เป็นเรื่องยากที่จะจินตนาการว่าผู้หญิงและงูเป็นของคู่กัน แต่ผู้หญิงคนหนึ่งรักและหลงใหลในงูจนนำมาเลี้ยงในบ้านหลายสิบตัว และยังเปิดเพจให้ความรู้แก่คนทั่วไป ด้วยเป้าหมายว่าคนไทยจะรู้จักงู เข้าใจงู และเปิดโอกาสให้สัตว์โลกไร้ขาได้มีชีวิตเพื่อช่วยรักษาสมดุลในธรรมชาติ
ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ได้ติดตามแฟนเพจทางเฟซบุ๊ก “งูไทยรู้จักไว้ไม่เสียหาย” มาระยะหนึ่ง จากจำนวนยอดไลค์ไม่กี่พันจนเพิ่มขึ้นเป็นหลักหมื่น แม้ไม่ใช่จำนวนที่มากมายเมื่อเทียบกับเพจคนรักแมวหรือสัตว์เลี้ยงอื่นๆ แต่สิ่งที่น่าสนใจนอกจากความรู้เกี่ยวกับงูที่อัพเดตมาเรื่อยๆ โดยเฉพาะเมื่อมีข้อมูลผิดๆ เผยแพร่ตามสื่อหรือโลกโซเชียล คือแอดมินเพจเป็นผู้หญิงคนหนึ่งที่สนใจเรื่องสัตว์และงู จนตั้งใจเข้าเรียนต่อในคณะวิทยาศาสตร์เพื่อต่อยอดสิ่งที่ตัวเองสนใจ และยังเลี้ยงงูไว้ในบ้าน
นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้เราอยากรู้จักเธอมากขึ้น จึงได้ติดต่อขอสัมภาษณ์และขอดูงูที่เธอเลี้ยงไว้ แต่...ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะจัดหาสถานที่สำหรับพูดคุยกันเป็นชั่วโมงๆ โดยมีงูอยู่รอบๆ สุดท้ายจึงลงตัวที่ “บ้านพระอาทิตย์” สถานที่ทำงานของเราเอง แต่มีเสียงกำชับจากผู้ดูแลสถานที่ว่า “อย่าปล่อยให้งูหลุด” แน่นอนว่านั่นไม่ใช่ปัญหาเพราะสำหรับคนรักสัตว์แล้วคงไม่ปล่อยปละละเลยสัตว์เลี้ยงของตัวเอง และเมื่อได้รู้ว่าค่าตัวของงูบางตัวอยู่ในหลักแสน เจ้าของคงไม่ปล่อยให้งูหลุดง่ายๆ
เลื้อยมารู้จัก
เมื่อถึงวันนัดหมาย “ฝน” อัจฉริยา ชลิตพัฒนังกูร แอดมินเพจงูไทยรู้จักไว้ไม่เสียหาย มาพร้อมคู่ซี้ “ส้ม” ธนกมล ขำวัฒนพันธุ์ ผู้ช่วยแอดมินซึ่งรักงูและเลี้ยงงูไว้ในบ้านหลายสิบตัว ส่วนแขกรับเชิญไร้ขาที่เราอยากรู้จักเคลื่อนไหวดุกดิกอยู่ในกระกร้าใส่แมวลวดลายน่ารัก ซึ่งก่อนเริ่มคุยทั้งคู่ก็เผยให้เราได้ยลโฉมงูเลี้ยงที่มีถิ่นกำเนิดจากต่างประเทศหลายขนาด ตั้งแต่ขนาดเท่าท่อนแขนตัวยาวเป็นเมตร หรืองูตัวสั้นอายุเดือนกว่า บางตัวมีสีส้มสดใสแต่เป็นงูเผือก บางตัวขาวทั้งตัวแต่ไม่ใช่เผือก
นั่งมองดูงูที่ขดนิ่งและทำความคุ้นเคยกันสักพักเราจึงได้เอ่ยถามอีกครั้งถึงเหตุผลที่ตั้งแฟนเพจเรื่องงูขึ้นมา ฝนเล่าย้อนว่าความตั้งใจที่ที่ต่อยอดมาจากโปรเจกต์จบตอนเรียนชั้นปีที่ 4 ในภาควิชาสัตววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งตั้งใจว่าอยากทำให้หนังสือจำแนกงูพิษสำหรับคนทั่วไป แต่ติดขัดในหลายเรื่อง อาทิ ความคุ้มทุนสำหรับสำนักพิมพ์ แม้ว่าเธอไม่ได้ต้องการกำไร แต่ต้องการให้ความรู้แก่คนทั่วไปเท่านั้น
“ตอนนั้นเฟซบุ๊กยังไม่ได้บูมเท่าไร จนกระทั่งจบมาทำงานหลายปีแล้ว เพจในเฟซบุ๊กบูมขึ้นมาก็เลยทำ ไม่ต้องเอาไปเผยแพร่ผ่านหนังสือแล้ว ตอนนี้แฟนเพจก็เยอะขึ้น ที่มีสมาชิกเยอะๆ ส่วนหนึ่งก็มาจากเพจ drama-addict แรกๆ ก็ “ไลค์” กันไม่กี่คน จนมีข่าวลูกงูเห่ากว่า 30 ตัวเข้าบ้านคน แล้วคนก็แตกตื่นว่าเป็น “งูเจ้าที่” เอาเรียงเต็มไปหมด เราก็เขียนอธิบายว่าไม่ใช่งูเจ้าที่หรอก แต่เป็นลูกงูที่เกิดไล่เลี่ยกัน แม่งูอาจจะไปไข่อยู่แถวๆ นั้น พอออกมาก็ออกมาพร้อมกัน พอมีกระแสคนก็ไลค์มาเรื่อยๆ” เจ้าของเพจงูเล่าที่มาของเพจที่มีอายุไม่ถึงปี
นอกจากข้อเท็จจริงที่ถูกต้องเกี่ยวกับงูแล้ว เพจงูไทยยังมีภาพประกอบน่ารักๆ ซึ่งเป็นภาพที่ฝนจ้างคนรู้จักให้วาดให้ เนื่องจากมีลายเส้นที่น่ารักถูกใจโดยเธอเป็นผู้ออกแบบ ทางฝนและส้มหวังว่าลายเส้นที่น่าเอ็นดูจะทำให้ภาพลักษณ์ของงูดูดีและอ่อนโยนขึ้นสำหรับคนทั่วไป
แค่อยากให้รู้จัก “งูมีพิษ-งูไม่มีพิษ”
“ทำเพจขึ้นมานี่อย่างแรกเลยอยากทำให้คนรู้ว่างูอะไรมีพิษ งูอะไรไม่มีพิษ เป็นประเด็นหลักเลย เพราะเมื่อก่อนฝนก็ไม่ได้รู้จักงูเยอะ ก็พยายามหาข้อมูลมาตอบ แต่ส่วนใหญ่ข้อมูลที่ได้มาจะเป็นลักษณะของงู สีเกล็ดเป็นยังไง มีกี่เกล็ด เกล็ดรอบตัวเท่าไร ถิ่นที่อยู่ อยู่ตามป่าแบบไหน แต่ไม่บอกว่ามีพิษหรือเปล่า ทั้งที่ควรจะบอก เพราะตรงนี้แหละที่คนอยากรู้ ถ้ามีพิษ...ก็คือทำใจ ฝนไม่ได้ห้ามว่าอย่าฆ่านะ ห้ามไม่ได้ เราไม่ได้อยู่ในสถานะเดียวกับเขา งูเห่าเข้าบ้าน กัดลูกเขาตาย กัดหมาเขาตาย ก็เข้าใจเขา แต่บางคนเจองูอะไรฆ่าไว้ก่อน เหมือนเขาไม่เปิดใจ ไม่สน ก็เป็นงูฆ่าไว้ก่อน” ฝนเล่าความตั้งใจ
หนึ่งในเหตุการณ์สำคัญที่เธอเล่าไว้ในแฟนเพจคือมีงูเลื้อยเข้าบ้าน แล้วเธอเข้าไปนั่งจ้องงูในขณะที่ทุกคนต่างตกใจและหนีกระเจิง แล้วเพื่อนบ้านก็ถือไม้เข้ามาในบ้าน ซึ่งเธอคาดว่าเขาคงแค่เขี่ยงูออกไป แต่ปรากฏว่าเขาฟาดงูจนตาย ซึ่งเธอมารู้ภายหลังว่างูตัวนั้นคือ “งูแสงอาทิตย์” ซึ่งเป็นงูไม่พิษ ทำให้เธอเสียใจว่า หากรู้ก่อนหน้านี้อาจจะช่วยงูตัวนั้นไว้ได้ และนั่นก็เป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างฟนเพจเพื่อให้ความรู้เรื่องงู
ข้อมูลจากเพจงูไทยนอกจากภาพงูชนิดต่างๆ ที่ควรรู้จักแล้ว หลายครั้งที่มีข้อมูลแก้ข้อมูลผิดๆ จากข่าวหรือข้อมูลที่แชร์กันในโลกโซเชียล โดยตัวอย่างข่าวที่เจ้าของเพจรู้สึกสะเทือนใจมากที่สุดคือการแชร์ภาพ “งูงอด” เทียบกับหลอดนมกล่อง แล้วระบุว่าคือ “งูสอ” มีพิษร้ายแรง ทั้งที่ความจริงแล้วงูในภาพคืองูงอดที่ไม่มีพิษและงูสอที่ถูกอ้างถึงก็เป็นงูไม่มีพิษ ข้อมูลผิดๆ เช่นนี้เธอเชื่อว่าคงทำให้งูงอดที่ไร้พิษสงถูกทำร้ายไปไม่น้อย
“สิ่งที่สะเทือนใจอีกอย่างคือ ตั้งใจให้ความรู้แต่คนรับการปิดกั้นไม่ยอมรับฟัง 'ยังไงก็งู ฆ่าไว้ก่อน' เหมือนบางครั้งก็เถียง ฉันรู้ ฉันรู้กว่าเธอ ไม่เจอกับตัวไม่รู้หรอก “งูกะปะท้องแดง” ซึ่งจริงๆ ไม่มีงูชนิดนี้อยู่ อาจจะเข้าใจผิด เพราะมีงูที่มีลักษณะมีพิษกับไม่มีพิษที่มีลักษณะคล้ายๆ กัน ทำให้คนเข้าใจผิด อย่างงูกะปะกับงูปี่แก้วและงูแมวเซา คนจะเข้าใจผิดบ่อย เพราะตัวสีน้ำตาล และมีลายๆ คล้ายกัน” ฝนกล่าว
สารพัดเรื่องมอง “งู” ผิดๆ
ยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวงูอื่นๆ อีกที่ฝนอยากจะปรับความเข้าใจ อาทิ ความเข้าใจผิดว่า งูพิษมักเลื้อยเร็ว งูพิษมักจะตัวเป็นสามเหลี่ยม งูพิษมักจะสีสวย งูพิษมักเป็นขาวดำหรือดำเหลืองเป็นงูพิษทั้งหมด ซึ่งเธอไม่อยากให้ฟันธงแบบนั้น อยากให้ค่อยๆ จำ โดยหลักๆ แล้วมีงูพิษน้อยกว่างูไม่มีพิษอยู่มาก โดยมีงูพิษไม่ถึง 10 ชนิดที่เราควรระวัง หากสังเกตและจำแนกดีๆ จะจำได้ไม่ยาก ตัวอย่างงูพิษที่ควรจำ ได้แก่ งูจงอาง งูเห่า งูแมวเซา งูทับสมิงคลา งูกะปะ งูสามเหลี่ยม งูปล้องหวาย
สำหรับงูปล้องหวายเป็นงูที่ค่อนข้างหายาก แต่มีผู้สอบถามเข้าไปยังเพจเรื่อยๆ ส่วนที่มาของชื่องูนั้นบอกได้ยาก ต่างจากงูแสงอาทิตย์ที่โดนแสงแล้วสีเป็นประกาย แต่มีงูหลายชนิดที่มีสีสันเป็นประกาย อย่างงูเหลือมงูหลามโดนไฟฉายส่องก็เป็นประกายได้เหมือนกัน ซึ่งส้มเสริมว่ามีรายการทีวีบางช่องออกอากาศว่างูหลามที่โดนไฟฉายแล้วส่งเป็นประกายสีม่วงนั้นเป็นงูที่ไปผสมกับงูมีพิษมาและดุกว่าปกติ กัดจนเนื้อหายเป็นก้อน ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิด จริงๆ เป็นแค่งูเหลือมธรรมดาที่โดนไฟฉายส่อง งูเหลือมทุกตัวที่โดนไฟฉายส่องตอนกลางคืนก็เป็นอย่างนี้
ส่วนโอกาสเจองูพิษแบบไหนนั้นขึ้นอยู่กับพื้นที่ ถ้าอยู่ตามท้องนาหรือที่ราบ มีโอกาสเจองูเห่า ถ้าอยู่ในสวนยางพาราหรือป่าเต็งรังมีโอกาสเจองูกะปะ เพราะเป็นงูที่ชอบแอบตามใบไม้ ซึ่งคนที่อยู่ตามสวนยางพาราจะเจอได้บ่อย ส่วนงูพิษอื่นๆ อย่างงูเขียวหางไหม้ทีมแอดมินยังไม่เคยเห็นใครถามมายังเพจ แต่มีถามเกี่ยวกับงูปล้องหวายหัวดำอยู่เรื่อยๆ ซึ่งยังไม่มีข้อมูลจากผู้ถามว่ามีคนโดนกัด งูพิษชนิดนี้เป็นงูขี้อาย แต่มีพิษร้ายแรง
แม้จะทำเพจที่คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ แต่ฝนและส้มยังเห็นจุดอ่อนของเพจว่าการค้นหาข้อมูลเก่าๆ เป็นเรื่องยาก และคนที่เข้ามาในเพจมักถามในสิ่งที่เผยแพร่ลงเพจไปแล้วโดยไม่ค้นข้อมูลก่อน แต่พวกเธอไม่รู้สึกรำคาญและรู้สึกยินดีที่ถามเข้ามา ดีกว่าปิดใจไม่เปิดรับ ทว่า หากเป็นไปได้ก็อยากทำสื่อที่ทุกคนสามารถเปรียบเทียบรูปแล้วบอกได้ว่างูที่สงสัยนั้นเป็นงูอะไร
รวมถึงการใช้ความรู้แก่บุคลากรทางการแพทย์ที่มีหน้ารักษาคนถูกงูกัดและทีมกู้ภัย ซึ่งจำเป็นต้องทราบแน่ชัดว่าผู้ป่วยถูกงูชนิดใดกัดเพื่อจะได้รักษาอย่างถูกต้อง แต่ไม่ใช่ทุกโรงพยาบาลที่จะมีความรู้เรื่องงูและการรักษาการถูกงูกัดทั้งหมด โดยส้มยกตัวอย่างที่มีงูเห่าพ่นพิษสีทองที่กัดหลานของแพทย์จากภาคใต้ และเขาได้สอบถามมายังเพจว่าเป็นงูชนิดใด เพื่อจะทำการรักษาอย่างถูกวิธีต่อไป
รักแล้วเลี้ยง “งู”
เจ้าของแฟนเพจอธิบายไม่ถูกว่าเหตุใดเธอจึงหลงรักงู แต่คิดว่าอาจจะได้อิทธิพลจากพ่อซึ่งเป็นคนรักสัตว์ และที่บ้านก็เลี้ยงสารพัดสัตว์ ทั้งปลา เต่า กระต่าย และแมว อีกทั้งพ่อมักพาเธอไปเที่ยวสวนสัตว์ แต่เธอกลับสนใจงูเป็นพิเศษ ซึ่งหาเหตุผลไม่ได้ว่าทำไม เธอเล่าว่ารู้สึกว่างูหลามทองที่เห็นนั้นสวย จับวางไว้ก็อยู่เฉยๆ หรือเข้าไปจับก็อยู่นิ่งๆ แต่ในวัยเด็กเธอแค่รู้สึกชอบเฉยๆ
ด้วยความรักสัตว์ไม่เฉพาะแค่งูจึงทำให้ฝนตัดสินใจเข้าเรียนต่อคณะวิทยาศาสตร์เพื่อเรียนสาขาสัตววิทยาโดยเฉพาะ และฝึกงานที่สถานเสาวภา สภากาชาดไทย ซึ่งเธอได้เรียนรู้หลายๆ อย่างเกี่ยวกับงู ตั้งแต่การจับงู การรีดพิษงู การจับงูฉีดยา ไปจนถึงการผ่าร่าง “อาจารย์ใหญ่” ซึ่งเป็นงูจงอางที่ถูกเลี้ยงมาตั้งแต่เปิดสถานเสาวภาแต่ตายพอดีในวันที่เธอเข้าฝึกงาน เธอบอกวิธีด้วยว่า หากมีงูเลื้อยเข้าบ้านและตัวไม่ใหญ่เกินไปให้ใช้ไม้กวาดปัดงูใส่ที่ตักผงขยะแล้วเอาใส่ถังที่มีฝาปิด จากนั้นเรียกหน่วยกู้ภัยให้มานำตัวไป
วันหนึ่งขณะยังเป็นนิสิตชั้นปีที่ 3 ฝนตัดสินใจเลี้ยงงูโดยมีแม่สนับสนุนแต่พ่อไม่เห็นด้วย ที่สุดเธอได้เลี้ยงงูสมใจ ตอนนี้งูตัวนั้นกลายเป็น “ไอ้แก่” ตาฝ้าฟางแต่เธอรักมาก และด้วยความสนใจในงูทำให้เธอได้รู้จักและสนิทกับส้ม ซึ่งเลี้ยงงูและเพาะงูขาย และตอนนี้ทั้งคู่มีโครงการเปิดโฮมสเตย์ชื่อ “บ้านส้มโฮมสเตย์” ในสวนผลไม้ที่ จ.จันทบุรี และมีความตั้งใจเปิดห้องจัดแสดงงูที่พวกเธอเลี้ยงมารวมๆ แล้วหลายสิบตัว
ส้มซึ่งเชี่ยวชาญในการเพาะเลี้ยงงู แต่ออกตัวว่าไม่ได้สนใจงูทุกประเภทเหมือนฝน บอกเราว่า มีกลุ่มคนเลี้ยงงูที่อาจไม่ใช่กลุ่มใหญ่เมื่อเทียบกับกลุ่มคนเลี้ยงหมาเลี้ยงแมว แต่ก็มีจำนวนพอสมควร และภายในกลุ่มคนเลี้ยงงูก็จะพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้กัน รวมไปถึงคำแนะนำในการดูแลงูป่วย การนำงูไปรักษาพยาบาล ซึ่งระยะหลังเริ่มมีสัตวแพทย์ที่สนใจเลี้ยงงูและรักษางูมากขึ้น
“ถ้าเทียบกับกลุ่มหมาแมวก็เป็นกลุ่มเล็กอยู่ แต่ก็รวมเป็นกลุ่มพอสมควร ส่วนใหญ่คุยกันวิธีดูแลงูป่วยทำยังไง งูป่วยส่วนใหญ่ ไม่กินอาหาร อึผิดปกติ ปกติอึเป็นก้อนสีดำ แต่ออกมาเป็นเขียว หรือไม่ย่อย หรืออ้วก ตัวไหนไม่กินก็พาไปหาหมอ ถ่ายพยาธิ ถ่ายโปรโตซัว แต่โรงพยาบาลที่รักษางูก็ไม่ได้มีทุกที ต้องสอบถามกลุ่มคนเลี้ยงงูด้วยกัน ที่ไหนดี ใครเคยพาไปที่ไหน หลังพาราไดส์หรือสถานเสาวภาแต่ต้องโทรนัด ที่คลีนิคสัตว์เล็กก็มีหน่อยสัตว์พิเศษ ตอนนี้มีเยอะขึ้น เพื่อมารองรับคนเลี้ยงสัตว์แปลกเยอะ โดยเฉพาะถ้าหมอชอบงูก็หันมาศึกษาวิธีรักษา งูพวกนี้เลี้ยงง่ายกว่าหมาแมว ไม่มีเสียง ใช้พื้นที่น้อย กินอาทิตย์ละครั้ง กลุ่มสัตว์แปลกพวกงู พวกเต่านี้ตอบสนองคนที่ใช้ชีวิตบนคอนโด มีพื้นที่น้อย” ฝนและส้มเผย
ควรรู้ก่อนเลี้ยง “งู”
สำหรับใครที่อยากเลี้ยงงูส้มแนะนำว่า ต้องศึกษาก่อนว่าชอบงูแบบไหน งูขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ ตัวสั้นๆ หรือตัวอวบๆ และมีงบประมาณเท่าไร เพราะงูมีราคาค่อนข้างสูง ลูกงูบางตัวราคาเริ่มตันที่ 4,000 บาท หรือบางตัวที่มีสีสันหายากก็มีราคามากกว่า 100,000 บาท และที่สำคัญต้องปรึกษาทางบ้าน เพราะบางคนอยากเลี้ยงแต่ทางบ้านไม่อนุญาต แล้วแอบเลี้ยง เมื่อถูกจับได้ทางบ้านก็เอางูไปปล่อย ซึ่งงูเหล่านี้เมื่อถูกเอาไปปล่อยแล้วมักเอาชีวิตไม่รอด เนื่องจากมีสีสันที่โดดเด่นง่ายต่อการถูกตีตายเพราะเข้าใจผิดว่าคืองูพิษ หรือหากินเองไม่เป็น เนื่องจากอาหารสำหรับเลี้ยงงูเหล่านี้มักเป็น “หนูแช่แข็ง”
“ส่วนใหญ่ถ้าลูกค้ามาซื้อก็จะกำชับว่าห้ามปล่อย ถ้าจะปล่อยฟรีก็เอามาคืน บางทีเราก็รับซื้อคืน” ส้มเล่า โดยมีฝนช่วยเสริมว่า โดยปกติคนเลี้ยงงูก็รักและอยากดูแลงูดีๆ ไม่ปล่อยทิ้งขว้าง พร้อมทั้งช่วยวิเคราะห์ถึงข่าวเรื่อง “งูกรีนแมมบ้า” หลุดในช่วงน้ำท่วมเมื่อปี 2554 และทำให้งูเขียวไม่มีพิษพันธุ์ไทยหลายชีวิตถูกดีตาย ว่าข่าวดังกล่าวน่าจะเป็นข่าวลือ
"ธรรมชาติของคนเลี้ยงงูจะต้องดูแลงูของตัวเองอย่างดีที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งงูพิษจากต่างประเทศ ซึ่งมีราคาแพงและต้องขออนุญาตในการนำเข้าที่มีขั้นตอนยุ่งยาก" ส้มเผย แต่ทั้งคู่ระบุว่าคงไม่เลี้ยงงูพิษ เพราะผู้ที่เลี้ยงงูพิษต้องมีความเชี่ยวชาญและมีความรู้พอสมควร อีกทั้งพลาดไม่ได้เพราะนั่นอาจหมายถึงชีวิต
หลังพูดคุยกับ “ฝน” และ “ส้ม” มุมมองใหม่ๆ เกี่ยวกับงูเริ่มฉายชัดขึ้น นอกจากภาพลักษณ์ร้ายๆ ที่ถ่ายทอดความเข้าใจผิดๆ กันมารุ่นต่อรุ่นจะจางลงไปมากแล้ว ภาพความ “แบ๊ว” ดูน่ารักและใสซื่อก็เด่นชัดขึ้น แม้จะไม่ถึงระดับให้เราต้องรีบไปหางูมาเลี้ยง แต่อย่างน้อยก็ทำให้ตระหนักว่าเราและงูอยู่ร่วมโลกกันได้โดยไม่ต้องทำร้ายกัน
*******************************
*******************************