ย่างเข้าเดือน 6 ฝนก็ตกพรำๆ … ฤดูฝนชุ่มฉ่ำกลับมาเยี่ยมประเทศไทยอีกครั้ง หลายคนชอบฤดูนี้เพราะอากาศเย็นสบาย แต่อีกหลายๆ คนก็ไม่โปรดสักเท่าไรกับความชื้นแฉะที่ฝนพามา รวมถึงเกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่กำลังชื่นชมผลิตผลที่เพิ่งเก็บเกี่ยวไปในช่วงหน้าร้อน ต้องเร่งหอบข้าวหนีฝนเพราะนอกจากจะทำให้เกิดเชื้อราได้ง่ายแล้ว “ความชื้นในข้าว” ยังทำให้ราคาขายถูกลดต่ำลงไปอีก
นายสัมพันธ์ ศรีสุริยวงษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายเทคโนโลยีอาหาร สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กล่าวว่า ประเทศไทยปลูกและส่งออกข้าวเป็นอันดับต้นๆ ของโลก มีมูลค่าการส่งออกรวมแต่ละปีมากถึงเกือบ 200,000 ล้านบาท ทว่าปัญหาระดับต้นตออย่าง “ความชื้นในข้าวสูง” กลับไม่เคยหายไป อีกทั้งยังเป็นช่องทางที่พ่อค้าคนกลาง หรือโรงสีใช้เป็นจุดเอาเปรียบเกษตรกร
นายสัมพันธ์ เผยว่า ข้าวเปลือกหลังเก็บเกี่ยวปกติจะมีความชื้นอยู่ที่ประมาณ 16-18% ทำให้เวลาจะส่งขายเกษตรกรรายย่อยที่ไม่มีเครื่องมือเครื่องไม้ต้องนำข้าวมาตากแดดเป็นเวลา 2-3 วัน เพื่อลดความชื้นให้อยู่ที่ประมาณ 14-16 % จึงจะขายได้ราคา แต่ถ้าเป็นข้าวนาปรังที่เก็บเกี่ยวในฤดูฝนจะมีความชื้นสูงถึงประมาณ 20-30% อาจต้องตากนานเป็นสัปดาห์ซึ่งนอกจากจะเสียเวลาแล้ว การปล่อยให้ข้าวชื้นนานๆ ติดต่อกันหลายวันยังทำให้คุณภาพของข้าวเสื่อมลง เมื่อนำไปขายจึงถูกกดราคาจนต่ำเป็นเหตุให้ชาวบ้านจำนวนมากต้องขาดทุนจนเกิดการประท้วงหรือฆ่าตัวตายตามข่าวที่ได้เห็น
“ชาวนาชอบฝนตอนปลูก แต่ไม่ชอบตอนเก็บ เพราะความชื้นจะทำให้ให้ข้าวเสื่อมคุณภาพเร็ว แล้วเมล็ดก็จะเกิดรอยร้าว พอนำไปสีเมล็ดก็หักข้าวออกมาไม่สวย มีกลิ่นสาบ เมล็ดสีเหลืองคล้ำ บ้างก็มีรา จึงถูกกดราคาต่ำเป็นวัฏจักร เพราะนอกจากการตากแดดเกษตรกรรายเล็กๆ เขาก็ไม่มีเครื่องมืออื่น เลยต้องส่งข้าวไปขายแบบชื้นๆ เพื่อให้โรงสีที่มีเครื่องอบลดความชื้นอบ ทำให้เขาถูกตัดราคาแบบโหดร้ายมาก ผมจึงคิดทำเครื่องลดความชื้นข้าวเปลือกแบบใช้ง่ายๆ ราไม่สูงนัก สำหรับเกษตรกรจากการดัดแปลงมาจากเครื่องอบธัญพืชที่เคยเห็น เพื่อพวกเขาจะได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ไม่ต้องถูกโรงสีหรือพ่อค้าคนกลางกดขี่จนเกินไป” นายสัมพันธ์ เผยถึงความเป็นมาแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์
นายสัมพันธ์อธิบายว่า “เครื่องลดความชื้นข้าวเปลือก ระดับเกษตรกร” ที่ฝ่ายเทคโนโลยีอาหาร วว.ทำขึ้น ดัดแปลงมาจากเครื่องลดความชื้นธัญพืชจำพวก ถั่วเหลือง ถั่วเขียว กระเทียม หัวหอม ที่โรงงานอุตสาหกรรมเกษตรใหญ่ๆ ของไทยมักนำเข้ามาจากไต้หวัน ที่มักจะมีรูปร่างเป็นกระบะสี่เหลี่ยม มีใบกวนและชุดกระจายลมร้อน ซึ่งมีราคาค่อนข้างสูง ใช้เวลาอบถึง 1 วันและยังให้ความร้อนได้ไม่ทั่วถึงในส่วนของมุมกระบะที่ใบพัดกวนไม่ได้
เขาและทีมออกแบบจึงพัฒนาเครื่องลดความชื้นให้มีโครงสร้างแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก คือ ส่วนของถังบรรจุข้าวเปลือกจะถูกออกแบบให้มีลักษณะเป็นทรงกระบอกกลม บริเวณส่วนล่างติดตั้งตะแกรงรองรับความเปลือก ส่วนที่ 2 คือส่วนของชุดใบกวน ที่ทำหน้าที่กลับกองข้าวเปลือก เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการลดความชื้นข้าวเปลือก ขับด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าขนาด 1 แรงม้า
ส่วนที่ 3 คือ ชุดกระจายลมร้อนที่จะติดตั้งอยู่บริเวณส่วนล่าง ออกแบบโดยการใช้หลักของไซโคลน ทำให้เกิดกระแสลมหมุนวน ส่งผลให้ลมร้อนที่ไหลออกจากห้องกระจายลม มีความสม่ำเสมอทั่วกันจากพลังงานก๊าซแอลพีจี โดยสามารถรองรับข้าวเปลือกได้สูงสุดที่ 500 กิโลกรัมต่อครั้ง เพียง 3 ชั่วโมงก็สามารถลดค่าความชื้นในเมล็ดข้าวเปลือกจาก 20% ให้เหลือเพียง 14 % ได้ โดยตัวเครื่องมีกำลังการผลิตสูงสุดถึง 2 ตันต่อวัน ซึ่งเป็นปริมาณที่เหมาะสมกับกลุ่มเกษตรกรรายย่อย
ในส่วนของคุณภาพเมล็ดข้าว นายสัมพันธ์ระบุว่า นอกจากจะทำให้ความชื้นลดลงแล้ว เมล็ดข้าวยังไม่แตกหักเหมือนกับการเข้าเครื่องอบในโรงสีด้วย จึงค่อนข้างมั่นใจว่าหากเกษตรกรรับนวัตกรรมนี้ไปใช้ในชุมชนจะช่วยให้ราคาขายข้าวเปลือกดีขึ้นและไม่ถูกเอาเปรียบเหมือนที่ผ่านมา เพราะราคาข้าวความชื้นต่ำมีคุณภาพจะขายได้ราคาดีกว่าข้าวความชื้นสูงถึงตันละประมาณ 2,000-2,200 บาทตามราคาข้าวในตลาด ในขณะที่ค่าใช้จ่ายสำหรับก๊าซแอลพีจีเพียง 200 บาทต่อตันเท่านั้น
นอกจากเครื่องดังกล่าวจะมีประสิทธิภาพทำให้ข้าวมีความชื้นต่ำตามเกณฑ์การขายที่ประมาณ 14% ความชื้นได้แล้ว ยังสามารถตั้งค่าให้ลดความชื้นเพิ่มได้อีกตามต้องการ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการผลิตข้าวพันธุ์ที่ต้องการความชื้นต่ำถึงระดับ 12% เพราะที่ผ่านมาการผลิตข้าวพันธุ์ด้วยตัวเกษตรกรจะไม่ค่อยประสบความสำเร็จ ต้องซื้อข้าวพันธุ์จากบริษัทข้าวพันธุ์ที่มีเครื่องมือลดความชื้นข้าวในระดับสูงเท่านั้น
“ผมยังไม่เคยเห็นมีใครที่ไหนทำเครื่องลดความชื้นข้าวโดยตรง มีก็แต่เครื่องลดความชื้นธัญพืชที่นำเข้าจากไต้หวัน ตัวนึงราคาสูงหลักล้าน ซึ่งชาวนาตัวเล็กๆ เข้าไม่ถึงแน่นอน จะมีเฉพาะแค่ในโรงสีใหญ่ๆ เครื่องลดความชื้นที่เราทำขึ้นจึงน่าจะเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งให้กับเกษตรกรได้เพราะมีราคาไม่สูงมากอยู่ที่ระดับแสนบาทต้นๆ ซึ่งมั่นใจว่าจะถูกลงอีกในระดับหมื่นปลายๆ ถ้ามีการผลิตในจำนวนมาก ซึ่งนอกจากจุดเด่นในเรื่องของราคาแล้ว เรายังออกแบบมาให้มีขนาดกะทัดรัด เหมาะสมสำหรับการตั้งเป็นเครื่องประจำชุมชน" นายสัมพันธ์
ผู้อำนวยการฝ่ายเทคโนโลยีอาหารเผยแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ในอนาคตทีมวิจัยจะพัฒนาเครื่องไล่ความชื้นให้เป็นแบบถอดประกอบได้ให้สะดวกแก่การเคลื่อนย้ายขึ้นอีก ซึ่งตอนนี้เราได้นำไปใช้นำร่องกับชุมชนใน จ.พัทลุงแล้ว เป็นที่พอใจของชาวบ้านมาก ซึ่งในส่วนของ วว.เองก็พร้อมที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยีไปยังผู้ประกอบการขอเพียงแค่ติดต่อมาหาเรา
ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายเทคโนโลยีอาหาร วว. โทร 02-5779000 หรือ อีเมลล์ tistr@tistr.or.th
*******************************