บริษัทเอกชนจ้าง สวทช.-วว.ร่วมวิจัยยางรองรถไฟจากยางพารา แก้ปัญหาราคายางตกต่ำ ทดแทนแผ่นยางสังเคราะห์และพลาสติกพิเศษราคาแพงที่นำเข้าจากเยอรมนี คาดว่าผลิตได้ใน 3-4 เดือนและออกสู่เชิงพาณิชย์ได้ใน 1 ปี ชี้เป็นมิติใหม่ในการทำวิจัยเชิงพาณิชย์
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) จับมือบริษัท ไอ อาร์ ซี (เอเซีย) รีเสิร์ซ จำกัด ลงนามความร่วมมือในหัวข้อ "การเพิ่มมูลค่ายางพาราธรรมชาติโดยการผลิตเป็นชิ้นส่วนใช้ในระบบราง" เมื่อวันที่ 3 มิ.ย.58 ณ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยมี ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นประธานในพิธี
พิธีลงนามดังกล่าวเป็นความร่วมมือในการวิจัยแผ่นยางรองรางรถไฟระหว่างหน่วยงานรัฐและเอกชน โดย ดร.ไพโรจน์ จิตรธรรม นักวิจัยหน่วยวิจัยโพลิเมอร์ ห้องปฏิบัติการยาง ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ระบุกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า เดิมทีแผ่นรองรางรถไฟทำได้จากวัสดุหลายประเภท แต่ที่นิยมใช้คือแผ่นยางสังเคราะห์และพลาสติกชนิดพิเศษที่นำเข้าจากประเทศเยอรมนีซึ่งมีราคาสูงมาก ขณะที่ยางพาราของไทยมีแนวโน้มที่จะพัฒนาเป็นแผ่นยางรองรางรถไฟได้ และภาคเอกชนที่ต้องการเปิดตลาดแผ่นรองรางรถไฟได้ติดต่อมายังเอ็มเทคเพื่อจ้างวิจัยพัฒนาสูตรยางพาราสำหรับการผลิตเป็นแผ่นรองรางรถไฟขึ้น
“ผลิตภัณฑ์ที่ได้ก็จะเป็นสิทธิบัตรเฉพาะของบริษัทผู้ประกอบการ ซึ่งถือเป็นมิติใหม่สำหรับการทำวิจัยในเชิงพาณิชย์ โดยนักวิจัยเอ็มเทคจะคิดค้นและพัฒนาทั้งในส่วนการพัฒนาสูตรยาง และการออกแบบแผ่นยาง เรามีนักวิจัยและห้องปฏิบัติการพร้อม จึงมั่นใจว่าจะพัฒนาเป็นแผ่นรองรางรถไฟจากยางธรรมชาติเสร็จภายในเวลาไม่เกิน 3-4 เดือน และน่าจะผลิตในระดับอุตสาหกรรมเป็นชิ้นงานได้ภายใน 1 ปี” ดร.ไพโรจน์ระบุ
นอกจากพัฒนาแผ่นยางรองรางรถไฟแล้ว ดร.ไพโรจน์เผยอีกว่า ยังมีแผนผลิตชิ้นส่วนข้อต่ออื่นๆ ที่ใช้ในระบบรางอีกหลายชนิด ซึ่งหากเป็นไปตามเป้าจะช่วยระบายยางพาราดิบของไทยได้เป็นจำนวนมาก ราคายางพาราก็จะดีขึ้นซึ่งจะส่งผลต่อเกษตรกรชาวสวนยางทั้งประเทศ และจะช่วยรัฐบาลประหยัดรายจ่ายได้จากการนำเข้าแผ่นยางจากต่างประเทศได้ถึงครึ่งต่อครึ่ง
ด้าน ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า ไทยผลิตน้ำยางพาราดิบได้มากเป็นอันดับหนึ่งของโลก แต่นำน้ำยางดิบไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ยางชนิดอื่นได้เพียง 12.5% เมื่อความต้องการยางพาราในรูปวัตถุดิบลดลง เกษตรกรจึงได้รับผลกระทบจากภาวะราคายางตกต่ำไปด้วย รัฐบาลจึงมีมาตรการกระตุ้นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำน้ำยางพาราดิบไปแปรรูปเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ให้มีราคาสูงขึ้น
“สวทช.โดยเอ็มเทค ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยด้านวัสดุระดับชาติ จึงเริ่มโครงการพัฒนาวัตถุดิบยางพาราในประเทศให้มีมูลค่าสูงขึ้น ด้วยการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนระบบราง โดยประสานความร่วมมือกับ วว. และภาคเอกชนที่จะเข้ามาช่วยด้านการทดสอบและการนำไปใช้ประโยชน์จริง” ดร.ทวีศักดิ์กล่าว
ส่วน ดร.ลักษมี ปลั่งแสงมาศ รองผู้ว่าการบริการอุตสาหกรรม วว. เผยว่า ภายใต้โครงการความร่วมมือนี้ วว.จะเข้ามามีบทบาทในการทดสอบผลิตภัณฑ์ตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมแผ่นยางรองรางรถไฟ ตามมาตรฐาน ISO 17025 ซึ่ง วว.มีห้องปฏิบัติการและนักวิจัยที่พร้อมสำหรับการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ทางด้านวัสดุศาสตร์ และได้นำชิ้นส่วนรองรางรถไฟที่ใช้ในปัจจุบัน มาวัดค่าสำหรับเป็นดัชนีในการประเมินผลผลิตภัณฑ์เป็นที่เรียบร้อย จึงมั่นใจว่าทันทีที่ผลิตภัณฑ์จากต้นน้ำที่ สวทช.ผลิตขึ้นเสร็จสิ้น วว.จะสามารถรับช่วงต่อในการทดสอบคุณภาพได้ทันที เพื่อเป็นส่วนหนึ่งที่จะผลักดันให้ผลิตภัณฑ์ยางธรรมชาติไทยได้นำออกใช้ในระบบรางของประเทศ
ขณะที่ นางพิมพ์ใจ ลี้อิสสระนุกุล ประธานคณะกรรมการ บริษัท ไอ อาร์ ซี (เอเซีย) รีเสิร์ซ จำกัด หวังว่าความร่วมมือครั้งนี้นอกจากจะช่วยแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำได้ได้แล้ว ยังเป็นการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับยางพาราไทยได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งการนำยางธรรมชาติมาประยุกต์ใช้กับโครงการพัฒนาระบบการขนส่งระบบรางของประเทศ ยังสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการส่งเสริมให้เกิดเทคโนโลยีระบบยางในประเทศด้วย
"เราเป็นบริษัทคนไทยที่ทำธุรกิจด้านการผลิตผลิตภัณฑ์ยางสำหรับผู้อุปโภคโดยตรง ทั้งในการผลิตยางล้อรถจักรยานยนต์ ชิ้นส่วนประกอบรถยนต์ ตลอดจนผลิตภัณฑ์ยางในระบบชลประทานและอุตสาหกรรมก่อสร้าง หลังจากนี้เรามีเป้าหมายเดินหน้าธุรกิจชิ้นส่วนยางในการขนส่งระบบรางมากขึ้น เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าความร่วมมือครั้งนี้ ทั้งส่วนของต้นน้ำที่ สวทช.ผู้คิดค้น และส่วนกลางน้ำอย่าง วว.ฝ่ายทดสอบ กับส่วนปลายน้ำคือไออาร์ซีผู้นำผลงานออกไปใช้จริง จะประสบความสำเร็จไปได้ด้วยดี เกิดเป็นนวัตกรรมระบบรางใหม่ๆ ช่วยยกระดับยางธรรมชาติของไทยให้ดีขึ้นด้วยผลิตภัณฑ์ที่คนไทยทำขึ้นเพื่อคนไทยเอง" นางพิมพ์ใจกล่าว
*******************************