ยามตะวันลับฟ้าขอบโลกเรืองเป็นสีส้มแดง แต่สำหรับดาวเคราะห์เพื่อนบ้านอย่าง “ดาวอังคาร” กลับมีแสงสนธยาเป็นสีฟ้า
องค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) เพิ่งเผยภาพจากยานโรเวอร์คิวริออซิตี (Curiosity) ซึ่งบันทึกภาพขณะดวงอาทิตย์กำลังลับขอบดาวอังคาร ขณะใกล้สิ้นสุดภารกิจในวันดาวอังคารหรือซอล (sol) ที่ 956 ซึ่งตรงกับวันที่ 15 เม.ย.2015 ตามเวลาบนโลก
ภาพดังกล่าวบันทึกจากหลุมอุกกาบาตเกล (Gale Crater) ซึ่งเอเอฟพีที่ได้รับภาพเผยแพร่ดังกล่าวจากนาซา ระบุว่าเป็นภาพดวงอาทิตย์ตกดินภาพแรกที่คิวริออซิตีบันทึกเป็นภาพสี ด้วยกล้องมาสต์ (Mast Camera) หรือมาสต์แคม (Mastcam) ที่อยู่ทางตาซ้ายของยาน โดยสีของภาพได้รับการปรับเทียบและปรับค่าสมดุลแสงสีขาวหรือไวท์บาลานซ์ (white-balanced) เพื่อสัญญาณลวงของกล้อง
ทั้งนี้ ฝุ่นบนดาวอังคารนั้นเป็นอนุภาคละเอียดที่ยอมให้แสงสีฟ้าลอดผ่านชั้นบรรยากาศได้มากกว่าแสงสีที่มีความยาวคลื่นยาว ทำให้แสงสีฟ้าในแสงรวมที่มาจากดวงอาทิตย์นั้นอยู่ใกล้กับดวงอาทิตย์มากกว่า เมื่อเทียบกับแสงสีเหลืองและแดงที่กระเจิงไปได้กว้างกว่า และปรากฏการณ์นี้เห็นได้ชัดเจนที่สุดในช่วงดวงอาทิตย์ตกดิน เมื่อแสงจากดวงอาทิตย์ต้องเดินทางผ่านชั้นบรรยากาศของดาวอังคารไกลกว่าใรช่วงกลางวัน
*******************************