มนุษย์ได้รู้สึกอิจฉานกที่สามารถบินได้ตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว จึงพยายามเลียนแบบโดยการสร้างปีกจำลองเพื่อนำมาติดที่แขนสำหรับใช้กระพือขึ้น-ลง แต่ไม่เป็นผล
เทพนิยายกรีกโบราณกล่าวถึง Daedalus และ Icarus สองพ่อลูกที่ได้ใช้ขี้ผึ้งติดกับปีกประดิษฐ์ เพื่อบินหนีจากที่คุมขัง แต่ Icarus บินใกล้ดวงอาทิตย์มากเกินไปจนขี้ผึ้งละลาย ปีกจึงหลุดจากลำตัวทำให้ Icarus ตกทะเลและจมน้ำตาย เมื่อถึงยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา Leonardo da Vinci ก็ได้เคยออกแบบปีกที่ทำด้วยโครงไม้และบุด้วยแพรเพื่อให้คนใช้ในการกระพือขึ้นลง แต่ไม่มีรายงานว่ามีใครทดลองใช้อุปกรณ์ที่ da Vinci ออกแบบนี้เพื่อเดินทางไปในอากาศเลย
ลุถึงปี 1896 นักประดิษฐ์ชาวเยอรมันคนหนึ่งชื่อ Otto Lilienthal ได้ออกแบบเครื่องร่อนสำหรับตนเอง แต่การทดสอบก็ต้องยุติ เมื่อ Lilienthal ประสบอุบัติเหตุเครื่องร่อนตก และตัวผู้ร่อนต้องเสียชีวิต เพราะไม่สามารถควบคุมดุลยภาพของเครื่องร่อนนั้นได้
ครั้นเมื่อ Wilbur และ Orville สองพี่น้องตระกูล Wright ได้ทราบข่าวนี้ คนทั้งสองมีความเห็นว่า การขยับเลื่อนลำตัวของ Lilienthal เพื่อเปลี่ยนตำแหน่งที่น้ำหนักกระทำต่อเครื่องร่อน ไม่สามารถใช้ควบคุมภาวะสมดุลของเครื่องร่อนในอากาศได้ พี่น้องทั้งสองจึงเริ่มสนใจจะสร้างเครื่องบินที่หนักกว่าอากาศและมีคนขับทันที
Wilbur Wright ผู้พี่เกิดเมื่อวันที่ 16 เมษายน ปี 1867 ที่เมือง Milville ในรัฐ Indiana ส่วน Orville ผู้น้องเกิดเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม ปี 1871 ที่เมือง Dayton ในรัฐ Ohio บิดา Milton Wright เป็นนักเทศน์ในโบสถ์ เมื่อถึงวันคริสต์มาสบิดาได้มอบของขวัญเป็นเครื่องบินเด็กเล่นที่ทำด้วยไม้ไผ่ ลำตัวมีกระดาษหุ้มและสามารถพุ่งไปในอากาศได้ โดยการยิงด้วยหนังสติ้ก เด็กทั้งสองชอบและดื่มด่ำกับของเล่นนี้มาก จึงได้พยายามอ่านหนังสือทุกเล่มที่เขียนเกี่ยวกับเทคนิคการเดินทางของคนในอากาศเพื่อสร้างเครื่องบินเอง
ครอบครัว Wright มีลูกห้าคนชื่อ Reuchlin, Lorin สองคนแรกเป็นชาย คนกลางเป็นหญิงชื่อ Katherine และสองคนสุดท้องชื่อ Wilbur กับ Orville เมื่อ Orville อายุ 18 ปี มารดาได้เสียชีวิตด้วยวัณโรค
ช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นเวลาที่สังคมกำลังคลั่งไคล้การขี่จักรยานมาก สองพี่น้องจึงตั้งร้านประกอบอาชีพขายและซ่อมจักรยานที่เมือง Dayton ในรัฐ Ohio แม้ขณะนั้นอเมริกาจะมีร้านจักรยานนับหมื่น แต่ก็มีเฉพาะร้านของสองพี่น้องเท่านั้นที่คิดจะสร้างจักรยานที่มีทั้งล้อที่เลื่อนได้และปีกที่บินได้ แม้จะไม่ได้เรียนสูงถึงระดับมหาวิทยาลัย แต่ทั้งสองก็สนใจเรื่องเทคโนโลยีการบิน และคิดว่าความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้ ถ้าตนเข้าใจวิทยาศาสตร์ของการบินที่ว่า ใครก็ตามที่สามารถเปลี่ยนความดันอากาศที่กระทำต่อส่วนต่างๆ ของยานขณะบินโดยการปรับตำแหน่งปีกของยาน ยานก็จะทรงตัวได้ ซึ่งเทคนิคที่สองพี่น้องคิดได้นี้เป็นที่รู้จักในปัจจุบันว่า เป็นการควบคุมแบบ aileron
เมื่อมีหลักการถึงปี 1902 คนทั้งคู่จึงออกแบบสร้างอุโมงค์ลม ที่มีพัดลมช่วยสร้างลมด้วยทุนส่วนตัว เพื่อศึกษาเสถียรภาพของเครื่องบินทดลอง ซึ่งจะทำให้รู้ว่าเครื่องจำเป็นต้องมีการควบคุมทั้งการขึ้นกับการลง และการเลี้ยวซ้ายกับการเลี้ยวขวาอย่างไร จากนั้นก็ได้ออกแบบยานทดลองจริงซึ่งยานนี้หนักกว่าอากาศ คือหนักประมาณ 340 กิโลกรัม และขับเคลื่อนโดยเครื่องยนต์ของรถมอเตอร์ไซค์ขนาด 12 แรงม้า โดยให้นักบินที่จะบินไปกับเครื่องนอนคว่ำราบไปบนเครื่อง ขณะควบคุมบังคับเครื่อง
และเพื่อทดสอบความฝันนี้ ทั้งสองได้เดินทางไปที่หมู่บ้าน Kitty Hawk ในรัฐ North Carolina ซึ่งมีหาดทรายเป็นแนวยาว ถึงวันที่ 17 ธันวาคม ปี 1903 วันนั้นเป็นวันที่อากาศค่อนข้างหนาว และลมพัดแรง บริเวณหาดมีสองพี่น้องตระกูล Wright กับเครื่องบิน ไม่มีผู้สื่อข่าว ไม่มีผู้ทรงคุณวุฒิจากมหาวิทยาลัยใดๆ และไม่มีแม้แต่นักการเมืองที่จะมาอ้างการสนับสนุนจะมีก็แต่ชาวนาชื่อ W.C. Brinkly และยามชายฝั่งที่มีหน้าที่ช่วยชีวิตคนตกน้ำ 3 คนชื่อ J.T. Daniels, W.S. Dough และ A.D. Etheridge กับเด็กหนุ่มชื่อ Johny Moor ที่อยากรู้อยากเห็นทุกเรื่อง คนเหล่านี้ไม่ได้ตระหนักแม้แต่น้อยว่าเหตุการณ์ที่กำลังจะเกิดในวันนั้นมีความสำคัญมากอย่างไรในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ชาติ
เมื่อถึงเวลา 10.35 นาฬิกา เครื่องร่อนชื่อ Flyer ที่มีปีกยาว 13 เมตร และปีกทำด้วยผ้าลินินก็พร้อมจะบิน เมื่อ Wilbur เป็นผู้ชนะการเสี่ยงโชค เขาจึงได้ขึ้นเครื่องเพื่อทดลองบินก่อน แต่ไม่สามารถจะนำเครื่องขึ้นได้ Orville จึงขึ้นเครื่องเป็นคนต่อไปเพื่อลองบินบ้าง และสามารถนำเครื่องไปได้ไกล 120 เมตร โดยให้เครื่องขึ้นสูง 3 เมตรเป็นเวลานาน 12 วินาที
คนทั้งสองกับ John Daniels ได้ทดลองบินอีก 3 ครั้ง ปรากฏว่าครั้งที่นานที่สุด ปรากฏว่านานถึง 59 วินาที ที่ระยะสูง 5 เมตร และเครื่องไปได้ไกล 280 เมตร เมื่อการทดลองประสบความสำเร็จ สองพี่น้องจึงได้พัฒนาเครื่องบินต่อ จนเครื่องบินของเขาสามารถบินได้นานขึ้นและไกลขึ้น ในเดือนกันยายน ค.ศ.1905 เครื่องบินของสองพี่น้องตระกูล Wright สามารถบินวนเป็นวงกลมได้ระยะทาง 40 กิโลเมตร จึงขอจดสิทธิบัตรกับรัฐบาลสหรัฐฯ แต่ถูกปฏิเสธ เพราะไม่มีใครเชื่อเรื่องคนสามารถบินได้ แม้แต่หนังสือพิมพ์ The Herald Tribune ก็ไม่ลงข่าวให้ เพราะคิดว่าเป็นเรื่องโกหก
แม้ที่อเมริกาจะไม่มีใครสนใจเรื่องเครื่องบิน แต่ที่ฝรั่งเศสและเยอรมนีมีนักประดิษฐ์ที่สนใจสร้างเครื่องบินหลายคน เช่น Karl Jatho วิศวกรชาวเยอรมัน ซึ่งอ้างว่าเครื่องบินที่เขาสร้างได้ทะยานขึ้นท้องฟ้าเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม ก่อนเครื่องบินของสองพี่น้องตระกูล Wright ถึง 4 เดือน จึงได้จัดตั้งบริษัทผลิตเครื่องบินที่เมือง Hanover ในปี 1913 เครื่องบินจึงนับเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ถูกสร้างขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกัน โดยนักประดิษฐ์หลายคนที่ต่างก็ไม่ได้รู้เห็นความคิดและการทดลองของกันและกันมาก่อน
จนกระทั่งปี 1908 เครื่องบินของสองพี่น้องก็สามารถบินอยู่ในอากาศได้นานถึง 1 ชั่วโมง 15 นาที เมื่อการทดสอบในปีต่อๆ มาได้ผลดี รัฐบาลสหรัฐฯ จึงได้ประกาศยอมรับว่า การโดยสารโดยเครื่องบินเป็นเรื่องปลอดภัย และการเดินทางในอากาศเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ จากนั้นก็อนุญาตให้สองพี่น้องจดสิทธิบัตรได้ ทั้งสองจึงนำเครื่องบินไปบินแสดงในยุโรปที่ Le Mans, Pau และ Rome การสาธิตการบินทุกครั้งมีฝูงชนมาเฝ้าดูมากมาย รวมถึงกษัตริย์แห่งอังกฤษ สเปน และอิตาลีด้วย
ภายในเวลา 10 ปีหลังจากที่เครื่องบินของสองพี่น้องบินได้ โลกก็มีเครื่องบินสงครามที่ใช้ทิ้งระเบิดใส่ข้าศึก และใช้ต่อสู้กันกลางอากาศ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ท่าน Baron Manfred von Richthofen ได้นำเครื่องบินของกองทัพอากาศเยอรมนียิงเครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรตกนับร้อย แต่เครื่องบินประจำตัวของท่าน Baron เองก็ถูกยิงตกในเดือนเมษายน ค.ศ.1918
ถึงปี 1910 เครื่องบินสามารถบินได้สูงขึ้นและไกลขึ้น นักบินชาวฝรั่งเศสชื่อ Louis Paullan ได้ทำสถิติบินสูงที่ระดับ 1,200 เมตร เหนือเมือง Los Angeles และในเวลาต่อมาก็ได้รับรางวัล 10,000 ปอนด์จากหนังสือพิมพ์ The Daily Mail ในการบินโชว์จาก London ถึง Manchester
ลุถึงปี 1912 Wilbur Wright ก็ได้เสียชีวิตลงด้วยไข้รากสาด ส่วน Orville ได้จากไปในปี 1948 ด้วยหัวใจวาย แม้จะตายไปแล้ว แต่คนทั้งสองก็ได้ทิ้งมรดกทางเทคโนโลยีที่ได้ทำให้โลกของเราแคบลงมากอย่างไม่น่าเชื่อ เพราะการบินข้ามสมุทรแอตแลนติกได้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 1919 โดยใช้เวลา 16 ชั่วโมง และการบินจาก Newfoundland ถึง Ireland โดยนักบินชื่อ John Alcock และ Arthur Whitten-Brown ก็ประสบความสำเร็จ และจากนั้นอีก 5 ปีการบินรอบโลกก็เกิดขึ้น
บทเรียนชีวิตที่คนทั้งโลกได้จากสองพี่น้องตระกูล Wright คือ การมีความกล้าหาญและความพยายาม ทั้งๆ ที่เป็นคนยากจนและไม่ได้รับการศึกษาสูง ไม่เคยเรียนวิศวกรรมศาสตร์การบิน ไม่มีห้องปฏิบัติการราคาแพง แต่ก็สามารถสร้างเครื่องบินที่บินได้ โดยอาศัยความสามารถเด่น 2 ประการ คือ ทั้งสองทำงานเสริมกันและกัน และได้สร้างเครื่องบินทดลองก่อนสร้างเครื่องบินจริง จากนั้นก็ได้ลองบิน และศึกษาทฤษฎีการบินไปพร้อมๆ กัน จนกระทั่งมีความเชี่ยวชาญในการบังคับการทรงตัว
ในขณะที่นักประดิษฐ์ส่วนใหญ่จะหมกมุ่น และกังวลว่าจะนำเครื่องบินขึ้นสู่ฟ้าได้อย่างไร สองพี่น้องกลับคิดเรื่องความพยายามในการควบคุมการทรงตัว ขณะเครื่องบินอยู่ในอากาศ เพื่อประคับประคองเครื่องไม่ให้ตก และได้พยายามออกแบบกังหัน พวงมาลัย ใบพัด หางและปีก จนเครื่องบินๆ ได้ ด้วยงบประมาณที่น้อยกว่า 1,000 ดอลลาร์ ณ วันนี้ เครื่องบิน Flyer ที่หนัก 340 กิโลกรัม ลำประวัติศาสตร์นี้อยู่ที่ National Air and Space Museum ในกรุง Washington
ในหนังสือ The Wright Brothers ที่ David McCullough เรียบเรียง และจัดพิมพ์โดย Simon and Schuster ในปี 2015 McCullough ได้เล่าประวัติชีวิตส่วนตัวของสองพี่น้องว่า
บิดาของสองพี่น้องซึ่งเป็นนักเทศน์ไม่สนับสนุนให้ลูกๆ เรียนหนังสือในโรงเรียน แต่กระตุ้นให้ลูกๆ พยายามศึกษาหาความรู้จากแหล่งต่างๆ ทุกหนแห่ง โดยไม่จำเป็นว่าต้องเป็นที่โรงเรียน นอกจากนี้สองพี่น้องก็สนิทสนมกันมาก ทั้งๆ ที่มีนิสัยต่างกันคือ Wilbur เป็นคนเคร่งขรึม ที่ชอบเรียนรู้ ส่วน Orville เป็นคนค่อนข้างขี้อาย สุภาพ และชอบเสี่ยงโชค
ความสำเร็จที่เกิดขึ้น แสดงให้เห็นว่า คนทั้งสองมีจินตนาการและมีความคิดริเริ่ม รวมถึงมีความกล้าหาญในการทำให้ฝันส่วนตัวเป็นจริงโดยใช้ทุนที่ได้จากกำไรธุรกิจจักรยาน และไม่ได้ขอทุนสนับสนุนการวิจัยจากองค์การใดเลย ในขณะที่บริษัท Samuel Langley ซึ่งได้ลงทุนสร้างเครื่องบินในราคา 70,000 ดอลลาร์ แต่ก็บินได้ไม่สำเร็จ เพราะเครื่องบินที่สร้างพุ่งตกในแม่น้ำ Potomac เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม ปี 1903 ในเวลาไล่เลี่ยกับที่ Flyer ของ Wright จะเริ่มบิน
เครื่องบินของสองพี่น้องได้ปฏิรูปการทำสงคราม การธุรกิจ และการสร้างสันติภาพ โดยการทำให้ครอบครัวที่มีสมาชิกอยู่ห่างไกลกันคนละทวีป สามารถเดินทางมาหากันได้ในเวลารวดเร็ว ไม่เหมือนในสมัยก่อนที่เวลาใครจะออกจากบ้านไปต่างทวีป บรรดาญาติๆ จะรู้สึกเสมือนว่า คนๆ นั้นกำลังจะจากไปแทนที่จะจากไกล เครื่องบินของ Wright จึงเป็นเทคโนโลยีที่ทำให้โลกมีสภาพเป็นโลกาภิวัฒน์อย่างแท้จริง และความเจริญทั้งหลายทั้งปวงนี้เกิดจากฝีมือและความสามารถของเด็กหนุ่มสองคนจากรัฐ Ohio ที่สอนให้มนุษย์รู้จักบินเป็นครั้งแรก
เกี่ยวกับผู้เขียน
สุทัศน์ ยกส้าน
ประวัติการทำงาน-ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย
อ่านบทความ สุทัศน์ ยกส้าน ได้ทุกวันศุกร์