xs
xsm
sm
md
lg

เตรียมเจาะน้ำแข็งขั้วโลกใต้ย้อนรอย "สารก่อมะเร็ง"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สถานีวิจัยขั้วโลกวอสตอก (photo credit: REUTERS/ALEXEY AKAIKIN)
นักวิจัยไทยเตรียมตะลุยน้ำแข็งขั้วโลกใต้ ค้นหาความลับสารก่อมะเร็งตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน หวังทำดัชนีชี้วัดปริมาณสารเคมีก่อมะเร็งจากการขนถ่ายระยะไกลเป็นฐานข้อมูลโลก พร้อมออกเดินทาง ก.พ.59 ตามโครงการวิจัยขั้วโลกสมเด็จพระเทพฯ พร้อมคณะวิจัยจากจีน 

“ถ้าอยากทราบความเป็นไปของอนาคต สิ่งที่มนุษย์เดินดินอย่างเราทำได้ คือ ศึกษาอดีต เพราะประวัติศาสตร์มักซ้ำรอยเสมอ” หนึ่งในประโยคชวนคิดจากปาก นักวิจัยภัยพิบัติมือทองของไทย รศ.ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ที่กล่าวแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์

รศ.ดร.ศิวัช เผยว่า ปกติแล้วเขาทำวิจัยเกี่ยวกับภัยพิบัติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมาโดยตลอด แต่เมื่อโรคร้ายอย่างมะเร็งเริ่มคุกคามชีวิตคนทั่วโลกมากขึ้น เขาจึงหันมาให้ความสนใจกับสารเคมีก่อมะเร็งด้วยการศึกษามลพิษปนเปื้อนในอากาศ โดยมุ่งไปที่การศึกษาดัชนีชี้วัดสารก่อมะเร็งของโลกตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

หากแต่การจะหาดัชนีอ้างอิงสารก่อมะเร็งระดับโลกเพื่อหาค่าเฉลี่ยนั้น รศ.ดร.ศิวัช ระบุว่าจะต้องทำวิจัยในพื้นที่ที่สะอาดที่สุดของโลก คืออยู่ห่างไกลชุมชนและโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งดูเหมือนว่า "ขั้วโลกใต้" จะเป็นสถานที่เพียงแห่งเดียวที่มีคุณสมบัตินี้ อีกทั้งยังเป็นแหล่งรวมข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

เมื่อจุดมุ่งหมายงานวิจัยเด่นชัด รศ.ดร.ศิวัช จึงส่งร่างการวิจัยสารก่อมะเร็งจากการแพร่ระยะไกลขั้วโลกใต้ เพื่อขอรับทุนโครงการวิจัยขั้วโลกในพระราชดำริฯ ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อเดินทางไปทำวิจัยร่วมกับนิสิตระดับปริญญาเอก จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอีก 1 คน ณ สถานีวิจัยวอสตอค ขั้วโลกใต้ ในเดือน ก.พ. 2559 ที่จะถึงนี้

นอกจากนี้ รศ.ดร.ศิวัช ยังระบุด้วยว่านอกจากขั้วโลกใต้จะเป็นแหล่งที่ "น่าจะสะอาดที่สุดในโลก" แล้ว น้ำแข็งของขั้วโลกใต้ยังเป็นเหมือนแหล่งรวมประวัติศาสตร์ เพราะชั้นน้ำแข็งมีการสะสมตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่แสนหรือหมื่นปีก่อน และจากหลักฐานทางธรณีวิทยายังบอกอีกด้วยว่าแผ่นน้ำแข็งขั้วโลกใต้ในอดีต อาจจะไม่ได้อยู่ในตำแหน่งเช่นทุกวันนี้ อาจอยู่ในเขตที่ร้อนกว่า ซึ่งน่าจะทำให้ได้ข้อมูลที่มีความหลากหลาย ครอบคลุมเพียงพอ สำหรับการศึกษาเพื่อหาดัชนีอ้างอิงมลพิษต่ำสุดของโลก

“ความจริงบนโลกนี้ไม่มีที่ไหนสะอาดที่สุดหรอกครับ เพราะมลพิษมันอยู่ในอากาศมีโอกาสล่องลอยข้ามพรมแดนไปได้ทั่วโลก แต่ขั้วโลกใต้มันอยู่ห่างไกลแหล่งมลพิษเหล่านั้นมากกว่าที่อื่นๆ ผมจึงสันนิษฐานว่ามันน่าจะมีการปนเปื้อนสารพิษน้อยที่สุด แล้วถ้าเป็นอย่างนั้นจริง เราก็จะมีฐานข้อมูลสำหรับการเทียบค่าสารก่อมะเร็งในพื้นที่ที่มีการปนเปื้อนน้อยที่สุด ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับมลพิษและสารก่อมะเร็งของนักวิจัยทั่วโลก”

ทั้งนี้ รศ.ดร.ศิวัช ได้อธิบายวิธีการการทำงานคร่าวๆ แก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ด้วยว่า จะเริ่มตั้งแต่การเจาะชั้นดินและชั้นน้ำแข็งลงไปที่ความลึกต่างๆ ซึ่งน้ำแข็งที่อยู่ลึกมากจะแปลว่ายิ่งเก่าแก่ เช่นเดียวกับธรณีสัณฐานแบบเดียวกับชั้นดิน จากนั้นจะนำเข้าสู่เครื่องตัด เพื่อสไลด์แท่งน้ำแข็งออกมาเป็นแผ่นบางๆ ระดับมิลลิเมตร ที่จะเผยให้เห็นฟองอากาศที่แทรกอยู่ภายใน ซึ่ง “ฟองอากาศในน้ำแข็ง” นี่เองที่เป็นหลักใหญ่ใจความของงานวิจัยชิ้นนี้

เนื่องจากฟองอากศแต่ละฟองมีลักษณะและองค์ประกอบทางกายภาพภายในที่แตกต่างกัน โดยภายในน้ำแข็งแผ่นหนึ่งจะประกอบไปด้วยฟองอากาศจากออกซิเจน ไนโตรเจน คาร์บอนไดออกไซด์ และเมื่อนำน้ำแข็งมาละลายและเก็บก๊าซดังกล่าวมาตรวจสอบ จะสามารถวิเคราะห์ย้อนกลับไปได้ว่า ณ เวลาใด เคยมีมลพิษหรือสารก่อมะเร็งอยู่เท่าไร และปัจจุบันขั้วโลกใต้ได้รับสารเคมีปนเปื้อนจากการขนถ่ายระยะไกล หรือการพัดพาควันมลพิษจากแผ่นดินใหญ่มามากหรือน้อยขนาดไหนแล้ว

“ผมหวังว่างานวิจัยที่ผมกำลังจะเดินทางไปทำจะช่วยชี้ได้ว่าสารก่อมะเร็งโลกกำลังเดินไปไหนทิศทางไหน มากลง น้อยลง และพื้นที่ไหนในโลกบ้างที่กำลังเผชิญกับความเสี่ยง เพราะที่ผ่านมา มีการทำวิจัยเพื่อเก็บค่าสารก่อมะเร็งในเมืองใหญ่ๆ แล้วหลายประเทศ ทั้วญี่ปุ่น แคนาดา สหรัฐฯ แต่กลับไม่มีดัชนีอ้างอิงว่าตัวเลขเท่าไรคือค่าน้อยสุด หรือจุดที่สะอาดที่สุดคือเท่าไร ซึ่งถ้างานวิจัยของผมสำเร็จไปได้ด้วยดี ผมเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า วงการวิจัยสารก่อมะเร็งของโลกจะต่อยอดไปได้อีกมากทีเดียว” รศ.ดร.ศิวัช กล่าว
รศ.ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์






*******************************

แม่คำนาง ศรีสะอาด ชาวบ้านในพื้นที่บ้านคำปลาหลาย จ.ขอนแก่น ปรับตัวรับแล้งด้วยการปลูกพืชใช้น้ำน้อย เช่น ดาวเรือง มะลิ รัก มะนาว พริก แทนการปลูกข้าว สร้างรายได้เดือนละ 4 หมื่นบาท โดยใช้น้ำจากสระเก็บกักในหมู่บ้าน หน้าแล้งนี้จึงไม่มีอดตาย อ่านต่อเพิ่มเติม www.manager.co.th/science #sciencenews #savewater #adtvscience #kohkhean #thailand #farmer #water #crisis #flower #garden

รูปภาพที่โพสต์โดย AstvScience (@astvscience) เมื่อ



กำลังโหลดความคิดเห็น