หลายคนรู้จัก “วัววากิว” เนื้อวัวรสเลิศ คุณภาพชั้นยอดจากแดนอาทิตย์อุทัยที่ใครได้ชิมเป็นต้องฟิน เพราะเนื้อนุ่มลิ้นจนแทบละลายในปาก ที่ส่วนมากจะมาให้เห็นเป็นชิ้นเนื้อแล่บางเผยมันแทรกสีขาวอมชมพูก่อนจะนำไปปิ้งย่างให้สนุกลิ้น แต่จะมีสักกี่คนที่เคยเห็นวัววากิวตัวเป็นๆ ว่ามีหน้าตาเป็นเช่นไร?
SuperSci สัปดาห์นี้พามาบุกคอกวัววากิว พ่อพันธุ์นำเข้าราคาแพงแสนแพงจากต่างประเทศ ที่ถูกเลี้ยงไว้ในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรานารี จ.นครราชสีมา เพื่อยกระดับสายพันธุ์วัวไทยให้เป็นเนื้อรสนุ่มสายพันธุ์ใหม่ “วัวพันธุ์โคราชวากิว” กับ นายเดชณรงค์ วงค์ผา สัตวบาล ประจำศูนย์วิจัยเทคโนโลยีตัวอ่อนและเซลล์ตั้งต้น มทส.
นายเดชณรงค์ กล่าวว่า วัววากิวมีลักษณะไขมันแทรกในกล้ามเนื้อสูงทำให้รสสัมผัสของเนื้อมีความนุ่มอร่อยจนได้รับการกล่าวถึงว่าเป็นเนื้อวัวอร่อยที่สุดในโลก รศ.ดร.รังสรรค์ พาลพ่าย อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร และหัวหน้าศูนย์วิจัยเทคโนโลยีตัวอ่อนและเซลล์ตั้งต้น มทส. จึงมีแนวคิดนำพันธุ์วากิวมาผสมกับวัวพันธุ์ไทย เพื่อปรับปรุงคุณภาพเนื้อวัวไทยให้อร่อยมากขึ้น จนเกิดเป็นวัวพันธุ์โคราชวากิว
การผสมพันธุ์ยกระดับ เดชณรงค์ อธิบายว่า จะทำโดยการนำน้ำเชื้อจากพ่อวัววากิวพันธุ์แท้มาผสมกับแม่พันธุ์วัวไทยในหลายๆ รุ่น ประมาณ 5 รุ่นจึงจะได้วัวรุ่นลูกที่มีพันธุกรรมใกล้เคียงกับวัววากิวพันธุ์แท้มากที่สุด ดังนั้นภายในฟาร์มที่ มทส.จึงเต็มไปด้วยวัวพ่อพันธุ์วากิว ที่เลี้ยงไว้เพื่อรีดน้ำเชื้อ สำหรับให้บริการแก่เกษตรกรที่ต้องการเลี้ยงวัวพันธุ์โคราชวากิว ที่แม้จะมีขั้นตอนการเลี้ยงที่ยุ่งยากกว่าแต่เมื่อขายซากก็จะได้เงินมากกว่าเพราะเนื้อที่มีคุณภาพ 1 กิโลกรัม มีราคาสูงถึงประมาณ 3,000 บาท
“วัวที่พาชมจะเป็นวัวนำเข้าจากต่างประเทศ ส่วนมากจะเป็นประเทศออสเตรเลีย แต่ทุกตัวเราจะตั้งชื่อให้เป็นภาษาญี่ปุ่นเพื่อให้สอดคล้องกับที่มาของเขา ตัวแรกคือ โกโบริ พ่อพันธุ์นำเข้าจากประเทศออสเตรเลีย ใช้เป็นพ่อพันธุ์โดยจะนำมารีดน้ำเชื้อสำหรับการผสมเทียม กับแม่พันธุ์ของไทย มีอายุประมาณ 9 ปี นอกจากนี้ยังมีพ่อพันธุ์อีกประมาณ 6 ตัวที่ถูกเลี้ยงในคอกแห่งนี้ คือ คาโต้ อายุ 3 ปีครึ่ง, ทากุอายุ 2 ปีครึ่ง, ซัปโปโร อายุ 1 ปี. มูจิ อายุ 2 ปี, อุนเซน อายุ 2 ปีและเกียวโตอายุ 2 ปี ซึ่งทั้งหมดจะถูกเลี้ยงในคอกเปิด และเริ่มรีดน้ำเชื้อได้ตั้งแต่อายุ 1 ปี” เดชณรงค์ ให้ข้อมูลระหว่างพาเดินชม
นอกจากพ่อพันธุ์วัววากิวแล้ว ศูนย์วิจัยฯ แห่งนี้ยังได้เลี้ยงโคขุนไว้ด้วย ซึ่ง เดชณรงค์ เผยว่า โคขุนจะต่างจากพ่อพันธุ์ในส่วนของการให้อาหาร และพื้นที่คอกจะแคบกว่า เพราะต้องการให้วัวกินอาหารให้เยอะที่สุดและออกกำลังได้น้อยที่สุด เพื่อให้ไขมันแทรกเข้าสู่กล้ามเนื้อมากขึ้นซึ่งจะมีผลต่อราคา และเมื่อเลี้ยงได้จนถึงน้ำหนักที่ต้องการก็จะส่งเข้าโรงเชือดเพื่อแบ่งขายชิ้นส่วนเนื้อ
*******************************