รู้หรือไม่ว่าจุลินทรีย์ในประเทศไทยมีมากมายนับพันๆ ชนิดมากกว่า “แลคโตบาซิลัส” ที่เรารู้จัก แล้วรู้หรือไม่ว่าอุตสาหกรรมหลายๆ อย่างก็ใช้จุลินทรีย์ในการดำเนินงานด้วย พาไปชมศูนย์ชีววัสดุประเทศไทย หรือ ทีบีอาร์ซี สถานที่เก็บรวบรวม และดำเนินงานด้านจุลินทรีย์น้องใหม่ของประเทศไทย
SuperSci สัปดาห์นี้พาไปชมบ้านหลังใหม่ของเหล่าจุลินทรีย์มีมูลค่าของประเทศ กันที่ศุนย์ชีววัสดุปประเทศไทย (Thailand Bioresource Research Center) ศูนย์เก็บเชื้อและดำเนินงานด้านจุลินทรีย์น้องใหม่ที่จะช่วยให้นักวิจัยและอุตสาหกรรมเข้าถึงการใช้จุลินทรีย์ได้ง่ายยิ่งขึ้น กับ ดร.ลิลี่ เอื้อวิไลจิตร ผู้อำนวยการศูนย์ชีววัสดุประเทศไทย
ดร.ลิลี่ กล่าวว่า ศูนย์ชีววัสดุประเทศไทยมีพันธกิจที่สำคัญ 2 ประการ ประการแรกคือ เป็นศูนย์เก็บเชื้อจุลินทรีย์และชีววัสดุที่มีประโยชน์ต่องานวิจัยของประเทศ พร้อมทั้งให้บริการชีววัตถุแก่นักวิจัยและเอกชนที่ต้องการเชื้อจุลินทรีย์ ประการที่ 2 คือ การขับเคลื่อนกลไกที่จะผลักดันให้เกิดการใช้ชีววัสดุในภาคอุตสาหกรรมและงานวิจัยให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ภายในศูนย์ฯ จะประกอบไปด้วยห้องวิจัยต่างๆ ที่รองรับการคัดแยกเชื้อจุลินทรีย์ การจัดเก็บจุลินทรีย์ นอกจากนี้ยังให้บริการจัดเก็บจุลินทรีย์ในระยะยาว (Long-term Preservation) ด้วยวิธีการเก็บในไอไนโตรเจนเหลว และการเก็บแบบแห้ง โดยจะรองรับเชื้อจุลินทรีย์ที่มาจากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยและศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ หรือไบโอเทค ที่มุ่งใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศ เพื่อต่อยอดงานวิจัยให้งานวิจัยต่างๆ ขับเคลื่อนไปสู่ภาคอุตสาหกรรม
ดร.ลิลี่ เพิ่มเติมว่า เหตุที่ศูนย์ต้องกระตุ้นให้เกิดการใช้งานจุลินทรีย์ในเชิงพาณิชย์ เป็นเพราะปัจจุบันอุตสาหรรมต่างๆ มีการใช้เชื้อจุลินทรีย์มากขึ้น เช่น อุตสาหกรรมการเกษตรที่นิยมนำจุลินทรีย์มาใช้กับการปราบศัตรูพืช เช่น เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เพลี้ยอ่อน และอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ที่ใช้จุลินทรีย์เป็นหนึ่งในส่วนประกอบที่จะช่วยให้สัตว์เลี้ยงมีระบบขับถ่ายที่ดีขึ้น ซึ่งในขณะนี้ศูนย์ชีววัสดุมีเชื้อจุลินทรีย์อยู่ในความดูแลโดยตรงแล้วกว่า 1,000 ชนิด แต่ก็มีเครือข่ายจุลินทรีย์จากศูนย์ต่างๆ ทั่วประเทศและหน่วยงานวิจัยหลักอย่างไบโอเทค ทำให้ตอนนี้มีเชื้อจุลินทรีย์ที่อยู่ในประวัติกว่า 7,000 ชนิด
“ศูนย์ชีววัสดุไม่ใช่ศูนย์เก็บเชื้ออย่างเดียว แต่ยังมีกลไกหลายๆ อย่างที่จะช่วยให้การใช้จุลินทรีย์เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายมากที่สุด ทั้งการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาช่วย เพื่อเชื่อมโยงฐานข้อมูลและกลไกต่างๆ เพื่อใช้จุลินทรีย์ให้เกิดประสิทธิภาพ และยังมีการกำกับดูแลให้ผู้ใช้จุลินทรีย์ได้อย่างถูกต้องและถูกกฏหมายโดยผู้เชี่ยวชาญอีกด้วย” ดร.ลิลี่ กล่าวแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์
*******************************