นักวิทยาศาสตร์นาซาผู้ศึกษาผลการสำรวจของยาน “คิวริออซิตี” ซึ่งโลดแล่นอยู่บนพื้นผิวดาวอังคาร เผยว่าภูเขาของดาวอังคารน่าจะเกิดจากตะกอนทะเลสาบที่ทับทมกันเป็นเวลานาน
การวิเคราะห์ดังกล่าวเอเอฟพีระบว่า อ้างอิงจากหินที่ค้นพบบริเวณขอบหน้าผาของภูเขาเมาท์ชาร์ป (Mount Sharp) บนดาวอังคาร ซึ่งตั้งอยู่ค่อนข้างแปลกอยู่กลางหลุมอุกกาบาตบนดาวอังคาร
ไมเคิล เมเยอร์ (Michael Meyer) นักวิทยาศาสตร์หลักในโครงการสำรวจดาวอังคารขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐ (นาซา) กล่าวว่า หลุมอุกกาบาตเกล (Gale Crater) เคยมีทะเลสาบขนาดใหญ่เต็มหลุมอุกกาบาตกว้าง 155 กิโลเมตร หรืออาจเต็มไปด้วยแม่น้ำหลายสาขา
“ทะเลสาบแห่งนี้ใหญ่พอที่จะคงอยู่ได้หลายล้านปี ซึ่งเป็นเวลาที่เพียงพอให้สิ่งมีชีวิตได้ก่อกำเนิดและเฟื่องฟู และเป็นเวลาที่เพียงพอให้ตะกอนทะเลสาบก่อตัวเป็นภูเขาเมาท์ชาร์ป” เมเยอร์ระบุ
ด้าน จอห์น กรอทซิงเจอร์ (John Grotzinger) นักวิทยาศาสตร์ในโครงการคิวริออซิตี (Curiosity) ของนาซาจากสถาาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนีย (California Institute of Technology) กล่าวว่า ขณะที่นักวิทยาศาสตร์ยังไม่แน่ใจว่าดาวอังคารชุ่มน้ำอยู่นานแค่ไหน แต่พวกเขาก็ตะลึงที่ได้พบหินเอียงๆ และดินที่ชี้ถึงการมีก้นทะเลสาบในหุลมอุกกาบาต
การพบชั้นหินที่ลาดเอียงนี้กรอทซิงเจอร์บอกว่าเป็นกุญแจเพื่อทำความเข้าใจว่าดาวเคราะห์ก่อกำเนิดอย่างไร แต่ก็เป็นเรื่องที่จะพบตัวอย่างที่ชัดเจน แม้กระทั่งบนโลก ซึ่งเมื่อพวกเขาพบชั้นหินลาดเอียงที่เอียงไปยังภูเขาเมาท์ชาร์ป จึงเป็นเรื่องน่าแปลกอย่างมาก
ภาพและเก็บข้อมูลของดินดาวอังคารที่คิวริออซิตีเก็บจากชั้นตะกอนล่างสุดของภูเขาเมาท์ชาร์ป ซึ่งสูงประมาณ 5 กิโลเมตร ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เห็นร่องรอยว่าแม่น้ำเคยนำพาทรายและโคลนมายังทะเลสาบ และสะสมไว้ที่ปากแม่น้ำได้อย่างไร ซื่งคาดว่ากระบวนนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนเกิดเป็นสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ
หลังจากน้ำไหลเข้าไปในหลุมอุกกาบาตที่ความอย่างน้อย 200-300 เมตร ตะกอนก็เริ่มจับตัวและสะสมเป็นชั้นตะกอนที่ถูกกัดเซาะเป็นนานจนกลายเป็นรูปทรงภูเขาจะการกัดกร่อนของลมที่เซาะเอาวัตถุระหว่างขอบหลุมและบริเวณที่ปัจจุบันกลายเป็นหน้าผาของภูเขาออกไป
เชื่อว่าเมื่อหลายพันล้านปีก่อนดาวอังคารเคยอบอุ่นมากกว่านี้ และมีชั้นบรรยากาศที่หนากว่าปัจจุบัน ซึ่งช่วยโอบอุ้มน้ำในรูปของเหลวได้ และอาจจะรวมถึงสิ่งมีชีวิตบางรูปแบบ โดย แอชวิน วาซาวาดา (Ashwin Vasavada) นักวิทยาศาสตร์ผู้ช่วยในโครงการคิวริออซิตีจากห้องปฏิบัติการจรวดขับเคลื่อนความดันในพาซาเดนาของนาซา เผยว่าข้อมูลล่าสุดมีแนวโน้มว่าจะขยับช่วงเวลาที่ดาวอังคารเคยอบอุ่นละอุดมน้ำมาเป็นเมื่อ 3.5 พันล้านปีก่อน ซึ่งช้ากว่าที่เราเคยคิดเล็กน้อย แต่มีส่วนที่นักวิทยาศาสตร์ยังไม่แน่ใจคือช่วงเวลาดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง หรือเกิดขึ้นช่วงๆ
“เราอยากจะรู้ว่ามีช่วงเวลาที่ทะเลสาบเคยเป็นน้ำจืดหรือไม่ แล้วช่วงไหนที่ทะเลสาบกลายเป็นน้ำเค็ม และช่วงเวลาที่น้ำระเหยไปหมด ซึ่งเป็นสิ่งที่จะบอกเราได้ถึงภูมิอากาศในอดีตของดาวอังคารได้ในอีกระดับหนึ่ง” กรอทซิงเจอร์ระบุ
ทั้งนี้ ยานโรเวอร์มูลค่ากว่า 7.5 หมื่นล้านบาทของนาซาได้เริ่มสำรวจบริเวณดังกล่าวตั้งแต่ลงจอดที่หลุมอุกกาบาตเกลเมื่อปี 2012 และได้ท่องสำรวจพื้นที่เป็นระยะทาง 8 กิโลเมตรจากจุดที่ยานลงจอด และยิ่งคิวริออซิตีไต่สำรวจสูงขึ้นเรื่อยๆ นักวิทยาศาสตร์ก็หวังว่าพวกเขาจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับการเกิดภูเขาดังกล่าวได้มากขึ้น รวมถึงเคยเกิดอะไรขึ้นบนดาวอังคารเมื่อหลายพันล้านปีก่อน ขณะที่ปัจจุบันดาวอังคารทั้งหนาวเหน็บและแห้งแล้ง และมีชั้นบรรยากาศบางๆ
*******************************