เมื่อ Patricia Malvern ถือกำเนิดในวันที่ 5 มีนาคม ค.ศ.1946 ที่ห้องพักขนาดเล็กแห่งหนึ่งในเมือง Cheltenham ของอังกฤษ สมุดบันทึกประวัติของเธอได้ระบุว่า เมื่อแรกเกิดเธอหนัก 4 กิโลกรัม อีกหนึ่งวันต่อมา David Ward ก็ได้ออกมาลืมตาดูโลกบ้างที่โรงพยาบาลซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามกับ Hampton Court ใกล้กรุงลอนดอน บันทึกประวัติของ Ward ก็ระบุว่า เขามีน้ำหนักตัวน้อยมาก เพราะผอมแห้งเหมือนเขียด
ถึงวันนี้ Malvern และ Ward ได้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่กำลังก้าวเข้าสู่วัยชราแล้ว ทั้งสองมีประวัติชีวิตพิเศษที่แตกต่างจากคนในวัยเดียวกัน คือ เป็นคนสองคนในจำนวน 16,695 คนที่เกิดในปี 1946 ในสหราชอาณาจักรอังกฤษที่นักสำรวจแห่งโครงการ National Survey of Health and Development ของหน่วยวิจัยแพทย์ศาสตร์ (Medical Research Council) ของอังกฤษได้เก็บข้อมูลสุขภาพซึ่งหมายถึงโรคภัยไข้เจ็บ การเลี้ยงดู และข้อมูลสภาพแวดล้อมตั้งแต่เกิด เป็นเวลาติดต่อกันนานร่วม 70 ปีแล้ว
ข้อมูลชีวิตที่ถูกเก็บรวบรวม ได้แก่ อาชีพของบิดามารดา ของบรรพบุรุษ สภาพบ้านที่อยู่อาศัย รายได้ของครอบครัว สภาพที่ทำงาน ฯลฯ ตั้งแต่วัยเด็ก วัยหนุ่มสาว ตลอดจนถึงวัยชรา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหารการกิน การออกกำลังกาย หรือโรคที่กำลังคุกคามชีวิต ฯลฯ เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญด้านประชากรศาสตร์ได้วิเคราะห์ ข้อมูลด้านสุขภาพและด้านจิตใจ โดยการติดตามสัมภาษณ์บุคคลเหล่านี้ตลอดเวลาที่ยาวนาน
คนกลุ่มนี้จึงเป็นกลุ่มคนที่ได้รับการวินิจฉัยสุขภาวะของร่างกายและจิตใจเป็นอย่างดีและต่อเนื่องกันนานที่สุดในโลก ซึ่งข้อมูลทั้งหลายที่ได้มาทำให้นักวิจัยสามารถติดตามความสำเร็จหรือความล้มเหลวในชีวิตของผู้ถูกสัมภาษณ์ได้ และช่วยให้รู้ด้วยว่า อะไรคือปัจจัยสำคัญที่มีส่วนควบคุมวิถีชีวิตของคนแต่ละคน
ข้อมูลบางข้อมูลได้สร้างความประหลาดใจให้แก่คณะสำรวจมาก เช่น ทารกหญิงที่น้ำหนักตัวค่อนข้างมากเมื่อคลอดใหม่ๆ เมื่อเป็นผู้ใหญ่มักป่วยเป็นมะเร็งเต้านม ส่วนเด็กทารกที่เกิดในครอบครัวที่มีฐานะทางสังคมต่ำ เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่มักเป็นโรคอ้วน และสตรีที่มี IQ สูงจะหมดระดูช้ากว่าคนที่มี IQ ต่ำ สำหรับเด็กวัยรุ่นที่ต้องนอนซมล้มป่วยในโรงพยาบาลนานกว่า 1 สัปดาห์ มักมีปัญหาทั้งด้านการเรียนและพฤติกรรม แต่เด็กที่เกิดในครอบครัวที่มีฐานะทางสังคมดี มักมีร่างกายที่สมส่วน และเรียนดีทั้งในระดับโรงเรียนและมหาวิทยาลัย อีกทั้งมักไม่เป็นโรคหัวใจ
ตลอดเวลา 70 ปี ที่โครงการนี้ได้ดำเนินมา นักวิจัยในโครงการได้เผยแพร่ข้อมูลในรูปของบทความวิจัยกว่า 700 ชิ้น และหนังสือ 8 เล่ม โดยได้เสนอข้อสรุปที่สำคัญว่า ชีวิตเริ่มต้นของคนทุกคนมีความสำคัญต่อชีวิตของคนๆ นั้นในบั้นปลายมาก
สำหรับประเด็นเรื่องโรคที่มักทำให้คนเหล่านี้เสียชีวิต ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจระบุว่าส่วนใหญ่เกิดจากวิธีการดำเนินชีวิต และประสบการณ์สะสมของคนนั้นก่อนจะเป็นโรค ในกรณีคนที่ชราเร็วหรือชราช้า ผู้สำรวจก็ใคร่รู้ว่าเกิดจากสาเหตุใด คนที่ถูกสำรวจในโครงการนี้ทุกคนได้รับการตรวจสอบโดยแพทย์ที่ใช้อุปกรณ์การแพทย์ที่ทันสมัย เพื่อวัดความดัน วิเคราะห์ภาวะกระดูกเสื่อม ความสมบูรณ์ของกล้ามเนื้อ รวมถึงการวัดปริมาณไขมันในเลือด และวัดคุณภาพของความทรงจำ รวมถึงความคล่องแคล่วว่องไวของร่างกายเวลาจะลุกหรือนั่งเก้าอี้ด้วย
ผู้ถูกสำรวจบางคนอาจได้รับการทดสอบในประเด็นว่า พันธุกรรมของคนได้รับผลกระทบเพียงใดจากประสบการณ์ชีวิต ซึ่งทำให้คนๆ นั้นเป็นโรคอ้วน หรือมะเร็ง งานวิจัยยังศึกษาด้วยว่า ความไม่เท่าเทียมกันในสังคมมีผลเช่นไรต่อการเปลี่ยนแปลงของยีน (gene) ดังนั้น การสำรวจนี้จึงเป็นการสำรวจที่ “ไม่ธรรมดา” เพราะได้เก็บข้อมูลและวิเคราะห์คนตัวเป็นๆ ตั้งแต่เกิดจน “ตาย”
สำหรับผลกระทบทางสังคมที่ได้จากการสำรวจนั้นก็มีมากมาย ดังจะเห็นได้จากเรื่องการศึกษา เพราะในปี 1944 ที่รัฐบาลอังกฤษได้ออกกฎหมายให้มีการทดสอบเด็กอายุ 11 ขวบทุกคนทั่วประเทศ (ซึ่งเรียกว่า 11+ หรือ eleven plus) เพื่อให้เด็กที่ฉลาด ไม่ว่าจะมีฐานะทางสังคมเช่นไร ได้เข้าโรงเรียนที่มีชื่อเสียง การสำรวจได้ข้อมูลสรุปที่แสดงว่า เด็กฉลาดที่มีบิดามารดาเป็นชนชั้นกลางส่วนใหญ่จะสอบ 11+ ผ่าน และเรียนได้ดีกว่า เด็กฉลาดที่บิดามารดาเป็นชนใช้แรงงาน แต่งานวิจัยก็ได้แสดงว่าการได้ครูดี และการมีพ่อแม่ที่สนับสนุนลูกก็มีบทบาทมากในความสำเร็จของลูก หนังสือ “The Home and the School” และ “All Our Future” ที่โครงการนี้ตีพิมพ์เผยแพร่ในปี 1964 และ 1968 ตามลำดับได้มีส่วนช่วยให้บรรดาโรงเรียน comprehensive ของอังกฤษในยุค 19660 ไม่กำหนดเกณฑ์ในการเลือกเด็กเข้าเรียนจากฐานะทางสังคมของบิดามารดา
ในช่วงปี 1975 ซึ่งเป็นเวลาที่บรรดาผู้ถูกสำรวจกำลังมีอายุย่างเข้า 30 ปี คำถามที่มีการถามบ่อยมักเกี่ยวกับการศึกษาและอาชีพ ซึ่งก็ได้คำตอบจนหมดสิ้น และคำถามต่อไปคือ คำถามสุขภาพ โดยเฉพาะเมื่อผู้ถูกสำรวจมีอายุ 36 ปี 43 ปี และ 53 ปี โดยคนเหล่านี้จะถูกถามเรื่องความสามารถทางกาย และสุขภาวะโดยทั่วไป ซึ่งรวมถึงความดันเลือด การทำงานของหัวใจและปอด การกินอาหาร การออกกำลังกาย เพื่อจะได้ข้อสรุปว่า ชีวิตเริ่มต้นของคนแต่ละคน มีผลเช่นไรต่อสุขภาพของคนๆ นั้น ณ เวลาที่ถูกสำรวจอันจะเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนรับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ในปี 1985 ข้อมูลที่เก็บได้จากการสำรวจแสดงว่า ทารกที่น้ำหนักตัวแรกเกิดค่อนข้างต่ำ เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่มักเป็นโรคความดันโลหิตสูง นั่นคือสภาพร่างกายของทารกมีแนวโน้มว่าสามารถกำหนดสุขภาพของคนในวัยกลางคนได้ โดยเฉพาะเด็กที่มีน้ำหนักตัวน้อยมากเมื่อคลอด จะมีโอกาสเป็นโรคหัวใจค่อนข้างสูง
การสำรวจยังแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างสภาพชีวิตของทารกแรกเกิดกับโอกาสการเป็นโรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง และโรคจิตเภทด้วย เช่น ได้พบว่าเด็กที่ผอมตอนคลอด เวลาเป็นคนชรา กล้ามเนื้อของร่างกายมักไม่แข็งแรง ส่วนเด็กที่เติบโตเร็วมักมีโอกาสเป็นโรคหัวใจค่อนข้างสูง
ความน่าสนใจในข้อสรุปนี้ จึงมีประเด็นว่า สภาพชีวิตของทารกแรกเกิด สามารถกำหนดสภาพชีวิตบั้นปลายได้อย่างไร แต่การสรุปในประเด็นนี้ นักวิชาการหลายคนไม่เห็นด้วย เพราะคิดว่า โรคภัยต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็นผลจากประสบการณ์สั่งสมที่คนๆ นั้นได้รับมาก่อนเป็นโรค และการศึกษาที่คนนั้นได้รับตลอดจนการบริโภคอาหารที่ถูกสุขลักษณะก็สามารถเปลี่ยนสุขภาพจากที่ไม่ดีให้เป็นที่ดีได้ นอกจากนี้ข้อมูลก็ยังแสดงให้เห็นอีกว่า คนที่มีอายุ 30-40 ปีถ้าได้ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จะทำให้ความสามารถในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เป็นไปได้เร็วกว่าคนที่ไม่ออกกำลังกาย
เมื่อถึงกลางทศวรรษของปี 1980 ขณะนั้นผู้ถูกสำรวจมีอายุ 50 ปี ควรมีรายได้พอสมควร มีการบริโภคอาหารดี และมีรถส่วนตัวใช้แล้ว งานสำรวจแสดงข้อมูลว่าทุกคนในทุกฐานะทางสังคมมีน้ำหนักตัวเพิ่มอย่างรวดเร็ว ข้อมูลด้าน IQ ก็แสดงให้เห็นว่า เด็กผู้หญิงที่มี IQ สูง จะหมดระดูช้ากว่าเด็กผู้หญิงที่มี IQ ต่ำกว่าเป็นเวลาหลายปี ซึ่งคำอธิบายในประเด็นนี้มีว่า พัฒนาการทางสมองของเด็กผู้หญิงมีผลต่อการผลิตฮอร์โมนเพศ ดังนั้นในสตรีที่มี IQ สูง สมองของเธอจะมีพัฒนาการรอบด้าน เธอจึงสามารถสืบพันธุ์ได้เป็นเวลานานกว่าคนที่มี IQ ต่ำ
ในปี 2005 เมื่อผู้ถูกสำรวจมีอายุ 60 ปีและเริ่มมีปัญหาสุขภาพ ทีมสำรวจได้ใช้นักระบาดวิทยาแพทย์และนักพันธุศาสตร์เป็นที่ปรึกษาหลัก เพราะผู้ถูกสำรวจเริ่มมีอาการเป็นโรคและล้มป่วยบ่อย การศึกษารหัสพันธุกรรม และการวิเคราะห์ทางการแพทย์จึงมีบทบาทในการสรุปผลมาก และการสำรวจก็ได้แสดงให้เห็นว่า ยีน 2 ตัว ชื่อ FTO และ MC4K มีบทบาทในการควบคุมโรคอ้วน ในการวิเคราะห์ DNA ของผู้ถูกสำรวจเมื่อปี 1999 ก็ได้แสดงให้เห็นว่ายีนทั้งสองตัวกับน้ำหนักตัวมีความเกี่ยวพันกันอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะในวัยเด็ก แต่ความสัมพันธ์นี้ได้ลดลงๆ เมื่อคนมีอายุมากขึ้น
ถึงวันนี้ผู้ถูกสำรวจประมาณ 15% ได้เสียชีวิตไปแล้ว และที่เหลือส่วนใหญ่ก็มีอายุเกิน 60 ปี ด้านสตรีที่มีฐานะทางสังคมดีก็ได้เสียชีวิตประมาณครึ่งครึ่งของคนกลุ่มอื่น บทเรียนหนึ่งที่ได้จากการศึกษานี้ คือ หลังจากที่คนกลุ่มนี้ได้ตายไป ไม่ว่าจะเป็นคนจนหรือคนรวย ผู้หญิงหรือผู้ชาย DNA ของเขาทุกคนจะยังถูกเก็บแช่แข็งอยู่ในไนโตรเจนเหลว และข้อมูล DNA เหล่านี้ได้ถูกส่งไปเก็บในคอมพิวเตอร์เพื่อเป็นข้อมูลประวัติส่วนตัวของคนๆ นั้นตลอดไป
ไม่เพียงแต่ในอังกฤษเท่านั้นที่มีการสำรวจระยะยาวทำนองนี้ ในอเมริกาก็มีนักจิตวิทยาชื่อ Lewis Terman แห่งมหาวิทยาลัย Stanford ซึ่งมีความสนใจใคร่รู้ว่าอะไรคือปัจจัยที่ทำให้คนมีชีวิตยืนยาน มีสุขภาพดี และประสบความสำเร็จในการดำเนินชีวิตเช่นกัน
โดยในปี 1921 Terman ได้คัดเลือกเด็กวัย 11 ปีที่มี IQ สูงประมาณ 1,500 คนจากโรงเรียนมัธยมในรัฐ California แล้วติดตามวิถีชีวิตของเด็กเหล่านี้จนกระทั่งเติบโตเป็นผู้ใหญ่ เพื่อวิเคราะห์ว่ามีปัจจัยอะไรที่ทำให้ชีวิตเด็กเหล่านี้ประสบความสำเร็จ
ในปี 2011 นักจิตวิทยาชื่อ Howard S. Friedman และ Leslie R. Martin ได้เรียบเรียงหนังสือชื่อ “The Longevity Project: Surprising Discoveries for Health and Long Life from the Landmark Eight-Decade Study” ซึ่งจัดพิมพ์โดย Hudson Street Press/Hay House หนังสือนี้ได้นำโครงการที่ริเริ่มโดย Terman มาเสนอข้อมูลด้านสุขภาพ และอายุขัยของคนตั้งแต่วัยรุ่นจนถึงวัยชราซึ่งได้สำรวจมาตลอดเวลา 80 ปี แม้คนหลายคนในกลุ่มตัวอย่างจะเสียชีวิตไปแล้ว ผู้เขียนก็ได้นำมรณบัตรซึ่งบอกสาเหตุของการตายมาวิเคราะห์ด้วย
ในภาพรวมหนังสือเล่มนี้ได้วิเคราะห์เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตของคนว่ามีบทบาทอย่างไรและเพียงใดในเรื่องสุขภาพของคนๆ นั้น และได้ข้อสรุปที่เป็นที่รู้กันดี เช่นว่า บุหรี่ทำให้ชีวิตสั้นจริง แต่ข้อสรุปบางเรื่องก็ได้ทำให้หลายคนประหลาดใจ เช่น การทำงานอย่างทุ่มเทเป็นเวลานานเพื่อความก้าวหน้าในชีวิตเป็นสิ่งดี สำหรับคนที่ต้องการมีสุขภาพดี และมีอายุยืน
ส่วนคนที่ทำงานแบบเช้าชาม-เย็นชาม และไม่ทะเยอทะยานอะไรเลยจะมีอายุสั้น และสุขภาพไม่เอาไหน สำหรับเรื่องการแต่งงาน การมีคู่ครองจะให้ผลดีต่อผู้ชายมากกว่าผู้หญิง และเวลามีการหย่า จิตใจและสุขภาพของผู้ชายจะถูกกระทบกระเทือนมากกว่าผู้หญิง ดังจะเห็นได้ว่า หลังการหย่าร้างผู้ชายมักจะหันไปคลายทุกข์ด้วยการดื่มสุราหรือติดยา
ในประเด็นการทำงานเพื่อสังคมนี่เป็นปัจจัยบวกต่อสุขภาพของผู้หญิง และการบริโภคอาหารที่มีไขมันน้อย หรือการวิ่งเหยาะๆ ไม่มีบทบาทมากต่อการมีชีวิตยืนนานเท่ากับการมีทัศนคติบวกในการดำรงชีวิต
Friedman และ Martin ยังได้เสนอการวิเคราะห์บุคลิกภาพของบุคคลว่ามีการอิทธิพลต่อวิถีชีวิตอย่างไร โดยใช้บันทึกที่ Terman ได้เก็บรวบรวมมาอย่างละเอียด จากการสัมภาษณ์บิดามารดา และครูของเด็กที่ถูกสัมภาษณ์ และได้พบว่า หลังจากที่เวลาผ่านไป 20 ปีบุคลิกต่างๆ ก็ยังปรากฏในคนๆ นั้นต่อไป
นักวิจัยทั้งสองยังได้พบว่า ตัวพยากรณ์ที่ดีที่สุดในการทำให้คนมีชีวิตยืนนาน คือ จิตสำนึกที่ดี เพราะคนที่มีจิตสำนึกดี จะดำเนินชีวิตอย่างระมัดระวังและมุ่งเป้า จะไม่ทำกิจกรรมที่เป็นภัยต่อสุขภาพเช่น สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า หรือติดยา ผลที่ตามมาคือโอกาสที่คนลักษณะนี้จะเสียชีวิตจึงมีน้อย
นอกจากนี้นักวิจัยทั้งสองยังได้พบว่า การรู้จักออกกำลังกายตั้งแต่เด็กจนกระทั่งถึงวัยกลางคนเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คนมีอายุยืน และใครจะเล่นกีฬาอะไรก็ได้ตราบใดที่รู้สึกสนุก แต่ก็ต้องทำอย่างสม่ำเสมอ การสำรวจยังแสดงให้เห็นอีกว่า คนวัยกลางคนที่มีจิตสำนึกดี และมีเพื่อนดีก็สามารถทำให้ชีวิตมีคุณภาพดีพอๆ กับการมีจิตสำนึกที่ดีตั้งแต่วัยเด็ก
ในประเด็นอายุขัยของชายกับหญิงนั้น งานวิจัยก็ได้ข้อสรุปว่าพฤติกรรมมีผลต่อการมีชีวิตที่ยืนนาน เช่น ทั้งชายและหญิงที่มีอาชีพของผู้ชาย เช่น เป็นวิศวกร หรือนักบิน มักมีอายุขัยสั้นกว่าชาย-หญิงที่ประกอบอาชีพของผู้หญิง เช่น เป็นมัณฑนากร หรือครูอนุบาล ดังนั้น นักวิจัยจึงมีความเห็นว่า ความเชื่อหรือความนิยมของสังคมเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่เป็นตัวกำหนดอายุขัยของคน
หนังสือเล่มนี้ยังมีบททดสอบให้ผู้อ่านได้ทดสอบตนเองในด้านสุขภาพ ความพอใจในชีวิต การออกกำลังกาย ความสุขในชีวิตสมรส ความสำเร็จและความพอใจในหน้าที่การงาน การมีเพื่อนสนิท อีกทั้งได้ชี้แนวทางให้ผู้อ่านสามารถปรับปรุงประเด็นเหล่านี้ แต่ละปัจจัยให้ดีขึ้นด้วย
ในบทสุดท้ายนักวิจัยได้ให้ข้อสังเกตสำหรับคนอ่านว่า เมื่อแรกเริ่ม Terman ต้องการหาปัจจัยที่สามารถทำนายความสำเร็จหรือความล้มเหลวในชีวิตของคน และได้เลือกเด็กผิวขาวที่มี IQ สูงจากโรงเรียนต่างๆ ใน San Francisco ดังนั้นกลุ่มตัวอย่างนี้จึงไม่ครอบคลุมคนทุกประเภท ด้วยเหตุนี้ข้อสรุปบางข้อจึงอาจใช้ไม่ได้กับคนกลุ่มอื่นๆ หรือคนที่ได้รับการศึกษาระดับอื่น ฐานะทางสังคมอื่น หรือคนที่ตั้งรกรากในพื้นที่อื่น
นอกเหนือจากความแตกต่าง และข้อจำกัดเหล่านี้แล้ว นักวิจัยทั้งสองก็ได้ตั้งข้อสังเกตว่า คนที่ถูกสัมภาษณ์เป็นคนที่เกิดตั้งแต่ปี 1910 ซึ่งชีวิตในช่วงเวลานั้นแตกต่างจากช่วงเวลานี้มาก นั่นคือสภาพและค่านิยมของสังคมได้เปลี่ยนไปมากแล้ว ดังนั้นข้อสรุปที่ว่าอาชีพของเพศเป็นตัวกำหนดอายุขัย จึงอาจไม่ถูกต้อง อย่างไรก็ตามนักวิจัยทั้งสองได้ทิ้งท้ายว่าการศึกษาเรื่องนี้ น่าจะได้ดำเนินต่อไป แม้จะเป็นเรื่องที่ยากแต่ก็น่าทำ
เกี่ยวกับผู้เขียน
สุทัศน์ ยกส้าน
ประวัติการทำงาน-ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย
อ่านบทความ สุทัศน์ ยกส้าน ได้ทุกวันศุกร์