xs
xsm
sm
md
lg

แอดมิต “น้องบุ๋ย” เหี้ยขวัญใจมหาชนหลังป่วยอีกรอบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

น้องบุ๋ย ขวัญใจชาว มหิดล ศาลายา
แอดมิตเรียบร้อย “น้องบุ๋ย” เหี้ยขวัญใจมหาชน ถูกหามขึ้นจากน้ำมาดูแลอีกครั้ง หลังอาการป่วยยังไม่ดีขึ้น ลอยตุ๊บป่องกลางน้ำอีกครั้งหลังรักษาเสร็จรอบแรกไปแล้วไม่กี่วัน สัตวแพทย์ชี้! ลำไส้ยังอักเสบไม่มีแรงหาอาหาร เกรงถูกปลา-เหี้ยด้วยกันรุมตอด จับพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลสัตว์ ให้น้ำเกลือยาฆ่าเชื้อ โด๊ปไข่ต้มวันละ 10 ฟอง

อ่านบทความก่อนหน้า >> เปิดใจหมอรักษา "เหี้ย" ครั้งแรก

หลังข่าวคราวอาการป่วยโรคทางเดินอาหารอักเสบของ “น้องบุ๋ย” เหี้ยป่วยแห่ง มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายาได้ถูกแชร์ออกไปตามสื่อสังคมต่างๆ ทำให้วันนี้น้องบุ๋ยกลายเป็นที่รู้จักจนขึ้นแท่นเป็น “เหี้ยมหาชน” เพราะไม่ว่าใครต่อใครก็ถามถึง และอยากทราบความคืบหน้าของอาการ ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ จึงติดต่อไปยัง “หมอต้น” อีกครั้ง เพื่ออัพเดทข่าวคราวและถามไถ่อาการของน้องบุ๋ย

“หมอต้น” หรือ รศ.น.สพ.ดร.จิตรกมล ธนศักดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชา เวชศาสตร์คลินิกและการสาธารณสุข คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เผยว่า ขณะนี้ได้นำ "น้องบุ๋ย" ขึ้นมารักษายังโรงพยาบาลสัตว์อีกครั้ง หลังจากรักษาและปล่อยลงแหล่งน้ำธรรมชาติครั้งแรกไปได้ไม่กี่วัน เพราะน้องบุ๋ยยังคงมีอาการอ่อนเพลีย หาอาหารเองไม่ได้ และลอยตุ๊บป่องขึ้นสู่ผิวน้ำอยู่บ้างเป็นครั้งคราวซึ่งถือเป็นอาการที่ผิดปกติไม่น่าไว้วางใจ

เขาและ "หมออ้อย" น.สพ.เชาวพันธ์ ยินหาญมิ่งมงคล ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์แปลก (Exotic pets) จึงลงความเห็นกันว่าควรนำน้องบุ๋ยขึ้นมาแอดมิดที่หน่วยสัตว์น้ำ โรงพยาบาลสัตว์ประศุอาทร คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหิดล ก่อนที่จะถูกปลาตอดจนได้รับบาดเจ็บเพิ่ม หรือถูกเหี้ยด้วยกันล่าเป็นอาหาร ซึ่งจะทำให้เกิดภาพที่ไม่น่าดูภายในมหาวิทยาลัย

“พอมันป่วย ไม่มีแรงหาอาหาร ล่าเองไม่ได้ ทีนี้มันก็จะกลายเป็นผู้ถูกล่าแทนโดยเหี้ยพวกเดียวกัน อีกอย่างคือถ้าปล่อยให้เขาลอยอยู่ในน้ำ ซึ่งเป็นคูที่อยู่ภายในคณะมีผู้คนเดินผ่านไปผ่านมาเยอะแยะ คงไม่น่าดูเท่าไร และถ้ามันตายคงเป็นเรื่องเป็นราวอีก ประกอบกับสภาพมันก็ไม่ค่อยดีจริงๆ จึงนำมาแอดมิดไว้ที่หน่วยสัตว์น้ำให้หมอสัตว์น้ำคอยช่วยดูแลไปเรื่อยๆ จนกว่ามันจะหายดี คราวนี้ไม่ทราบด้วยว่าจะนานเท่าไร อาจเป็นเดือน แต่เมื่อมันมีแรงมากๆ เมื่อไรก็จะปล่อยคืน เพราะเรารักษา เราไม่ได้เลี้ยง” หมอต้นกล่าว

สำหรับการแอดมิตหมอต้น ระบุว่า ได้จัดสถานที่ให้น้องบุ๋ยอยู่ในอ่างไฟเบอร์กลาสขนาดใหญ่ที่มีพื้นที่พอสมควร แล้วนำตาข่ายตากว้างคลุมรอบด้านบนอีกครั้ง แต่ไม่ได้ใส่น้ำให้อยู่ เพราะน้องบุ๋ยยังมีขี้เหลว จึงต้องให้อยู่แบบแห้งเพื่อรักษาอนามัย มิเช่นนั้นขี้ที่ออกมาจะละลายอยู่ในน้ำและปะปนกับน้ำกินทำให้อาการทางเดินอาหารอักเสบไม่หาย โดยจะใช้วิธีพรมน้ำเล็กน้อยไปที่ผิวแทนการแช่น้ำเพื่อให้มีความชุ่มชื้น และให้อาหารเป็นไข่ไก่ต้มวันละ 10 ฟอง แทนการให้อาหารสด เพราะค่อนข้างสะดวกและดีกับการรักษาทางเดินอาหารติดเชื้อ ควบคู่กับการฉีดยาฆ่าเชื้อและให้น้ำเกลือ เพราะน้องบุ๋ยค่อนข้างขาดน้ำจากอาการขี้เป็นน้ำ ซึ่งในส่วนนี้หมอต้นอธิบายว่าคล้ายการกินน้ำเกลือแร่ของคน เมื่อมีอาการท้องเสีย โดยจะประเมินการรักษาในตอนเย็นของทุกๆ วัน

“ผมว่าน้องบุ๋ยเขาก็อายุมากแล้วด้วยนะ ราวๆ 20 ปีได้ เพราะมีความยาวถึง 180 เซนติเมตร ด้วยความที่เขาอาจจะค่อนข้างแก่แล้ว การฟื้นฟูร่างกายจึงช้านิดนึง แต่ไม่น่าเป็นห่วงเพราะเขายังมีแรงอยู่บ้าง ยังมีความอยากกิน เราก็จะดูเขาไปเรื่อยๆ แหละครับ จนกว่าเขาจะปีนออกจากอ่างได้ เพราะถ้าปีนได้นี่คงแปลว่าแข็งแรงพอแล้ว ตอนนี้ก็ได้หมอสัตว์น้ำมาช่วยดูด้วย ผมกับหมออ้อยก็แวะเวียนกันมาดูอยู่ตลอด มีคนบริจาคไข่ต้มให้ด้วยนะ เพราะน้องบุ๋ยกลายเป็นที่เอ็นดูของคนไปหมดแล้ว แต่ประมาณไม่ได้จริงๆ ว่าเขาจะหายตอนไหน ไม่แน่อาจจะต้องอยู่เป็นเดือน” หมอต้น กล่าวทิ้งท้ายแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์

** รูปภาพทั้งหมดจาก รศ.น.สพ.ดร.จิตรกมล ธนศักดิ์
 น.สพ.เชาวพันธ์ ยินหาญมิ่งมงคล ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์แปลก (Exotic pets) นำน้องบุ๋ยเข้าแอดมิดที่หน่วยสัตว์น้ำ โรงพยาบางสัตว์ประศุอาทร ม.มหิดล
เจาะเลือดน้องบุ๋ยเพื่อนำไปวิเคราะห์อาการป่วย
น้องบุ๋ย ป่วยอีกครั้งด้วยอาการทางเดินอาหารอักเสบ อ่อนเพลีย จนทีมแพทย์ต้องนำตัวเข้าแอดมิด
สัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์น้ำ ให้น้ำเล็กน้อยแก่น้องบุ๋ยเพื่อระบายความร้อนและรักษาความชุ่มชื้น
มีการให้น้ำเกลือเพื่อชดเชยน้ำส่วนที่เสียไปจากภาวะท้องเสีย
รศ.น.สพ.ดร.จิตรกมล ธนศักดิ์ ผู้รักษาน้องบุ๋ย
กำลังโหลดความคิดเห็น