ใครเคยใช้ใบมีดตัดเซคชั่นเนื้อเยื่อพืช ตอน ม.4 บ้าง ? ยกมือขึ้น ! ยากใช่ไหมกว่าจะได้เนื้อเยื่อพืชบางสวยมาใส่แผ่นสไลด์ให้ศึกษาโครงสร้างภายในใต้กล้องจุลทรรศน์กัน แต่ปัญหานี้กำลังจะหมดไปด้วยเครื่องมือง่ายๆ สไตล์บ้านๆ แค่หมุนแล้วตัด ไอเดียง่ายๆ แต่ใช้ได้จริง ที่จะมาช่วยให้วิชาปฏิบัติการวิชาชีววิทยา ม.4 เรื่องพืช ไม่น่าเบื่ออีกต่อไป
SuperSci สัปดาห์นี้พาไปดูสิ่งประดิษฐ์สุดเจ๋ง ที่ได้ไอเดียมาจากปัญหาการตัดเนื้อเยื่อพืชให้บางสวยที่ยากแสนยากในวิชาชีววิทยาของนักเรียนระดับชั้น ม.4
น.ส.อรปรียา ผลศิริ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์ จ.ระยอง เผยแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า เครื่องตัดเนื้อเยื่อพืชที่เธอและคุณครูได้ร่วมกันประดิษฐ์ขึ้น มีแนวคิดมาจากปัญหาที่พบบ่อยในห้องเรียนชีววิทยา ระดับ ม.4 ที่จะต้องเรียนรู้เรื่องพืช ทั้งโครงสร้างภายนอกและโครงสร้างภายใน ซึ่งการศึกษาโครงสร้างภายในจะทำโดยการตัดขวางเนื้อเยื่อ (Cross Section) ให้มีขนาดบางที่สุดแต่ยังคงโครงสร้างเนื้อเยื่อพืชชัดเจนก่อนจะนำมาย้อมสีเพื่อส่องใต้กล้องจุลทรรศน์ ซึ่งเธอคิดว่าเป็นขั้นตอนที่ค่อนข้างยาก ต้องใช้เวลาและฝีมือพอสมควร จนทำให้เธอและเพื่อนๆ ส่วนใหญ่เสียเวลากับการตัดเนื้อเยื่อพืชนานนับชั่วโมงกว่าจะได้ส่องกล้องหรือเรียนรู้เรื่องอื่นๆ
อรปรียาและเพื่อนจึงปรึกษากับอาจารย์ของเธอคือ อ.มนต์ระวี บรรจงจิตต์ ที่สอนวิชาชีววิทยาในขณะนั้น เพื่อคิดประดิษฐ์เครื่องตัดเนื้อเยื่อแบบง่ายๆ เพื่อให้การจัดเนื้อเยื่อทำได้ง่ายขึ้นและอันตรายน้อยลง โดยอาศัยหลักการหมุนและเฉือนแบบต่างระดับของใบมีดและเนื้อเยื่อ ที่ประกอบขึ้นด้วยวัสดุเหลือใช้จากที่บ้านและในห้องเรียน เริ่มแรกจากการใช้แผ่นซีดีเหลือใช้ 2 แผ่น ประกอบเข้ากับด้ามปากกาไวท์บอร์ดติดใบมีดแบบมือถือ ก่อนจะพัฒนามาเป็นแผ่นซีดีกับด้ามปากกาไวท์บอร์ดแบบมีฐานตั้ง และแบบที่พัฒนาขึ้นล่าสุดเป็นแบบอะลูมิเนียมที่มีความแข็งแรงและมีช่องสำหรับใส่เนื้อเยื่อพืชได้หลายขนาดตั้งแต่แท่งหัวไชเท้าขนาดเท่าแท่งปากกา จนไปถึงลำต้นหมอน้อยที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางไม่กี่มิลลิเมตร
“จะส่องกล้องดูเนื้อเยื่อได้มันต้องบางใช่ไหมละค่ะ แต่การจะตัดให้เนื้อเยื่อพืชอันเล็กๆ ให้บางได้นี่ไม่ง่ายเลย ต้องเพ่งกันปวดตา ยิ่งเพื่อนผู้ชายยิ่งแล้วใหญ่ไม่เคยจับมีด เลยตัดกันไม่ได้เสียเวลามาก เลยไปปรึกษากับคุณครูว่าจะมีเครื่องอะไรไหม ที่ช่วยให้เราตัดเนื้อเยื่อพืชได้บางถูกใจ แล้วก็มีราคาไม่แพง ซึ่งก็ลงตัวเป็นสิ่งประดิษฐ์นี้ออกมาค่ะ ถึงหน้าตามันจะยังไม่สวยเท่าไหร่แต่การใช้งานมันทำได้ดีมาก แถมไม่ต้องเสียเงินอะไรเลยเสียแค่ค่าใบมีดเท่านั้นสำหรับรุ่นก่อนๆ แล้วก็เพียงไม่กี่ร้อยเท่านั้นสำหรับอะลูมิเนียม เป็นไอเดียง่ายๆ ที่เราคิดขึ้นแล้วก็คิดว่าน่าจะเป็นที่แรกที่ทำสิ่งประดิษฐ์ออกมาในรูปแบบนี้ โรงเรียนไหนอยากทำก็ทำได้เลย ไม่ยากแล้วก็ใช้ได้จริงๆ ในห้องชีววิทยา ” นิภาธร ศรีสุขโข นักเรียนผู้ประดิษฐ์เครื่องตัดเนื้อเยื่ออีกคนหนึ่งทีม กล่าวทิ้งท้ายแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์
โดยผลงานเครื่องตัดเนื้อเยื่อพืชเป็น 1 ในสิ่งประดิษฐ์กว่า 600 ผลงานที่นำมาจัดแสดงในงานวันนักประดิษฐ์ ที่จัดขึ้นเมื่อต้นเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา โดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ณ อิมแพ็คเมืองทองธานี
*******************************