xs
xsm
sm
md
lg

รายแรก! พลาสติกชีวภาพช่วยยืดอายุ “เห็ดฟาง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ด้วยข้อจำกัดที่ไม่สามารถเพาะเห็ดฟางในเมืองหนาวหรืออายุการเก็บไม่เกิน 1 วัน ร้านอาหารไทยในต่างแดนแก้ขัดด้วยการใส่เห็ดแชมปิญองลงไป แต่ไม่ได้รสชาติแบบไทย จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้นักวิจัยไทยพัฒนาถุงพลาสติกยืดอายุเห็ดฟางได้นานถึง 7 วันโดยไม่เสียรสชาติ และยังเป็นบรรจุภัณฑ์ชีวภาพผสมยางพาราที่ย่อยสลายได้ภายใน 6 เดือน

จากประสบการณ์ที่ได้รับประมานอาหารไทยในเยอรมนี รศ.ดร.อนงค์นาฏ สมหวังธนโรจน์ จากภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยว่าวัตถุดิบในต้มยำอย่างเห็ดฟางนั้นหาได้ยากในต่างแดน เนื่องจากเห็ดฟางมีอายุการเก็บที่สั้นเพียง 1 วัน เพราะเห็ดคายน้ำมากและเปลี่ยนรสชาติเร็ว จึงส่งออกไม่ได้ ต้มยำในต่างแดนจึงมักใช้เห็ดแชมปิญองแทน ซึ่งไม่ให้รสชาติอาหารไทยอย่างที่รับประทานที่ไทย  

ประสบการณ์ดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้นให้ รศ.ดร.อนงค์นาฏ พัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่ช่วยยืดอายุผัก-ผลไม้สด และเห็ดฟางมาตั้งแต่ปี 2555 จนกระทั่งปัจจุบันได้พัฒนาถุงพลาสติกชีวภาพที่สามารถยืดอายุผัก-ผลไม้สดได้ รวมถึงบรรจุภัณฑ์ยืดอายุเห็ดฟาง และได้ทดลองส่งไปยังบรูไน ซึ่งได้รับผลตอบรับทางบวกว่าเห็ดยังคงรสชาติดี

“เห็ดฟางคายน้ำมาก มีอัตราการหายใจสูง ทิ้งไว้แค่ 1 วันก็มีน้ำเยิ้มและเสีย จึงไม่เคยมีเห็ดฟางขายในห้าง แม่บ้านต้องไปซื้อตามตลาดสด” รศ.ดร.อนงค์นาฏระบุ

ถุงพลาสติกที่ รศ.ดร.อนงค์นาฏพัฒนาขึ้นมานั้นเป็นถุงพลาสติกชีวภาพที่ช่วยยืดอายุผักผลไม้ โดยใช้งานร่วมกับการ “จำศีล” พืชผลสดด้วยการแช่เย็นในระดับที่ผัก-ผลไม้แต่ละชนิดไม่ช้ำ และควบคุมอัตราการหายใจด้วยการลดปริมาณออกซิเจนภายในบรรจุภัณฑ์ แต่ไม่ลดต่ำเกินไปเพื่อป้องกันการหมักที่ทำให้ผัก-ผลไม้เสียรสชาติ รวมถึงควบคุมก๊าซเอทิลีน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่พืชบางชนิดสร้างขึ้นเองเพื่อให้ผลไม้สุก   

ทีมวิจัยพัฒนาถุงพลาสติกชีวภาพยืดอายุผักและผลไม้ด้วยสูตรที่ต่างกัน เนื่องจากผัก-ผลไม้แต่ละชนิดมีอัตราหายใจที่ต่างกัน แต่ไม่ได้ผลิตถุงพลาสติกเจาะจงสำหรับผักผลไม้แต่ละชนิด เพราะจะทำให้ผู้ใช้งานสับสน จึงแยกเป็นถุงสำหรับผลไม้และถุงสำหรับผักซึ่งมีอัตราการหายใจที่มากกว่าผลไม้ โดยเฉพาะเห็ดฟางที่คายน้ำมากคล้ายเห็ดโคน ซึ่งความสำเร็จของผลงานนี้จะนำไปสู่การต่อยอดผลิตบรรจุภัณฑ์สำหรับเห็ดโคนที่หาได้เพียงปีละครั้งได้

นอกจากเห็ดฟางแล้วทีมวิจัยยังเน้นพัฒนาถุงพลาสติกชีวภาพยืดอายุนี้กับผักส่งออก อย่างข้าวโพดอ่อน หน่อไม้ฝรั่ง และสมุนไพร รวมถึงมะม่วงน้ำดอกไม้สุก ซึ่งปกติต้องส่งทางเครื่องบิน แต่เมื่อใช้ถุงยืดอายุรวมกับการแช่เย็นในอุณหภูมิที่เหมาะสม ช่วยยืดอายุมะม่วงได้นาน 30 วันและขนส่งทางเรือได้ ซึ่งยังลดการกีดกันทางการค้าเรื่องภาวะโลกร้อนจากการขนส่งทางเครื่องบินได้

พลาสติกชีวภาพที่ช่วยยืดอายุผัก-ผลไม้ของทีมวิจัยนี้ยังมีส่วนผสมของยางพาราที่ช่วยให้พลาสติกมีความยืดหยุ่นมากขึ้น แต่ยังคงย่อยสลายได้นำธรรมชาติเมื่อฝังกลบนาน 6 เดือน โดย รศ.ดร.อนงค์นาฏกล่าวว่า พลาสติกที่ช่วยยืดอายุพืชผลทางการเกษตรนั้นมีอยู่แล้ว ซึ่งก่อนหน้านี้เธอก็เคยพัฒนาพลาสติกจากปิโตรเคมีที่ช่วยยืดอายุผัก-ผลไม้ แต่ด้วยกระแสห่วงใยสิ่งแวดล้อมจึงได้พัฒนาเป็นพลาสติกชีวภาพ และเป็นรายแรกที่ทำให้บรรจุภัณฑ์ชีวภาพยืดอายุผัก-ผลไม้ได้

ในส่วนของถุงพลาสติกชีวภาพยืดอายุเห็ดฟางนั้น ทีมวิจัยยังมีความร่วมมือกับ ดร.อภิตา บุญศิริ จากศูนย์เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ซึ่งนำเทคโนโลยีไปถ่ายทอดแก่เกษตรกรผู้เพาะเห็ดฟางเพื่อลำเลียงผลผลิตไปจำหน่าย โดยบรรจุเห็ดฟางลงถุงพลาสติกชีภาพใส่ในลังโฟมที่เติมน้ำแข็งและมีไม้กระดานขั้น   

ปัจจุบันกำลังการผลิตถุงพลาสติกชีวภาพยืดอายุผัก-ผลไม้ของทีมวิจัยในห้องปฏิบัติการอยู่ที่ครั้งละ 30 กิโลกรัม ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้าที่มีคำสั่งซื้อประมาณ 300 กิโลกรัม แต่ปริมาณสั่งซื้อจากลูกค้ายังอยู่ในปริมาณที่ต่ำกว่ากำลังผลิตคุ้มทุนของโรงงานที่ 1,000 กิโลกรัม โดยถุงพลาสติกชีวภาพยืดอายุผัก-ผลไม้ 1 ใบหนักเพียง 3 กรัมและมีต้นทุนระดับห้องปฏิบัติการที่ใบละ 2 บาท แต่เป็นต้นทุนที่รับได้สำหรับลูกค้าส่งออก

อย่างไรก็ตาม ทีมวิจัยกำลังมีแผนเปิดตัวบริษัทที่รวบรวมคำสั่งซื้อถุงพลาสติกจากลูกค้ากลุ่มต่างๆ เพื่อให้ได้ปริมาณที่ค้มทุนต่อการผลิตในโรงงาน เนื่องจากการเดินเครื่องผลิตถุงพลาสติกที่มีสูตรแตกต่างกันแต่ละครั้งจะเสียวัตถุดิบประมาณ 100 กิโลกรัมเพื่อล้างเครื่องจักร ซึ่งผลิตภัณฑ์สำหรับลูกค้ากลุ่มเป้าหมายที่สามารถดำเนินการได้ทันทีคือกลุ่ม ผู้ส่งออกผัก-ผลไม้และผู้ส่งผัก-ผลไม้เข้าห้างสรรพสินค้า






*******************************

ยาเคลือบอุปกรณ์การแพทย์ยับยั้งการเติบโตเชื้อโรคจากเทคโนโลยีบรรจุแคปซูลนาโนเพื่อควบคุมการปลดปล่อยยาเคลือบกำจัดเชื้อโรค 1 ในตัวอย่างวิศวกรรมชีวการแพทย์สุดล้ำผลงานนักศึกษาไทย อ่านต่อเพิ่มเติมคลิก www.manager.co.th/science #engineering #bioengineering #medicalengineering #medical #medical #innovation #project #undergrat #student #thailand #managersci #astvscience #sciencenews

A photo posted by AstvScience (@astvscience) on


กำลังโหลดความคิดเห็น