xs
xsm
sm
md
lg

ฟังสัตวแพทย์ชี้แจงหลังฝรั่งโจมตี "นั่งหลังช้าง" ทารุณสัตว์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพกิจกรรมขี่ช้างโดยโต๊ะท่องเที่ยว
จากกรณีที่มีผู้ใช้หน้าเฟซบุ๊กชื่อว่า "Weird Facts" หรือ "ข้อเท็จจริงที่แปลก" ได้ระบุข้อความในทำนองที่ว่า "โครงสร้างทางสรีระของช้างไม่เหมาะกับการรับน้ำหนักจากด้านบน" พร้อมรูปภาพประกอบของนักท่องเที่ยวและควาญที่นั่งอยู่บนหลังช้าง จนมีผู้ใช้เฟซบุ๊กชาวต่างประเทศจำนวนมากออกมาแสดงความคิดเห็นในภาษาอังกฤษว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการทารุณสัตว์ จนไปถึงจะต่อต้านการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในภูมิภาคอาเซียน

ด้วยเหตุดังกล่าวทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ติดต่อไปยังนายสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านช้าง ถึงข้อมูลทางสรีรวิทยาของช้างและผลกระทบทางสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นกับสัตว์ประจำชาติของไทย

นายสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านช้าง ไม่ประสงค์ออกนามรายหนึ่ง ให้สัมภาษณ์แก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ระหว่างเตรียมตัวเข้าร่วมการประชุมช้างแห่งชาติ ประจำปี 2558 ณ สถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ ว่าโครงสร้างหลังสัตว์ทั่วไป มีแนวกระดูกสันหลังขนานกับพื้นโลก ไม่ได้มีไว้สำหรับรองรับน้ำหนักอยู่แล้ว โดยเฉพาะช้างที่มีแนวกระดูกสันหลังค่อนข้างโค้ง

ทว่าความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและแนวกระดูกสันหลังที่แข็งแรง ประกอบกับการมี "แหย่ง" หรือ ที่นั่งบนหลังช้างที่ปรับสมดุลเข้ากับสรีระของช้างได้นั้น ทำให้ช้างสามารถรับน้ำหนักได้ ขนของ แบกของคนนั่งได้อย่างไม่เป็นปัญหา

ส่วนการรับน้ำหนัก สัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า จะรับได้มากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับขนาดตัวช้างและน้ำหนักที่แบก ซึ่งจุดนี้จะพอดีหรือไม่นั้น สามารถประเมินง่ายๆ จากพฤติกรรมของช้างที่แสดงออก

"ช้างมันจะแสดงออกชัดเจน สังเกตจากตอนเดินแบก ถ้าช้างเดินได้ปกติ สะบัดหู สะบัดหาง แกว่งงวง กินอาหารปกติ พูดง่ายๆ คือแฮบปี้ ไม่เป๋ไปมา หรือมีอาการสะบัดรำคาญ ก็ไม่ถือเป็นว่าการทรมานหรือทารุณกรรมแต่อย่างใด เพราะ สมดุลของสัตว์สี่เท้า สามารถปรับตัวสำหรับการรองรับน้ำหนักได้ และผมก็เชื่อว่าภูมิปัญญามนุษย์สามารถปรับให้เหมาะสมได้ ไม่น่าเป็นปัญหา"

ส่วนเคสการรักษาช้างที่เป็นผลพวงจากการท่องเที่ยว สัตวแพทย์ระบุว่า ส่วนใหญ่เกิดจากการเสียดสีจากแหย่งมากกว่า ทั้งการผูกแหย่งไม่แน่น แบกของที่มีน้ำหนักไม่สมดุลกัน หรือความอับชื้น ไม่ค่อยพบช้างที่ป่วยจากจากรับน้ำหนักมากเกินไป เพราะหลังจากเสร็จการใช้งาน ควาญจะรีบเอาแหย่งออกจากหลังช้างทันที

เช่นเดียวกับ น.สพ.ปรีดา พวงคำ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลช้าง มูลนิธิเพื่อนช้าง จ.ลำปาง ที่กล่าวในทำนองเดียวกันว่า เมื่อเปรียบเทียบน้ำหนักของช้างโตเต็มวัยตามมาตรฐาน ที่มีน้ำหนักราว 3 ตันเทียบกับคน ถือว่าอยู่ในสัดส่วนที่ต่างกันมาก เพราะแหย่งที่หนึ่ง มีน้ำหนักอยู่ที่ราว 40 กิโลกรัม ฉะนั้นการขึ้นหลังช้างที่จำกัดไม่เกิน 3 คนรวมควาญและสัมภาระจึงไม่น่าเกิน 300 กิโลกรัมซึ่งเป็นปริมาณที่ช้างรับน้ำหนักได้อย่างสบาย

"ช้างตัวหนึ่งรับน้ำหนักได้ประมาณ 500-600 กิโลกรัม ถ้ามากกว่านั้นเขาจะเริ่มหงุดหงิด หากมีการบรรทุกคน บรรทึกน้ำหนักตามเกณฑ์ผมแน่ใจว่าไม่ใช่การทารุณแน่นอน และการนำช้างออกมาทำกิจกรรมในลักษณะแบบนี้ก็เป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยวอย่างหนึ่งของผู้เลี้ยงช้าง เพื่อนำเงินที่ได้ไปเลี้ยงช้างต่อ ถ้าไม่มีกิจกรรมแบบที่ว่าคนก็ไม่มีคนไปเลี้ยงช้างเช่นกัน"

นอกจากนี้ น.สพ.ปรีชา ยังเผยทัศนะส่วนตัวด้วยว่า ที่ ณ ตอนนี้มีข่าวเกี่ยวกับการทารุณช้าง ความรุนแรงของช้างออกมาจากสังคมออนไลน์อยู่บ่อยๆ น่าจะเกิดจากความต้องการทำลายความน่าเชื่อถือของการท่องเที่ยวกระเทศไทยจากกลุ่มชาวต่างประเทศ และผู้เคลื่อนไหวในประเทศบางคน เพราะก่อนหน้านี้ได้มีการคัดค้านกลุ่มผู้เลี้ยงช้างและสนับสนุนให้ปล่อยช้างทุกตัวคืนสู่ป่า เพื่อลบล้างสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมของไทย
เครดิตภาพ : นายฉัตรพรรษ พงษ์เจริญ
น.สพ.ปรีชา ยังให้ข้อมูลด้วยว่า ไม่เคยพบช้างที่ป่วยจากอาการหลังหัก เจ็บหลังจากการบรรทุกน้ำหนักแต่อย่างใด แต่ส่วนมากมักป่วยจากการดูแลที่ผิดวิธีของควาญช้างต่างด้าวที่ไม่มีความรู้และไม่เอาใจใส่ช้าง เพราะปางช้างทางภาคเหนือส่วนใหญ่ในปัจจุบันมีเจ้นของเป็นนายทุนจากต่างประเทศที่ต้องการหวังผลกำไรจากการประกอบธุรกิจ ซึ่งปัญหาดังกล่าว กลุ่มผู้เลี้ยงช้างไทยกำลังหารือเพื่อหาทางแก้ไขในการประชุมช้างแห่งชาติ 2558 ที่เขากำลังจะไปเข้าร่วม

ด้าน รศ.น.สพ.ดร. จิตรกมล ธนศักดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์คลินิกและการสาธารณสุข คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโคและกระบือ กล่าวว่า สัตว์ใหญ่ทุกชนิดไม่ว่า ช้าง ม้า วัว ควาย อูฐ ต่างไม่ได้เกิดมาเพื่อแบกหาม ถึงแม้หน้าตาจะดูต่างกันแต่กายวิภาคโดยรวมก็คล้ายๆกัน มนุษย์เราต่างหากที่อาศัยวัตว์เหล่านี้เป็นพาหนะ ไม่ว่าจะในการเดินทางหรือสู้รบ มาเป็นพันๆ ปีแล้วจนกลายเป็นเรื่องปกติไม่มีปัญหา

อย่างไรก็ตามต้องคำนึงด้วยว่า สัตว์ทุกชนิดมีช่วงอายุ มีความแข็งแรง มีน้ำหนักที่ต่างกัน ซึ่งผู้ใช้งานต้องมีความรู้และมีวิจารนญาณว่าสัตว์ตัวนั้นควรบรรทุกหรือไม่และมีประสิทธิภาพที่จะบรรทุกได้แค่ไหน ไม่ใช่สักแต่จะใช้งาน

"อย่างผมชอบขี่ม้า ผมก็จะรู้ว่าม้าตัวนี้ อายุเท่าไร รับน้ำหนักได้แค่ไหน เช่น สัตวแพทย์จะบอกได้ว่าตัวนี้รับน้ำหนักได้ 60 กิโลกรัม แต่ตอนนี้ผมน้ำหนัก 75 กิโลกรัม ผมก็ควรจะรู้ได้ด้วยตัวเองว่าไม่ควรขึ้น มิเช่นนั้นสัตว์จะได้รับอันตราย ไปจนถึง อุปกรณ์ควบคุมบังคับต่างๆต้องอยู่ในสภาพดีพร้อมอานต้องจัดวางตำแหน่งให้ถูก ต้องไม่กดไม่เจ็บ ต้องมีสมดุลจังหวะเดินวิ่ง วัว ควาย อูฐ ก็เช่นกันถ้าจะขี่หรือเทียมเกวียน ก็มีหลักการของเขา ม้าควรมีอาน ช้างก็มีแหย่ง อยู่ที่จิตสำนึกของคนใช้งานว่านึกถึงสวัสดิภาพสัตว์หรือเปล่า?"

กลับกันสัตว์พวกนี้เมื่อถูกนำมาเลี้ยงเขาก็ได้รับการดูแลพิเศษแทน เพราะ ไม่ต้องหาอาหารเอง มีคนอาบน้ำให้ มีที่อยู่ที่หลบแดดฝนไม่ต้องเร่ร่อน ผู้เลี้ยงจึงต้องมาทบทวนว่าเขาเลี้ยงเพื่ออะไร ใช้งานเหมาะสมไหม อาหาร ที่อยู่ มีความเหมาะสมในแบบที่ควรจะเป็นหรือไม่ ซึ่งผมเชื่อว่าปางเลี้ยงที่มีจิตสำนึกที่ดีจะดูแลช้างอย่างดีและไม่ใช้งานจนเป็นการทารุณ และอีกอย่างคือประเทศไทยมีพระราชบัญญัติสวัสดิภาพสัตว์ ที่เป็นตัวคอยควบคุมการใช้งานสัตว์กำกับอยู่ด้วย" รศ.น.สพ.ดร. จิตรกมล กล่าวแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์

นอกจากนี้สัตวแพทย์ผู้ไม่ประสงค์ออกนามรายแรกยังกำชับผ่านทีมข่าวด้วยว่า การจะใช้งานช้างหรือทำอะไรกับช้าง จะต้องอยู่บนพื้นฐานของการมีสุขภาพที่ดี และอยากให้ผู้จัดการวิทยาศาสตร์เป็นสื่อกลางในการเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับผู้เลี้ยงช้าง และอยากให้ทุกคนเข้าใจว่าการบรรทุกหลังช้างบนความพอดีไม่ได้เป็นการทารุณกรรมแต่อย่างใด
รศ.น.สพ.ดร. จิตรกมล ธนศักดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์คลินิกและการสาธารณสุข คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
น.สพ.ปรีดา พวงคำ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลช้าง มูลนิธิเพื่อนช้าง จ.ลำปาง (ภาพจากแฟ้มข่าวผู้จัดการออนไลน์ภูมิภาค)









อีกทางเลือกผู้พิการ "วีลแชร์อัจฉริยะ" สั่งงานได้แค่ชายตามอง
อีกทางเลือกผู้พิการ "วีลแชร์อัจฉริยะ" สั่งงานได้แค่ชายตามอง
เมื่อประเทศกำลังเดินหน้าเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและผู้พิการ อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องถูกพัฒนาขึ้นมาควบคู่กันจึงเป็นเรื่องของเครื่องมือเครื่องไม้อัจฉริยะสำหรับตอบสนองการเคลื่อนไหว ในยามที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายทำงานได้ไม่สะดวกเหมือนเคย และจะดีแค่ไหนหากผู้พิการและผู้สูงอายุบนวีลแชร์สามารถไปไหนมาไหนเองได้อย่างปลอดภัย และจะดีแค่ไหนหากพวกเขาสามารถสั่งงานอุปกรณ์เหล่านั้นได้แบบไม่ยากเย็น ตามไปดูวีลแชร์อัจฉริยะจากนักวิจัยมหิดล ที่จะทำให้ชีวิตของผู้พิการไม่ยุ่งยากอีกต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น