หากพูดถึง “ งู ” แล้วคนส่วนใหญ่คงจะสยองพองเกล้ากันเป็นแถบๆ ไม่ใคร่จะญาติดีด้วยสักเท่าไร ไม่ว่างูตัวนั้นจะเป็นงูพิษ หรืองูไม่มีพิษก็ตาม เพราะคนส่วนมากยังคงติดอยู่กับภาพลักษณ์ของสัตว์เลื้อยคลาน และพฤติกรรมบางอย่างที่มนุษย์แบบเราอาจไม่คุ้นเคย เพราะ “ความกลัว” ที่เป็นตัวปิดกั้นและ “ความเชื่อ” ที่ทำให้เราเข้าใจงูผิดๆ
SuperSci สัปดาห์นี้จะพาไปชมอีกมุมหนึ่งของสัตว์โลกไร้ขา และทำความเข้าใจเกี่ยวกับ “ความเชื่อผิดๆเกี่ยวกับงู” ที่พบบ่อยๆ กับ “คุณฝน” อัจฉริยา ชลิตพัฒนังกูร เจ้าของแฟนเพจ "งูไทยรู้จักไว้ไม่เสียหาย" ผู้ที่รักและชื่นชอบงูเป็นชีวิตจิตใจ จนตั้งแฟนเพจขึ้นมาเพื่อให้ความรู้ที่ถูกต้อง และแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับงูแก่คนในสังคมออนไลน์ ด้วยความมุ่งมั่นว่าความรู้ที่เธอนำมาเผยแพร่จะเป็นประโยชน์ และทำให้คนในสังคมหันมาเข้าใจงูในทางที่ถูกต้องมากขึ้น
ความเชื่อเกี่ยวกับงูที่มักจะมีคนเข้าใจผิดมีอยู่ด้วยกันหลายประเด็น แต่ประเด็นหลักๆที่คุณฝนได้เผยกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์มีอยู่ด้วยกัน 4 ประเด็นที่คนยังเข้าใจผิดอยู่มาก
ประเด็นแรก คือความเชื่อเกี่ยวกับงูแสงอาทิตย์ ที่ถ้าหากใครโดนกัดแล้ว จะมีชีวิตอยู่ได้เพียง 1 คืนและจะเสียชีวิตในรุ่งเช้าเมื่อดวงอาทิตย์ขึ้น ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว “งูแสงอาทิตย์เป็นงูไม่มีพิษ” แถมมีนิสัยสงบ ไม่ก้าวร้าว
ประเด็นต่อมาคือ เสียงที่ได้ยินในป่าที่มักมีคนเชื่อว่าเป็นเสียงของงู แต่ในความเป็นจริงนั้นงูไม่สามารถทำเสียงเหมือนสัตว์อื่น เช่น สุนัข จิ้งจก ตุ๊กแกได้ จะทำได้เพียงเสียง “ฟ่อ ฟ่อ” ที่เป็นการพ่นลมเท่านั้น
อีกประเด็นสำคัญ คือเรื่องของสีสัน ที่คนส่วนใหญ่คิดว่างูสีสีนจัดจ้านจะเป็นงูพิษเสมอ ซึ่งอาจไม่ใช่เสมอไปเพราะงูไม่มีพิษหลายชนิดก็มีสีจัดจ้านได้ อาทิ งูปล้องฉนวนลาว
ประเด็นสุดท้ายที่คนยังไม่ค่อยเข้าใจ คือ ลักษณะการเลื้อย ที่มักกล่าวกันว่างูเลื้อยเร็วคืองูพิษ แต่จริงๆแล้วในธรรมชาติงูทุกชนิดสามารถเลื้อยช้าหรือเลื้อยเร็วก็ได้ตามแต่สถานการณ์ ไม่สามารถฟันธงได้ด้วยลักษณะการเลื้อยของงู
นอกจากนี้เจ้าของเพจงูไทยรู้จักไว้ไม่เสียหายยังได้ให้คำแนะนำหากพบงูเข้าบ้านว่า “สิ่งที่ต้องทำอย่างแรกคือตั้งสติ แล้วหาไม้ยาวๆเขี่ยออกไป อย่าทำร้าย “เจองูอย่าตีงู ต่างคนต่างอยู่ คนกลัวงู งูก็กลัวคน”
*******************************
*******************************