หลายคนคงเคยเห็น "เหี้ย" บางคนเรียก "ตัวเงินตัวทอง" สัตว์เลื้อยคลานลิ้น 2 แฉก ที่หน้าตาท่าทางออกจากน่ากลัวมากกว่าน่ารักกันมาบ้าง แต่จะมีสักกี่คนที่เคยเห็นเหี้ยระยะใกล้ๆ และจะมีสักกี่คนที่รู้จักเหี้ยดีมากกว่าคำสรรพนามที่ใช้ด่าทอ ตามมารู้จักเหี้ยให้มากขึ้นไปพร้อมๆ กับเรา
SuperSci สัปดาห์นี้ เรายกกองกันมาอยู่ที่คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา จ.นครปฐม สถานที่ที่ทีมข่าวฯ ทราบว่ามีการนำเหี้ย "น้องบุ๋ย" จากธรรมชาติบริเวณคณะสิ่งแวดล้อม ขึ้นมารักษาพักฟื้นจากอาการทางเดินอาหารอักเสบ เป็นเวลานานกว่า 2 เดือน ซึ่งมีกำหนดปล่อยในวันถ่ายทำพอดี
ก่อนจะจาก เราจึงเก็บภาพ "เหี้ย" แบบใกล้ๆ มาฝากพร้อมด้วยคำแนะนำและเกร็ดข้อมูลทางชีววิทยาเล็กๆ น้อยๆ จากสัตวแพทย์ด้านสัตว์แปลกมือทองของประเทศไทย อย่าง น.สพ.เชาวพันธ์ ยินหาญมิ่งมงคล อาจารย์ประจำคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล หนึ่งในทีมหมอเหี้ยผู้รักษาน้องบุ๋ยจนหายดี
น.สพ.เชาวพันธ์ ยินหาญมิ่งมงคล หรือ หมออ้อย กล่าวว่า เหี้ยหรือตัวเงินตัวทอง เป็นสัตว์เลื้อยคลาน มีชื่อสามัญภาษาอังกฤษว่า "วอเตอร์มอนิเตอร์" (Water Monitor) และมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า "วารานุส ซาลเวเตอร์" (Varanus Salvator) พบได้ตามแหล่งน้ำหรือสถานที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์จึงเป็นดัชนีชี้วัดทางธรรมชาติได้อย่างดี
"เหี้ยเป็นกิ้งก่าขนาดใหญ่ ผิวหนังเป็นเกล็ดมีลายพาดขวางตามลำตัว ลักษณะเป็นดอกวงกลมสวยงามบ้างก็มีสีส้ม บ้างก็มีสีเหลืองทองแตกต่างกันไป ซึ่งความสวยงามแปลกตานี้ทำให้ชาวต่างชาติบางคนนิยมหนังเหี้ย เพราะมีความสวยงามไม่แพ้กับหนังจระเข้ที่นิยมนำไปทำเป็นกระเป๋าหรือหัวเข็มขัดเลย" หมออ้อย อธิบายเพิ่มเติม
เหี้ยมีนิ้วตีนรวมกัน 10 นิ้วคล้ายกับคน และมีลิ้น 2 แฉกคล้ายงู กินอาหารได้หลากหลายทั้งซากพืช ซากสัตว์ที่ตาย ลูกปลา กิ้งก่าตัวเล็กๆ ก็กินได้หมด เทียบกับเป็นสัตว์เทศบาลที่คอยเก็บกินสิ่งปฏิกูล และรักษาความสมดุลให้กับระบบนิเวศ
หมออ้อยกล่าวด้วยว่า เหี้ยเป็นสัตว์ที่ตื่นคน เป็นสัตว์ขี้ตกใจจึงไม่ทำร้ายคน หากคนไม่ไปทำร้ายมันก่อน ฉะนั้นเมื่อพบกับเหี้ยโดยบังเอิญให้หาไม้ยาวๆ หรือทำเสียงดังๆ เพื่อไล่มันไป อย่าทำร้ายมันจะดีที่สุด