลัวว่าลูกนกจะจมน้ำตาย เพราะในเวลาเพียง 2 วัน ลูกนกก็ว่ายน้ำ และเดินได้คล่องแคล่วแล้ว หลังจากที่เวลาผ่านไป 2 เดือน ลูกนกอาจต้องอยู่ภายใต้ความดูแลของพ่อแม่ตลอดเวลา และเมื่อเวลาผ่านไป 3 เดือน ลูกนกก็เริ่มบิน

ศัตรูของนกกระเรียนได้แก่ กา หมี นกอินทรี สุนัขจิ้งจอก งู และคน ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยสูงสุด พ่อ-แม่นกอาจดูแลลูกนกอย่างน้อยเป็นเวลา 10 เดือนจึงจะปล่อยเสรี

หลังจากนั้น ลูกนกจะครองชีพอยู่ตามลำพังจนครบ 2 ปี มันจะผลัดขนทำให้ไม่สามารถบินได้เป็นเวลาประมาณ 1 เดือน และโตพร้อมจะสืบพันธุ์เมื่ออายุ 2-3 ปี

กระเรียนชอบกินพืช เช่น หญ้า กะหล่ำปลี แครอท ข้าวโพด และสัตว์ เช่น แมลง กบ คางคก แมลงปอ หอยทาก และหนู หลังกินอาหารมันจะดื่มน้ำ

เวลานอนมันจะยืนขาเดียว แล้วใช้อีกขาหนึ่งหนีบกับลำตัวเพื่อให้ขาอบอุ่น มันจะสลับขาเมื่อรู้สึกเมื่อย เวลาได้ยินเสียงประหลาด มันจะตื่นทันที ตาของมันจะส่ายไปมา ถ้าเห็นศัตรูมันจะบินทิ้งรัง

กระเรียนมีเสียงร้องที่โหยหวน และดังมากจนสามารถได้ยินที่ระยะไกล ตามปรกติมันจะส่งเสียงร้องเวลาต้องการจะหาคู่หรือข่มขู่ศัตรู หรือเวลาประกาศการเป็นเจ้าของพื้นที่ในบริเวณรอบรัง

เอกลักษณ์ที่สำคัญอีกประการหนึ่งของกระเรียนคือความสามารถในการเต้นรำที่เต้นได้สวยจนนักประวัติศาสตร์โรมันชื่อ Plutarch ได้กล่าวชื่นชมคนกรีกว่า เต้นได้สวยเหมือนกระเรียน อนึ่งเวลากระเรียนตัวหนึ่งเต้นรำ ตัวอื่นๆ ที่เห็นก็จะถูกเหนี่ยวนำให้เต้นตาม
กระเรียนตัวผู้ที่โตเต็มที่จะหนัก 15 กิโลกรัม และตัวเมียหนัก 11-12 กิโลกรัม เพราะตัวกระเรียนมีน้ำหนักค่อนข้างหนัก ดังนั้นเวลาจะบิน กระเรียนจะต้องวิ่งเป็นระยะทางไกลพอสมควรจึงจะถลาบินขึ้นอากาศได้

ในวารสาร Current Biology ฉบับวันที่ 12 เมษายน ค.ศ.2003 Thomas Kronien แห่งมหาวิทยาลัย Maryland ที่ Baltimore County ในอเมริกาได้ใช้กล้องวีดีโอบันทึกอิริยาบถของกระเรียนขณะหาอาหาร และพบว่า เวลากระเรียนกระดกคอขึ้นลง มันจะควบคุมให้หัวมันอยู่กับที่เพื่อให้สามารถเห็นภาพอาหารได้ชัด และเวลามันส่ายหัวไปมาก็เพื่อให้สามารถหาระยะห่างที่เหยื่ออยู่

ในหนังสือ How to Fold a Thousand Cranes ของ Eleanor Coerr ซึ่งจัดพิมพ์โดย G.P.Putnam’s Sons ในปี 1977 มีวิธีพับนกกระเรียนกระดาษถึง 49 วิธี หนังสือนี้ขายดิบขายดีในญี่ปุ่น เพราะชาวญี่ปุ่นมีความเชื่อว่า คนที่พับกระเรียนกระดาษได้เป็นจำนวนมากถึง 1,000 ตัวจะได้พรจากกระเรียนตามที่ตนประสงค์

ที่สวนสาธารณะ Peace Park ในเมือง Hiroshima ของญี่ปุ่น มีอนุสาวรีย์ของเด็กผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งกำลังอธิษฐานขอสันติภาพจากพระเจ้า ขณะที่เธอกำลังป่วยเป็นมะเร็ง ในมือเธอมีกระเรียนกระดาษที่เธอกำลังพับ และเธอตั้งใจว่าจะพับให้ได้ 1,000 ตัวก่อนสิ้นใจ แต่เมื่อพับได้ 508 ตัว เธอก็หมดลมหายใจ

เกี่ยวกับผู้เขียน

สุทัศน์ ยกส้าน
ประวัติการทำงาน-ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ สุทัศน์ ยกส้าน ได้ทุกวันศุกร์










กำลังโหลดความคิดเห็น