xs
xsm
sm
md
lg

ทบทวนความพร้อมหลัง “แผ่นดินไหว” ถล่มเชียงรายครบปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายธวัชชัย มโนใจ ชี้ร่องรอยความเสียหายของบ้านญาติที่ได้ซ่อมแซมด้วยการอุดรอยร้าว
ในขณะที่เนปาลกำลังเศร้าโศกจากเหตุแผ่นดินไหว บทเรียนครั้งใหญ่ของไทยก็ผ่านมาครบ 1 ปีแล้ว หลังแผ่นดินไหวขนาด 6.3 ใน อ.แม่ลาว จ.เชียงราย ซึ่งนับเป็นครั้งรุนแรงที่สุดในไทยเท่าที่ได้บันทึกมา แม้ไม่รุนแรงเท่าแผ่นดินไหวในญี่ปุ่น ชิลีหรือเนปาล แต่คนไทยทั้งประเทศได้เห็นภาพอาคารบ้านเรือนพังถล่ม และบางแห่งต้องรื้อทิ้ง เราได้บทเรียนอะไรและเราเตรียมพร้อมหรือยังสำหรับแผ่นดินไหวที่จะมาในครั้งหน้า?

“ไม่พร้อม” คือคำฟันธงจาก ศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย หัวหน้าโครงการลดภัยพิบัติแผ่นดินไหวในประเทศ ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เผยระหว่างนำคณะสื่อมวลชนร่วมติดตามผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงหลังเกิดแผ่นดินไหวที่ อ.แม่ลาว จ.เชียงราย ซึ่งในวันที่ 5 พ.ค.58 เป็นวันครบรอบ 1 ปีของเหตุการณ์ธรณีพิบัติ

แม้ว่าแผ่นดินไหวขนาด 6.3 ในครั้งนั้นเป็นแผ่นดินไหวรุนแรงที่สุดนับแต่ประเทศไทยเริ่มบันทึกการสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว แต่ ดร.เป็นหนึ่งระบุว่าทุกพื้นที่ของภาคเหนือมีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ได้ถึงขนาด 6.5 และบริเวณตามแนวรอยเลื่อนมีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ขนาด 6.8-7.2

“6.3 ที่แม่ลาวยังไม่ใช่ครั้งร้ายแรงที่สุด ยังมีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวอีกและแรงกว่านี้ แต่เรารู้เกี่ยวกับรอยเลื่อนน้อยมาก รอยเลื่อนที่ภาคเหนือมีการขยับตัว 1-2 มิลลิเมตรต่อปี เมื่อเทียบกับเนปาลที่เพิ่งเกิดแผ่นดินไหวใหญ่และแรงกว่ามีการขยับตัวของรอยเลื่อน 20 มิลลิเมตรต่อปี แต่ถึงรอยเลื่อนเราช้ากว่าแต่ก็เกิดแผ่นดินไหวใหญ่ได้” หัวหน้าโครงการลดภัยพิบัติแผ่นดินไหว สกว.กล่าว

โชคดีที่เหตุการณ์แผ่นดินไหวในแม่ลาวเกิดในอำเภอที่พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นทุ่งนา หากเกิดในเมืองที่มีอาคารสิ่งปลูกสร้างย่อมเกิดความเสียหายได้มากกว่านี้ ทว่าแม้จะเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงกว่านี้ แต่ ศ.ดร.เป็นหนึ่งระบึว่า หากเราออกแบบบ้านเรือนดีๆ ปัญหานี้ก็จบ เมื่อบ้านเรือนทนแรงแผ่นดินไหวก็จะไม่มีผู้เสียชีวิต แม้บ้านเรือนอาจมีความเสียหายบ้างแต่ไม่ถึงขั้นพังถล่ม
นายธวัชชัย มโนใจ ชี้กำแพงที่พังล้มจากแผ่นดินไหวและได้รับการซ่อมแซมและใช้เสาไม้ค้ำยัน
นางศรีจัน เจริญการ และนายสถิตย์ เจริญการ กับบ้านหลังใหม่ที่สร้างขึ้นหลังทุบบ้านหลังเก่าที่พังเสียหายจากแผ่นดินไหว
จากการสำรวจของศูนย์ประสานงานเพื่อตรวจสอบอาคารเนื่องจากภัยพิบัติแผ่นดินไหวจังหวัดเชียงราย (ศปอ.) กรมโยธาธิการและผังเมือง พบอาคารภายในรัศมี 5-10 กิโลเมตรเสียหายจำนวนมาก โดยเฉพาะอาคารบ้านเรือนใน ต.ดงมะดะ ของ อ.แม่ลาว และมีการจำแนกอาคารบ้านเรือนที่เสียหายให้อยู่ในกลุ่ม “สีแดง” คือเสียหายจนไม่สามารถอาศัยอยู่ได้จำนวน 173 หลัง

ศ.ดร.เป็นหนึ่งให้ข้อมูลอีกว่าประเทศไทยมีกฎหมายควบคุมอาคารในพื้นที่เสี่ยงแผ่นดินไหว แต่กฎหมายนั้นไม่ได้ครอบคลุมอาคารที่กว่า 15 เมตร ทว่าอาคารที่เสียหายจากเหตุแผ่นดินไหวที่แม่ลาวทั้งหมดเป็นอาคารขนาดเล็กและต่ำกว่า 15 เมตร ซึ่งรวมถึงอาคารเรียนที่ทางกระทรวงศึกษาธิการออกแบบเอง และยังมีอีกหลายหน่วยงานที่ออกแบบอาคารเองโดยไม่มีตัวแทนจากภายนอกเข้าไปตรวจสอบ
บ้านหลังเดิมของ นางศรีจัน เจริญการ และนายสถิตย์ เจริญการ ที่ยุบตัวเนื่องจากแผ่นดินไหว
ผ่านไป 1 ปีหลังแผ่นดินสะเทือนอาคารบ้านเรือนที่พังเสียหายได้รับการซ่อมแซม อาคารเรียนของหลายโรงเรียนถูกทุบทิ้งและก่อสร้างใหม่ ในจำนวนนั้นมีอาคารเรียน 4 หลังของ 4 โรงเรียน คือ โรงเรียนพานพิทยาคม โรงเรียนธารทองวิทยาคม โรงเรียนแม่ลาววิทยาคม และโรงเรียนโป่งแพร่วิทยา ที่ได้รับทุนทรัพย์ส่วนพระองค์จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อสร้างอาคารเรียนต้านทานแรงแผ่นดินไหวและออกแบบโดยทีมวิศวกรจากสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (ในพระบรมราชูปถัมภ์) หรือ วสท.

ทว่า จากการสำรวจของทีมวิจัย สกว.พบว่า อาคารบ้านเรือนของประชาชนส่วนใหญ่ที่เสียหายจากแผ่นดินไหว ยังซ่อมแซมโดยใช้โครงสร้างแบบเดิมที่ไม่สามารถรองรับแผ่นดินไหว โดยทีมวิจัยพบว่าอาคารส่วนใหญ่ที่พังเสียหายนั้นเป็นอาคารที่ก่อสร้างโดยไม่มีการออกแบบทางวิศวกรรม ใช้เสาคอนกรีตสำเร็จรูปขนาดเล็กเพียง 20 เซ็นติเมตร แต่ใช้ผนังคอนกรีตขนาดใหญ่และหนัก

ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ได้เข้าไปเยี่ยมชมบ้านของ นางศรีจัน เจริญการ และนายสถิตย์ เจริญการ ในพื้นที่ ต.ดงมะดะ ซึ่งเป็นบ้านทรงใต้ถุนเตี้ยที่ได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหวจนตัวบ้านยุบ แม้รูปทรงบ้านจะเหมือนบ้านหลังเดิม แต่เป็นบ้านที่สร้างขึ้นใหม่หลังจากทุบหลังเก่าที่เสียหายทิ้งทั้งหมด โดยใช้แบบบ้านเดิมแต่สร้างโครงสร้างใหม่ โดยใช้เหล็กเส้น 16 มิลลิเมตรจำนวน 6 เส้นและเหล็กปลอกเสริมความแข็งแรงให้แก่เสาบ้าน
นางศรีจัน เจริญการ ชี้ให้ดูรอยแตกจากแผ่นดินไหวของบ้านข้างเคียงที่ยังหลงเหลืออยู่
นายสนอง วรรณราช ผู้ใหญ่บ้าน ต.ดงมะดะ ชี้ร่องรอยความเสียหายของบ้านจากแผ่นดินไหว
ทีมข่าววิทยาศาสตร์ฯ ยังได้เยี่ยมชมบ้านของ นายสุวรรณ มโนใจ ภายใน ต.ดงมะดะ ซึ่งขณะเกิดแผ่นดินไหวเมื่อปีที่ผ่านมา บ้านหลังดังกล่าวอยู่ระหว่างก่อสร้างและพบความเสียหายบางส่วน และมีรอยแยกระหว่างผนังและเสาบ้าน จึงได้รับเลือกให้เป็นบ้านตัวอย่างในการทดลองใช้ตะแกรงเหล็กเสริมความแข็งแกร่งให้แก่ตัวบ้าน โดยใช้เป็นตัวยึดระหว่างเสาและผนัง

ทว่า บ้านส่วนใหญ่ในพื้นที่แผ่นดินไหวที่ได้รับความเสียหายยังคงซ่อมแซมให้พออาศัยได้ โดยนายธวัชชัย มโนใจ บุตรชายนายสุวรรณซึ่งอาศัยอยู่กับญาติระหว่างก่อสร้างบ้าน ได้นำทีมข่าววิทยาศาสตร์ไปเยี่ยมชมบ้านญาติอีกหลังที่ซ่อมแซมด้วยการอุดรอยร้าวของผนัง และทุบผนังแล้วก่อขึ้นใหม่ ขณะที่รอยแยกตามพื้นบางส่วนก็ปล่อยไว้โดยไม่ซ่อมแซม เนื่องจากไม่พบความเสียหายของโครงสร้าง

ด้าน รศ.ดร.ไพบูลย์ ปัญญาคะโป นักวิจัย สกว.และอาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม เผยว่า หลังเกิดแผ่นดินไหวแม่ลาว ได้เดินทางไปสำรวจความเสียหายของสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่ อ.แม่ลาว โดยพบว่า อาคารที่เสียหายส่วนใหญ่เป็นอาคารที่ขาดการออกแบบเชิงวิศวกรรม และใช้เสาโครงสร้างขนาดเล็ก รวมถึงสิ่งปลูกสร้างภายในวัดอย่างเสาของโถงศาลาของวัดดงมะดะแตกหักเสียหาย แต่หลังกลับไปสำรวจอีกครั้งพบว่ามีการซ่อมแซมแล้ว แต่ไม่ทราบว่าการซ่อมแซมนั้นได้เสริมความแข็งแรงให้อาคารด้วยหรือไม่หรือเพียงก่ออิฐสำเร็จอย่างเดียว หากเป็นอย่างหลังโครงสร้างก็ยังไม่แข็งแรงพอที่จะรับแรงจากแผ่นดินไหว
นายสุวรรณ มโนใจ กับบ้านที่กำลังก่อสร้างและเคยเสียหายจากแผ่นดินไหวระหว่างก่อสร้าง จึงได้ใช้ตะแกรงเหล็กเสริมความแข็งแรงให้ผนังบ้าน
พร้อมกันนี้ ทีมข่าววิทยาศาสตร์ยังได้เดินทางไปเยี่ยมบ้านของ นายสนอง วรรณราช ผู้ใหญ่บ้าน ต.ดงมะดะ ซึ่งเป็นบ้านปูนกึ่งไม้ 2 ชั้น โดยผลจากแผ่นดินไหวทำให้กระจกเหนือบานหน้าต่างแตกเสียหาย และแม้ได้รับเงินเยียวยาแล้วแต่ยังไม่ซ่อมแซม เพราะหวั่นจะเกิดแผ่นดินไหวซ้ำอีก เช่นเดียวกับลูกบ้านที่ส่วนใหญ่ยังหวาดผวาต่อแผ่นดินไหว โดยชาวบ้านต้องทนต่อแผ่นดินไหวตามที่เกิดขึ้นตามมาหลังแผ่นดินไหวใหญ่นานต่อเนื่องถึง 3 เดือน

“ตอนนี้ก็เงียบลงแล้ว แต่ตอนที่เกิดอาฟเตอร์ช็อค ผมต้องตระเวณเตือนลูกบ้านให้ออกไปอยู่ในที่โล่ง จะให้หลบอยู่ใต้โต๊ะนี่เป็นไม่ได้หรอก โครงสร้างอาคารบ้านเรือนเราไม่แข็งแรง มันไม่ปลอดภัย ต้องออกไปอยู่ในที่โล่งเท่านั้น” นายสนอง และบอกอีกว่าหลังแผ่นดินไหวแล้วสิ่งที่เฝ้าระวังเพิ่มเติมคือแผ่นดินถล่มโดยเฉพาะช่วงฤดูน้ำหลาก เพราะแผ่นดินไหวทำให้ดินแยกและอาจถล่มมาตามน้ำหลากได้
รศ.ดร.ไพบูลย์ ปัญญาคะโป ชี้จุดที่ได้รับการซ่อมแซมในบ้านของ นายสุวรรณ มโนใจ ที่กำลังก่อสร้าง และเสริมว่าผนังอาคารที่มีส่วนสำคัญต่อความแข็งแรงของบ้านคือผนังส่วนนอก
“หนึ่งปีผ่านมาในพื้นที่แผ่นดินไหวต่องเฝ้าระวังอะไรบ้าง เป็นที่แน่ชัดว่าแผ่นดินไหวขนาด 6.3 หรือใหญ่กว่านี้มีโอกาสเกิดขึ้นอีก ก่อนหน้านี้อาจจะเคยเกิดใหญ่กว่านี้แต่นี่เป็นครั้งแรกที่วัดได้ และดูจากศักยภาพแล้วคิดว่าจะเกิด 6-6.5 ที่ไหนก็ได้ ส่วนบริเวณรอยเลื่อนจะเป็น 6.8-7.2 ดังนั้น อาคารบ้านเรือนต้องแข็งแรงมากกว่านี้ เรามีวิธีออกแบบอาคารต้านทานแผ่นดินไหวหลายแบบ ตอนนี้เรามีคอนกรีตเสริมเหล็ก และอาคารโครงเหล็ก อนาคตเราอาจจะเห็นอาคารอีกหลายรูปแบบ และอาจราคาใกล้เคียงกับบ้านที่สร้างปกติ” ศ.ดร.เป็นหนึ่งกล่าว

แม้ว่าตอนนี้เราอาจยังไม่ค่อยพร้อมในการับมือแผ่นดินไหว แต่ ศ.ดร.เป็นหนึ่งยังมองในแง่ดีว่ามีการตื่นตัวพอสมควร แต่ยังคงต้องปรับปรุงต่อไป และไม่ใช่แค่มีกฎหมายแล้วจะแก้ปัญหาได้ แค่ทั้งวิศวกร สถาปนิก เจ้าของอาคารและช่างก่อสร้างต้องมีความรู้ความเข้าใจ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีการเรียนการสอนเรื่องนี้ในระดับปริญญาตรี แต่เราก็เห็นผลชัดแล้วว่าแผ่นดินไหวทางภาคเหนือทำให้อาคารบ้านเรือนพังได้
ศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย
รศ.ดร.ไพบูลย์ ปัญญาคะโป ชี้จุดที่พบความเสียหายของเสาศาลาวัดและได้รับการซ่อมแซมแล้ว






*******************************



กำลังโหลดความคิดเห็น