ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าแม่เหล็กและอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ทำให้ชีวิตประจำวันของเราสะดวกสบายมากขึ้น ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้ก็มีในไทยมาแล้วนานนับ 10 ปี ร่วมสำรวจและอัพเดตนานาเทคโนโลยีอาศัยคลื่นวิทยุ RFID สุดล้ำในงานแสดงนวัตกรรมเทคโนโลยี RFID ประจำปี 2558
ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้เข้าร่วมงาน RFID & IOT 2015 งานแสดงนวัตกรรมเทคโนโลยี RFID และการจัดงานเสวนาที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ที่ชมรมอาร์เอฟไอดีไทยแลนด์ ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดขึ้นติดต่อกันเป็นปีที่ 4 เพื่อให้ผู้ประกอบการและประชาชนที่สนใจนำไปปรับใช้กับธุรกิจและชีวิตประจำวัน
ก่อนจะสำรวจนวัตกรรมโดดเด่นแห่งปี ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการ สวทช.เท้าความแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า เทคโนโลยีอาร์เอฟไอดี (Radio frequency identification: RFID) คือ เทคโนโลยีหนึ่งที่ใช้ในการระบุสิ่งต่างๆ โดยอาศัยคลื่นวิทยุ เช่น บาร์โค้ดที่อาศัยคลื่นแสง หรือการสแกนลายนิ้วมือ ซึ่งแตกต่างจากเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่ตรวจสอบได้อย่างความแม่นยำแม้วัตถุอยู่ไกล ทำให้เทคโนโลยีอาร์เอฟไอดี ถูกนำเข้ามาใช้ในประเทศไทยตั้งแต่เมื่อ 10 ปีก่อน
ผอ.สวทช.กล่าวว่า กลุ่มธุรกิจที่มีการนำเทคโนโลยีอาร์เอฟไอดีมาใช้ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มโลจิสติกส์, ค้าปลีก, ยา และอิเล็กทรอนิกส์ เช่น ระบบตรวจสอบสินค้าในตู้คอนเทนเนอร์, ระบบสแกนบัตรอิเล็กทรอนิกส์, ระบบการจัดเตรียมยา หรือเรียงหนังสือในห้องสมุดที่ค่อนข้างแพร่หลายในต่างประเทศ แต่เป็นที่รู้จักเฉพาะกลุ่มผู้ใช้บางกลุ่มในประเทศไทย ซึ่งจุดมุ่งหมายที่จะทำให้ก้าวต่อไปของเทคโนโลยีอาร์เอฟไอดีแพร่หลายมากขึ้น คือการเชื่อมต่อเครื่องอ่านเข้ากับอินเทอร์เน็ต ทำให้การจัดงานในปีนี้ได้ชักชวนให้กลุ่ม IOT Thailand Consortium ผู้ผลิตนวัตกรรมด้านอืนเทอร์เน็ตเข้ามาร่วมจัดงานด้วย
"สวทช. โดยโครงการ iTAP ได้ทำงานร่วมกับสมาคมอาร์เอฟไอดีมากว่า 5 ปีและเห็นความก้าวหน้าของเขามาเรื่อยๆ และเป็นเรื่องดีที่ปีนี้ยังได้พันธมิตรอย่างไอโอทีเข้ามาเติมเต็ม ผลงาน 20 กว่าบูธที่นำมาจัดแสดงจึงคือนข้างน่าสนใจทั้งระบบเกษตรอัจฉริยะ, ล็อคเกอร์อัจฉริยะ, ระบบ RFID สำหรับการบริการ, การบริหารจัดการโลจิสติกส์ ไปจนถึงระบบควบคุมการเข้าออก, ระบบบริหารลานจอด, ระบบงานลงทะเบียน ที่ดูเป็นเรื่องใกล้ตัวเรามากยิ่งขึ้น" ดร.ทวีศักดิ์ กล่าวแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์
ภายในงานถูกจัดให้เป็นพื้นที่สำหรับภาคส่วนต่างๆ กว่า 20 บูธ โดยแต่ละบูธได้ยกเอาผลงานของตัวเองมาจัดแสดงอย่างไม่มีใครยอมใคร บ้างก็มีชิ้นงานจำลองแบบเคลื่อนไหว, บ้างก็มีไฟหลากสีสัน หรือแม้กระทั่งเสียงดิจิทัลที่ดึงดูดความสนใจ
เริ่มกันที่ตู้ล็อคเกอร์อัจฉริยะ จากบริษัท ACENTECH จำกัด ที่พัฒนาล็อคเกอร์ให้ผู้ใช้สามารถใช้งานได้สะดวกสบายยิ่งขึ้น เพียงใช้สมาร์ทการ์ดลงทะเบียนฝังชิปแตะเข้าไปที่หัวอ่านบริเวณกลางตู้ โดยมีความโดดเด่นตรงที่สามารถเลือกได้ว่าจะใช้ล๊อกเกอร์หมายเลขใด ซึ่งขณะนี้มีการนำไปใช้จริงแล้วที่สวนน้ำวานา นาวา อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ จำนวน 800 ตู้ นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาแถบเครื่องหมายปิดฉลากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สำหรับตรวจสอบการลักลอบเปิดก่อนจำหน่ายด้วย
ต่อมาเป็นผลงานจาก บริษัท SOFTWARE PARK THAILAND ที่นำเครื่อง DSIC สำหรับการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ในแผนการผลิตมาจัดแสดง ที่ ศิรินทร เป็งศิริ เผยว่า เป็นนวัตกรรมที่ค่อนข้างตอบโจทย์อุตสาหกรรม เพราะการนับจำนวนสินค้าในโกดังเป็นข้อมูลขั้นพื้นฐานของทุกโรงงาน โดยอาศัยเทคโนโลยี RFID ในการตรวจสอบแท็กสินค้าและหัววัดตัวอ่านที่ส่งสัญญาณด้วยระบบคลื่นวิทยุ
นอกจากนี้ยังได้นำระบบ Production Monitoring สำหรับโรงงานอุตสาหกรรมมาจัดแสดงด้วย ซึ่งเธอระบุว่าเป็นระบบการนับสินค้าด้วยเซนเซอร์ที่แสดงผลบนหน้าจอเป็นทันที ซึ่งขณะนี้มีโรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ยางรถยนต์ และบรรจุภัณฑ์หลายแห่งในประเทศไทยนำไปใช้แล้ว
ต่อด้วยบูธที่ 3 กับผลงานเครื่องอ่านบัตรประชาชนและพาสปอร์ตอัจฉริยะ (optical RFID Passport reader) ที่นายกำพล รูปประดิษฐ์ ตัวแทนจากบริษัท KGTECH กล่าวว่า มีความแม่นยำกว่าเครื่องอ่านบัตรทั่วไป เพราะคลื่นวิทยุจากเครื่องอ่านจะรับข้อมูลโดยตรงของระบบทะเบียนราษฎร์ที่ฝังอยู่ในไมโครชิปของบัตรประชาชน หรือที่หัวมุมของพาสปอร์ต ซึ่งวิธีการดังกล่าวทำให้ตรวจสอบผู้ปลอมแปลงพาสปอร์ตได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งขณะนี้มีการนำไปใช้แล้วในหลายแห่ง เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย, โรงแรมริชมอนต์ จ.นนทบุรี, โรงแรมบ้านลายไม้ จ.ภูเก็ต
นวัตกรรมต่อมาเป็นสิ่งที่หลายคนน่าจะคุ้นเคย ในส่วนของการจราจรอัจฉริยะ ที่ศิรพงศ์ นิธิพรพัฒนชัย ผู้จัดการฝ่ายผลิต บริษัท SCORE SOLUTION จำกัด กล่าวว่า ใช้กลไกคล้ายคลึงกับระบบอีซี่พาร์ทที่นำมาทางยกระดับ คือเป็นการปล่อยคลื่นวิทยุจากตัวอ่านออกมายังตัวส่งสัญญาณที่อยู่ในรูปแท็กติดกระดาษแล้วสั่งการให้ไม้กั้นรถเปิดออก แต่มีความโดดเด่นกว่าตรงที่มีราคาถูกและไม่ต้องกังวลเรื่องแบตเตอรี่ ซึ่งขณะนี้มีการนำไปใช้แล้วที่สำนักงานใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย สำหรับการตรวจสอบการเข้าออกรถบรรทุกที่จะเชื่อมต่อไปยังการสั่งงานให้รถเข้าไปจอดยังลานจอดหมายเลขที่เท่าไร เพื่อให้การขนส่งถูกต้องและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
เช่นเดียวกับนวัตกรรม Vehicle management จากบริษัท ไทยทรานสมิชชั่น อินดัสทรี จำกัด ที่พัฒนาระบบควบคุมการนำยานพาหนะเข้าออกให้กับการไฟฟ้านครหลวง ด้วยการใช้กล้องคลื่นวิทยุตรวจจับแท็กที่ตัวรถและชิปที่บัตรพนักงาน เพื่อบันทึกเวลาเข้าออกรถบริการประชาชน ที่จะออกไปทำงานเพื่อแก้ไขและให้บริการงานทางไฟฟ้ายังสถานที่ต่างๆ โดยเป็นนวัตกรรมที่ผลิตขึ้นจากความต้องการของการไฟฟ้านครหลวงโดยตรง ซึ่งตอนนี้มีการนำไปใช้แล้วยังภาคส่วนต่างๆ ของการไฟฟ้ามากกว่า 19 แห่ง
สำหรับบูธที่ 7 กับพาเลทพลาสติกอัจฉริยะ จากบริษัท TCK PLASTIC ที่ธเนศ พิเศษวรกุล ตัวแทนบริษัทกล่าวว่า เป็นพาเลทพลาสติกสำหรับรถฟอร์คลิฟต์ที่มีความพิเศษกว่าพาเลททั่วไป ตรงที่ในพาเลทมีการออกแบบให้มีช่องสำหรับบรรจุแท่งพลาสติดแท็ก สำหรับใช้ในการตรวจสอบว่าขณะนี้พาเลทอยู่ตำแหน่งใดในโกดัง, พาเลทหายหรอไม่ และมีการขนบรรจุไปยังรถบรรทุกหรือหมายเลขตู้คอนเทนเนอร์ที่ต้องการถูกต้องหรือไม่ ผ่านการใช้ซอฟท์แวร์ควบคุม โดยหัวรับสัญญาณจะถูกติดอยู่กับรถฟอร์คลิฟต์ และจะมีเสียงแจ้งเตือนหากพาเลทสินค้ากับรถฟอร์คลิฟต์ไม่ตรงกัน ซึ่งจะช่วยลดความผิดพลาดในการขนส่ง ที่ขณะนี้มีการนำไปใช้แล้วใน บริษัท เบทาโกร จำกัด
อีกตัวอย่างคือระบบเกษตรอัจฉริยะ (SMart farming) ที่นายนิมิตร หงษ์ยิ้ม ที่ปรึกษาชมรมอาร์เอฟไอดีพัฒนาขึ้น สำหรับทำเกษตรอุตสาหกรรมที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ เช่น ข้าว, ผักสลัดกรีนโอ๊ค, ผักสลัดเรดโอ๊ค โดยเป็นการติดแท็กให้กับถาดปลูกพืชเพื่อทำประวัติสำหรับการวิเคราะห์, การให้น้ำ, การเปลี่ยนน้ำ, การให้ปุ๋ย ที่ตัวรับสัญญาณ RFID จะคอยนับรอบและส่งข้อมูลไปยังผู้ควบคุมผ่านอินเทอร์เน็ต ซึ่งจะช่วยประหยัดแรงงาน ประหยัดทรัพยากร และลดพื้นที่ใช้สอย ในขณะที่ได้ผลผลิตเป็นจำนวนมาก
ทั้งนี้งาน งาน RFID & IOT 2015 จัดขึ้นที่ ห้องประชุมแซฟไฟร์ 117-120 ศูนย์การประชุมอิมแพ็ค ฟอรั่ม ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี ระหว่างวันที่ 17-18 ก.ย.58