xs
xsm
sm
md
lg

นักเปิบสบายใจได้...ถ้ามี "พยาธิ" ในแมลงจริงก็ตายตั้งแต่โดนทอด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การพบพยาธิตัวกลมในแมลงถือเป็นเรื่องปกติ และไม่อันตรายหากนำแมลงมาปรุงให้สุกก่อนรับประทาน

นักกีฏวิทยาเฉลยเส้นยึกยือคลิปผ่าจิ้งหรีด-ตั๊กแตนคือ “พยาธิตัวกลม” จริง แต่ย้ำ! เป็นเรื่องปกติในธรรมชาติ โดยเฉพาะแมลงในป่า ยันไม่มีอันตรายต่อมนุษย์เพราะไม่สามารถเติบโตได้ในร่างกายคน อีกทั้งแมลงทอดส่วนใหญ่มาจากการเลี้ยง ถ้ามีพยาธิจริงก็ตายตั้งแต่โดนทอด แนะควรกินแบบปรุงสุก วอนนักเปิบแมลงสบายใจ


ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หลายคนคงได้เห็นคลิปชวนขนลุก ที่มีคนกลุ่มหนึ่งโชว์การผ่าท้องแมลงแบบเป็นๆ ที่เผยให้เห็นเจ้าตัวยึกยือยาวกว่าคืบที่อยู่ในท้องแมลง ทำเอาพ่อค้าแม่ค้าแมลงทอดถึงกับเหงื่อตกจากยอดขายที่ตกฮวบฮาบ เพราะบรรดานักเปิบแมลงต่างพากันแขยงด้วยความไม่แน่ใจว่าเจ้าตัวยึกยือที่เห็นแท้จริงแล้วคือตัวอะไร? ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ จึงบุกไปหานักกีฏวิทยา เพื่อร่วมหาคำตอบ

ชมคลิป ผ่าท้องแมลง (เครดิตคลิป ทีนิวส์ออนไลน์)


ดร.รัชดาวรรณ เงินกลั่น ผู้เชี่ยวชาญด้านกีฏวิทยาทางการแพทย์และสัตววิทยา คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตอบแก่ทีมข่าวทันที ที่ได้เห็นคลิปว่าเจ้าตัวยึกยือที่ออกมาจากตัวแมลงหลังโดนผ่าท้องนั้น คือ “พยาธิตัวกลม” (Nematode) เป็นพยาธิที่พบได้ทั่วไปทั้งในสัตว์มีกระดูกสันหลัง และไม่มีกระดูกสันหลัง แต่ไม่สามารถฟันธงได้ว่าพยาธิที่เห็นจากคลิปเป็นชนิดใด เพราะไม่เห็นตัวจริง และพยาธิแต่ละสายพันธุ์ก็มีความจำเพาะเจาะจงกับผู้ถูกอาศัย หรือ โฮสต์ (Host) ที่เป็นแมลงแต่ละชนิดด้วย

ดร.รัชดาวรรณ เผยว่า การพบพยาธิในตัวแมลงถือเป็นเรื่อง “ปกติ” พบได้ในแมลงทั่วไปไม่ได้พบเฉพาะแค่ในจิ้งหรีด หรือตั๊กแตน ตามที่เห็นในคลิป และอาจจะมีในตัวอ่อนของแมลงน้ำได้อีกด้วย เพราะในวงจรชีวิตของพยาธิจำเป็นต้องพึ่งผู้ถูกอาศัยอย่างน้อย 2 ชนิด

“พยาธิจะเข้าไปในตัวแมลงแล้วปล่อยสารบางอย่างเพื่อไปที่สมอง ทำให้แมลงพฤติกรรมของแมลงมีพฤติกรรมบางอย่างที่เอื้อต่อการดำรงชีวิต เช่น การควบคุมพฤติกรรมให้แมลงกระโดดลงไปในน้ำ เพื่อเปิดโอกาสให้ตัวเต็มวัยของพยาธิได้ออกจากตัวแมลงเพื่อไปหาคู่ผสมพันธุ์ ก่อนจะวางไข่แล้วเข้าสู่วงจรเดิมอีกครั้งซ้ำแล้วซ้ำอีก ตามกลไกของธรรมชาติ เพราะว่า ปรสิต (Parasite) จำเป็นต้องเข้าไปอยู่ในโฮสต์เสมอ จึงจะดำเนินชีวิตไปครบวงจนตั้งแต่เกิด โต สืบพันธุ์ได้” นักกีฏวิทยา เผยแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์

นักกีฏวิทยา ระบุด้วยว่า ไม่ใช่แมลงทุกตัวที่จะพบพยาธิตัวกลมเสมอไป แต่โอกาสที่จะพบหรือไม่พบขึ้นอยู่กับแหล่งที่เก็บแมลงด้วย จึงต้องย้อนกลับไปที่ต้นตอของคลิปว่าแมลงที่นำมาใช้ผ่าโชว์นั้น คนในคลิปเก็บมาจากที่ไหน ถ้าเป็นแมลงที่เก็บมาจากป่าก็มีโอกาสที่จะพบพยาธิมากกว่า เช่นเดียวมนุษย์มีทั้งคนปกติและคนที่มีพยาธิ อยู่ที่ว่าจะไปเก็บตัวอย่างจากที่ไหนมาผ่าพิสูจน์ เช่น การสุ่มตรวจพยาธิใบไม้ตับ หากลงพื้นที่ตรวจในหมู่บ้านที่มีวิถีชีวิตการกินปลาเกล็ดขาวหมัก ที่ไม่ผ่านการทำให้สุก ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่ชั้นดีของเหล่าพยาธิใบไม้ตับก็ย่อมสุ่มพบพยาธิใบไม้ตับได้มากกว่าการสุ่มในหมู่บ้านที่กินอาหารแบบถูกสุขลักษณะ

อย่างไรก็ดี ดร.รัชดาวรรณ ยืนยันกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า พยาธิจะไม่สามารถอยู่ได้อย่างแน่นอนเมื่อโดนความร้อน จึงไม่ต้องกังวลเรื่องพยาธิหากจะรับประทานแมลงทอด เพราะน้ำมันที่ทอดมีความร้อนสูงพอที่จะทำลายพยาธิในตัวแมลง และแมลงที่ใช้สำหรับผลิตเป็นแมลงทอดในปัจจุบันก็เป็นแมลงเลี้ยงในระบบปิด ไม่ใช่แมลงที่จับจากธรรมชาติโอกาสการมีพยาธิจึงน้อยมาก

“เรื่องพยาธิในแมลงมันเป็นเรื่องปกติค่ะ ไม่อยากให้ตื่นตระหนก มันไม่มีทางมีชีวิตรอดจากน้ำมันร้อนๆ ที่ใช้ทอดได้ ยิ่งการเข้ามามาฝังตัว หรือมาแพร่พันธุ์ออกลูกหลานในตัวเรายิ่งทำไม่ได้ เพราะพยาธิกลุ่มที่มีแมลงเป็นโฮสต์กับกลุ่มที่มีคนเป็นโฮสต์อยู่คนละกลุ่มกัน แต่ก็เคยมีการรายงานในวารสารวิชาการนะ ว่ามีคุณยายชาวญี่ปุ่นวัย 80 ปีทานผักที่ไม่ได้ล้างให้สะอาด ทำให้เผลอรับไข่พยาธิแมลงเข้าไป แต่มันก็ทำอะไรไม่ได้ ไม่สามารถเจริญเติบโตให้เป็นตัวเต็มวัยในร่างกายได้ เพราะน้ำย่อยของมนุษย์ไม่เหมือนแมลง และมนุษย์เป็นสัตว์ที่มีกระดูกสันหลัง พยาธิแมลงก็จะเจริญได้ในแมลงตามวิวัฒนาการเท่านั้น ร่างกายจึงขับของแปลกปลอมออกมาด้วยการอาเจียน เพราะฉะนั้นคนไทยไม่ต้องกลัว ยังทานแมลงทอดได้เหมือนเดิม” ดร.รัชดาวรรณ ให้ความมั่นใจ

ท้ายสุด ดร.รัชดาวรรณ ยังฝากถึงประชาชนด้วยว่า เรื่องพยาธิไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัวหรือต้องตื่นตระหนก ทุกคนจะห่างไกลจากพยาธิในทุกรูปแบบ หากรู้จักดูแลสุขอนามัย รักษาความสะอาด ไม่เดินเท้าเปล่าเมื่ออยู่นอกบ้าน และกินอาหารที่ปรุงสุกสดใหม่อยู่เสมอ และอยากให้คนไทยใช้วิจารณญาณในการใช้และแชร์สื่อสังคมออนไลน์ด้วยเหตุและผลก่อนที่จะกลัวหรือตื่นตระหนกจนเกินเหตุ
เส้นยาวๆ ในตัวแมลง คือ พยาธิตัวกลม
ดร.รัชดาวรรณ เงินกลั่น ผู้เชี่ยวชาญด้านกีฏวิทยาทางการแพทย์และสัตววิทยา คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
Credit PHOTO: University of California Agriclture and Natural Resources / illustration by Christine M. Dewees
ดร.รัชดาวรรณ อธิบายวงจรชีวิตพยาธิตัวกลมตามแผนภาพเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องว่า เริ่มต้นจากแมลงนักล่า หรือ โฮสต์ตัวที่ 2 (ในภาพนี้คือ ตั๊กแตนตำข้าว) กระโดดลงไปในน้ำเพื่อให้ตัวเต็มวัยของพยาธิออกจากร่างกายไปหาคู่เพื่อผสมพันธุ์และวางไข่ที่มีลักษณะเป็นเส้นยาว่อนจะฟักออกมาเป็นตัวอ่อน โดยตัวอ่อน (Larvae) จะถูกแมลงน้ำซึ่งเป็นโฮสต์ตัวที่ 1 (ในที่นี้คือ ตัวอ่อนแมลงชีปะขาว) กินเป็นอาหาร จากนั้นตัวอ่อนพยาธิจะไปฟอร์มตัวเป็นถุงในรูปแบบของ (Encysted Larva) แฝงอยู่ภายในโฮสต์ตัวที่ 1 เพื่อเจริญเติบโต เมื่อแมลงโฮสต์ตัวที่ 2 กินแมลงโฮสต์ตัวที่ 1 เป็นอาหาร ก็จะได้รับตัวอ่อนของพยาธิในรูปแบบถุงเข้าไปในตัวโดยปริยาย น้ำย่อยในระบบทางเดินอาหารของแมลงโฮสต์ตัวที่ 2 จะย่อยถุงที่หุ้มตัวอ่อนของพยาธิอยู่ จนตัวอ่อนสามารถออกจากถุงมาอยู่ในช่องว่างลำตัวแมลงและจะอยู่ไปเรื่อยๆ จนโตเต็มวัย และเมื่อถึงระยะที่เหมาะสมพยาธิจะหลั่งสารบางอย่างไปควบคุมระบบสมองของแมลงให้มีพฤติกรรมกระโดดลงไปในน้ำ เพื่อเริ่มวัฏจักรแบบเดิมเพื่อสืบพันธุ์ต่อไป แต่วงจรแบบนี้ก็ไม่ได้เฉพาะเจาะจงเฉพาะตั๊กแตนตำข้าวเท่านั้น อาจจะเป็นตั๊กแตนหนวดสั้น ตั๊กแตนหนวดยาว จิ้งหรีด ก็ได้






*******************************

ยาเคลือบอุปกรณ์การแพทย์ยับยั้งการเติบโตเชื้อโรคจากเทคโนโลยีบรรจุแคปซูลนาโนเพื่อควบคุมการปลดปล่อยยาเคลือบกำจัดเชื้อโรค 1 ในตัวอย่างวิศวกรรมชีวการแพทย์สุดล้ำผลงานนักศึกษาไทย อ่านต่อเพิ่มเติมคลิก www.manager.co.th/science #engineering #bioengineering #medicalengineering #medical #medical #innovation #project #undergrat #student #thailand #managersci #astvscience #sciencenews

A photo posted by AstvScience (@astvscience) on


กำลังโหลดความคิดเห็น