xs
xsm
sm
md
lg

พัฒนาเทคนิคผลิต "หัวเชื้อเห็ดตับเต่า" ชุบชีวิตโรงเห็ดอยุธยาหลังน้ำท่วม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เห็ดตับเต่าขนาดพร้อมส่งขาย
น้ำท่วมไม่เป็นปัญหา! นักวิจัยไบโอเทคทำสำเร็จ พัฒนาเทคนิคผลิตหัว “เชื้อเห็ดตับเต่า” เลียนแบบธรรมชาติหลังลงพื้นที่ศึกษาระบบนิเวศวิทยาร่วมกับชุมชนบ้านคลองโพธิ์นานนับปี คืนชีวิตโรงเห็ดตับเต่าแถบอยุธยาหลังประสบปัญหาอุทกภัยหนักปี ’54 จนหวิดล่ม

เดือนเพ็ญ รื่นรส ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเห็ดตับเต่าคลองโพธิ์ อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ชาวบ้านในชุมชนบ้านคลองโพธิ์ ต.สามเรือน อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา กว่า 120 ชีวิตส่วนมากมีอาชีพเพาะเห็ดตับเต่าขาย เพราะสภาพที่ดินในบริเวณ จ.พระนครศรีอยุธยาเป็นนาข้าวเก่าที่เหมาะกับการเพาะเห็ดตามธรรมชาติ ซึ่งเห็ดตับเต่านี้สามารถสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านได้มากถึง 11 ล้านบาทต่อปี เนื่องจากเป็นเห็ดที่มีรสชาติดี มีคุณค่าทางอาหารสูง และยังมีราคาแพงจนถึงกิโลกรัมละ 350 บาท เนื่องจากมีเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้นในประเทศไทยที่เพาะเห็ดตับเต่าขายได้ปริมาณมากๆ อย่างชุมชนบ้านคลองโพธิ์

ด้วยสภาพพื้นที่ที่เป็นที่ลุ่ม ทำให้เมื่อเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ปี 2554 ที่ผ่านมา ชุมชนบ้านคลองโพธิ์จึงจมอยู่ใต้น้ำนานหลายเดือน เป็นเหตุให้ผลผลิตเห็ดตับเต่าลดลง ซึ่งประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ สันนิษฐานว่าน่าจะมาจากปริมาณเส้นใยเห็ดในดินลดลง ทำให้เชื้อเห็ดพักตัวนานขึ้น ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตเห็ดหยุดชะงักจนเกิดผลกระทบกับผู้ประกอบการในวงกว้าง หลังน้ำลดเธอจึงพยายามทุกวิถีทางเพื่อฟื้นฟูโรงเห็ดภายในชุมชนด้วยการศึกษาวิจัยร่วมกับนักวิจัยผู้เชี่ยวชาญด้านจุลินทรีย์จากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เนื่องจากการเพาะเห็ดตับเต่าด้วยวิธีพื้นบ้านจะเพาะลงบนพื้นดิน เมื่อมีน้ำท่วมขังเชื้อของเห็ดที่เคยคงอยู่ในดินก็จะลดจำนวนลงหรือหมดไปในที่สุด

“คนสมัยนี้ไม่ค่อยรู้จักเห็ดตับเต่าหรอก แต่ถ้าได้กินแล้วจะติดใจ เพราะนอกจากอร่อยแล้วเห็ดตับเต่ายังมีความพิเศษในตัว คือเป็นอินทรีย์ล้วนๆ โดนเคมีก็ไม่ได้ ดินเปลี่ยนก็ไม่ได้ ขึ้นกับดินที่อื่นก็ไม่ได้ ขึ้นแต่กับดินนาในบริเวณนี้เท่านั้น ทำให้ชุมชนบ้านโพธิ์กลายเป็นแหล่งผลิตเห็ดตับเต่าที่มากที่สุดในประเทศ แต่ด้วยที่ดินเราเป็นที่นา เป็นพื้นที่ลุ่มทำให้ประสบกับปัญหาน้ำท่วมบ่อยครั้ง ท่วมเล็กๆ ไม่เป็นปัญหานะ เห็ดชอบ แต่ถ้าท่วมใหญ่แบบปี 2554 นี่ไม่ไหวผลผลิตลดฮวบฮาบเลย เราจึงต้องวิ่งไปหาคนที่เขามีความรู้ให้มาช่วยชาวบ้านก่อนที่จะไม่เหลือเห็ดให้เราทำกินอีกต่อไป ซึ่งพอได้นักวิจัยจากไบโอเทคมาช่วยก็ทำให้เราอุ่นใจขึ้นมาก และมีความมั่นใจมากด้วยว่าต่อไปนี้เห็ดตับเต่าที่เราเพาะจะได้ผลผลิตมากขึ้นในเวลาที่สั้นลง และที่สำคัญที่สุดคือถึงแม้น้ำจะท่วมอีกเราก็จะยังเพาะเห็ดตับเต่าได้ เพราะตอนนี้เรามีหัวเชื้อเห็ดแบบใหม่ๆ ให้ใช้เต็มไปหมด” เดือนเพ็ญ กล่าวแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์

ด้านธิติยา บุญประเทือง นักวิจัยไบโอเทค เผยว่า ความเสียหายจากภาวะน้ำท่วมทำให้ผลผลิตทางการเกษตรในหลายๆ พื้นที่ได้รับผลกระทบ ไบโอเทคซึ่งมีหน้าที่ดูแลและวิจัยชีววัสดุในประเทศไทย จึงต้องช่วยเหลือชาวบ้านด้วยการเร่งฟื้นฟูพื้นที่เพาะเลี้ยงเห็ดตับเต่าหลังน้ำท่วมให้สามารถดำเนินกิจกรรมต่อไปได้อย่างยั่งยืน ด้วยการทำวิจัยศึกษาระบบนิเวศวิทยาที่มีผลต่อการเจริญของเห็ดตับเต่า การพัฒนาเทคนิคการผลิตหัวเชื้อเห็ดตับเต่า และเทคนิคการเพาะเลี้ยงให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ เพื่อฟื้นฟูแหล่งผลิตเห็ดตับเต่าที่ดีที่สุดของประเทศให้กลับมามีผลผลิตเพียงพอต่อความต้องการของตลาดดังเดิม

“อันดับแรกคือเราเข้าไปศึกษาเกี่ยวกับระบบนิเวศของเห็ดตับเต่าและปัจจัยที่มีผลต่อการเจริญของเห็ดตับเต่าก่อน เพราะเห็ดชนิดนี้จะเจริญได้ในสภาพแวดล้อมที่มีความจำเพาะเท่านั้น โดยเราจะศึกษาจากโครงสร้างของดิน แร่ธาตุในดิน อุณหภูมิ ความชื้น แสงบริเวณโคนต้นเหนือพื้นดิน รวมถึงความสูงของต้นโสนที่มักปลูกไว้บนคันนาคู่กันตามภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่ภายหลังทราบว่ามีความสัมพันธ์กับปริมาณธาตุไนโตรเจนและฟอสฟอรัสในดิน ซึ่งทั้งหมดล้วนมีความจำเป็นกับการเจริญของเห็ด ซึ่งการสำรวจระบบนิเวศทั้งหมดนี้ทำให้นักวิจัยสามารถสรุปโมเดลจำลองสภาวะที่เหมาะสมกับการเพาะเลี้ยงเห็ดตับเต่าในพื้นที่อื่นๆ ได้ในอนาคต” นักวิจัยไบโอเทคเผย

นอกจากโมเดลจำลองสภาวะที่เหมาะสมกับการเพาะเลี้ยงเห็ดตับเต่าที่จะส่งผลดีต่อการเพาะเห็ดตับเต่าในพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศแล้ว นักวิจัยไบโอเทคยังพัฒนาเทคนิคการผลิตเชื้อเห็ดตับเต่าในรูปแบบใหม่ๆ ขึ้นมาอีกด้วย เพื่อให้ตรงกับความต้องการและความชำนาญของเกษตรกรในแต่ละพื้นที่ เช่น หัวเชื้อเห็ดตับเต่าแบบถุง ที่มีองค์ประกอบของมันฝรั่งในสภาวะกึ่งแห้งกึ่งเปียกผสมปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต หรือเชื้อเห็ดตับเต่าแบบก้อนเค้กที่มีส่วนประกอบของมันฝรั่งและดินเป็นหลัก ที่ใช้เวลาเพาะเลี้ยงสั้นลงเพียงแค่ 10 วันเท่านั้น จากวิธีเดิมที่ต้องใช้เวลานานนับเดือนกว่าจะเก็บผลผลิตส่งขายตลาดได้

“การเข้าไปมีส่วนร่วมกับชาวบ้านในการฟื้นฟูเห็ดตับเต่า นอกจากจะเป็นการทำให้ชาวบ้านกลับมาลืมตาอ้าปากได้แล้ว ยังถือเป็นการอนุรักษ์พันธุ์เห็ดชั้นดีอีกพันธุ์หนึ่งของประเทศไทยด้วย เพราะที่ผ่านมายังไม่มีงานวิจัยเกี่ยวกับเห็ดตับเต่าในไทยมากนัก ซึ่งข้อมูลการวิจัยและเชื้อเห็ดคุณภาพดีเราจะจัดเก็บไว้ในศูนย์ชีววัสดุประเทศไทยเพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลสำหรับการนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ต่อไปซึ่งจะเป็นผลดีต่อวงการอุตสาหกรรมในวงกว้าง และที่สำคัญที่สุดคืองานวิจัยนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง สวทช. และชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งจะช่วยการันตีได้ว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีส่วนในการส่งเสริมรายได้ของเกษตรกรโดยตรง” ธิติยา กล่าวทิ้งท้ายแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์

งานวิจัยเรื่องการพัฒนาเทคนิคการผลิตหัวเชื้อตับเต่าร่วมกับการศึกษาด้านนิเวศวิทยายังได้จัดแสดงเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ภายในงานประชุมวิชาการ สวทช.ประจำปี 2558 (NSTDA Annual Conference: NAC2015) ของ สวทช.ระหว่างวันที่ 30 มี.ค.-2 เม.ย.58 ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี
(ซ้าย) ธิติยา บุญประเทือง (ขวา) เดือนเพ็ญ รื่นรส
หัวเชื้อเห็ดตับเต่ารูปแบบต่างๆ และอาหารที่ถูกปรุงขึ้นด้วยเห็ดตับเต่า






*******************************



กำลังโหลดความคิดเห็น