xs
xsm
sm
md
lg

มี 3 รอยเลื่อนไทยต่อเนื่องจากแนวแผ่นดินไหวเนปาลที่ต้องจับตา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายสมบูรณ์ โคสิตานนท์ (ซ้าย) นายสุพจน์ เจิมสวัสดิพงษ์ (ขวา)
อธิบดีกรมทรัพฯ ธรณีแถลงผลกระทบจากแผ่นดินไหวเนปาล ระบุหากเกิดผลต่อเนื่องถึงไทยก็เป็นผลกระทบเล็กน้อย อาจเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงไม่เกิน 5 ริกเตอร์ จับตา 3 รอยเลื่อนในไทยต่อเนื่องจากแนวแผ่นดินไหวใหญ่ หลังพบการสั่นสะเทือนขยับมาทางตะวันออกในพม่า แต่คาดมีความรุนแรงน้อยกว่า


นายสุพจน์ เจิมสวัสดิพงษ์ อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี นำแถลงถึงผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวเนปาลต่อไทยเมื่อวันที่ 27 เม.ย.58 ณ กรมทรัพยากรธรณี ว่าเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เนปาลเมื่อ 25 เม.ย.ที่ผ่านมาเป็นเหตุการณ์ที่ไม่เกิดขึ้นบ่อย 80 ปีจะเกิดขึ้นสักครั้ง แต่ยังไม่สามารถวัดแรงสั่นไหวได้ในไทย แผ่นดินไหวครั้งนี้อาจมีผลกระทบให้เกิดแผ่นดินไหวในบางส่วน แต่มีความรุนแรงน้อย

จากการตรวจวัดของเครือข่ายสถานีตรวจวัดแผ่นดินไหวที่ทางกรมทรัพยากรธรณีติดตั้งไว้เพื่อศึกษาพฤติกรรมรอยเลื่อนมีพลังของประเทศไทย พบว่ามีแผ่นดินไหวหลักและแผ่นดินไหวตามจนถึงวันที่ 27 เม.ย.รอบๆ แนวเกิดแผ่นดินไหวแล้ว 20 ครั้ง และพบว่ามีการไหวต่อเนื่องมายังรอยเลื่อนสะกายในพม่า จนเกิดแผ่นดินไหวขนาด 3.2 และ 4.6 ริกเตอร์ในรัฐฉาน เมื่อบ่ายวันที่ 26 เม.ย.

“ส่วนแนวรอยเลื่อนแขนงในไทยที่ต่อเนื่องจากแนวรอยเลื่อนสกายมี 3 รอยเลื่อนที่มีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวได้ คือ รอยเลื่อนแม่ปิง-เมย (จ.ตาก) รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ (กาญจนบุรี) และรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ (กาญจนบุรี) ซึ่งต้องติดตามอย่างใกล้ชิด แต่เป็นแขนงเล็กๆ ความรุนแรงอาจจะน้อย จากการประเมินของนักวิชาการกรมทรัพยากรธรณี ถ้าเกิดแผ่นดินไหวจากเหตุแผ่นดินไหวที่เนปาลก็คาดว่าจะเกิดความรุนแรงไม่เกิน 5 ริกเตอร์” นายสุพจน์กล่าว

ทั้งนี้ มี 3 รอยเลื่อนที่มีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวได้ คือ รอยเลื่อนมุดตัว (Thrust fault) ซึ่งเป็นรอยเลื่อนที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหวรุนแรงที่สุดมากกว่าขนาด 8.0 รอยเลื่อนแนวเฉียงหรือแนวระนายทำให้เกิดแผ่นดินไหวได้ขนาด 8.0 และรอยเลื่อนแนวตั้งที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.0 ซึ่งแนวรอยเลื่อนใน จ.แม่ฮ่องสอนเป็นรอยเลื่อนชนิดนี้

จากการรวบรวมข้อมูลจากสถานีวัดแผ่นดินไหวของกรมทรัพยากรธรณีและเครือข่ายหลายแห่ง นายสุพจน์กล่าวระบุว่าทำให้กำหนดศูนย์กลางแผ่นดินไหวและขนาดแผ่นดินไหวได้แม่นยำ และเสริมด้วยว่าพื้นดินในเนปาลนั้นส่วนใหญ่รองรับด้วยดินตะกอนทำให้เสริมความรุนแรงของคลื่นแผ่นดินไหว และพื้นดินของไทยรองรับด้วยหินทำให้ความรุนแรงน้อยลง

ด้าน นายสมบูรณ์ โคสิตานนท์ ผู้อำนวยการสำนักธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อม กรมทรัพยากรธรณีฯ แผ่นดินไหวในไทยถูกกำหนดด้วย รอยเลื่อนตามแนวแม่น้ำแดงซึ่งส่งผลต่อทางภาคเหนือ รอยเลื่อนสกายในพม่าที่ส่งผลต่อฝั่งตะวันตกของไทย ตั้งแต่แม่ฮ่องสอน ตาก  สุพรรณบุรี กาญจนบุรี และรอยเลื่อนตามแนวมุดตัวในสุมาตราและอันดามัน ที่ส่งผลต่อรอยเลื่อนคลองมะรุ่ยและรอยเลื่อนระนอง ถ้า 3 รอยเลื่อนนี้ขยับตัวนี้ทางไทยต้องเตรียมแผนตั้งรับ

นายสมบูรณ์ระบุอีกว่า หลังจากการเกิดแผ่นดินไหวในอันดามันเมื่อปี 2547 ขนาด 9.0 ก็เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ต่อเนื่องที่เซนไดในญี่ปุ่นและชิลีตามมา ทำให้เข้าใจว่าแผ่นดินไหวใหญ่แต่ละครั้งส่งผลกระทบไปทั่วโลก ซึ่งคาดว่าจากแผ่นดินไหวที่เนปาลครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อรอยเลื่อนสกายในพม่าแน่นอน และเมื่อดูพฤติกรรมทางสถิติแล้วพบว่ามีการส่งพลังต่อไปเรื่อยๆ ตอนนี้ยังเกิดแผ่นดินไหวตาม (After shock) อยู่แถวๆ ศูนย์กลางแผ่นดินไหว  

สำหรับเหตุการแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 25 เม.ษ.ที่เนปาลนั้น เกิดขึ้นเวลา 13.11 น. มีขนาด 7.8 โดยเกิดจากรอยเลื่อนย้อนมุมต่ำ ระหว่างแนวมุดตัวของแผ่นเปลือกโลกอินเดีย (Thrust fault) ใต้แผ่นเปลือกโลกยูเรเชีย (Eurosia Plate) ไปในทิศทางด้านเหนือโดยประมาณ จุดศูนย์กลางเกิดห่างจากเมืองกาฏมัณฑุซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศเนปาล ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ประมาณ 80 กิโลเมตร   
นายสมบูรณ์ โคสิตานนท์ เผยแผนที่แสดงจุดเกิดแผ่นดินไหวตาม (จุดสีเหลืองในแผนที่) รอบแนวเกิดแผ่นดินไหวที่เนปาล








*******************************



กำลังโหลดความคิดเห็น