“อย่าเรียกผมว่าสัตวแพทย์สัตว์แปลกมือหนึ่งเลยครับ ผมยังไม่เก่งขนาดนั้น ผมแค่คลุกคลีมานาน เลยได้รักษามาเยอะเท่านั้นเอง” คำกล่าวแบบถ่อมตัวจากปาก “หมออ้อย” สัตวแพทย์หนุ่มในทีมรักษา “น้องบุ๋ย” ที่ตกลงปากรับคำให้สัมภาษณ์แก่เรา ขณะนำทีมข่าวเข้าสู่ห้องทำงานที่เต็มไปด้วยกองหนังสือ และตุ๊กตาสัตว์หน้าตาประหลาด
หากได้ติดตามข่าวของผู้จัดการวิทยาศาสตร์ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา จะทราบว่าเราได้นำเสนอข่าวอาการป่วยของน้องบุ๋ย “เหี้ยไฮโซ” ขวัญใจชาวมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายาที่ป่วยด้วยอาการทางเดินอาหารอักเสบและกล้ามเนื้อขาหลังอ่อนแรง จนทีมสัตวแพทย์ในมหาวิทยาลัยต้องนำตัวขึ้นมารักษาจนหายดี ทำให้ชื่อของ “หมออ้อย” กลายเป็นที่รู้จักเพราะนอกจากเขาจะเป็นผู้ที่ร่วมให้ชีวิตใหม่แก่น้องบุ๋ยแล้ว สัตวแพทย์ในวงการหลายๆ คนยังยกให้เขาเป็นมือหนึ่งของสัตวแพทย์ด้านสัตว์แปลก
ประกอบกับความสนใจและข่าวคราวของสัตว์แปลกที่ได้ยินหนาหูขึ้นเรื่อยๆ ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์จึงติดต่อไปยัง "หมออ้อย" หรือ น.สพ.เชาวพันธ์ ยินหาญมิ่งมงคล อาจารย์ประจำคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อทำความรู้จักกับอาชีพสัตวแพทย์ และเปิดมุมมองเกี่ยวกับสัตว์แปลกให้ทุกคนได้เข้าใจ
ชอบความท้าทายเลยมาเป็น “สัตวแพทย์”
“ความจริงผมไม่ได้อยากเป็นสัตวแพทย์นะ ผมอยากเป็นทหาร” คำตอบปนเสียงหัวเราะร่วนของสัตวแพทย์หนุ่มถูกกล่าวทันทีที่เราถามถึงความใฝ่ฝันวัยเด็ก เพราะหมออ้อยเผยว่าจริงๆ แล้วเขาอยากเรียนที่วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า เพราะชอบเครื่องแบบและมีใจรักการแพทย์ตั้งแต่เด็ก แต่ตอนสอบเอนทรานซ์ติดสัตวแพทยศาสตร์ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นั่นจึงเป็นจุดพลิกผันในชีวิตที่ทำให้เขาได้มายืนในวงการนี้ ซึ่งเขาไม่เคยคิดเสียใจเพราะการเรียนสัตวแพทย์คือการผจญภัย คือความท้าทายในแบบที่เขาชอบจึงเรียนจนจบการศึกษา และมาเรียนต่อในระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยมหิดล โดยเลือกเรียนในโปรแกรมการรักษาสัตว์เลี้ยงเป็นเพื่อน (accompanion animal)
หมออ้อย อธิบายว่า สัตว์เลี้ยงเป็นเพื่อน หมายถึง สัตว์ทุกชนิดที่คนเลี้ยงไว้เป็นเพื่อน เป็นเครื่องคลายเหงาไม่ใช่สัตว์สำหรับการค้าทางเศรษฐกิจเหมือนไก่ หมู หรือวัว ซึ่งสัตว์แปลก (exotic pets) ที่เขาถนัดก็รวมอยู่ในกลุ่มสัตว์เลี้ยงเป็นเพื่อนแทบทุกชนิด ยกเว้น หมา แมว ไก่ วัว ควาย ม้า นอกจากนั้นถือว่าเป็นสัตว์แปลก
ทำไมถึงเลือกรักษา “สัตว์แปลก”
หมออ้อย กล่าวว่า สัตวแพทย์ทุกคนจะต้องเรียนและฝึกงานด้านการรักษาหมา แมวเป็นหลัก ควบคู่กับการรักษาสัตว์ใหญ่พวก วัว ควาย และม้าเป็นพื้นฐาน แต่เมื่อได้คลุกคลีกับสัตว์ทุกชนิดก็ทำให้รู้ใจตัวเองว่าอยากรักษาสัตว์เลี้ยงเป็นเพื่อนมากกว่าสัตว์เศรษฐกิจ ที่แม้จะได้รายได้ดีกว่าแต่คงรู้สึกแปลกอยู่ไม่น้อยถ้าสัตว์ที่ดูแลต้องถูกเข้าโรงเชือดทุกครั้งไปเมื่อถึงเวลา เมื่อจบการศึกษาปริญญาตรีจึงมุ่งมั่นรักษาและเรียนต่อเฉพาะทางสัตว์เลี้ยงเป็นเพื่อน โดยเน้นหนักไปที่สัตว์แปลกที่ค่อนข้างท้าทายและยังขาดแคลน
“ความรวย ไม่รู้ว่าสำหรับคนอื่นจะใช่ความสุขหรือเปล่า แต่สำหรับผมนั้นไม่ใช่ มันไม่ใช่ตัวตนของผม ผมคิดว่าถ้าให้ผมทำสัตว์ประเภทนั้นก็คงทำได้ดีเหมือนกัน แต่คงจะไม่ใช่ความสุขแน่ๆ ต่างคนต่างความคิดนะ เพราะผมรู้สึกว่าผมมีความสุขเวลาเจ้าของพาสัตว์มา แล้วบอกว่าหายแล้วค่ะคุณหมอ น้องไม่ป่วยแล้วนะ ผมมีความสุขกับตรงนี้มากกว่าการรักษาสัตว์ที่อยู่ในฟาร์ม แล้วก็สุดท้ายเขาก็โดนเชือด แต่มันก็เป็นหน้าที่หนึ่งของสัตวแพทย์ที่จะต้องดูแลเรื่องปากท้องให้กับคนทั้งโลก แต่อีกหน้าที่หนึ่งก็คือ การเยียวยาหัวใจให้กับคนทั้งโลกเวลาสัตว์เลี้ยงของเขาป่วยเหมือนกัน เพราะสมัยนี้คนเลี้ยงสัตว์เป็นลูก เป็นคนในครอบครัว ซึ่งมันก็เหมือนกับการรักษาญาติให้เขา มีค่าเท่ากัน ซึ่งผมขอทำหน้าที่แบบนี้ดีกว่า”
ไม่ได้ทำแค่เพียงรักษา งานวิจัยก็ต้องทำด้วย
หมออ้อย กล่าวว่า ตั้งแต่เริ่มต้นรักษาสัตว์แปลกมาจนถึงตอนนี้ทำให้เขาตระหนักดีว่าจะรักษาอย่างเดียวคงไม่ได้ ต้องทำวิจัยด้วย เพราะสัตว์แปลกๆ อาการแปลกๆ และโรคแปลกๆ ที่เขาได้สัมผัสจากการรักษาสัตว์อย่างน้อย 30-40 เคสต่อวัน บางกรณียังคงเป็นคำถามที่ต้องการ ยังเป็นกรณีของโรคที่ไม่เคยมีใครรักษา
ฉะนั้นงานวิจัยที่เขาทำจึงค่อนข้างหลากหลายทั้ง การวิจัยวัคซีนของสัตว์ชนิดหนึ่งแก่สัตว์ชนิดหนึ่งเพื่อดูภูมิคุ้มกัน การวิจัยยาว่ามีผลต่อการกำจัดไรในสัตว์ต่างชนิด รวมไปถึงงานวิจัยยาสลบว่ามีผลต่อการรักษาในสัตว์แต่ละประเภทหรือไม่ ตามสถานการณ์ของโรคที่กำลังเป็นประเด็นอยู่ในขณะนั้นสำหรับตอบโจทย์ให้กับวงการสัตวแพทย์ โดยงานวิจัยของหมออ้อยจะเน้นไปที่การวิจัยในกระต่าย เพราะเป็นสัตว์เลี้ยงยอดฮิตอันดับ 3 รองจากหมาแมว รวมไปถึงงูและกิ้งก่า
“นับตั้งแต่รักษามาน่าจะหลายหมื่น อาจจะเป็นแสนเคสแล้วที่ผ่านมือผม บางตัวแทบจะไม่รู้จัก บางอาการไม่เคยเห็น ผมก็รักษาตามอาการด้วยการจัดกลุ่มตามอนุกรมวิธาน (Taxonomy) เหมือนกับสัตว์ตัวอื่นๆ ในกลุ่มเดียวกัน แล้วมานั่งค้นวารสารวิชาการ ดูการรักษาของหมอคนอื่นทั้งในและต่างประเทศเพื่อหาข้อมูล ซึ่งมันทำให้เราได้ค้นคว้าตลอด หรือจะเรียกว่าได้เรียนรู้ไปพร้อมๆ กับเจ้าของเลยก็ได้ งานวิจัยการรักษาผมก็ต้องทำอยู่เพราะกำลังเรียนปริญญาเอก ผมเลยไม่อยากให้เรียกว่าเป็นสัตวแพทย์สัตว์แปลกมือหนึ่งของไทย เพราะสัตว์แปลกก็คือสัตว์แปลก ที่จะมีหน้าใหม่เข้ามาเรื่อยๆ แต่ผมโชคดีที่มักจะได้เห็นก่อน เพราะคนเลี้ยงเขาก็ต้องคิดถึงคนที่รักษาได้ แล้วก็คิดว่าสัตว์แปลกเกือบทุกประเภทในโลกใบนี้ผมน่าจะเห็นมาหมดแล้ว (มั้ง)” หมออ้อยไล่เรียงด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม
.
เคยรักษาตัวอะไรที่คิดว่าแปลกที่สุด
หมออ้อย เผยด้วยอารมณ์ขำขันว่าสัตว์แปลกของเขาตอนนี้น่าจะเป็นหมากับแมว เพราะแทบไม่ได้รักษา ส่วนสัตว์แปลกเป็นสิ่งที่เขาเจอทุกวันจนรู้สึกว่ามันไม่แปลกแล้ว แต่ตัวที่คิดว่าแปลกที่สุดและนานๆ ครั้งจะได้เห็นสักทีคือ ตัวสปอตเต็ดคุสคุส (spotted cuscus) สัตว์จากประเทศออสเตรเลีย, ตัวเทนเรค (tenrec) จากประเทศมาดากัสการ์, ตัวทาร์เซียร์ (tarsier) และลิงแคระมาโมเซท รวมไปถึงคามิลเลียนจิ๋วที่มีขนาดเล็กเท่าหัวนิ้วโป้ง และสัตว์ป่าบางชนิด เช่น เสือ หมี นางอายก็มาให้รักษาทั้งที่เลี้ยงแบบถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย
“บางทีสัตว์แปลกมันไม่แปลกนะ แค่เราไม่เคยเห็น คนเลี้ยงนี่สิแปลกกว่า เคยมีเคสแมงมุมป่วย ไม่กิน เบื่ออาหารเจ้าของก็เอามาให้ผมรักษา ผมก็ให้น้ำเกลือทางก้นไป จิ้งจก ตุ๊กแกโดนประตูทับก็เอามารักษา ค้างคาวตกจากรังปีกหักก็เอามารักษาเข้าเฝือก ด้วงป่วย ปูเสฉวนป่วยก็ยังมี เห็นมั้ยล่ะว่าท้าทาย ผมบอกแล้วว่าการเป็นสัตวแพทย์คือการเยียวยาหัวใจคนทั้งโลก คุณเชื่อผมหรือยัง? ส่วนสัตว์ผิดกฎหมายผมเห็นมาเยอะมาก แต่ผมเป็นหมอผมมีหน้าที่รักษา แล้วก็ให้ความรู้กับเขาว่าเลี้ยงตัวนี้ผิดกฎหมายนะ เขาจะไปดำเนินการอะไรต่อก็เรื่องของเขา ผมไม่มีสิทธิ์จะไปแจ้งจับ เรื่องแบบนี้มันอยู่ที่จิตสำนึก”
ส่วนกรณีน้องบุ๋ย หมออ้อยระบุว่าไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่สำหรับเขา เพราะก่อนหน้าเคยรักษาเหี้ยที่ถูกคนทำร้าย และเหี้ยที่ถูกรถชนมาก่อน เมื่อได้รับเคสว่ามีเหี้ยป่วยเขาจึงตรวจเลือด ตรวจพยาธิ เอ็กซเรย์ ให้น้ำเกลือ ให้ยารักษาตามอาการจนหายดีแล้วก็ปล่อยกลับธรรมชาติไปเหมือนสัตว์ตัวอื่นๆ แต่ที่ทำให้น้องบุ๋ยกลายเป็นที่สนใจน่าจะเกิดจากความที่มันไม่ดุร้ายและเป็นสัตว์ที่คุ้นเคยกันดีในมหาวิทยาลัย ส่วนถ้าจะมีใครนำเหี้ยมาให้รักษาอีกก็ยินดี เพราะเป็นหน้าที่ของสัตวแพทย์
หมอสัตว์แปลก มองคนเลี้ยงสัตว์แปลก ?
“คนเลี้ยงสัตว์แปลก จะต้องเป็นคนแปลกด้วยไหม ?..” หมออ้อยทวนคำถามก่อนจะแสดงทัศนะออกมาอย่างน่าสนใจว่า ผู้เลี้ยงสัตว์แปลกที่เขาคุ้นเคยส่วนมาก ไม่ใช่คนแปลกแต่เป็นคนที่มีรสนิยม ความชอบไม่เหมือนคนอื่น และมักจะเป็นคนที่มีความเป็นตัวของตัวเองสูง และสัตว์แปลกบางชนิด เช่น สัตว์เลื้อยคลานยังตอบโจทย์กับไลฟ์สไตล์ของบางคนด้วย เพราะสัตว์พวกนี้ไม่ต้องให้อาหารบ่อย ไม่ต้องการการประคบประหงม จึงเหมาะกับคนเมืองที่ไม่ค่อยมีเวลา ในขณะที่บางคนอยู่บ้านทั้งวันก็ต้องเลี้ยงสัตว์ที่เป็นเพื่อน พูดคุยแก้เหงาด้วยได้เป็นธรรมดา และนอกจากจะเลี้ยงสัตว์แปลกเป็นเพื่อนแล้ว หมออ้อยยังเผยด้วยว่า คนบางกลุ่มยังเลี้ยงสัตว์แปลกเพื่อเป็นส่วนประดับในบ้านด้วย
“สัตว์แปลกแต่ละตัวมันมีเสน่ห์ของมัน อยู่ที่ว่าใครชอบอะไร อย่างบางคนผมเคยเห็น เขาเลี้ยงแมงมุมไว้เป็นมุมหนึ่งในบ้าน ใส่กล่องสวยๆ เป็นชั้นโชว์เหมือนเป็นเฟอร์นิเจอร์อย่างหนึ่ง งูสีสวยๆ จระเข้ ตะโขงก็เหมือนกันเลี้ยงไว้ในตู้กระจกจัดอย่างสวยเลยก้มี เพราะบางคนเขาก็ชอบดูตอนงูเลื้อย ชอบดูตอนจระเข้ว่ายน้ำเป็นความสุขของแต่ละคน เพราะสัตว์แต่ละชนิดมีเสน่ห์ในตัว ไม่อย่างนั้นคนทั้งโลกก็คงเลี้ยงหมากับแมวเหมือนๆ กันไปหมด และผมก็ชอบสัตว์แปลกด้วยเหมือนกัน” หมออ้อย แย้มถึงเรื่องราวของตัวเอง
เสน่ห์ของสัตว์แปลกที่คนส่วนมากเข้าไม่ถึง
หมออ้อย เท้าความว่า เมื่อก่อนเขาไม่ชอบสัตว์แปลก โดยเฉพาะเลื้อยคลานเลย แต่พอได้รักษาไปนานๆ กลับเริ่มเห็นเสน่ห์ของสัตว์ชนิดนี้ในหลากหลายมิติ ทั้งความหลากหลายทางพันธุกรรมของกิ้งก่า ความสามารถเฉพาะตัว เช่น กิ้งก่าคามิลเลียนที่สามารถกลอกตาได้สองข้าง หางม้วนเป็นวง ยิงลิ้นยาวเพื่อจับแมลง, กิ้งก่าบาซิลิสที่วิ่งบนผิวน้ำได้, อีกัวน่าที่เปลี่ยนสีสันได้ตามต้องการ รวมถึงงูบอลไพทอน และงูคอนสเนคที่มีสีสันสดใสราวภาพวาดก็เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งที่หมออ้อยกล่าวถึง ทำให้ที่บ้านของหมออ้อยกลายเป็นอีกที่หนึ่งที่มีเหล่าสัตว์แปลกแวะมาเยี่ยมเยียนอยู่เสมอ ทั้งที่มีคนฝากเลี้ยงไว้เป็นครั้งคราวอย่างงูและเต่า และสัตว์เลี้ยงของเขาที่มีทั้งสุนัข อีกัวน่าและเต่าซูกาต้า
“เลี้ยงสัตว์แปลก” เทรนด์ที่กำลังมาแรง
หมออ้อย เผยว่า ปัจจุบันมีผู้นิยมเลี้ยงสัตว์แปลกเพิ่มมากขึ้น สังเกตได้จากจำนวนสัตวแพทย์ที่ทำงานด้านสัตว์แปลกมีมากขึ้น จากที่ประมาณ 10 ปีก่อนมีไม่เกิน 5 คน จนในปัจจุบันมีสัตวแพทย์ที่ทำงานด้านสัตว์แปลกเต็มตัวเพิ่มขึ้นเป็น 20 คนในประเทศ โดยผู้เลี้ยงส่วนใหญ่จะเริ่มตั้งแต่วัยรุ่น นักศึกษามหาวิทยาลัยจนถึงวัยทำงานเพราะเริ่มมีทุนทรัพย์และความรับผิดชอบชีวิตสัตว์ โดยสัตว์ในกลุ่มสัตว์ฟันแทะได้รับความนิยมมากที่สุด อย่างไรก็ดีหมออ้อย เผยว่าเทรนด์ของสัตว์แปลกยังเติบโตได้อีกมาก แต่ไม่มีทางที่จะได้รับความนิยมเท่าหมาหรือแมว จึงไม่แปลกที่ไทยจะไม่มีสถานรักษาหรือโรงพยาบาลสัตว์แปลกโดยเฉพาเหมือนในต่างประเทศ เพราะหมา แมวคือสัตว์เลี้ยงหลัก และก็มีเพียงคนบางกล่มเท่านั้นที่นิยมชมชอบสัตว์แปลกในระยะยาว
“ฉะนั้นเรื่องการปล่อยสัตว์หรือทำสัตว์หลุดสู่ธรรมชาติจึงเป็นเรื่องที่ผมกังวลมากที่สุด เพราะสัตว์แปลกส่วนใหญ่ล้วนนำเข้าจากต่างประเทศ หากหลุดออกสู่ธรรมชาติ แน่นอนว่ามันคือสัตว์ชนิดพันธุ์ต่างถิ่น หรือ เอเลี่ยนสปีชีส์ ดีๆ นี่เอง” หมออ้อยให้ข้อสังเกตแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์
สัตว์แปลก เท่ากับ เอเลียนสปีชีส์ .. ?
หมออ้อย แสดงความกังวลว่า ในอนาคตอันใกล้จะสัตว์ชนิดพันธุ์ต่างถิ่น หรือเอเลี่ยนสปีชี่ส์ระบาดในไทยอีกเป็นจำนวนมากและน่าจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน เพราะคนเลี้ยงบางคนยังขาดการดูแลเอาใจใส่ ขาดจิตสำนึก และไม่เคารพกฎหมาย ทำให้ที่ผ่านมามีผู้พบเห็นสัตว์แปลกที่เป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นแล้วนำมาให้เขารักษาเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะช่วงหลังน้ำท่วม ซึ่งหมออ้อยระบุว่า เต่า ตะพาบ และอีกัวน่าต่างถิ่น คือเอเลี่ยนสปีชีส์ที่น่ากังวลที่สุด เพราะมีความสามารถในการออกไข่ ผสมพันธุ์และหากินได้เก่งมากในประเทศไทย ซึ่งในขณะนี้จำนวนกว่าครึ่งของสัตว์ 3 ประเภทดังกล่าวในธรรมชาติก็ไม่ใช่สัตว์ที่เป็นชนิดพันธุ์ของไทย
ที่แม้จะมีการนำเสนอปัญหานี้ในที่ประชุมของสัตวแพทย์ทั่วประเทศอยู่บ่อยครั้ง แต่ก็ยังทำอะไรไม่ได้ นอกจากให้ความรู้และประชาสัมพันธ์การปล่อยสัตว์ทำบุญอย่างถูกวิธี โดยในส่วนของคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลเองก็เคยมีศูนย์แลกรับสัตว์เอเลี่ยนสปีชีส์ไว้ เพื่อเป็นตัวอย่างในการเรียนการสอนให้กับนักศึกษา แต่ในภายหลังต้องปิดรับเพราะมีจำนวนมากเกินไปจนไม่สามารถรับเลี้ยงได้
ครึ่งหนึ่งของความสุขคือการได้รักษา ครึ่งหนึ่งของความสุขคือการให้การศึกษา
เมื่อถามถึงอนาคตหมออ้อยกล่าวว่า ยังคงให้ความสำคัญอยู่ที่การเรียนปริญญาเอก การรักษา และการสอนหนังสือที่เขาพยายามสอดแทรกกระบวนการคิดใหม่ๆ ลงไปให้กับนักศึกษา เพราะจากการศึกษาดูงานและฝึกงานจากหลายๆ หน่วยในต่างประเทศทำให้เขาตระหนักดีว่า สัตวแพทย์ไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก โดยเฉพาะฝีมือหัตถการที่มีความละเอียด ประณีตกว่าชาติอื่น ยกเว้นกระบวนการลำดับคิดที่ยังอ่อนแอและความไม่กล้านำเสนอตัวเอง
“ผมยืนยันว่าสัตวแพทย์ไทยเก่ง และถ้าเราทำให้เด็กของเรามีกระบวนการคิดแบบฝรั่งได้ วงการสัตวแพทย์ไทยจะโดดเด่นในเวทีโลกมากขึ้น ซึ่งจุดนี้คือสิ่งที่ผมจะพยายามสอนให้กับนักศึกษาที่ผมดูแล เพราะสำหรับผมผมเคยบอกไปแล้วว่า ครึ่งหนึ่งของความสุขคือการเห็นเจ้าของสัตว์ยิ้มได้ แล้วกลับมาบอกเราว่าสัตว์ของเขาหายแล้ว ส่วนอีกครึ่งหนึ่งที่ผมเพิ่งค้นพบคือความสุขหลังจากได้สอน ได้เห็นลูกศิษย์ของตัวเองจบไปเป็นสัตวแพทย์ที่ดี มีคนให้ความไว้วางใจแค่นี้ก็เพียงพอ แล้วผมก็ยังสนุกกับการที่ได้เห็นสัตว์แปลกๆ ได้รักษาและเรียนรู้กับเจ้าของไปด้วยกันเรื่อยๆ แบบนี้มันดีกว่าและมันทำให้ผมมั่นใจว่าต่อไปนี้ไม่ว่าคุณจะยกตัวอะไรในโลกนี้มา ผมก็รักษาให้ได้” หมออ้อย กล่าวทิ้งท้ายด้วยใบหน้าเปื้อนสุข แก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์
*******************************