xs
xsm
sm
md
lg

SuperSci: เปิดคลังเก็บตัวอย่าง “งู” ใหญ่สุดในไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสัญชัย เมฆฉาย ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก อพวช.
ว่ากันด้วยเรื่องของ “งู” สัตว์เลื้อยคลานตัวยาวผู้พิทักษ์ระบบนิเวศ ที่หน้าตาท่าทางอาจดูไม่ค่อยน่ารักสำหรับคนส่วนใหญ่ แต่สำหรับการศึกษาแล้ว งูถือเป็นตัวแทนอันดับหนึ่งของสัตว์เลื้อยคลาน นักวิชาการจึงต้องมีคลังเก็บเจ้าตัวคืบคลานนี้ไว้ในรูปของ “การดอง” เพื่อประโยชน์ทางการวิจัยของนักชีววิทยา



SuperSci สัปดาห์นี้ พามาเปิดคลังเก็บตัวอย่างงูที่ใหญ่ที่สุดในประเทศกันแบบเจาะลึกเป็นพิเศษเฉพาะเพื่อผู้อ่านผู้จัดการวิทยาศาสตร์ ณ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) คลอง 5 ปทุมธานี กับนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ ที่จะพาเราไปเจาะลึกเรื่องงูๆ กันแบบจัดเต็ม

นายสัญชัย เมฆฉาย ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก อพวช. เกริ่นว่า ส่วนที่เปิดให้ชมวันนี้คือส่วนคลังตัวอย่างอ้างอิงงูที่เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มสัตว์เลื้อยคลาน ที่ได้จากการเก็บตัวอย่างจากทั่วประเทศ แล้วนำมารักษาสภาพไว้ด้วยวิธีการเก็บแบบเปียกในแอลกอฮอล์ความเข้มข้น 70%

สัญชัยเผยว่า งูในไทยมีมากถึง 190-200 ชนิด แบ่งออกเป็นงูพิษ และงูไม่มีพิษในสัดส่วนที่ต่างกัน คืองูมีพิษจะมีอยู่เพียง 10-20% หรือประมาณ 40 ชนิด นอกนั้นจะเป็นงูไม่มีพิษทั้งหมด ซึ่งในพิพิธภัณฑ์นี้มีตัวอย่างงูอยู่เกือบครบ จากการส่งมอบตัวอย่างของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วว.) และการลงพื้นที่ของนักวิชาการ อพวช.ที่ทำติดต่อกันมาเป็นเวลาถึง 20 ปี ทำให้ที่นี่เป็นคลังเก็บงูที่ใหญ่และครบถ้วนที่สุดในประเทศ เพราะมีตัวอย่างงมากถึง12 ตู้เหล็ก ซึ่งคาดว่าน่าจะมีงูไม่ต่ำกว่า 1,000 ตัวอย่าง

“ผมประมาณไม่ได้ว่าเราเก็บไว้กี่ตัว มันเยอะมากน่าจะเกินพันตัวอย่าง แต่สำหรับชนิดเรามีเกือบครบขาดแค่บางกลุ่มเท่านั้น เราจะเก็บงูแยกเป็นชนิด แยกเป็นวงศ์ วงส์เดียวกันสกุลเดียวกันอยู่ในตู้เดียวกัน และชนิดเดียวกันอยู่ในแถวเดียวกัน แม้แต่ตัวที่เคยกัดผมก็ยังมีอยู่ในคลังแห่งนี้ด้วย” สัญชัย เผย

สำหรับการเก็บรักษาเมื่อได้ตัวอย่างมา สัญชัยระบุว่า เจ้าหน้าที่จะจัดท่าให้อยู่ในรูปขดเพื่อสะดวกต่อการใส่โหลแล้วฉีดฟอร์มาลีนทิ้งไว้เป็นเวลา 2 วัน จากนั้นจึงนำมาใส่ขวดโหลที่แอลกอฮอล์ 70% ที่มีการบันทึกของมูลของตัวอย่างแต่ละชนิด ที่จะมีการให้รหัสของพิพิธภัณธ์ ชื่อวิทยาศาสตร์ ชื่อสามัญภาษาไทย และสถานที่เก็บ จากนั้นจึงปิดฝาให้แน่นป้องกันการระเหย และระมัดระวังไม่ให้ถูกแสงแดดเพราะจะทำให้ตัวอย่างเสื่อมคุณภาพ เป็นเหตุให้ห้องเก็บตัวอย่างส่วนใหญ่มักปิดไฟมืด และมีม่านบังแสงปิดคลุมตู้อีกชั้น

“เราจะเก็บงูจากพื้นที่ทั่วประเทศ คัดเลือกจากตัวที่โตเต็มวัย มีลักษณะเด่นชัด หรือตัวที่เรายังไม่มีเท่านั้นไม่ได้เก็บทุกตัวที่เจอ อย่างที่เราเก็บไว้จะมีตั้งแต่ตัวใหญ่สุดอย่างจงอาง ยาวประมาณ 5-6 เมตร ที่ตัวใหญ่มากจนต้องเก็บในถังไฟเบอร์กลาส ไปจนถึงตัวเล็กสุดอย่างงูดินที่เมื่อโตเต็มวัยมีขนาดเพียง 10-20 เซนติเมตร” สัญชัย กล่าวทิ้งท้าย

ทั้งนี้ คลังเก็บงูดังกล่าว ไม่ได้เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชม จะเปิดให้เพียงนักวิจัย หรือนิสิต นักศึกษา ที่ติดต่อเข้ามาเพื่อใช้ตัวอย่างสำหรับงานวิจัยเท่านั้น และในครั้งนี้ได้เปิดโอกาสสำหรับ SuperSci เป็นกรณีพิเศษ
ตัวอย่างงูถูกเก็บด้วยวิธีดองเปียก ในแอลกอฮอล์ 70%
งูที่อยู่ในมือสัญชัย คือ งูกะปะ ตัวเดียวกับที่เคยกัดเขาตอนลงภาคสนาม
การเก็บตัวอย่าง จะเก็บในห้องมืดและตู้ที่มีม่านปิดทับอีกชั้น






*******************************



กำลังโหลดความคิดเห็น